บุกตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross-border ecommerce ตอนจบ | Techsauce

บุกตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross-border ecommerce ตอนจบ

มาถึงตอนที่ 3 เกี่ยวกับความรู้ในเรื่องการบุกตลาดจีนผ่านตลาดการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน หรือ Cross-border ecommerce (CBEC) ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายสำหรับหัวข้อเรื่องนี้เพื่อต้อนรับปี 2020 ที่มีการคาดการณ์ว่าจีนจะเป็นตลาด CBEC ที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีมูลค่ายอดธุรกรรมการซื้อขายเกินกว่า 12.7 ล้านล้านหยวนหรือ กว่า 56.4 ล้านล้านบาท และมีจำนวนผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าต่างประเทศหรือภาษาจีนเรียกว่า 海淘 Haitao ไห่เถา ที่สูงถึง 232 ล้านคน หรือเติบโตสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับปี 2019 

ดังนั้นก่อนที่จะเป็นประจักษ์พยานการเติบโตของตลาด CBEC ในประเทศจีนไปด้วยกัน ผู้เขียนจะอธิบายประวัติความเป็นมาคร่าวๆ ก่อนที่จะมีวันนี้ มีใครเป็นผู้เล่นรายใหญ่บนแพลตฟอร์ม CBEC บ้าง และผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้างหากมีความสนใจที่จะนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนหลังจากอ่านตอนที่ 1 และตอนที่ 2 แล้ว 

แพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนหรือ Cross-border ecommerce (CBEC) นี้เริ่มมาและพัฒนามาอย่างไร 

การพัฒนาของแพลตฟอร์ม CBEC ถือกำเนิดมาจากการฝากซื้อฝากหิ้ว (ภาษาจีน เรียกว่า 代购 Daigou ไต้โก้ว) ของนักเรียน นักศึกษาชาวจีนที่ศึกษาและอาศัยในต่างประเทศ อาทิเช่น อเมริกา แคนาดา และ อังกฤษ ในช่วงปี 2005 ซึ่งยุคนั้นสินค้าต่างชาติไม่ได้มีขายในประเทศจีนอยู่อย่างแพร่หลายอย่างเช่นในปัจจุบัน 

ปี 2007  จึงก็มีการก่อตั้งแพลตฟอร์ม C2C ที่ช่วยให้การไต้โก้วระหว่าง ผู้หิ้ว กับ ผู้ฝากหิ้วในประเทศจีนให้เป็นไปได้สะดวกมากขึ้น เช่น  Taobao Global หรือ 全球购Quanqiugou และ Haitao.com ตามที่แสดงในรูป History & Timeline ด้านบน 

จนกระทั่งในปลายปี 2009 ประเทศจีนเริ่มแสดงสัญญาณในการเติบโตของเศรษฐกิจและมีกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่สูงเพิ่มขึ้น บริษัทต่างชาติก็เห็นโอกาสมากขึ้นและเริ่มที่จะขายสินค้าจากโรงงานผลิตต่างประเทศที่มีคุณภาพสู่ผู้ซื้อชาวจีนโดยตรงโดยผ่านแพลตฟอร์ม YangMa’Tou洋码头 (อ่านว่า หยางหม่าโถว) ดังนั้นการซื้อขายผ่านรูปแบบ B2C ก็เริ่มถือกำเนิดขึ้น แต่สินค้าใน YangMaTou ก็ยังมีจำกัด ไม่ได้มีหลากหลายประเภทมากนัก ในปี 2011 แพลตฟอร์มสำหรับสินค้าแม่และเด็ก  Mia蜜芽  ก็ถือกำเนิดขึ้น  ซึ่งก็ถือว่า เป็นการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ความเฉพาะเจาะกลุ่ม (Niche/ Vertical) ในตลาดแม่และเด็กอย่างแท้จริง  

ตั้งแต่ ปี 2013 เป็นปีที่สินค้าต่างประเทศบนแพลตฟอร์ม CBEC ได้รับความนิยมและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และเป็นช่วงยุคที่ ecommerce บูมเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีการนำ smartphone, internet และ data มาใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้มีแพลตฟอร์มเกิดใหม่ขึ้นอีกมากมาย อาทิ Xiao Hong Shu (Red) 小红书 ในกลางปี 2013 ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจและเป็นมากกว่าแพลตฟอร์ม CBEC  (โดยผู้เขียนจะขอนำเสนอแยกเป็นบทความพิเศษต่อไป)

