ความท้าทายของรัฐในการขับเคลื่อนสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยี | Techsauce

ความท้าทายของรัฐในการขับเคลื่อนสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยี

ท่ามกลางกระแสของ Smart City ที่สะท้อนถึงความคาดหวังของผู้คนถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคต ภาครัฐต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี จะสร้างความร่วมมือกับเอกชนไปจนถึงภาคสังคมอย่างไร ในงาน Techsauce Global Summit 2019 บนเวที Main Stage วันแรก Tim Culpan จาก Bloomberg นำเราไปพูดคุยกับสาม Speakers ที่มีประสบการณ์ในการทำงานท่ามกลางความร่วมมือระหว่าง ‘ภาครัฐ-เอกชน’ ซึ่งทั้งสามท่านจะมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “Driving Governments towards Technological Adoption”

บทบาทของภาครัฐที่เปลี่ยนไปในการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

Audrey Tang รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลแห่งไต้หวัน ให้ความเห็นว่าลำพังเทคโนโลยีนั้นไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรด้วยตัวมันเอง แต่คือคนที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา เทคโนโลยีทำให้ภาครัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นหลักในการบริหารจัดการ สู่การเป็นผู้จัดเตรียมและรองรับให้ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

Audrey Tang (ซ้ายสุด) Digital Minister of Taiwan

ซึ่งในประเด็นนี้ Catherine Caruana-McManus จาก Meshed เห็นตรงกับ Tang และกล่าวเสริมว่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา หลายๆ รัฐบาลทั่วโลกได้มีการตื่นตัว และทบทวนถึงประเด็นเงื่อนไขความเป็นส่วนตัว ใจความสำคัญกล่าวถึงเรื่องความเป็นเจ้าของ และความเป็นประชาธิปไตยของ ‘ข้อมูล’ ทิศทางของการใช้ข้อมูลที่ควรมีการแชร์กันมากขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นโอกาสมหาศาลของผู้ประกอบการและประชาชน เธอกล่าวว่าข้อมูลเป็นสิ่งที่มีค่า เปรียบเสมือนวัตถุดิบ หากเราไม่มีวัตถุดิบก็สร้างมูลค่าใดๆ ขึ้นมาไม่ได้ คำถามที่เกิดขึ้นและกำลังเป็นที่ถกเถียงกันคือใครเป็นเจ้าของข้อมูล ใครมีสิทธิ์ทำอะไรกับข้อมูลบ้าง อย่างไรก็ตามแนวทางการเปิดแชร์ข้อมูลกันมากขึ้นเป็นพื้นฐานของการที่รัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน

Catherine Caruana-McManus from Meshed

โอกาสของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการทำงานร่วมกับรัฐบาล

Jonathan Reichental, Founder และ CEO จาก Human Future ให้ความเห็นว่าในการที่ภาครัฐจะรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โอกาสเกิดความร่วมมือเชิง Partnership ระหว่างภาครัฐกับเอกชนสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาล ในที่นี้รวมถึงเหล่าผู้เล่นหน้าใหม่ หากมีใครเสนอสร้าง Solution ในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ภาครัฐต้องปรับให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงเพื่อเสนอขาย Solution และนำเสนอต่อสาธารณะได้ง่ายขึ้น เขาเสริมว่าในระดับการปกครองแบบท้องถิ่นจะเป็นการง่ายกว่าในการสร้างความร่วมมือ เนื่องจากภาครัฐในท้องถิ่นจะอยู่ใกล้ชิดและมีความเข้าใจผู้คนในท้องที่ได้ดีกว่า โอกาสของผู้ประกอบการในท้องถิ่นในการเข้าถึงภาครัฐก็จะง่ายขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

หากมีใครสร้าง Solution ในการแก้ปัญหาใหม่ๆ ภาครัฐต้องปรับให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงเพื่อเสนอขาย Solution เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะได้ง่ายขึ้น

