บทสัมภาษณ์พิเศษกับ 3 Fintech Startup ที่น่าจับตาในโครงการ Bangkok Bank InnoHub | Techsauce

บทสัมภาษณ์พิเศษกับ 3 Fintech Startup ที่น่าจับตาในโครงการ Bangkok Bank InnoHub

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้เราได้เห็นโครงการ Accelerator หรือโครงการที่บ่มเพาะ Startup เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งหลายโครงการประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาหลายปี หนึ่งในโครงการที่เปิดตัวในปีนี้ก็คือ Bangkok Bank InnoHub ซึ่งได้จัด Demo day เสร็จสิ้นไปแล้ว โดย Techsauce ได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์พิเศษกับทีม Startup ด้าน Wealth Management 3 ทีมที่น่าจับตา เรามาทำความรู้จัก FinTech ไฟแรงได้แก่ Bambu Bento และ Canopy กันค่ะ

ทำความรู้จัก Bangkok Bank InnoHub

เมื่อแรกเริ่มที่เห็นโครงการ Bangkok Bank InnoHub ก็คิดว่าไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่ธนาคารจะเข้ามาทำ Accelerator ของตนเองขึ้นมา แต่เมื่อได้เข้ามาดูในตัวโครงการแล้วจึงค้นพบว่า โครงการนี้มีความแตกต่างจากหลายโครงการที่เคยเห็นมาอย่างชัดเจน อย่างแรกคือเลือก Startup ที่เจาะจงเฉพาะด้าน FinTech  อย่างที่ 2 คือมีทีม  Startup คนไทยที่เข้าโครงการเพียง 2 ทีมเท่านั้น นอกนั้นเป็นทีมจากต่างชาติทั้งหมด ซึ่งการเลือก Startup ที่เป็นชาวต่างชาติ เพราะธนาคารกรุงเทพมีเป้าหมายในการตั้ง Hub ของ Accelerator ด้าน Fintech ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยดึงทรัพยากรจากต่างชาติเข้าสู่ไทยนั่นเอง นั่นจึงทำให้โครงการนี้แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ดังชื่อโครงการว่า InnoHub

หลังจากการจัด Demoday ทาง Techsauce ก็มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับ Startup ทั้ง 3 ทีม ที่มีบริการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ขอแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกันทีละทีมดังนี้

Bambu

Bambu เป็น Fintech Startup จากสิงคโปร์ ก่อตั้งโดย Ned Phillips CEO ชาวอังกฤษที่มีประสบการณ์ทำงานในเอเชียกว่า 25 ปี และทำงานเกี่ยวกับฟินเทคตั้งแต่ปี 1995 ปัจจุบันทีมงาน Bambu จากหลากหลายประเทศมีเป้าหมายเดียวกัน คือมุ่งมั่นทำให้การการออมเงิน การลงทุน เป็นเรื่องง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยเทคโนโลยีให้คำปรึกษาทางการเงินผ่าน Robo-Advisory หรือ ผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติ เพื่อก่อให้เกิด Solution ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปให้บริการแก่ลูกค้าของสถาบันการเงิน ผู้จัดการกองทุน รวมถึงบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่าง โทรคมนาคม หรือ E-commerce ได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากความสะดวกและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าที่มีความหลากหลายได้เป็นอย่างดี 

Techsauce มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ Aki Ranin COO (Chief Operating Officer) ของ Bambu เพื่อทำความรู้จักและพูดคุยถึงแนวทางการทำงานของ Startup รายนี้

ทำไมต้องชื่อ Bambu ?

ตอนตั้งชื่อ เราอยากได้ชื่อที่ดูเป็นสัญลักษณ์ และอยากได้ชื่อต้นไม้ที่ค่อนข้าง unique เวลาที่ค้นหาในกูเกิ้ลแล้วไม่ซ้ำกับคนอื่น เลยได้ชื่อ Bambu ซึ่งพ้องเสียงกับ Bamboo ที่แปลว่าต้นไผ่ ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้มีอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ บ้านเกิดของผมเอง

จุดเริ่มต้นของ Bambu เป็นยังไง ?