แพลตฟอร์มที่กล่าวมาเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้เล่นรายเล็ก จนกระทั่งปี 2014 ถึง 2015 มีบริษัทยักษ์ใหญ่ส่งผู้เล่นลงตลาด CBEC อาทิ  Tmall ของ Alibaba มาเปิด Tmall Global (www.tmall.hk)  ,NetEase เปิด Kaola (www.kaola.com)  JD.com เปิด JD International (www.jd.hk) เป็นต้น ทำให้ช่วงหลังจากนี้จะเห็นภาพการแข่งขันระหว่างผู้เล่นหลักบนแพลตฟอร์ม (CBEC Platform Players) คึกคักมากขึ้น นอกจากนี้ในฝั่งรัฐบาลก็สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาการค้าแบบ CBEC ผ่านนโยบายที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตทั้งจำนวนแพลตฟอร์ม ภาพรวม Landscape ของ CBEC ในประเทศจีน เจ้าของสินค้าต่างประเทศนานาชนิด ที่เข้ามาแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดจีน ตลอดจนจำนวน Haitao ที่เราจะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 41 ล้านคนในปี 2016 จนสูงถึง 154 ล้านคนในปี 2019 ตามกราฟที่แสดงด้านล่าง  

มาดูกันว่าปัจจุบัน ภาพรวมของผู้เล่นแพลตฟอร์มในตลาด CBEC มีใครกันบ้าง 

จากแผนภาพแสดงส่วนแบ่งการตลาดของ CBEC ปี 2019 ไตรมาส 3 พบว่าชาว Haitao นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Tmall Global ของ Alibaba (BABA) มากที่สุด รองลงมาคือ Kaola สองแพลตฟอร์มนี้รวมกันมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 52.1% อันดับต่อมา ได้แก่ JD International ของ JD.com (JD) 15.1%   VIP International ของ Vipshop (VIPS) 10.5%  ทั้งสี่แพลตฟอร์มนี้ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงมากในจีน ส่วนแบ่งการตลาดรวมกันกว่า 77% ในตลาดจีน    

หากใครที่ติดตามตลาด CBEC จีนอย่างใกล้ชิด จะพบว่าข้อมูลส่วนแบ่งการตลาด 3 ปีย้อนหลัง  Kaola เป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในส่วนของ CBEC ของจีนมาตลอด จนในปลายปี 2018 ก็โดน Tmall Global นอกจากนี้ในวันที่ 9  กันยายน 2019  Alibaba ก็ได้ซื้อเข้าซื้อกิจการในส่วน CBEC ของ Netease ซึ่งก็คือ Kaola ไปมูลค่า 2,000 USD  ทำให้ Alibaba กลายเป็นเจ้ามหาอำนาจและมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่าครึ่งนึงโลกอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนทั้งในแง่แบบการค้าอีคอมเมิร์ซแบบปกติ (Normal Trade) และ แบบพิเศษหรือ CBEC อย่างเป็นทางการแล้ว 

แล้วผู้เล่นรายเล็กอื่นๆ จะทำอย่างไร ไม่ร้อนไม่หนาวหรือ อย่างที่เกริ่นไป ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก จึงมีที่ว่างสำหรับผู้เล่นแบบ Vertical หรือการเจาะกลุ่ม Niche market ที่มีจุดแข็งในด้านอื่นๆ เพื่อกินส่วนแบ่งการตลาด เช่น แพลตฟอร์มที่เน้นสินค้าเครื่องสำอางค์ ความงาม  หรือสำหรับสินค้าแม่และเด็กโดยเฉพาะ เป็นต้น 

ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องรู้อะไร และเอาสินค้าไปแพลตฟอร์มไหนดี 

ก่อนจะนำสินค้าไทยไปขาย จะต้องศึกษาลักษณะ ข้อแตกต่างและค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เพราะถ้าเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ กำแพงการคัดเลือกสินค้าของเจ้าของแพลตฟอร์มก็จะสูงมาก และมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยผู้เขียนได้ทำการสรุปมาให้เป็นสาระสำคัญ ดังนี้ 

รูปแบบการนำสินค้าไปวางขายจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลักคือ
1. Flagship Model (旗舰店 QiJianDian) – B2C
ผู้ประกอบการสามารถเปิดและบริหารร้านได้โดยตรง ไม่ว่าจะโดยผ่าน TP (มีที่มาจากคำว่า Taobao Partner) ซึ่งหมายถึงผู้ดำเนินการปฏิบัติการแทน แต่หากมีประสบการณ์ก็สามารถตั้งทีมงาน operation ขึ้นมาบริหารจัดการเองได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องดูแลในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า การเขียนบรรยายสินค้า เขียน content บนหน้าร้านออนไลน์เป็นภาษาจีน การจัดตั้งราคาที่ขายในตลาดจีน การร่วมทำโปรโมชั่น campaign กับเจ้าของแพลตฟอร์มที่เอาของไปวางนั้นๆ อีกทั้งยังต้องสร้างช่องทางสื่อสาร ทำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) และทำให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีน

2.Direct Import Model (直采 ZhiCai) – B2B
แบบที่สองจะแตกต่างกับแบบแรกอย่างสิ้นเชิง เพราะถือเป็นการขายขาดให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มโดยตรง โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเข้าไปบริหารจัดการ จัดจ้างทีมงาน operation หรือไม่สามารถมีสิทธิ์ควบคุมได้ว่าสินค้าจะถูกขายในราคาเท่าไร ไม่ต้องมีการบริหารจัดการภาพลักษณ์แบรนด์เพราะถือว่าได้ขายขาดไปแล้ว แต่ถ้าเจ้าของแพลตฟอร์มเห็นว่าสินค้ามีศักยภาพหรือมีชื่อเสียงในตลาด มั่นใจว่าสามารถขายได้ในปริมาณที่สูง และต้องการเพียงแค่จำนวนยอดขาย โดยไม่อยากเข้าไปจัดการบริหาร ก็สามารถเลือกวิธีนี้ได้

การเปิดร้านแบบ B2C บนแพลตฟอร์มหลักๆ ของ CBEC  

จำเป็นต้องเป็นบริษัทที่มีแบรนด์ที่มีชื่อเสียง มีศักยภาพและได้รับการยอมรับ และจำของสินค้าต้องยอมบอกข้อมูลต่างๆ เช่น ช่องทางการตลาดในไทยและต่างประเทศ ยอดขายการดำเนินงานย้อนหลัง เป็นต้น โดยเฉพาะหากเป็นแพลตฟอร์มที่ดังและมีชื่อเสียง กำแพงในการเข้าไปเปิดร้านก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก เช่นต้องเป็นบริษัทค้าปลีกชั้นนำที่มีคุณภาพ เป็นต้น แต่การทำธุรกิจที่ประเทศจีน ทุกอย่างคือการต่อรองเจรจา ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณไม่ใช่บริษัทค้าปลีกชั้นนำ คุณก็หมดโอกาสในการเปิดร้าน

สำหรับ Tmall Global ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้นโยบายแบบ Invitation only คือต้องได้รับการเชื้อเชิญและอนุญาตจาก Tmall หรือ TP เท่านั้น แต่สำหรับแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็อาจจะมีข้อเรียกร้องที่น้อยกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องผ่านการคัดเลือกจากทีมงานของเจ้าของแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 

ค่าใช้จ่ายและการลงทุนเบื้องต้นของแพลตฟอร์ม CBEC หลักๆ ในจีน 

หากผู้ประกอบการต้องการที่จะเปิดร้านบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ การลงทุนเบื้องต้นถือว่าเป็นจำนวนที่สูงพอสมควร เพราะมีค่าใช้จ่ายหลากหลาย อาทิ ค่ามัดจำ 15,000-30,000 USD  ค่ารายปี 1,000-10,000 USD ค่า platform commission ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มตามประเภทของสินค้า 2%-10% แต่สำหรับแพลตฟอร์มรายย่อยที่ไม่ได้ติด 70% ในส่วนแบ่งการตลาด ค่ามัดจำหรือค่ารายปีที่สูงก็มีราคาที่ต่ำลงมา ดังนั้นไม่ได้บอกว่า ผู้ประกอบการจำเป็นขายบนแพลตฟอร์มใหญ่เสมอไป นี่เป็นเพียง range ของราคาหากต้องการนำเข้าสินค้าไปบนแพลตฟอร์มที่มี traffic สูง 

หากผู้ประกอบการต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยบริหารจัดการ หรือจ้าง TP ซึ่งจะเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศจีน จำเป็นต้องมีงบประมาณสำหรับค่าบริหารร้านรายเดือน ที่มีราคาสูงถึง 300,000-500,000 บาทหรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญของแต่ละบริษัท และยังต้องเสียค่า commission ให้อีกในอัตรา 7%-10% ของยอดขายอีกด้วย นอกจากนี้ หากต้องการจะทำให้สินค้าคุณเป็นที่รู้จัก คุณจำเป็นต้องลงทุนในค่าการตลาด ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ อีกด้วย 

