เรื่องน่ารู้จากวงเสวนา 'Shark Restage: ฉลามคืนถิ่น ปลุกธุรกิจ SMEs ไทย' โดย 3 กูรูด้านการลงทุน | Techsauce

เรื่องน่ารู้จากวงเสวนา 'Shark Restage: ฉลามคืนถิ่น ปลุกธุรกิจ SMEs ไทย' โดย 3 กูรูด้านการลงทุน

อีกหนึ่งคอนเทนต์จากงานสัมมนาระดับประเทศ BITKUB SUMMIT 2024 ภายใต้แนวคิด 'Gateway to the Future: เปิดประตูเทคโนโลยีและการลงทุน สู่โลกอนาคตอย่างยั่งยืน' โดย บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ทีมเทคซอสสรุปจากวงเสวนาในหัวข้อ 'Shark Restage: ฉลามคืนถิ่น ปลุกธุรกิจ SMEs ไทย' ที่มีผู้นำจาก 3 องค์กร ซึ่งมีประสบการณ์การลงทุนในธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพหลากหลายอุตสาหกรรม มาให้คำแนะนำแก่ธุรกิจที่ต้องการระดมทุนซึ่งได้ทั้งสาระและความบันเทิง

Shark Restage: ฉลามคืนถิ่น ปลุกธุรกิจ SMEs ไทย

Shark Restage, SMEs, Bitkub Summit 2024

หัวข้อเสวนา 'Shark Restage: ฉลามคืนถิ่น ปลุกธุรกิจ SMEs ไทย' เป็นเวทีที่มีกูรูนักลงทุนแนวหน้าของไทยซึ่งเคยให้เงินลงทุนแก่ธุรกิจ SMEs และสตาร์ทอัพหลากหลายอุตสาหกรรมในรายการ Shark Tank Thailand มาร่วมพูดคุยกันว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ต้องการเงินลงทุน ควรนำเสนออะไร ต้องเดินหน้าอย่างไร รวมถึง Pitch แบบใดเพื่อให้ได้รับการลงทุน โดย 3 ผู้นำองค์กรที่เป็นเหล่า Shark มาพบปะพูดคุยกันบนเวที BITKUB SUMMIT 2024 ในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ณ Plenary Hall ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ได้แก่

  • คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ
    รองประธานกรรมการอาวุโส ไทยซัมมิท กรุ๊ป
  • คุณกฤษน์ ศรีชวาลา
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิโก้ กรุ๊ป
  • คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
    ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป
  • คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์
    บรรณาธิการบริหาร Workpoint TODAY เป็นผู้ดำเนินรายการ

Shark Restage, SMEs, Bitkub Summit 2024คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป และคุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ ไทยซัมมิท

คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ 
รองประธานกรรมการ ไทยซัมมิท

  1. ช็กลิสต์ที่นักลงทุนใช้พิจารณาให้เงินลงทุน หลักๆ มีอยู่ 3 ด้าน คือ คน ตัวเลข และเงินสด 
    • คน - เจ้าของมีแพสชันไหม มีความรู้ในการทำธุรกิจหรือไม่ เข้ากับนักลงทุนได้หรือเปล่า
    • ตัวเลข - รู้ข้อมูลแและเข้าใจเกี่ยวกับกำไรและขาดทุนหรือไม่ ถ้าตอบได้ บ่งบอกว่าเข้าใจต้นทุนของบริษัทว่ามาจากไหน
    • เงินสด - บริหารกระแสเงินสดอย่างไร แม้บริษัทยังขาดทุนอยู่ใน 0-5 ปีแรก Shark ลงทุนให้ได้ แต่ในระยะเวลาอันสั้น SMEs จะช็อตอีกหรือเปล่า จะหมุนเงินอย่างไร ถ้าให้เงินแล้วจะอยู่ได้ 2-3 ปีหรือเปล่า

  2. หากเป็นการ Pitch ที่ไม่ใช่ในรายการโทรทัศน์ นักลงทุนย่อมแสวงหาผลกำไร และมักจะถามว่า จะได้กำไรเท่าไหร่ จะเข้าตลาดฯ ได้ปีไหน SMEs จึงควรมีคำตอบที่เป็น Plan A, Plan B เพื่อให้คำตอบแก่นักลงทุนได้ว่า เขาจะได้อะไร เมื่อไหร่

  3. สถานการณ์ในรายการสำหรับ Shark ถือเป็นเรียลิตี้ที่มีการคิดสด ถามสด สำหรับ SMEs แนะนำให้ศึกษามาก่อนว่า Shark แต่ละคนจะถามคำถามแนวไหน แล้วสามารถนำเรื่องที่คุยแล้วไม่ได้ออกสื่อไปพัฒนาธุรกิจต่อได้

