ก้าวต่อไปของภาคธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อ AI ผสานกับปัญญามนุษย์

ก้าวต่อไปของภาคธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อ AI ผสานกับปัญญามนุษย์

ความก้าวหน้าของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ นับวันดูเหมือนจะพัฒนาล้ำหน้ามนุษย์ไปเรื่อยๆ ทำให้นำไปสู่คำถามที่ว่า สุดท้ายแล้วปัญญามนุษย์ยังสำคัญอยู่ไหม จริงหรือไม่ที่มนุษย์ต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับสติปัญญา เมื่อทั้งสองมารวมกัน จะเกิดเครื่องมือที่ทรงพลังมากแค่ไหน เราจะใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจได้อย่างไร

แน่นอนว่าเรื่อง Digital Transformation นั้นเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา การมีความตื่นตระหนกกับเรื่องเทคโนโลยีหรือสิ่งที่เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงว่ามันจะส่งผลกระทบอะไรนั้น เป็นความท้าทายระดับแรก ความท้าทายจริงๆ คือเราจะรับมือกับมันอย่างไร ในงาน AIS Academy for THAIs โดย AIS ได้มีวิทยากรมาร่วมถกประเด็น Digital Disruption กันอย่างน่าสนใจ หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ Dr. Hau L. Lee วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Disruption จากมหาวิทยาลัย Stanford มาพูดในหัวข้อ "Building Agility with Digital Transformation" อธิบายถึงการตอบสนองต่อ Digital Transformation อย่างฉับพลัน โดยชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะส่งผลให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมองเทคโนโลยีให้เป็นเรื่องเชิงบวก แล้วนำมันไปสร้างประโยชน์ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต

Dr.Hau L. Lee (The Thoma Professor of Operations, Information, and Technology, Stanford)

1. เทคโนโลยีทำให้เห็นทุกสิ่งได้ชัดเจนและกว้างขึ้น (Unprecedented Visibility)

การที่เรานำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้เราสามารถมองเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน จากที่แต่ก่อนไม่เคยรู้ ตอนนี้ได้รู้แล้ว

ทำไมการที่เราสามารถทำการติดตาม และมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ถึงสำคัญ?

Dr. Hau ยกตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในช่วงระหว่างสงคราม ทหารสหรัฐไม่รู้พวกเขาเหลืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม กระสุนอยู่เท่าไร และอยู่ที่ไหนบ้าง ทำให้พวกเขาต้องทำการขนเสบียงเพิ่ม เสียทั้งเวลาและพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อได้มีการนำเทคโนโลยี Smart Dust (เครือข่ายของตัวจับสัญญาณขนาดจิ๋วที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์) มาใช้ โดยมีแผ่นชิปอัจฉริยะ (RFID) ทำให้ทหารสามารถทำการติดตามสถานะของสิ่งเหล่านั้น ตั้งแต่จากโกดังไปจนถึงหลุมหลบภัยได้ สิ่งที่เคยใช้เวลาหลายวันในการติดตามสมัยสงครามอ่าว (Gulf war) ในตอนนี้สามารถหาที่ตั้งของมันได้ภายใน 20 นาที อีกทั้งใช้กองกำลังทหารเพียงหนึ่งในสามและสามารถประหยัด shipping container ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่า AI จะทรงพลังมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม มันยังคงต้องอาศัยทักษะความรู้ของมนุษย์เข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เทคโนโลยีทำให้เกิดปัญญาเชิงลึก (Deep Intelligence)

การนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้เกิดปัญญาเชิงลึก มันท้าทายสิ่งที่เราเคยเชื่อ หรือค่านิยมที่เป็นความเคยชินที่ฝังหัวมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งมันยังเผยให้เห็นในสิ่งที่เราเคยรู้หรือไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งก็ยิ่งทำให้มันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากขึ้นไปอีก

ปัญญาเชิงลึกไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการหยั่งรู้โดยอาศัยสัญชาติญาณและความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่เราสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และรู้ได้ว่าจะทำอะไรกับข้อมูลชุดนั้นได้บ้าง

ปัญญาประดิษฐ์นั้นทรงพลัง แต่ Augmented Intelligence (ปัญญาเสริม) นั้นก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเช่นกัน

ว่ากันว่า มนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาศัยเครื่องมือที่จะช่วยในการยกระดับสติปัญญา และเมื่อทั้งสองอย่างมารวมกัน มันยิ่งกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากขึ้นไปอีก อย่างที่อาจจะรู้กันว่าปัญญาประดิษฐ์ สามารถเอาชนะมนุษย์ในการแข่งขันหมากล้อมได้อย่างราบคาบ อย่างไรก็ตาม เจ้า AI อันดับหนึ่งนั้นก็ได้ถูกโค่นแชมป์จากการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ ถ้าจะพูดให้เข้าใจก็คือ มนุษย์สามารถมองเห็นข้อมูลเชิงกลยุทธ์และความเป็นไปของแต่ละสิ่งได้ ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำการวิเคราะห์คำนวณข้อมูลที่มหาศาล และเมื่อทั้งสองได้มารวมกันทำให้สามารถเอาชนะเจ้า AI ได้ จะเห็นได้ว่ามนุษย์ยังมีความสำคัญอยู่ เราเพียงแค่ต้องรู้ว่าเราจะทำการตีความและใช้ข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