ผู้เขียน ไม่ขอเจาะลึกไปถึงราคา ค่าบริการ เพราะจะมีรายละเอียดที่ต่างกันและมีชี้แจงบนแต่ละเวบไซต์ของแพลตฟอร์ซึ่งผู้เขียนได้แนบ link ไว้ในข้อมูลอ้างอิงแล้ว  

มาทำความรู้จักกับผู้เล่นแพลตฟอร์ม CBEC ยักใหญ่ในจีนกัน 

TMALL Global 

แพลตฟอร์มนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ใหญ่ที่สุดในแง่ผู้ใช้งานและมูลค่าการซื้อขาย เนื่องจากจำนวนTraffic ของผู้ซื้อของออนไลน์ไม่ได้แยกขาดจากกันกับ Tmall แบบปกติที่มีผู้เล่นสูงถึง 654 ล้านคน (ตัวเลขเดือนมีนาคม 2019) ผิดกับบางแพลตฟอร์มที่จะเน้นแค่ผู้เล่น Haitao เท่านั้นซึ่งทั้งlandscape ของจีน ในปีที่ 2019 มีเพียง 153 ล้านคน จากภาพที่2ด้านบน (หากอ่านแล้วไม่เข้าใจความแตกต่าง สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ใน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2) 

นอกจากนี้จะมีประโยชน์มากเวลามี campaign ต่างๆ โดยเฉพาะช่วงวันคนโสด 11.11 ที่ Alibaba ทุ่มเทอย่างมากเพื่อสร้างยอด Gross Merchandise Volume (GMV) หรือยอดซื้อขายบน marketplace ให้เติบโตสูงขึ้นอย่างน่าตกใจขึ้นทุกปี

ภูมิประชากรศาสตร์ (Demographic) หรือลักษณะผู้ใช้งานบน Tmall Global เกือบครึ่งจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง เกินกว่าร้อยละ 50 มีอายุน้อยกว่า 27 ปี และ ร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง 

ปัจจุบันบน Tmall Global มีสินค้าจากนานาประเทศมากกว่า 20,000 แบรนด์และทาง Alibaba ตั้งใจที่จะขยายเพิ่มไปถึง 40,000 แบรนด์ภายใน 3 ปีต่อจากนี้   

Kaola 

ก่อนที่จะมีการผนวกกับ Alibaba นั้น Kaola ถือเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของ CBEC ที่มีส่วนแบ่งการตลาดนำโด่งมาอันดับหนึ่งในหลายปีติดต่อกัน เพราะลักษณะเฉพาะของ Kaola ที่ แตกต่างจาก Tmall คือKaola เน้นเจาะเฉพาะตลาด CBEC เท่านั้น ไม่ได้ทำในแบบ normal trade เหมือนอย่างแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพราะผู้บริโภคจีนเองยังคงมีความไม่ไว้วางใจสินค้าที่ขายบนออนไลน์อยู่มาก แต่บนแพลตฟอร์ม CBEC อย่างเช่น Kaola ก็จะการันตีในการชดใช้ว่า “ถ้าเจอของปลอมยินดีชดใช้ให้ 10 เท่า (假一陪十)” 

Demographic ของคนที่เล่นแพลตฟอร์มนี้คือ จะเป็น Haitao ที่เน้นซื้อแบรนด์จากต่างประเทศมีคุณภาพสูง ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคแบบ High-end โดยเป็นผู้หญิงกว่าร้อยละ 74 ที่อายุระหว่าง 20-45 ปี ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานของ Kaola และพบว่า 70% จะเป็นในรูปแบบของ B2B หรือการที่ Kaola คัดเลือก ซื้อขาดและบริหารสินค้าที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศเอง หลังจากที่โดนรวบควบกิจการจาก alibaba ไปแล้วนั้น ตอนนี้ Kaola ก็ยังคงดำเนินการกิจการต่อไปอย่างปกติ  อนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป 

JD INTERNATIONAL  

JD.com ถือเป็นผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีชื่อเสียงและข้อได้เปรียบอย่างสูงในการมีเครือข่ายการขนส่งและคลังสินค้าของตัวเองที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค มีบริการ Fulfillment และ เรื่องการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วและชื่อเสียงในการการันตีของแท้มาโดยตลอด  เช่นเดียวกัน JD.com ก็เปิด  JD international เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด CBEC เมื่อปี 2015