Jonathan Reichental, Founder and CEO of Human Future

ปัญหาความท้าทายของการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน

Catherine ชี้ว่าอุปสรรคของการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐเป็นเรื่องของการ ‘แปลภาษา’ นั่นคือการที่ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าใจภาษาและปัญหาที่แท้จริงของภาครัฐ จึงไม่สามารถตีความการแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง ซึ่งหากไม่มีความเข้าใจกันที่ชัดเจนตรงนี้ก็นำไปสู่การเกิดความร่วมมือได้ยาก ดังนั้นจึงแนะนำให้บริษัทต่างๆ เข้าไปทำความเข้าใจกับปัญหาของภาครัฐก่อนเพื่อประโยชน์กับทุกฝ่าย

ในการร่วมมือกับเอกชน รัฐควรใช้วิธีจ้างเหมางานหรือเปิดให้เป็น Open Source

ในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อนำเข้าเทคโนโลยี ควรที่รัฐจะให้วิธีจ้างเหมางาน หรือเปิดให้เป็นลักษณะ Open Source สำหรับคำถามนี้ Jonathan เชื่อว่ามันไม่สามารถมีคำตอบตายตัวได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราถามใคร ในบริบทใด เพราะทุกที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามเขาเสนอว่ารัฐไม่ควรที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง รัฐควรรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งในเรื่องใด และอะไรที่ควรให้ผู้ที่เชี่ยวชาญกว่าทำ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่เกิดผลดีกว่าในระยะยาว

รัฐไม่ควรที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง รัฐควรรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งในเรื่องใด และอะไรที่ควรให้ผู้ที่เชี่ยวชาญกว่าทำ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่เกิดผลดีกว่าในระยะยาว

Audrey ยกตัวอย่างเสริมถึงกรณีที่เกิดขึ้นในไต้หวัน หากมี Startup ที่ต้องการทดลองไอเดียหรือ Solution ใหม่ๆ ก็สามารถใช้โมเดล Sandbox ในการทดลองไอเดียได้หนึ่งปี ถ้าเทคโนโลยีที่นำเสนอสามารถสาธิตให้สาธารณะเห็นได้ว่าเป็นประโยชน์จริง ก็จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ไปด้วยในที่สุด

Catherine ย้ำว่าหากบริษัทไหนต้องการที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐจริงๆ สิ่งที่สำคัญมากคือการทำความเข้าใจบริบทของปัญหาที่ต้องการจะเข้าไปแก้ไขจริงๆ

การเกิดส่วนร่วมจากภาคสังคม

Audrey กล่าวถึงความสำคัญของภาคสังคม ในไต้หวันมีการสร้างเว็บไซต์ที่เปิดให้ประชาชนสามารถเสนอความคิดเห็น แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างๆ ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของภาครัฐ ถึงตอนนี้รัฐบาลไต้หวันได้รับเอา 20 โครงการจากกว่า 200  โครงการที่มีการร่วมเสนอไปปรับใช้จริงๆ นี่คือการแสดงให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมจากภาคสังคมจะสามารถช่วยขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลได้ และยังทิ้งท้ายไว้ว่า

รัฐบาลต้องมีความเชื่อมั่นในประชาชน จากนั้นจึงจะสามารถได้รับการไว้ใจจากประชาชนกลับมาด้วยเช่นกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จากเทคโนโลยี AI สู่ IA เพื่อมนุษย์ ในมุมมองของ “Pattie Maes”

เทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาชีวิตได้อย่างไร? มาดูแนวคิดในการออกแบบและทดสอบอุปกรณ์ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปกับคุณ Pattie Maes นักวิจ...

Responsive image

สนามบินคันไซ 30 ปีไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย ตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่ 1994 จนปัจจุบัน

30 ปีไม่มีพลาด สนามบินนานาชาติคันไซของญี่ปุ่นรักษาสถิติ ‘ไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย’ เลยสักครั้ง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 1994 จวบจนปัจจุบัน...

Responsive image

DeFi เกิดมาเพื่อทำลายระบบธนาคารจริงหรือไม่

เก็บตกประเด็นน่าสนใจจากงานเสวนาในหัวข้อ he Rise of Decentralized Finance (DeFi): Disruption or Distraction? จาก Money 20/20 Asia...