ผมทำงานด้าน Digital Transformation มาพอสมควร ในตำแหน่ง services provider เพื่อช่วยสถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพหรือ บริษัทอื่นๆ เพื่อช่วยด้านดิจิทัลของพวกเขา เช่นการทำเว็บไซต์ หรือ application ผมทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มา 4 ปี ส่วนใหญ่แล้วทำกับอุตสาหกรรมบริการการเงิน และได้มีโอกาสเห็นการทำงานต่างๆ ในวงการนี้ สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในยุคนี้ก็คือ ระบบ Robo-Advisory หรือผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติ ที่เป็นเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ที่ให้บริการแนะนำการลงทุนแบบออนไลน์แก่นักลงทุนทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่มาเปลี่ยนวิถีการลงทุน เพราะมันทำเป็นอัตโนมัติ รวดเร็วขึ้น ถูกลง และทุกคนสามารถใช้มันได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนรวยเท่านั้น ซึ่งถ้าเรามองดูดีๆ พวกเทคโนโลยีเหล่านี้มันเหมาะมากกับคนที่มีรายได้ไม่สูงมาก เพราะมันจะช่วยจัดการและแนะนำสิ่งต่างๆ ให้เป็นที่เป็นทางได้

ผมกับทีม Co-founder ได้ร่วมกันสร้างโปรเจค Bambu ขึ้นมา โดยเราตั้งใจว่าจะเป็นแค่ B2B business ที่พัฒนาเทคโนโลยี และโปรแกรมเพื่อขายให้กับสถาบันการเงินเท่านั้น ไม่ได้มี application ใน app store หรือเว็บไซต์ เหตุผลก็เพราะว่า เราคิดว่านี่จะเป็นหนทางที่เร็วที่สุดที่เราจะกระจาย solution ไปให้ถึงผู้คนให้มากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การสร้างแบรนด์มันเป็นเรื่องที่ยากและแพง เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกเข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub ของธนาคารอย่างธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำระดับอาเซียนและมีฐานลูกค้ามาก ด้วยความหวังที่ว่าธนาคารจะนำ solution ของพวกเราไปต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ทำให้ Bambu แตกต่างจากคู่แข่งคืออะไร ?

สิ่งที่เราแตกต่างจาก Fintech startup เจ้าอื่น อย่างแรกคือ การที่เราโฟกัสกับตัวเทคโนโลยี เราวางตัวเองเป็น Tech company ไม่ใช่ Financial services company และเชื่อว่าด้วยทางนี้ เราจะสามารถขยายได้เร็วกว่าคนอื่น เวลาที่ร่วมงานกับธนาคารที่มีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินมากมายอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปช่วยเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอีก แต่จะเน้นที่ตัวเทคโนโลยีที่จะมาช่วย support

จุดเด่นที่สองคือ เราลงทุนค่อนข้างมากใน AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ถึงแม้ว่าจะยังเป็น startup เล็กๆ เพราะเราคิดว่าภายใน 5 ปี AI จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและการทำงานต่างๆ รวมถึงด้าน financial ไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าบริษัทที่ไม่สนใจกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI เราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนมาก เพราะฉะนั้น เราจึงอยากจะเป็นบริษัทแรกๆ ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ และนำหน้าคนอื่นไปให้เร็วที่สุด เพื่อสร้าง solution ให้กับธุรกิจต่างๆ

ความจำเป็นของ Robo-Advisory ?

ใน 2-3 ปีนี้ ผู้คนจะยังต้องพึ่งคนในการแนะนำเรื่องเกี่ยวกับ Private Banking และการทำประกันอยู่ ซึ่งเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก แต่นอกเหนือจากนั้นไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับการใช้คนเป็นที่ปรึกษาอีกต่อไป เพราะข้อเสียของการใช้คนเป็นที่ปรึกษา คือการไม่สามารถบริการลูกค้ามากมายหลายๆ คนในเวลาเดียวกันได้ คนสามารถแนะนำได้เพียง 10% ของลูกค้าทั้งหมดเท่านั้น ทำให้ต้องใช้เวลาและเงินลงทุนค่อนข้างเยอะ ในขณะที่ AI สามารถวิเคราะห์ว่าควรใช้เงินยังไง ลงทุนกับอะไรโดยที่สามารถบริการคนจำนวนมากได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะแย่งงานของคนไปจนหมด เพราะเครื่องมือจะมาช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

ที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรบ้าง และก้าวข้ามมาได้อย่างไร ?