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการที่ JD ที่เน้นการขายของพวกอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทราบหรือไม่ว่า จริงๆแล้วมีหลายสินค้าที่เป็นที่นิยมซื้อขายเช่นกัน อาทิเช่น อาหาร แฟชั่น เครื่องสำอาง จากข้อมูล iiMedia ในปี 2019 พบว่า มีผู้บริโภคจีนกว่า 63.4% นิยมซื้อสินค้าอาหารนำเข้า (Imported food) ผ่าน JD International มากกว่า Tmall Global ด้วยซ้ำ 

Demographic ของ JD International จากรายงานของ iiMedia ในปี 2017 พบว่า ร้อยละ 75 เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาปริญญาตรีหรือสูงกว่า ร้อยละ 69 มีอายุระหว่าง 26-45 และร้อยละ 70 เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง นอกจากนี้จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม JD International พบว่าชาว Haitao พอใจมากในเรื่องของการขนส่งสินค้าต่างชาติที่ว่องไว รวดเร็ว อย่างที่เคยเกริ่นไปในบทที่ 2 ความรวดเร็วในการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค มีความสำคัญมากๆ ต่อการตัดสินใจในการซื้อ ตลอดจนถึงการซื้อซ้ำ 

บทสรุป

การขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม CBEC ถือเป็นการชิมลางทดลองตลาดจีนก้าวแรกของผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีเงินทุน  ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจและศึกษาให้ถี่ถ้วน ต้องเข้าใจว่าควรเตรียมเงินลงทุนไว้สำหรับค่าอะไรบ้าง อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าไปแบบ Full Scale ผ่านการค้าแบบปกติ Normal Trade ก็ถือว่า ยังใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และมีความยุ่งยากน้อยกว่ามากในแง่ที่ไม่ต้องจัดตั้งบริษัทในจีนหรือหาบริษัทร่วมทุนที่ต้องใช้ความเชื่อใจสูงร่วมกัน การขอ อย.จีน หรือทำสลากเป็นภาษาจีน เป็นต้น 

นอกจากนี้ การลองชิมลางผ่าน CBEC ทำให้มีโอกาสในการวิเคราะห์ตลาดและเริ่มพอเข้าใจในพฤติกรรมการบริโภคชาวจีน การตั้งราคาที่ชาวจีนรับได้ การทำราคาเพื่อตอบรับกับ promotional campaign  หรือ marketing event ต่าง ๆ ที่สำคัญของชาวจีน อาทิ 618, 11.11, 12.12 บริการ customers service  อีกทั้งข้อกำหนดกฎระเบียบทางภาษี ศุลกากร การขนส่งระหว่างประเทศ และภายในประเทศ  เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สำคัญมากต่อการทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถก้าวและเติบโตในประเทศจีนได้อย่างยั่งยืน 

ข้อมูลอ้างอิง 

Chinese sources:

ประวัติผู้เขียน

  • พิมพ์ขวัญ อดิเทพสถิตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจีน (Assistant Vice President), China Business Development สายงาน China Business
  • มีประสบการณ์ทางานในด้านการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีนมากว่า 10 ปี เคยทางานที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่บริษัทพัฒนาซอฟแวร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประสบการณ์ด้าน Start-up ที่มาดริด ประเทศสเปน
  • เป็นวิทยากรรับเชิญเพื่อพูดในหัวข้อ eCommerce, Social Media และเทรนด์เทคโนโลยีในประเทศจีน อาทิ Money Expo 2019, WeChat Conference และงานเพื่อผู้ประกอบการไทย SMEs เป็นต้น
  • สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ2) จากคณะศิลปศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท MBA จาก IE Business School กรุงมาดริด ประเทศสเปน
    Website: www.pimkwan.com

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด และไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์หรือทำซ้ำ หากต้องการ กรุณาติดต่อ Techsauce  

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ปลดล็อกศักยภาพท่องเที่ยวไทยสู่ Global Destination ยกระดับประเทศผ่านเอกลักษณ์และความร่วมมือ

ร่วมวิเคราะห์เชิงลึกจากการเสวนาของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และ ดร. วิทวัส สิทธิเวคิน Moderator ใน session นี้ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายข...

Responsive image

ความท้าทาย โอกาส และการปรับตัวของประเทศไทย เจาะลึกยุทธศาสตร์นำทัพไทยในพายุภูมิรัฐศาสตร์ 2025

โลกกำลังเผชิญกับ Turbulent Times หรือยุคแห่งความผันผวนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความผันผวนนี้ส่งผลกระทบต่อทุกมิติ ตั้งแต่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึงสิ่งแว...

Responsive image

ก้าวสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสทองของไทยหรือความท้าทายที่ต้องเผชิญ ?

เพราะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ไปจนถึงการลดลงของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ...