คุยกับ Peter Laurin แห่ง Ericsson เมื่อ Telco ต้องมี AI-Data Driven เพื่อรับมือ 5G ที่แสนซับซ้อน | Techsauce

คุยกับ Peter Laurin แห่ง Ericsson เมื่อ Telco ต้องมี AI-Data Driven เพื่อรับมือ 5G ที่แสนซับซ้อน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรคมนาคมเป็นภาคส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้ แต่ล่าสุด การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีโทรคมนาคม Generation ใหม่อย่าง 5G จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่รูปแบบการใช้โทรคมนาคมครั้งใหญ่ จนนวัตกรรมรูปแบบเดิมไม่อาจรับมือได้อีกต่อไป การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน โดยเฉพาะบริษัทโทรคมนาคมที่มีส่วนต่อ

Techsauce ได้รับโอกาสพูดคุยกับ Peter Laurin, Senior Vice President และ Head of Business Area Managed Services ของ Ericsson บริษัทด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีระดับโลกในประเด็นทั้งด้าน 5G, AI และการเคลื่อนไหวของ Ericsson ในไทย ไม่ว่าจะเป็นความซับซ้อนของ 5G จนทำให้ Ericsson ต้องพัฒนา Solution ด้าน AI, การใช้ Data Driven ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไปจนถึงความร่วมมือของ Ericsson ที่เกิดขึ้นกับ dtac ซึ่งประกาศไปเมื่อปลายปี 2019 อันจะทำให้ dtac กลายเป็น Data Driven Company!

ทำความรู้จัก Ericsson ในปัจจุบัน

หลายคนคงรู้จัก Ericsson ในฐานะ “อดีต” ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือชื่อดังในสมัยก่อน แต่ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะรู้ว่า Ericsson ยังคงเป็น “หนึ่งในผู้นำ” ด้านการพัฒนาอุปกรณ์และ Solution สำหรับเทคโนโลยีโทรคมนาคมอยู่เสมอ ตั้งแต่ยุค 2G, 3G, 4G รวมถึงยุค 5G ที่ปัจจุบันมีบริษัทโทรคมนาคม 24 รายจาก 14 ประเทศ ได้นำเทคโนโลยีของ Ericsson ไปใช้งานจริงแล้ว

สำหรับคุณ Peter Laurin ถือเป็นหนึ่งในผู้บริหารของ Ericsson ที่ดูแลการพัฒนา Solution ด้านการจัดการอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมที่ถือเป็น 1 ใน 4 ธุรกิจหลักของ Ericsson ปัจจุบัน ทั้งยังเป็นคนสำคัญที่ช่วย Ericsson นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้และพัฒนาเป็น Solution เพื่อรับมือกับความซับซ้อนของการบริหารจัดการอุปกรณ์โทรคมนาคมที่จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในยุค 5G

5G กับการ Cut the Cable เพื่อก้าวสู่ Industry 4.0

สำหรับผู้บริโภค 5G อาจจะถูกมองแค่ความเร็วและความเสถียร แต่สำหรับธุรกิจแล้ว 5G คือถนนเส้นสำคัญที่จะพาทุกอุตสาหกรรมไปสู่การ Cut the Cable เพื่อเริ่มต้นยุค Industry 4.0 อย่างจริงจัง

คุณ Peter กล่าวว่า 5G คือโอกาสที่ทุกอุตสาหกรรมจะทำการเชื่อมต่ออย่างไร้สายอย่างแท้จริง (All to connect and be able to cut the cable) ด้วยค่า Latency ที่ต่ำด้วย Throuhput ที่สูง เปิดโอกาสให้เครื่องจักรสามารถรับพลังประมวลผลผ่าน Cloud Computer ส่วนกลางที่มีพลังประมวลผลมหาศาลด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงมือสร้างคอมพิวเตอร์เอง

คุณ Peter กล่าวต่อว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในโรงพยาบาล ปัจจุบันการย้ายเครื่องมือในโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยทำได้ยากมาก จนเราต้องย้ายผู้ป่วยไปหาเครื่องมือเสียเอง แต่หากมี 5G เครื่องมือแพทย์หลายอย่างจะถูกพัฒนาให้เคลื่อนที่ได้ แม้จะเป็นแค่ภายในโรงพยาบาล แต่ก็เพียงพอให้เกิดความสะดวกอย่างมากทีเดียว