  4. SMEs ต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่า Goal ของบริษัท กับทรัพยากร (Resources) ที่ใส่เข้าไปนั้น เป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า เพราะ SMEs ทำให้เกิดการจ้างงานในไทยมากถึง 70% และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระจายอยู่ตามภูมิภาค แต่ผ่านมาหลายสิบปี SMEs ก็ยังเผชิญปัญหาเหมือนเดิม จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้จึงต้องกลับมาดูที่ 'Execution Plan' แล้วทำอะไรให้ถูกที่ถูกทาง เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยวใช้หลัก 'รายได้ - ต้นทุน = กำไร' ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี การจะเพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไรมันยาก ผู้ประกอบการก็ต้องเลือกวิธีลดต้นทุนแทน กล่าวคือ ทำอะไรให้ถูกที่ถูกทางถูกเวลา ทำให้เกิดการเติบโตอย่างเข้มแข็ง

คุณกฤษน์ ศรีชวาลา 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิโก้ กรุ๊ป

'Shark Restage: ฉลามคืนถิ่น ปลุกธุรกิจ SMEs ไทย'คุณกฤษน์ ศรีชวาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟิโก้ กรุ๊ป และคุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้ดำเนินรายการ

  1. SMEs ที่จะโตได้ ไปต่อได้ต้องมี Innovation เช่น ไต้หวัน เป็นหนึ่งในชาติที่ทำ SMEs ล้วประสบความสำเร็จระดับโลก เขามีซัพพลายเชนที่แข็งแรงมาก ต่างจากไทยที่ถูกตัดซัพพลายเชนไปมากเพราะโดนดิสรัปต์

  2. นักลงทุนต้องพิจารณาธุรกิจในแต่ละ Sector ว่ามีความแตกต่างกัน และโดยส่วนตัวมองว่ากำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษามักจะใช้เวลา 3-5 ปี กว่าจะเริ่มมีกำไร แต่บางธุรกิจก็ควรมีกำไรตั้งแต่ 6 เดือนหรือปีแรก แต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการรายใดมีกำไรมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาหา Shark แนะนำให้ไปหาสถาบันการเงินได้เลย

  3. ก่อนจะหาพาร์ตเนอร์ต้องดูว่า ธุรกิจที่ทำอยู่จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์มากน้อยขนาดไหน เพราะการจะมีพาร์ตเนอร์ต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล ต้องมีการเปลี่ยนระบบหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งถือเป็นภาระอย่างหนึ่ง เพราะมีประเด็นอีกมากให้ต้องทำต่อ ดังนั้น จึงต้องดูความจำเป็นของบริษัทว่า จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์หรือหุ้นส่วนมากน้อยแค่ไหน

  4. 'ความมั่นคงในตัวเอง' เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามาด้วยความมั่นใจก็สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนเป็นเรื่องปกติ SMEs ต้องคิดเผื่อและไม่เป็นภาระนักลงทุน ธุรกิจอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ซึ่งก็มีธุรกิจเยอะแยะที่ดีมาก แต่จบลงเพราะหุ้นส่วนก็มี 

  5. หัวใจของรายการ Shark Tank - Shark (นักลงทุน) ต้องมีส่วนสนับสนุนหรือเข้าไปเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ธุรกิจนั้นโตได้ ดังนั้น คนที่มารายการ Shark Tank ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง เพราะ Shark เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแนะนำ เช่น ทำอย่างไรจึงจะพาธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เพื่อเป็นการส่งเสริม New Startup

  6. อยากเห็นคนที่มารายการนำเสนอเรื่องใหม่ๆ มีการคิดนอกกรอบ ไม่ใช่แค่การซื้อเครื่องจักรหรือกู้แบงก์มาทำธุรกิจ และถ้าเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรมแล้ว นักลงทุนต้องมี Plug & Play ช่วยทำให้ผู้ประกอบการเดินต่อ ไม่อยากให้นักลงทุนมองการลงทุนว่าเป็นแบบ Private Equity  

  7. อนาคตของการดำเนินธุรกิจ จะให้มอง 6 เดือนหรือ 1 ปี ยังยาก เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สังเกตไหมว่า สินค้า Super Luxury เป็นสินค้าขายดีที่สุด ทั้งๆ ที่ธุรกิจโดยรวมทั่วโลกไม่ดี และกว่า Cycle นั้นจะกลับมาต้องใช้เวลาอีกหลายปี ฉะนั้น สิ่งเดียวที่อยากให้คิดเกี่ยวกับอนาคต คือ SMEs ต้องมีความตระหนักรู้ (Awareness) ว่าอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอด เช่น สงคราม น้ำท่วม โควิด ดังนั้น SMEs ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านี้ เพื่อรับมือหรือทำให้ธุรกิจเสียหายน้อยที่สุด เมื่อมีองค์ประกอบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้และมาเร็วขึ้นเรื่อยๆ 

คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา 
ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป

บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป

  1. อีก 6 ปีข้างหน้า (ปี 2030) ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่ดีที่สุด ถูกที่สุด จะไม่ได้เป็นผู้ชนะ แต่ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าหรือบริการ 'เขียวที่สุด' จะเป็นผู้ชนะ ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว (Green Transition) บริษัทจึงจะส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ กู้เงินจากธนาคารได้ (Green Loan) ไม่อย่างนั้นจะถูกกีดกันทางการค้า เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่ได้

  2. ผู้ประกอบการต้องนำ 'เทคโนโลยีดิจิทัล' มาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ (Competitiveness) บวกกับ Green Transition บวกกับแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลตรงตามที่ตลาดต้องการ เพื่อให้แข่งขันได้

  3. อันที่จริง Shark คุยกับ SMEs นานมาก คือถ่ายทำรายการ 8-9 ชั่วโมง พูดคุย สอบถามประมาณรายละ 1 ชั่วโมง แต่ตัดมาออกรายการเพียงไม่กี่นาที โดยเรื่องที่ Shark มักใช้พิจารณา SMEs ในเบื้องต้นมี 3 ด้าน
    • มีความรู้ด้านการทำธุรกิจที่เป็น Fundamental หรือไม่ ยกตัวอย่างเมตริก P/BV (Price to Book Value) ราคาตลาดต่อหุ้น, PE (Price to Earnings Ratio) ซื้อหุ้นที่ราคา P บาท นานแค่ไหนจึงจะคืนทุน, DE Ratio (Debt to Equity Ratio) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน
    • มีคู่แข่งทำธุรกิจอย่างที่เราทำได้หรือเปล่า เช่น จะสร้างโค้กอีกแบรนด์ขึ้นมาแข่งกับ โค้กที่เป็นเจ้าตลาด ทำได้หรือไม่ 
    • Founder มีใจที่จะทำธุรกิจต่อไหม มีงานประจำของตัวเองหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าอยากเลิกทำแล้วให้ Shark มาแบกต่อ

  4. ผู้ประกอบการที่พร้อมในอีก 3-5 ปีข้างสำหรับโลกจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งที่จะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหน และอีกฝั่งคือ อะไรที่จะไม่เปลี่ยน
    • สิ่งที่ไม่เปลี่ยน: เรื่องหลังบ้าน ผู้ประกอบการต้องรู้เรื่อง Balance Sheet, Cashflow บริษัทว่า เป็นอย่างไร สะท้อนสุขภาพของบริษัท, ความต้องการลูกค้า - ผ่านไปกี่เจเนอเรชัน ลูกค้าก็ต้องการของที่ดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง ไม่มีใครจะขออะไรที่แพงหรือแย่ลง
    • สิ่งที่เปลี่ยนไป: ต้องดูเมกะเทรนด์ว่าโลกจะเดินไปในทิศทางไหน เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป และการทำให้ธุรกิจอยู่ถูกที่ถูกเวลา (Timing) เป็นเรื่องสำคัญมาก

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ใครจะซื้อ TikTok สหรัฐฯ รวมรายชื่อมหาเศรษฐีและบริษัททีสนใจ ByteDance

ค้นพบรายชื่อมหาเศรษฐีและบริษัทที่สนใจซื้อ TikTok สหรัฐฯ จาก ByteDance พร้อมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมูลค่า TikTok บุคคลสำคัญ และดีลที่อาจเกิดขึ้น...

Responsive image

สรุปแนวคิด Ray Dalio : AI, ปรัชญาชีวิต, การทำงาน และพลังขับเคลื่อนโลก

Ray Dalio นักลงทุน และผู้บริหาร Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Bridgewater Associates ได้เข้าร่วมพูดคุยในอีเวนต์ AI House Davos ที่จัดขึ้นในงานประชุมประจำปีครั้งใหญ่อย่าง World...

Responsive image

รู้จัก ASML ผู้นำเทคโนโลยี Lithography ต้นน้ำของเทคโนโลยีชิปเปลี่ยนโลก

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจเรื่องราวของ ASML ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากในโรงเก็บของเล็ก ๆ สู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมชิประดับโลก พร้อมทั้งเจาะลึกถึ...