ภาพจาก Max Taves/CNET

AI ทำให้เราเข้าใจชุดข้อมูลในอดีต เข้าใจปัญหา ใช้มันในการวิเคราะห์ สามารถทำนายและทำความเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราสามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์ของการตัดสินใจ อะไรจะเกิดขึ้นหากเราเลือกเดินในแต่ละเส้นทาง อีกทั้งช่วยให้เรามีวิธีรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

3. เทคโนโลยีช่วยให้สามารถตอบสนองผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว (Super-Agile Sense and Respond)

นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยทำให้เราเฉลียวฉลาดขึ้นแล้ว มันยังบอกว่า “ลูกค้าต้องการอะไร” และ “ควรจะตอบสนองเขาอย่างไร” เพราะแม้คุณจะรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่ไม่รู้ว่าควรจะตอบสนองพวกเขาอย่างไรก็เปล่าประโยชน์ และที่สำคัญการตอบสนองนั้นจะต้องรวดเร็ว ฉับไว ทันใจผู้ใช้งาน

ทุกวันนี้ดิจิตัลเทคโนโลยีได้ช่วยตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างห้าง Walmart ที่ได้นำเจ้าเครื่องพิมพ์สามมิติมาใช้ในการช่วยลูกค้าให้ได้ในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถหาได้จากที่อื่น อย่างเช่นแก้วกาแฟรูปทรงโถชักโครก

มันไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะมีประสบการณ์หรือมีพื้นเพมาจากไหน ที่สำคัญคือคุณรู้หรือเปล่าว่าลูกค้าต้องการอะไร นี่ต่างหากที่จะเป็นปัจจัยผลักดันสู่ความสำเร็จ

4. เทคโนโลยีทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ (Enabling new business models)

AI ทำให้เห็นภาพของปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน การมองไปข้างหน้าก็สำคัญ แม้ว่าจะมีไอเดียมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ทำอะไรกับมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ทำการทดลองธุรกิจโมเดลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา หากทำสิ่งไหนแล้วไม่ใช่ ถอยออกออกมา ทดลองทำไปเรื่อยๆ ทำจนกระทั่งรู้ว่า Business model ไหนเป็นสิ่งที่ใช่มากที่สุด

Dr.Hau ได้ยกตัวอย่างโปรเจค Mountain Hazelnuts ของ Daniel Spitzer โดยโมเดลธุรกิจแรกคือ การให้เกษตรกรขายพื้นที่ทำการเกษตร จ้างพวกเขาให้ทำงาน จากนั้นทำการแจกจ่ายและต่อรองขายผลผลิตที่ได้ให้กับ Nestle อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เขาพบคือ มันเป็นเรื่องค่อนข้างยากในการโน้มน้าวให้เกษตรกรขายพื้นที่ทำการเกษตร อีกทั้งเขาก็ไม่ได้มีเงินทุนมากขนาดนั้น

โมเดลที่สอง คือการให้เกษตรกรซื้อต้นกล้าเฮเซลนัท ปลูกมัน และช่วยพวกเขาให้มีรายได้ขึ้นมา วิธีนี้สามารถช่วยเกษตรกรให้ทำประโยชน์ในพื้นที่ทำกินของพวกเขาได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เกษตรกรไม่รู้วิธีการปลูกเฮเซลนัท อีกทั้งกลัวว่ามันจะทำให้เสียเวลาและเงินไปโดยเปล่า

โมเดลสุดท้ายคือการประยุกต์การใช้ดิจิตัลกับเกษตรกร มีอินเซนทีฟให้ทั้งกับเกษตรกร บริษัทท้องถิ่น และรัฐบาล โดยการนำ 25% ของผลกำไรกลับมาให้เกษตรกรในท้องถิ่นนั้นๆ ทำการประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาลว่าคนและทรัพยากรของเขาจะไม่ถูกเอาเปรียบ นอกจากนี้คือการสร้างเครือข่ายดิจิตัล เพื่อให้ง่ายต่อการติดต่อสื่อสาร เกษตรกรได้รับแอนดรอยด์คนละเครื่อง โดยพวกเขาสามารถทำการมอนิเตอร์สภาพอากาศ ปรึกษาปัญหาพืชกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญแบบเรียลไทม์ อีกทั้งสามารถติดต่อกับเพื่อนและคนในครอบครัวได้

ภาพจาก Worldbank.org

บางคนอาจไปเร็ว บางคนอาจไปช้า ไม่ว่าสปีดของคุณจะเป็นอย่างไร เส้นทางนี้จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าที่มหาศาล ทั้งต่อตัวคุณเองและต่อผู้ที่ร่วมเส้นทางนี้ไปกับคุณ

Dr.Hau ยังได้ทิ้งท้ายถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการประยุกต์ดิจิตัลในธุรกิจคือ การไม่มีภาพรวมของ Roadmap ที่ชัดเจน แน่นอนว่าข้อมูลนั้นสำคัญ แต่ถ้ามีข้อมูลแล้วไม่ได้ทำความเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง ไม่ได้นำมาวิเคราะห์ และตีความว่าจะนำข้อมูลนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรก็เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นการ connect the dots หาจุดเชื่อมโยงของชุดข้อมูลแต่ละอย่างให้ได้นั้นสำคัญ เมื่อสามารถหาจุดเชื่อมโยงได้ โอกาสในการหาโมเดลธุรกิจในยุคดิจิตัลที่ใช่และสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม อุปสรรคอื่นๆ นกอกจากนี้คือการไม่มีการลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการที่ทำ, ไม่มีกรณีศึกษาที่ชัดเจน, คนในทีมไม่รู้งบประมาณที่ชัดเจน อีกทั้งการที่มีผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...