เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านและเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า Digital Disruption มีธุรกิจเกิดขึ้นมากมายที่พร้อมจะล้มผู้เล่นรายเดิม หลายองค์กรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ จัดทัพองค์กรใหม่ เพื่อค้นหา New S-curve หรือนำเทคโนโลยีที่มีเข้ามาช่วย transform ธุรกิจเดิม สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีหลายธุรกิจภายใต้กลุ่มธุรกิจใหญ่ อาจยังไม่มั่นใจว่าเราจะจัดการบริหารแต่ละหน่วยงานอย่างไรดี จะพัฒนาต่อยอด หรือถึงเวลาที่ต้องค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่มาทดแทนได้แล้ว
ดังนั้นองค์กรจึงต้องมีวิธีการบริหารพอร์ตโฟลิโอ ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทั้งในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจเดิม และค้นหาธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำให้องค์กรกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
จากแผนภาพที่แสดงนี้ Techsauce ได้ยกผัง Business Model Portfolio ที่พัฒนาโดย Alex Osterwalder & Yves Pigneur ผู้คิดค้น Business Model Canvas สำหรับธุรกิจ เพื่อชี้ให้เห็นถึงเส้นทางและภาพรวมในการบริหาร Portfolio ของธุรกิจ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แกนหลัก ได้แก่ Explore และ Exploit
สำหรับแกน Explore นั้น เป็นการที่องค์กรได้มีการทดลองเพื่อค้นหาบางสิ่งบางอย่างที่จะสามารถกลายเป็นนวัตกรรมที่จะนำไปต่อยอดเป็น New S-curve ได้ ผ่านการลองผิดลองถูก วนซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งเหมือนกับที่หลายองค์กรทุ่มเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนา หรือการตั้งหน่วยงานสตาร์ทอัพแบบ Internal ขึ้นมาเพื่อค้นหาธุรกิจใหม่ โดยเริ่มต้นจากการมีไอเดียที่จะแก้ปัญหาทางธุรกิจ พัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีฟีเจอร์อย่างน้อยที่สุดที่สามารถนำไปทดสอบประเมินตลาดได้ (Minimum Viable Product :MVP) เก็บ feedback เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงจนเข้าสู่ตลาดได้จริง
ส่วนแกน Exploit องค์กรสามารถวิเคราะห์ว่าธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่เดิมนั้น มีโอกาสปรับปรุงเพิ่มเติมได้มากน้อยแค่ไหน จะหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วม อาทิ การลงทุน หรือเข้าซื้อกิจการ เสริมทัพ หรือนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจเดิมภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
Ping An Group บริษัทด้านการเงินดั้งเดิมที่ก่อตั้งโดยปีเตอร์ หม่า ที่ได้ตัดสินใจทรานส์ฟอร์มตัวเองมาสู่การเป็น Tech company ในปี 2018 ด้วยแนวคิดที่ว่าต้องการจะทลายข้อจำกัดของธุรกิจแบบเดิม และหาธุรกิจน่านน้ำใหม่ที่จะทำให้ Ping An Group เป็นมากกว่าผู้ให้บริการทางการเงินและประกันภัย
สำหรับสิ่งที่จุดประกายให้ปีเตอร์ หม่า เห็นว่าอุสาหกรรมการเงินในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นั่นคือ วิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ทำให้เขาตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทในอนาคต ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจปรับทิศทางเชิงกลยุทธ์ และโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นที่สุด ผ่านการเปลี่ยนแปลงใน 3 ส่วนหลัก ดังนี้
จากการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ของการเป็นสถาบันการเงิน ไปเป็น Tech Company ที่มีขีดความสามารถข้ามอุตสาหกรรมได้ ย้ายจากการการมีแค่ระบบนิเวศน์เดียว ไปสู่การดำเนินธุรกิจในหลายระบบนิเวศน์ได้ ตั้งแต่ การเงิน สุขภาพ บริการรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจน smart city
การปรับวัฒนธรรมองค์กร ที่ต้องคิดและทำอย่าง Startup เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความจำเป็นต้องปรับตั้งแต่ผู้บริหาร โดยพวกเขารู้ดีว่า ผู้บริหารชุดเดิมต่างก็ไม่มีประสบการณ์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจ้างผู้บริหารคนนอกที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดำรงตำแหน่ง CO-CEO นั่นคือ Jessica Tan คู่กับ ปีเตอร์ หม่า ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจดั้งเดิมแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อมาดูแลธุรกิจด้านดิจิทัล และบริหารงานด้วยวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นปั้น startup ในองค์กร หาไอเดียใหม่ๆ และที่สำคัญต้องยอมรับได้กับความล้มเหลว ถือเป็นเป็นบทเรียน และมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
Ping An ไม่มองว่าบริษัทเป็นผู้ให้บริการทางการเงินอีกต่อไป แต่กำลังพัฒนาไปสู่องค์กรที่สามารถพัฒนาทักษะให้ปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงสามารถที่จะแก้ปัญหาข้ามอุตสาหกรรมได้เช่นกัน โดย Ping An ต้องการที่จะนิยามเส้นทางในอุตสาหกรรมใหม่ และสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำข้ามสายธุรกิจ เช่น บริการรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจน อุตสาหกรรมบันเทิงก็สามารถทำได้
หลังจากที่ ปรับทิศทางเชิงกลยุทธ์ และโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่น ผ่านสามประเด็นหลักที่ได้อธิบายไปแล้วนั้น ในตอนหน้า Techsauce จะพาไปดูการบริหาร portfolio ทั้งในแกน ของ Explore และ Exploit ของ Ping An กันต่อว่าได้มีการดำเนินการอย่างไรกันบ้าง
***เมื่ออัปเดตแล้วทางทีมงานจะแนบ Link บทความตอนที่ 2 ไว้ให้ด้านล่างนี้
ผู้อ่านสามารถติดตาม Techsauce For Business ตอนอื่น ๆได้ เพียงคลิกที่นี่
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด