Gapingvoid จากการ์ตูนหลังนามบัตร สู่การออกแบบวัฒนธรรมองค์กร | Techsauce

Gapingvoid จากการ์ตูนหลังนามบัตร สู่การออกแบบวัฒนธรรมองค์กร

เป็นธรรมดาที่ทุกบริษัทจะมีนามบัตรเป็นของตัวเอง มันเป็นเหมือนตัวแทนสำหรับติดต่อลูกค้า ดังนั้นบนนามบัตรจะมีเฉพาะข้อมูลที่สำคัญสำหรับการติดต่อเท่านั้น คงไม่มีใครไปขีดๆเขียนๆบนนามบัตร ยกเว้นก็แต่ชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า Hugh MacLeod

Hugh MacLeod เป็นนักวาดการ์ตูน เขาไม่ได้วาดการ์ตูนลงในกระดาษทั่วๆไปแต่เขาวาดลงบนกระดาษขนาด 2x3.5 นิ้วซึ่งเป็นขนาดเท่านามบัตร การ์ตูนที่เขาวาดเป็นแนว abstract ขีดๆ ขยุกขยิก อาจจะมองแล้วเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ถ้าเห็นภาพที่เขาวาดแล้วล่ะก็รู้ได้ทันทีเลยว่า นี่แหละฝีมือเขา

Hugh MacLeod

Macleod เคยทำงานเป็นนักเขียนโฆษณานานกว่า 10 ปี และขณะนั้นก็ฝึกเขียนการ์ตูนหลังนามบัตรไปด้วย แต่แล้วจู่ๆกราฟชีวิตเขาก็เริ่มดิ่งลงไปพร้อมๆกับเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงยุคตกต่ำของดอทคอม เขาถูกไล่ออกและต้องไล่ตามหางานเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ถึงจะไล่ตามงานยังไงก็ดูจะไม่มีอะไรดีขึ้น

ระหว่างที่เขาปรับทุกข์กับเพื่อนที่ร้านเหล้า เขาบอกว่าจะเลิกไล่ตามงานและจะทำตามสิ่งที่เขาเรียกว่า แผนร้าย  

"แผนของนายคืออะไร" เพื่อนเขาถาม

"ฉันแค่อยากให้มีคนซักหมื่นคนคอยจ่ายเงินให้ฉันทุกปีเท่านั้นแหละ" เขาตอบ

"แล้วนายจะไปหาคนพวกนั้นจากไหน" 

"จากอินเตอร์เน็ต ฉันจะเขียนการ์ตูนลงอินเตอร์เน็ต เขียนลงบล็อกน่ะ" 

เขาวางแผนง่ายๆจากนั้นก็ลุย จากการวาดการ์ตูนหลังนามบัตร เขาเอาสิ่งที่เขาวาดมาลงในบล็อก เขาทั้งวาดและเขียน content เขาทำมันเรื่อยๆจนเริ่มมีแฟนคลับ ถึงตอนนั้นจะยังถังแตกอยู่แต่เขาก็ยังวาดต่อไป เขาทำเหมือนที่ Mark Twain กล่าว 

"เขียนไปฟรีๆจนกระทั่งมีคนเสนอค่าเขียนให้" 

ในปี 2005 เขาบังเอิญไปเจอชายชาวอังกฤษ ชื่อว่า Thomas Mahon เป็นช่างตัดเสื้อสูทที่เซวิลโรว์ Mahon เป็นช่างมากฝีมือแต่ยังมีลูกค้าน้อยเพราะพวกลูกค้าไม่อยากจะบอกคนอื่น พวกเขาอยากให้ Mahon ตัดสูทให้กับตัวเองเท่านั้น แต่ MacLeod ก็แนะนำให้ Mahon เขียนบล็อก

MacLeod สอนวิธีเขียนบล็อก

Mahon ทำหน้าที่ตัดสูท

MacLeod ทำหน้าที่เผยแพร่สินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต

และแล้ว www.Englishcut.com ก็เปิดตัวขึ้น

จากการทำการตลาดทางบล็อกทำให้ยอดขายของ Mahon พุ่งขึ้น 3 เท่าภายใน 6 เดือน

ปี 2006 เขาช่วยทำการตลาดทางบล็อกให้กับโรงกลั่นไวน์เล็กๆในแอฟริกาชื่อว่า Stormhoek ผู้เป็นเจ้าของคือ Jason Korman ซึ่งเป็นแฟนคลับของเขา และภายหลังได้มาร่วมก่อตั้ง Gapingvoid กับ MacLeod และทำหน้าที่ CEO

พอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น เขาก็ไดัรับเชิญไปพูดในที่ต่างๆทั้งในอเมริกาและยุโรป การเดินทางพูดคุยทำให้เขาได้พบกับคนหลากหลายและคนเหล่านั้นก็ขอคำแนะนำจากเขา

"ผมได้พูดคุยกับคนหนุ่มสาวหัวสร้างสรรค์ตลอดเวลา ต่างคนต่างพยายามหาทางไปสำหรับอนาคต คำแนะนำที่ผมให้กับพวกเขานั้นไม่ต่างจากเดิม นั่นคือ สร้างงานศิลปะให้ได้ทุกวัน เวลาที่ผมพูดถึงศิลปะ ผมไม่ได้หมายถึงแค่การวาดรูป เขียนหนังสือ เล่นดนตรีแค่นั้นหรอกนะ ศิลปะ สำหรับผมก็คืองานอะไรก็ได้ที่มีความหมายสูงสุดและมีพลังที่สุดสำหรับพวกเขา และมีแต่พวกเขาเท่านั้นที่รู้ว่ามันคืออะไร

----------

แม้ว่าเขาจะต้องเดินทางไปพูดที่ต่างๆบ่อยๆ แต่เขาก็ไม่ได้ละทิ้งการวาดการ์ตูน เขายังตั้งหน้าตั้งตาวาดต่อไป จนกระทั่งผลงานของเขาไปเตะตา Microsoft เข้า

เขาได้พูดคุยกับพนักงานของ Microsoft ในงานๆหนึ่ง พนักงานเหล่านั้นต่างมี passion ร่วมกันคือ Change the world จากการพูดคุยครั้งนั้นทำให้ MacLeod ออกแบบตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาดที่ชื่อว่า Blue Monster และมี tag line ว่า "Change the world or go home" 

พนักงานของ Microsoft เอารูป Blue Monster ไปวางบนโต๊ะ แปะไว้บนผนัง สำหรับพวกเขาแล้ว เจ้าตัว Blue Monster นี้เป็นสิ่งเตือนใจให้รู้ถึงภารกิจของ Microsoft

Blue Monster ถือว่าประสบความสำเร็จและทำให้ MacLeod เป็นที่รู้จักมากขึ้นในโลกบริษัท

ในปี 2008 Jason Korman ขายโรงกลั่นไวน์ Stormhoek และจับมือทำธุรกิจร่วมกับ MacLeod พวกเขาเริ่มต้นเปิดธุรกิจขายผลงานศิลปะทางอินเตอร์เน็ตผ่านทางเว็บไซต์ของพวกเขา ปัจจุบันคือ www.gapingvoidart.com

MacLeod ไม่ได้มีความรู้เรื่องแกลลอรี่หรือรู้ว่าช่วงนี้ราคาประมูลภาพเป็นยังไง เขาก็แค่เริ่มทำเท่านั้น แต่ใช่ว่าเขาจะลงมือโดยไม่ได้ใช้หัวคิด เขาทำเหมือนตอนที่เริ่มเขียนบล็อกคือตั้งข้อสันนิษฐานแล้วลงมือ  

"ผมเพียงแต่ลองประเมินว่า 1) คนอ่านบล็อกของผมรู้จักงานของผมและชอบมันอยู่แล้ว 2) ผู้อ่านหลายคนมีรายได้เหลือใช้ และ 3) ผู้อ่านหลายคนมีพื้นที่เหลือบนผนังบ้านอยู่มาก และอยากจะหาอะไรไปติดเอาไว้เสียหน่อย ผมลองเขียนไอเดียนี้ลงในบล็อกแล้วก็มีคนชอบจนยอมจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า ทั้งที่ผมยังไม่ได้ลงทุนอะไรเลย และธุรกิจนี้ผมสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่เริ่มต้น" 

มันไม่ใช่แค่การขายภาพศิลปะ

เบื้องหน้า Gapingvoid อาจจะดูเหมือนธุรกิจขายงานศิลปะ แต่มันลึกซึ้งกว่านั้น ถ้าดูจากผลงาน Blue Monster แล้วก็จะเห็นว่าผลงานของเขาช่วยให้พนักงานในบริษัทมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน การที่ทุกๆคนในบริษัทจะมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้ก็จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมองค์กร 