อีกผลกระทบหนึ่งที่คุณ Peter เห็นคือ หุ่นยนต์จะมีราคาถูกลงมาก เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องสร้างให้มี Computer คุณภาพสูงเพื่อทำงานด้วยตัวมันเอง แต่เราสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มี Computer สเปคต่ำลงมาแต่รองรับการเชื่อมต่อ 5G เพื่อดึงความสามารถการประมวลผลจาก Cloud Computer ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนให้แม้แต่ SME ก็สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้งานได้

การ Cut the Cable ในปัจจุบันอาจทำให้หลายคนนึกถึง Internet of Things ที่ในปัจจุบันสามารถทำได้แล้วผ่านเครือข่าย LTE แต่คุณ Peter กล่าวว่า 4G และ LTE อาจทำได้ แต่ไม่ได้รองรับความซับซ้อนได้มากเท่า 5G การพัฒนา Solution ด้าน IoT ช่วยให้ผู้คนคุ้นเคยกับการใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวมากขึ้น แต่ทั้งนี้ 5G จะมีเรื่องของการทำ Machine to Machine Communication ที่นำไปสู่การสร้างระบบ Autonomous ที่ดีกว่าเดิม

“Artificial Intelligence” กับการ Upgrade ด้าน Service ของ Telco ในยุค 5G

ประเด็นหนึ่งที่คุณ Peter ชี้ให้เห็นเมื่อยุค 5G เกิดขึ้นจริงๆ คือ “ความซับซ้อน” ที่มากขึ้น เนื่องจากจำนวนอุปกรณ์อันมหาศาลที่วิ่งอยู่บนเครือข่าย รวมถึงข้อมูลที่วิ่งอยู่บนเครือข่ายจะมีความสำคัญมากขึ้นจนไม่อาจเกิดเหตุขัดข้องได้

ด้วยเหตุนี้ AI จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการ “ปรับปรุง” คุณภาพสัญญาณเครือข่ายด้วยการทำ Prediction ในการซ่อมบำรุงเพื่อรักษาประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ (End User Experience) โดยคุณปีเตอร์กล่าวว่า เดิมทีผู้ให้บริการ Telco ทั่วโลกเมื่อรู้ว่าสัญญาณในบริเวณใดๆ มีปัญหา พวกเขามีเวลา 4 ชั่วโมงเพื่อกู้มันกลับมา ขั้นตอนก็เริ่มจากพยายามซ่อมจากระยะไกล หากไม่สำเร็จก็ต้องส่งวิศวกรไปที่หน้างาน วิศวกรและทุกฝ่ายเองก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา แน่นอนว่าหลายครั้งที่ใช้เวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมง แต่ก็นับว่าเสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรไม่น้อย

ดังนั้น แทนที่จะรอให้เกิดเหตุขึ้น เราสามารถนำ Data มาประมวลผลด้วย AI และ Machine Learning เพื่อทำ Prediction จุดที่อาจเกิดความเสียหายขึ้น คุณ Peter กล่าวว่า อันที่จริงแล้ว ผู้ให้บริการ Telco หลายรายทั่วโลกย่อมมีข้อมูลจุดเกิดเหตุเสียหายอย่างละเอียดที่เก็บไว้อย่างน้อยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อมูลอื่นที่สำคัญต่อการบำรุงอุปกรณ์ เช่น สภาพอากาศ นับเป็นข้อมูลชั้นที่ AI และ Machine Learning สามารถวิเคราะห์ออกมาเป็นตำแหน่งและช่วงเวลาที่จุดเสาสัญญาณอาจเกิดความเสียหายได้ โดยผลการคาดการณ์นั้นมีความแม่นยำมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์สำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า

คุณ Peter ย้ำว่า Ericsson พัฒนา AI Solution ดังกล่าวให้ใช้งานกับ Hardware ของผู้ผลิตได้ทุกราย ไม่จำกัดแค่ Ericsson โดยต้องการให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกลายเป็น Data Driven Company ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมในภาพรวมอย่างมาก

ประเทศไทย กับความพร้อมใช้งานของ 5G

ในขณะที่หลายประเทศได้เปิดใช้งาน 5G เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยก็กำลังเตรียมตัวเปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2020 (อ่านข่าวนี้ที่นี่) เราจึงนำประเด็นนี้มาพูดคุยกับคุณ Peter ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นความเคลื่อนไหวทั้งหมดใน Landscape ของ 5G ระดับโลกเพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของการปรับใช้ 5G ในไทย พร้อมกับถามถึงวิธีการที่แต่ละประเทศใช้เพื่อคัดเลือกผู้ให้บริการกัน