จริงๆแล้ว โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่ค่อนข้างไหลลื่น ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะว่า การบริการของเราเป็นที่ต้องการในตลาดค่อนข้างมาก และเมื่อคุณเป็นที่ต้องการ อะไรๆ ก็ง่ายมากขึ้น ไม่ต้องโฆษณาอะไร แค่ต้องโฟกัสกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความต้องการ และเรื่องเวลาของเราก็ค่อนข้างลงตัว เราจึงอยากจะขยายไปยุโรป เพื่อครอบครองตลาดให้ได้ก่อน

ได้รับอะไรจากการเข้าร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub ?

ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้ร่วมงานจริงๆจังๆกับธนาคารใหญ่ เราใช้เวลาค่อนข้างมากในการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ต่างๆ สำหรับธนาคารกรุงเทพ และได้ฟังความคิดเห็นหลากหลายจากผู้บริหารภายในธนาคาร เพื่อให้มองเห็นภาพใหญ่และเข้าใจว่าเราควรจะมีปฎิสัมพันธ์กับลูกค้ายังไงในอนาคต ถือว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญมาก

อนาคตของ Bambu จะเป็นยังไง ?

เราจะอยู่เบื้องหลังบริษัทพวก Global Consulting Company หรือ Financial Technology Company และโฟกัสที่ การพัฒนาเทคโนโลยีให้นำหน้าคนอื่น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันการเงินให้มากที่สุด

Canopy

“ทุกสินทรัพย์ จัดการได้แค่ปลายนิ้ว” คือสโลแกนของ Canopy Fintech startup ของสิงคโปร์ที่ช่วยรวบรวมข้อมูลสินทรัพย์ของคุณไว้ในที่เดียว พร้อมวิเคราะห์และแสดงผลด้วยภาพที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อให้คุณสามารถบริหารสินทรัพย์ เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อตั้งโดย Tanmai Sharma ในปี 2013 

และในครั้งนี้เราได้นั่งพูดคุยกับ Takeshi Yoshida CCO (Chief Commercial Officer) ของ Canopy ผู้ดูแลด้าน business ให้กับบริษัท

จุดเริ่มต้นของ Canopy ?

ในปี 2013 Tammai CEO และผู้ก่อตั้ง Mesitis Group ได้ลาออกจาก Deutsche Bank และเริ่มต้นการเป็นนักลงทุน เขาเจอปัญหาว่าสินทรัพย์ต่างๆ ของเขากระจายอยู่หลายแห่ง และไม่สามารถหาใครที่ช่วยรวบรวมและจัดการข้อมูลให้ได้เลย เขาจึงต้องการจัดระเบียบสินทรัพย์ของตน ว่ามีจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ และสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนดี และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของ Canopy

หลังจากนั้นในปี 2014 Tammai ได้เชิญชวนเพื่อนร่วมงาน 3-4 คนจากทีมที่เคยทำงานด้วยกันที่ Deutsche Bank มาทำงานกับ Canopy

จุดเด่นของ Canopy คืออะไร?

เรามีจุดเด่นหลักๆ 2 อย่าง อย่างแรกคือ เราสามารถรวบรวม Data ในหลายๆ format ที่กระจัดกระจายในหลายแหล่งเข้าด้วยกัน โดยสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากไฟล์ PDF ของลูกค้าทุกคน ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทแห่งแรกที่สามารถทำได้และจุดเด่นอย่างที่สองคือ หลังจากที่เรารวบรวมข้อมูลทุกอย่างมาได้แล้ว เราสามารถจัดเรียง และวิเคราะห์ข้อมูลออกมา เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย และเอาไว้ในที่เดียว

การรวบรวมสินทรัพย์เป็นอะไรที่ซับซ้อนและยากมากๆ เพราะ สินทรัพย์ต่างๆ นั้นไม่ได้มีแค่หุ้น หรือ พันธบัตรเท่านั้นแต่รวมถึงสินทรัพย์ที่เป็น non-financial อย่างที่ดินและการลงทุนโดยตรงกับบริษัท corporate ต่างๆ ด้วย ซึ่งการจะรวบรวมทุกอย่างนี้จะต้องรู้ Know-how และความเข้าใจเรื่องการลงทุนเป็นอย่างมาก และเรามีเทคโนโลยีที่จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ลูกค้าของเรา ผู้ซึ่งเป็นบริษัท financial สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาการบริการให้ดีมากยิ่งขึ้น

วางแผนจะ Scale up อย่างไร ?

ตอนนี้ Canopy กำลังอยู่ในช่วงของการขยาย หลังจากที่มีลูกค้าอยู่ในมือบ้างแล้ว ทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง ซูริค เจนีวา ลอนดอน พวกเมืองที่เป็นศูนย์กลาง wealth และการได้เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub ก็ถือเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะขยาย เพราะเราเชื่อว่าการบริการของเราสามารถนำมาใช้ได้กับทุกประเทศ กับสินทรัพย์ทุกรูปแบบ และในทุกสกุลเงิน เพราะฉะนั้นเราจึงเน้นการพัฒนากลยุทธ์สำหรับแต่ละประเทศ แต่ละตลาดที่แตกต่างกัน โดยตอนนี้เราเริ่มจากประเทศไทยก่อน เพื่อลองทดสอบบริการของเรากับตลาดในภูมิภาคนี้ ว่าเราจะทำยังไงให้การบริการของเราตอบสนองความต้องการของตลาดเมืองไทย

ที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรบ้าง และก้าวข้ามมาได้อย่างไร ?

ปัญหาคือ การรวบรวม Statement รายงานมูลค่าสินทรัพย์แต่ละแหล่งต่างก็มีฟอร์แมตเฉพาะ รวมถึงลักษณะที่แตกต่างกันและความเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคน ทำให้ยากต่อการวิเคราะห์และแสดงผล นี่คือสาเหตุที่อุตสาหกรรม Private wealth ไม่ได้ปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีเสียที เพราะฉะนั้นพวกเราจึงต้องแก้ปัญหาความซับซ้อนของมันให้ได้ เราใช้เวลานานมากในการคิดค้นวิธีที่จะจัดการกับสิ่งนี้ เราใช้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานมาแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนสูงได้ โดยเทคโนโลยีที่เราคิดค้นขึ้นมา มีชื่อว่า Canopy UL เป็นเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้แบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

ได้รับอะไรจากการเข้าร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub ?

เราจะได้เข้าใจตลาดเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการเน้นตลาด mobile เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้มือถือเยอะมากๆ ปกติแล้ว Canopy เน้นการใช้งานบน PC แต่ตอนนี้เรากำลังเน้นเรื่อง mobile first เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

เป้าหมายต่อไปของ Canopy คืออะไร ?

เราจะเป็นบริษัท B2B ต่อไป และมีเป้าหมายในการช่วยให้สถาบันการเงินทั้งหลายสามารถทำธุรกิจกับลูกค้าได้ดีมากขึ้น ให้บริการได้ดีขึ้น ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น และเราก็อยากจะร่วมงานกับ partner ที่เป็นสถาบันการเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

Bento

Bionic Investment Advisor ผู้ช่วยการลงทุนครึ่งคน ครึ่งหุ่นยนต์ ที่รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้การใช้งานของนักลงทุนเรียบง่ายที่สุด Bento เป็นที่ปรึกษาการลงทุน ที่อยู่ตรงกลางระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ แทนที่จะปล่อยให้หุ่นยนต์เป็นผู้ดูแลทั้งหมด โดยเลือกใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อปรับพอร์ทให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้ในทุกๆด้าน จากประสบการณ์ด้านการลงทุนและการธนาคารกว่าสิบปีของทีมงาน Bento พบว่าไม่มีสูตรตายตัวที่ใช้ได้กับนักลงทุนทุกคน

Techsauce ได้พูดคุยกับคุณ  Chandrima ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Bento เพื่อทำความรู้จักกับ Bento ให้มากขึ้น

จุดเริ่มต้นของ Bento ?

ฉันทำงานในอุตสหกรรมนี้มาประมาณ 20 ปี และทำงานใน Private Bank มา 4 ปี ซึ่งทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่าการบริหารเงินให้กับองค์กร และบริหารเงินแบบรายบุคคลนั้นแตกต่างกันมาก ในปีที่ 4 หลังได้ร่วมงานกับ Private Bank ฉันตัดสินใจเริ่มทำบริษัทที่นำวิธีการบริหารเงินแบบองค์กรมาใช้กับกลุ่ม private wealth โดยนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้

ทีมของเราเป็นทีมที่ไม่เหมือนบริษัท Technology อื่นๆ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ในทีมเป็นผู้หญิง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้ตั้งใจแต่ว่าทุกคนเป็นคนที่เหมาะกับตำแหน่งนั้นๆ

ที่มาของชื่อ Bento ?