วัฒนธรรมองค์กรคือ ค่านิยม แนวคิด แนวทางปฎิบัติขององค์กรนั้นๆ มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมาและมันก็ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ

แต่งานของ MacLeod สามารถช่วยบริษัทเหล่านั้นได้

MacLeod และ Korman เล็งเห็นว่าที่หลายๆบริษัทไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้แม้ว่าจะมีเครื่องมือมากมายเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้มีอารมณ์ร่วมกัน พนักงานในหลายๆบริษัทไม่ได้ทำงานอย่างมีความสุข หลายๆคนเบื่อกับงานที่ทำ รู้สึกเหมือนกับตัวเองแปลกแยกจากคนอื่น และเมื่อเป็นแบบนั้นการที่บริษัทจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นพวกเขาจึงเปิดตัว Gapingvoid Culture Design Group ขึ้นมา

พวกเขาเอา Blue Monster มาต่อยอด งานของพวกเขาอาจจะไม่ดูเป็นวิชาการซักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่พวกเขาทำมันก็ได้ผลเช่นเดียวกับงานวิจัยในหลายสาขาเช่น Behavioral science, Social physic, Social learning และ Neuroscience สินค้าของพวกเขาสามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในบริษัทให้ดีขึ้นและทำให้พนักงานสื่อสารกันมากขึ้น 

พวกเขาไม่ได้แค่ช่วยเหลือเหล่าบริษัทเท่านั้น แต่พวกเขายังเข้าไปช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กับหน่วยงานรัฐบาล สถานศึกษา โรงพยาบาล และผู้ประกอบการขนาดเล็ก

Korman กล่าวว่ามันเป็นเรื่องยากที่พูดชักชวนให้คนเชื่อว่ารูปภาพและความหมายของมันจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นต่อสภาพแวดล้อมได้

"ไม่มีใครคาดหวังกับการ์ตูนหรอก" MacLeod กล่าว "พวกเขาไม่ได้หวังว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้ ดังนั้นการที่มันสามารถทำได้จึงเป็นเรื่องเกินคาดและพวกเขาก็มีความสุขกันถ้วนหน้า"  

----------

คงไม่มีใครคิดว่าการ์ตูนเส้นขยุกขยิกจะมีคนชอบมากมายและสามารถทำให้ชีวิตคนทำงานบริษัทมีความสุขขึ้นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่ถูกนักที่จะบอกว่าการ์ตูนเป็นเรื่องสำหรับเด็กและเป็นเรื่องไร้สาระ 

การ์ตูนสามารถทำให้เราฉุกคิดและได้ความบันเทิงไปพร้อมๆกัน ถ้าจะปลูกฝังแนวคิดดีๆให้กับเด็กก็คงไม่มีอะไรที่เหมาะไปกว่าการ์ตูนอีกแล้ว ฉะนั้นถ้าเราเห็นใครซักคนที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเขียนการ์ตูนประหลาดๆ แล้วบอกกับเราว่าจะเอางานพวกนี้ไปขาย เราก็อย่าไปมองว่าเขาพิลึก แต่ให้กำลังใจเขาหน่อยและหวังว่าเขาจะสามารถสร้างความบันเทิงให้กับคนรุ่นต่อๆไป เหมือนอย่างที่ Stan Lee ผู้ให้กำเนิดซุปเปอร์ฮีโร่แห่งจักรวาล Marvel ว่าไว้ 

"ผมเคยอายที่ตัวเองเป็นแค่คนเขียนการ์ตูน ในขณะที่คนอื่นเขาสร้างสะพาน หรือกำลังทำงานในวงการแพทย์ แต่แล้วผมก็ตระหนักได้ว่าธุรกิจความบันเทิงก็เป็นส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์เหมือนกัน เพราะหากเราขาดความบันเทิงในชีวิตไป ก็อาจจะทำอะไรที่สะเพร่าวู่วามได้ ผมถึงรู้สึกว่าถ้าคุณสามารถมอบความสุขกับผู้คนได้ นั่นก็แปลว่าคุณกำลังทำสิ่งที่ดีแล้ว"

 -- Stan Lee (1922-2018)

----------

ข้อมูลอ้างอิง : 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...