ถอดบทเรียน ‘การหาบอร์ดบริหารที่มีประสิทธิภาพ’ ช่วยธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไร | Techsauce

ถอดบทเรียน ‘การหาบอร์ดบริหารที่มีประสิทธิภาพ’ ช่วยธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างไร

ในงานสัมมนา IOD หัวข้อ The essential guide to startup boards ณ ออดิทอเรียม ทรู ดิจิทัล พาร์ค มีการพูดถึงเรื่อง ‘บอร์ดบริหารในธุรกิจสตาร์ทอัพ’ ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากเพราะสามารถแนะวิธีคิด ชี้เป้าทิศทางธุรกิจเพื่อทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเติบโตหรือสเกลได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ แบ่งการพูดคุยออกเป็นสองเซสชั่น

เซสชั่นแรก หัวข้อ ‘Inside the boardroom: Challenges to balance growth and governance in startups’ มี คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บจก. ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป, คุณธนพงศ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บจก. บีคอน เวเจอร์ แคปิตอล, คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta มาร่วมเป็น panelist โดยมี คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ  

โดยในเซสชั่นแรก กล่าวถึงความแตกต่างและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ความสำคัญของกรรมการบริษัทหรือบอร์ดบริหารในการผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโตและมีธรรมาภิบาล โดย panelist ทั้ง 3 คนให้แง่มุมที่ว่า บอร์ดบริหารที่ดีควรมาในช่วงที่ธุรกิจมี directions ที่ชัดเจนแล้ว บอร์ดควร ‘ให้คำแนะนำ’ มากกว่าออกคำสั่ง อีกทั้งบอร์ดควรให้คำแนะนำว่า ทำอย่างไรเพื่อ drive growth ให้แก่ธุรกิจ ทั้งนี้ สรุปออกมาได้สามแง่มุม คือ 

1) ธุรกิจต้องเตรียมตัวสำหรับ worst case ไว้อย่างน้อยสักสองเท่า 

2) หาพลังมาเสริมการดำเนินธุรกิจที่นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจ และ 

3) ต้องรู้ข้อมูลของธุรกิจตัวเองในการ burn rate ว่ามีเท่าไหร่ ทำได้แค่ไหน และสามารถกระทบใครบ้าง 

เชื่อมโยงมายังเซสชั่นสอง เป็นการพูดคุยถึงบทเรียนจากการทำธุรกิจสตาร์ทอัพและการมีบอร์ดบริหารว่า มีบทบาทและสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร ในหัวข้อ ‘Best Practices and Lesson Learned: How to build effective startup boards’ โดยผู้ที่มาร่วมใน panelist นี้ ได้แก่ คุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ CEO & Co-founder Freshket และ คุณไผท ผดุงถิ่น CEO & Co-founder บจก.บิลค์ วัน กรุ๊ป โดย คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย เป็นดำเนินรายการ

คุณกุลเวชเริ่มจากให้พิจารณาการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพกับ 3 ช่วงอายุคือ 5 ปี 15 ปี และ 25 ปี แล้วให้มอง Maturity ขององค์กรว่าอยู่ที่อายุเท่าไหร่

คุณพงษ์ลดาจาก Freshket ตอบก่อนว่า ธุรกิจของตัวเองอยู่ในช่วง 15 กับ 25 ปี เป็นช่วงพอเหมาะพอเจาะที่ได้เรียนรู้ว่า บอร์ดบริหารสำคัญอย่างไร เนื่องจากในช่วงแรกยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการมีบอร์ดบริหาร อีกทั้งยังค่อนไปทาง ‘ปฏิเสธ’ การเข้ามาของบอร์ดอีกด้วย แต่ตอนนี้มีบอร์ดจาก Corporate เข้ามามากขึ้น ทำให้มี direction เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้เข้าใจธุรกิจและวิธีบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น

สำหรับคุณไผท บอกว่าธุรกิจของตัวเองอยู่ในช่วงอายุ 25 ปี มี Corporate เข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหาร แต่ถ้าย้อนดูในช่วงแรกก็ยังต่อต้านการมีบอร์ดบริหารเช่นเดียวกัน แต่พอได้ทำงานและได้เรียนรู้มากขึ้น ก็เห็นความสำคัญว่า ธุรกิจที่มีบอร์ดบริหารทำให้รู้ว่า บริษัทต้องการอะไร ต้องทำอะไร นับเป็นเรื่องที่ดี

ทำอย่างไรจึงจะดึงคนเก่งมาเป็นบอร์ดบริหารองค์กรให้เรา

คุณไผทให้รายละเอียดว่า บิลค์ วัน มุ่งแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ ‘ห่วย ช้า แพง’ เป็นวัตถุประสงค์หลัก บริษัทจึงเข้าไปอยู่เบื้องหลังของวงการก่อสร้างตั้งแต่ developer ผู้รับเหมา ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เพื่อทำให้อุตสาหกรรมนี้มี efficiency สูงขึ้น และเป็น digital มากขึ้น นอกจากนี้ คุณไผทยังต้องการอยู่เบื้องหลังไซต์ก่อสร้างของไทยและอาเซียน และทำให้วงการก่อสร้างไทยดีขึ้นกว่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องมีบอร์ดมาร่วมบริหาร ให้คำแนะนำได้ แต่การจะให้ใครมาเป็นบอร์ด เจ้าของธุรกิจต้องแสดงจุดยืนให้ชัด ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักก่อน 

“เราต้องขายตัวเอง แล้วบางทีมันเป็นเรื่องของเคมีที่ตรงกันด้วย เพราะธุรกิจเราซับซ้อน แต่เราก็ต้องขายตัวเองให้น่าสนใจและมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่า คืออะไร ทำอะไร และอีกข้อ การได้มาซึ่งบอร์ดบริหารก็เป็นความสนใจของ founder เองด้วย” 

มาที่ Freshket ธุรกิจที่มีจุดโฟกัสอยู่ 3 เรื่อง นั่นคือ quality, transparency และ service level โดยในเรื่องของอาหาร บริษัทต้องการทำให้ร้านอาหารเข้าถึงวัตถุดิบอาหารที่มีคุณภาพสูงขึ้น และช่วยเปิดทางให้กกลุ่มคนตัวเล็กสามารถเข้าไปซัพพอร์ตด้าน supply ให้แก่ร้านอาหารได้

“เราจะเคลียร์ vision - mission ของตัวเองกับบอร์ดบริหารว่า ตรงกันมั้ย บอร์ดบริหารก็ต้อง add value ด้วยว่า จะสามารถเติมเต็มองค์กรให้เราได้อย่างไร เพราะนั่นแปลว่า เขาจะได้ประโยชน์หรือได้ช่วยสตาร์ทอัพจริงๆ” คุณพงษ์ลดากล่าว

เทคนิคการทำงานร่วมกับบอร์ดบริหาร

คุณพงษ์ลดา กล่าวถึงช่วงแรกว่าทำงานตัวคนเดียว แต่เมื่อมีบอร์ดบริหารเข้ามาก็ทำให้เข้าใจเรื่อง compliance มากขึ้น รู้สึกว่าต้องเปิดใจคุยกับบอร์ดบริหาร ว่า Goal ขององค์กรคืออะไร บอร์ดทำหน้าที่อะไรบ้าง เทคนิคคือ พยายามมีส่วนร่วมกับบอร์ดบริหารมากขึ้น ในแบบที่เรียกว่า ‘วงเล็ก’ แยกคุยเป็นรายคนก่อนถึงเวลา Board Meeting โดยจะคิดก่อนว่า ในวงเล็กต้องคุยเรื่องนี้กับใคร ประเด็นอะไร เพื่อป้องกันบางประเด็นหลุด และทาง Freshket เองก็มี Financial VC ที่จะเข้ามาดูแลเรื่อง Growth และ Profitability อีกทั้งยังมี Corporate VC เข้ามาดูแลเรื่อง Synergy ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างกัน และเมื่อความต้องการของบอร์ดเยอะขึ้น ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญให้เป็น

มาที่ บิลค์ วัน คุณไผทบอกว่า บอร์ดบริหารมาจาก Corporate VC ทั้งหมด และต่างก็พยายามจะ Synergy กับธุรกิจ เราจึงต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า เราต้องการอะไร เขาจะช่วย Contribute สิ่งที่เราต้องการได้อย่างไร

บอร์ดบริหารในฝัน

“บอร์ดบริหารในฝันต้องมี expertise ที่แตกต่างกัน และ act on behalf ของผู้ถือหุ้นได้ ไม่ได้มาในนามตัวแทนของ VC แต่มาในนามของ Corporate ที่สามารถมี second thought และเป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม ตรงไปตรงมา แล้วก็ต้องโชว์บทบาทการบริหารในช่วง Crisis มาเป็นสติให้เราได้” คุณไผทกล่าว

ฝั่งคุณพงษ์ลดาบอกว่า “จากที่ได้เรียนรู้การมีบอร์ดผ่านการระดมทุน บอร์ดบริหารในฝันคือ ทุกคนต้อง add value ให้กับองค์กรได้ ส่วนบอร์ดในอุดมคติก็จะลงเรือลำเดียวกัน ช่วยกันทำงาน ด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจน และทำงานบนจุดประสงค์นั้นร่วมกันได้”

หากบอร์ดเข้ามาเป็นสติ ช่วยสร้างความยั่งยืนให้องค์กร แล้วสตาร์ทอัพควรทำอะไร อย่างไร