Bento เป็นชื่อกล่องอาหารของญี่ปุ่น ที่มีสารอาหารครบ ในกล่องประกอบไปด้วยข้าวที่มีคาร์โบไฮเดรต มีผักและวิตามิน มีเนื้อ ซึ่งได้ถูกรวบรวมไว้ในจำนวนที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ซึ่งเช่นเดียวกับบริการของ Bento ที่ให้ข้อมูลในขนาดที่พอเหมาะ และไม่ให้ความเสี่ยงที่มากเกินไป

ทำไมถึงเลือกใช้ AI ในการให้บริการ ?

เราต้องการที่จะให้บริการลูกค้าด้วยข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงใช้วิธีที่องค์กรใหญ่ๆ ใช้กัน คือการรวบรวมประมาณการของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่ได้จากบริษัทเจ้าใหญ่อย่าง Tower Watson ว่าดัชนีมันจะขึ้นจะลงอย่างไร และเอามาคำนวณ เพื่อแนะนำว่า ณ เวลานี้ ควรจะลงทุนในอะไร เท่าไหร่ เพื่อให้ลูกค้าที่มีเงินก้อนใหญ่ๆ สามารถแบ่งเงินลงทุน ให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด และเพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำลง เราเพียงไม่ได้สร้างข้อมูลขึ้นเอง แต่เรานำข้อมูลมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาวิเคราะห์เท่านั้น

อะไรเป็นปัจจัยหรือจุดเด่นที่จะทำให้ลูกค้าเลือกใช้ Bento ?

จุดเด่นอย่างแรกของ Bento คือการที่เราใช้ Robo-advisory ที่เป็นครึ่งคนและครึ่งหุ่นยนต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน และปรับไปตามความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคนได้

จุดเด่นอีกอย่างก็คือ การช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน เราไม่ได้มองว่า ความเสี่ยงสูงจะเท่ากับผลตอบแทนที่สูงด้วยเสมอไป แต่เราจะดูว่าลูกค้าจะสามารถรับความเสี่ยงกับจำนวนเงินที่เสียได้ประมาณเท่าไหร่ เพื่อคำนวณว่าจะสามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ประมาณเท่าไหร่ เช่น สมมติว่าคุณยอมรับความเสี่ยงที่จะเสียได้ 7% ในขณะที่เพื่อนของคุณรับความเสี่ยงได้ที่ 9% เพราะฉะนั้นเพื่อนของคุณมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่คุณควรจะได้ ซึ่งการคำนวณสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้าง unique สำหรับ Bento

Bento วางแผน Scale up อย่างไร?

เราเป็นบริษัทแบบ B2B2C เราจะไม่พยายามไปแทนที่ที่ปรึกษาของสถาบันการเงินที่มีอยู่แล้ว แต่เราจะสร้างเครื่องมือสำหรับที่ปรึกษาอย่างธนาคาร หรือ โบรคเกอร์ เพื่อนำไปใช้สำหรับแนะนำลูกค้าต่อได้ และเราอยากจะร่วมกับองค์กรการกุศล เพื่อให้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในราคาที่ถูก

ได้รับอะไรจากการเข้าร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub ?

ในฐานะที่ฉันทำงานใน Financial industry มา 20 ปี ฉันก็อยากได้อะไรที่เป็นรูปธรรมจากการเข้าโครงการนี้ และก็ได้จริงๆ ตามที่คาดหวังไว้ มันเป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมมากๆ โครงการ Bangkok Bank InnoHub ทำให้เราได้เรียนรู้มากมายถึงสิ่งธนาคารต้องการ รวมถึงความเข้าใจในตลาด ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้ไม่ได้ และอะไรที่เราควรจะมีในบริการของเรา

อนาคตของ Bento ?

เรากำลังขยายไปสู่ ฮ่องกง ดูไบ สวิตเซอร์แลนด์ และ ลอนดอน และมีแผนจะเข้ามาเพิ่มทางเลือกใหม่แก่นักลงทุนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เราอยากเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียและยุโรป และมี partner ที่ดีอย่าง Bangkok Bank

อยากฝากข้อคิดอะไรเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง ?

ฉันคิดว่าจริงๆ แล้ว การเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เรามาถึงยุคที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำงานออกมาได้ดี ถ้าเราทำงานหนักเราก็จะสามารถทำความฝันให้สำเร็จได้

บทความนี้เป็น Advertorial 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...