คุณ Peter กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีการดำเนินการเรื่อง 5G รวดเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เหมาะมาก โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นการรับ 5G ไปใช้งานในประเทศใหญ่แล้วอย่าง สหรัฐฯ, จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น รวมถึงออสเตรเลีย การที่ไทยเข้าร่วมในขณะนี้ถือว่าเหมาะด้วยสภาพ Ecosystem ที่แข็งแรง ค่าใช้จ่ายและราคาอุปกรณ์ต่างๆ จะมีราคาถูกลงไปอีก ซึ่งหากไทยยังยึด Timeline ในการประมูลที่เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ก็คาดว่าจะได้เจอกับช่วงเวลาลงทุนที่เหมาะสมซึ่งน่าจะเป็นภายในปี 2020 หรือ 2021

ในด้านวิธีการคัดเลือกผู้ให้บริการ ซึ่งกรณีศึกษาหนึ่งมาจากการให้สัมปทานคลื่นความถี่ของจีน ที่เป็นการให้เปล่าจนทำให้การรับ 5G ไปใช้งานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณ Peter ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน หลายประเทศที่ดำเนินการเรื่อง 5G ล่าช้ากว่าไม่ได้เป็นเพราะวิธีการ แต่เป็นเพราะยังลังเลที่จะเลือกวิธีการ ระหว่างการประมูลคลื่นความถี่ หรือการคัดเลือกผู้ให้บริการเอง อย่างไรก็ตาม คุณ Peter ย้ำว่า การเปิดใช้ 5G ควรเป็นวาระสำคัญของแต่ละประเทศ เพราะธุรกิจมีโอกาสต่อ ยอดจากเทคโนโลยีนี้ได้เยอะมาก

5G ควรเป็นวาระสำคัญของแต่ละประเทศ เพราะธุรกิจมีโอกาสต่อ ยอดจากเทคโนโลยีนี้ได้เยอะมาก

การจับมือกับ dtac ของ Ericsson

หากใครติดตามข่าวก็คงจะได้เห็นการประกาศความร่วมมือระหว่าง dtac ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในไทยกับ Ericsson เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (อ่านข่าวนี้ที่นี่) เราจึงสอบถามเพิ่มเติมถึงความร่วมมือดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในเวลาที่เราใกล้จะได้ใช้ 5G กัน

คุณ Peter กล่าวว่า Ericsson เป็น Partner กับ Telenor บริษัทแม่ของ dtac แต่ทั้งนี้ การได้ Partner กับ dtac ถือเป็นเรื่องที่พิเศษ เพราะเป็นการขยายกำลังคนของเราเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และในช่วงต้นปี 2020 จะถือเป็นก้าวใหญ่ของ Ericsson ในประเทศไทย อันที่จริงแล้ว Ericsson เป็นบริษัทที่เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 1876 และเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1908 การช่วย dtac เปลี่ยนผ่านสู่ 5G ในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ก่อนที่จะช่วยให้ Partner ทั้งหลายใช้งาน AI เพื่อดูแลเครือข่ายแบบเชิงรุกที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไปอีกขั้น

ฟังดูแล้วการเคลื่อนไหวของ Ericsson ก็เป็นหนึ่งในตัวแของการใช้งาน 5G ทั้งในไทยและทั่วโลก แต่ค่ายมือถือของไทยจะใช้งาน Solution ดังกล่าวหรือไม่ และ 5G ในการดูแลของ Ericsson จะการันตีการใช้งานที่มั่นคงมากน้อยแค่ไหน ก็คงต้องดูกันต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...

Responsive image

GAC รถแห่งเมืองกวางโจว ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ | Tech for Biz EP. 30

แบรนด์รถยนต์ที่เป็นความภูมิใจของคนกวางโจว สู่ขวัญใจแท็กซี่ยุคใหม่ คลิปนี้ Tech for Biz จะพาไปรู้จัก GAC ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกเจ้าที่กำลังบุกตลาดเมืองไทย...

Responsive image

เปิดดีล NVIDIA ปี 2024 ในอาเซียนไปร่วมมือใครมาบ้าง ?

NVIDIA ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2024 ด้วยการลงทุน AI Centers และการพัฒนาระบบ AI ร่วมกับพันธมิตรในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ขับเคลื่อนภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์...