คุณพงษ์ลดาแสดงความคิดเห็นว่า ต้องดูว่าชิ้นส่วนที่หายไปของธุรกิจคืออะไร เพราะการที่บอร์ดเข้ามาจะช่วยเติมเต็มชิ้นส่วนที่หายไป เนื่องจากบางครั้ง founder จะเห็นแต่ภาพที่ไม่กว้างพอ มองแค่ next shot one shot two แต่บอร์ดบริหารจะมองภาพกว้างได้และเห็นหลากหลายส่วน อาจจะเห็นเป็น ten shots เลย และทำให้เกิด combination ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนและคำแนะนำเพื่อมองไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น

ความยั่งยืนในความหมายของ Freshket คือ ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และ Sustainability ในมุมที่เป็น Global issue ชิ้นส่วนที่หายไปนี้คือสิ่งที่เราต้องการ knowledge และ know-how จากบอร์ดบริหาร ในการเชื่อมความยั่งยืนขององค์กรกับความยั่งยืนของโลกภายนอก และ Freshket เองก็ให้ความสำคัญกับ Fairness ซึ่งเป็น motto ในการทำงาน นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญเรื่อง Sustainability ตั้งแต่ supply chain ไปจนถึง stakeholders ต่างๆ ด้วย

คุณไผทบอกเป้าหมายว่า ต้องการบอร์ดบริหารและใช้ประสบการณ์ของบอร์ดบริหารเข้ามาปรับ เพราะความยั่งยืนขององค์กรต้องสร้าง Innovation หรือ Business model บางอย่างขึ้นมาด้วยเป้าหมายร่วมกัน อีกทั้งมองว่าความยั่งยืนต้องทำจริง ไม่ใช่เพียงเป็น project based และต้องอยู่ในการดำเนินธุรกิจขององค์อย่างจริงจัง เช่นในเรื่อง ESG ต้องไม่ใช่การทำเพียงผิวเผิน 

Lessons Learned ของการเป็นสตาร์ทอัพที่ยังวนมาเตือนใจ

สำหรับคุณไผท เรื่องแรกคือ การบริหารความคาดหวัง เพราะในช่วงแรกของการเป็นสตาร์ทนั้น คิดไปว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ทันที แล้วไปสร้างความคาดหวังให้กับนักลงทุนอีกทอดหนึ่ง ซึ่งถ้าเราบริหารความคาดหวังได้ไม่ดี นักลงทุนก็จะมองว่าเราไม่ perform ช่วงหลังจึงต้องรักษาคำพูดตัวเอง และบาลานซ์ความคาดหวังให้ได้ 

แต่ทุกอย่างมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการทำธุรกิจคุณไผทยังคงเดิม แต่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ และเราก็ต้องสื่อสารความคาดหวัง จนถึงจุดหนึ่งต้องมี professionalism ด้วยว่า ไม่ใช่เราคนเดียวที่จะพาองค์กรไปต่อได้ ต้องมีบอร์ดเข้ามาช่วย จึงต้องบาลานซ์ทั้ง entrepeuneurship กับ professionalism ว่า การเปลี่ยนผ่านจะช่วยให้องค์กรไปต่อได้

ส่วนคุณพงษ์ลดากล่าวถึงบทเรียนด้านการมีส่วนร่วมว่า สตาร์ทอัพต้องมีส่วนร่วมและบอกความจริงกับบอร์ดว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อสองที่ได้เรียนรู้คือ รู้จักขอความช่วยเหลือ เนื่องจากเมื่อก่อนทำงานคนเดียว ทำอย่างเดียว จนกระทั่งได้รู้ว่า ทีมเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง และบางที advice ที่ได้มาจากบอร์ดบริหารก็ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น แล้วบอร์ดเองก็มี result มากกว่า เราจึงต้องรู้จักฟัง แล้วจัดบาลานซ์เพื่อให้ช่วงที่ธุรกิจกำลังสเกลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ได้

จากการเปรียบเทียบการเติบโตทางธุรกิจและการอยู่ได้ยาวๆ จากอายุของสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็น 5 ปี 15 ปี หรือ 25 ปี สุดท้ายแล้ว เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง คุณกุลเวชกล่าวทิ้งท้ายว่า มันคือเรื่องการคำนึงถึง ‘ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ’ ที่สตาร์ทอัพจะต้องรักษาไว้นั่นเอง 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...

Responsive image

นวัตกรรมใหม่ จะสร้างโอกาส หรือเข้ามา Disrupt ธุรกิจแบบเดิมๆ ? ส่องความเห็นจาก CEO ชั้นนำในยุคนวัตกรรม

อนาคตกำลังมาถึงเร็วขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย และกำลังเปลี่ยนโฉมธุรกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แต่คำถามสำคัญคือ นวัตกรรมอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้? ใครคือผ...