Key Takeaway จาก ‘KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023’ หลักสูตรติวเข้มเพื่อสตาร์ทอัพไทย และความน่าสนใจของทีมผู้ชนะ | Techsauce

Key Takeaway จาก ‘KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023’ หลักสูตรติวเข้มเพื่อสตาร์ทอัพไทย และความน่าสนใจของทีมผู้ชนะ

สตาร์ทอัพไทยก็ต้องปรับตัวและวางแผนเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจอื่นๆ แต่ด้วยศักยภาพ องค์ความรู้ ตลอดจนเงินทุน อาจไม่เพียงพอที่จะนำพาธุรกิจก้าวผ่านทุกวิกฤตได้ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี หนึ่งในทัพหน้าของประเทศที่สนับสนุนสตาร์ทอัพไทยอย่างเต็มความสามารถ โดยมี KATALYST STARTUP LAUNCHPAD โครงการส่งต่อองค์ความรู้และช่วยสตาร์ทอัพพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 ในชื่อ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 ก็สร้างการรับรู้และอิมแพ็กเหนือความคาดหมาย

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023

บรรยากาศ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 และบทพิสูจน์ศักยภาพสตาร์ทอัพไทย 

เนื่องจาก KATALYST STARTUP LAUNCHPAD มีจุดแข็งในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่สตาร์ทอัพผ่าน ‘หลักสูตรที่ใช้สอนและบุคลากรผู้สอนจาก Silicon Valley’ ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้มข้นเป็นทุนเดิม และธนาคารกสิกรไทยก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำมาเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้แก่สตาร์ทอัพไทย โดยในปีนี้ หลักสูตรดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา  ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเข้มข้นของเนื้อหาแบบจัดเต็ม 

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023ภาพจากงาน KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 รอบ Final Pitching Day ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ ออฟฟิศ SEAC, FYI Center

รู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 by Number

  • เป็นโครงการที่จัดอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี 

  • มีสตาร์ทอัพจบหลักสูตรรวมกว่า 200 ราย 

  • ปี 2023 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเกือบ 200 ทีม

  • จาก 200 ทีม มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมหลักสูตร 62 ทีม 

  • ทั้ง 62 ทีมได้เข้าเรียนหลักสูตรสุดเข้มข้น 9 สัปดาห์

  • ผู้ผ่านเกณฑ์สำเร็จหลักสูตรอยู่ที่ 50 ทีม หรือราว 80 เปอร์เซนต์

  • จาก 50 ทีม ทางโครงการได้คัดเลือกผู้ที่มีคะแนนสูงสุดมานำเสนอไอเดีย จำนวน 10 ทีม 

  • 10 ทีมที่ได้แข่งกันนำเสนอไอเดียใน Final Pitching Day มีเพียง 3 ทีมผู้ชนะที่ได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท 

ทีมเทคซอสเข้าร่วมงาน KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 ในรอบ Final Pitching Day และได้รับฟังการประชันไอเดียของ 10 เทคสตาร์ทอัพ ซึ่งเน้นไปที่การใช้ Deep Tech พัฒนาผลิตภัณฑ์และขับเคลื่อนธุรกิจ ดังนี้ 

  1. Tambaan
    ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร โดยเริ่มต้นจากการจัดทำสื่ออสังหาริมทรัพย์ Space Story  และ AI Space Story สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ความรู้ แชร์ไอเดียเกี่ยวกับการทำบ้าน ซึ่งมีผู้ติดตามทุกช่องทางรวมแล้วมากกว่า 500,000 ราย และมี  Tambaan.co ระบบจ้างงานผู้รับเหมาแบบครบวงจร ที่มุ่งแก้ไขปัญหาการโกงในงานก่อสร้าง ตั้งแต่โซลูชันการออกแบบบ้านด้วย AI ไปจนถึงการควบคุมงานก่อสร้างอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบได้

  2. OsseoLabs
    ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดและวัสดุฝังในสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ศัลยกรรมช่องปากและใบหน้า ขากรรไกร รวมถึงโรคทางกระดูกต่างๆ โดยขึ้นรูปอุปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่เข้ากับสรีระของแต่ละบุคคล 

  3. PAC TECHNOVATION
    สตาร์ทอัพที่มีจุดมุ่งหมายในการประกอบกิจการการค้า การให้บริการ และการวิจัยพัฒนาสินค้านวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทน โดยนำความเชี่ยวชาญด้านระบบปรับอากาศ ระบบทำน้ำร้อน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งระบบบริหารจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาให้คำปรึกษา ให้บริการด้านการบริหารจัดการพลังงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแก่ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ

  4. Eyequilla
    นวัตกรรมการดูแลรักษาสายตาในรูปแบบของเกมบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อการแก้ไขปัญหาสายตาอันเกิดจากการมองจอที่มากเกินไป โดยใช้เทคโนโลยีการตรวจจับดวงตา (Eye Detection) จากสมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุมและวัดผลการเล่นเกม โดยมุ่งเน้นไปยังการสร้างเสริมสุขภาพและกิจวัตรประจำวันที่ดีให้แก่ผู้คนในยุคดิจิตอล

  5. Mor Online
    แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพยุคใหม่ นำโดยทีมผู้เชี่ยวชาญผู้บริหารโรงพยาบาลชั้นนำ ทีมอาจารย์แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ผสานการใช้เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยขั้นสูงกับระบบบริหารโรงพยาบาล เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อผู้ใช้งานกับเครือข่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์ทุกด้าน ช่วยให้ผู้ป่วยโรคทั่วไปและโรคเรื้อรังสามารถดูแลตัวเองได้แม้อยู่บ้าน ด้วยฟีเจอร์ AI ที่ช่วยวิเคราะห์โรคได้อย่างแม่นยำตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีแพทย์เฉพาะทางมากกว่า 100 ท่านพร้อมให้คำปรึกษา และมีสายด่วนสุขภาพกับพยาบาลวิชาชีพ พร้อมระบบส่งยาถึงบ้าน ฯลฯ

  6. GATI 
    ระบบบริหารจัดการฟาร์มกุ้งอัจฉริยะ ที่บูรณาการ 3 เทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย AI, IOT และ Automation เพื่อตรวจจับพฤติกรรม/แจ้งเตือนความผิดปรกติของกุ้งแบบ Real Time รวมถึงควบคุมสภาพแวดล้อมในบ่อกุ้งอย่างอัตโนมัติ โดยสั่งการทำงานเครื่องจักรภายในฟาร์มอย่างเหมาะสม เพื่อผลลัพธ์ทางด้านการประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน และลดอัตราสูญเสีย ทำให้เกษตรกรมีกำไร ยิ้มได้ และสามารถทำธุรกิจนี้ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

  7. Modgut 
    บริษัทไบโอเทคสัญชาติไทยที่ตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจุลินทรีย์ในลำไส้ ตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางของฐานข้อมูลความรู้ด้านจุลินทรีย์ในแถบประเทศอาเซียน สามารถตรวจวิเคราะห์และให้ข้อมูลจุลินทรีย์เฉพาะบุคคลที่ถูกต้องแม่นยำ และสามารถใช้ข้อมูลจุลินทรีย์ดังกล่าวเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกต้อง รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตร โดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารเพื่อพัฒนายา อาหารเสริม หรืออาหารที่เหมาะกับบุคคลนั้นๆ ได้ หรือที่เรียกกันว่า Precision Nutrition ซึ่งเกิดขึ้นสำเร็จแล้วในต่างประเทศ

  8. OrderKub 
    ระบบจัดการออร์เดอร์เจ้าแรกของไทยที่ไม่ลงแข่งในสนามราคาค่าขนส่ง แต่เพิ่มมูลค่างานบริการด้วยฟีเจอร์ AI ที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้าออนไลน์บน Social Commerce โดยเฉพาะ ทั้งการยิงโฆษณาที่แม่นยำขึ้น จ่ายน้อยลง, การเปลี่ยนลูกค้าขาจรให้เป็นลูกค้าประจำด้วย Retain Mate ฯลฯ

  9. PerceptorAI 
    แชตบอตที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการวินิจฉัยโรค และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และยกระดับการแพทย์ในประเทศไทย โดยระบบ AI ถูกเทรนด้วยหนังสือการแพทย์ และแนวทางเวชปฏิบัติของทั้งไทยและนานาชาติ โดยปัจจุบันสามารถให้คำปรึกษาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนแอพพลิเคชั่น LINE @preceptorai

  10. Plant Origin 
    ผู้ผลิตผงทดแทนไข่ไก่จากโปรตีนไฮโดรไลซ์ที่สกัดจากรำข้าว เพื่อเป็นตัวเลือกในการบริโภคไข่ เนื่องจากไข่ไก่เป็นแหล่งโปรตีนที่ได้รับความนิยม แต่ไข่แดงมีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง กอปรกับการผลิตไข่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และบางประเทศขาดแคลนไข่เพราะเจอปัญหาไข้หวัดนก การนำโปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากไข่ไก่จึงเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภค และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตไข่ไก่ได้อีกด้วย

สำหรับบรรยากาศในงาน เต็มไปด้วยความคึกคัก มีการพบปะพูดคุย สร้าง Connection ช่วง Pitching ก็ได้เห็นถึง Passion ของเหล่าสตาร์ทอัพ จนกระทั่งถึงเวลาประกาศชื่อผู้ชนะ รอยยิ้มและเสียงปรบมือก็ดังขึ้นเป็นระยะ ดังนี้

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023

  • ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ : Tambaan.co 
    ระบบจ้างงานผู้รับเหมาเพื่อแก้ปัญหาการโกงในงานก่อสร้าง 

  • ทีมที่ได้อันดับ 2 :  Plant Origin 
    บริษัทผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนไข่ซึ่งทำมาจากโปรตีนรำข้าวเพื่อผู้ที่มีปัญหาในการรับประทานไข่ 

  • ทีมที่ได้อันดับ 3 :  PreceptorAI 
    แพลตฟอร์มที่ใช้ AIช่วยบุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยโรคและดูแลคนไข้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ 

  • ทีมที่ได้รางวัล The Sustainable Innovation Award : Modgut 
    ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อการดูแลสุขภาพอย่างแม่นยำเฉพาะบุคคล 

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023

เล่าย้อนก่อนว่า แต่ละทีมผ่านเคี่ยวกรำวิชาและยังต้องทำการบ้านส่งทุกสัปดาห์เพื่อให้คณะกรรมการประเมินและให้คะแนน ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมก็ต้องดำเนินธุรกิจ พร้อมกับเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และขับเคลื่อนธุรกิจไปด้วย เรียกได้ว่า ทุกทีมต้องทำงานอย่างหนักตลอดระยะเวลา 9 สัปดาห์ของโครงการ จึงเชื่อได้ว่า ผู้ที่ผ่านหลักสูตรสุดนี้มีความมุ่งมั่นและอดทนเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน

สำหรับ 10 ทีมที่เข้าสู่รอบ Final ส่วนใหญ่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ HealthTech, ESG-related, Enterprise Solutions และนำเทคโนโลยีในกลุ่ม Deep Tech มาใช้ อย่างไรก็ดี ทั้ง 10 ทีมสามารถเรียนรู้และทำตามขั้นตอนต่างๆ ของโครงการได้เป็นอย่างดี ส่งผลต่อไอเดียการนำเสนอทางธุรกิจและผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กับมุมเทคโนโลยีที่มีความลึกของเหล่าสตาร์ทอัพ จึงทำให้ Final Pitching Day ในปีนี้มีความโดดเด่นและน่าติดตามมาก ทั้งจากสตาร์ทอัพที่เข้าแข่งขันในรอบเดียวกัน สตาร์ทอัพรุ่นพี่ นักลงทุน VC CVC ฯลฯ

ถอดกลยุทธ์การทำธุรกิจให้รอดจาก คุณยอด ชินสุภัคกุล CEO LINE MAN Wongnai

อีกหนึ่งโอกาสพิเศษที่เกิดขึ้นในวัน Pitching คือ การได้รับฟัง คุณยอด ชินสุภัคกุล ซีอีโอ LINE MAN Wongnai ที่หลังจาก LINE MAN ควบรวมกับ Wongnai เป็นยูนิคอร์น ก็ปรากฏตัวตามอีเวนต์น้อยลง แต่พิเศษสำหรับงานนี้ เพราะคุณยอดมาให้ความรู้ในประเด็น Decoding the Journey to Unicorn Status: Strategies and Insights ทั้งจุดเริ่มต้นและความท้าทายของการทำธุรกิจในช่วงแรก ประสบการณ์จากการทำสตาร์ทอัพจนเป็นหนึ่งในยูนิคอร์นของประเทศ ตลอดจนเล่าแนวคิดและแรงบันดาลใจให้แก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023

คุณยอดเล่าว่า ความท้าทายที่ Wongnai ต้องเผชิญในช่วงแรก คือ มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Wongnai น้อย คอนเทนต์ก็ยังไม่มาก แม้เข้าใจดีว่าต้องอาศัยเวลาสั่งสม แต่ตราบใดที่มีคอนเทนต์ไม่มากพอก็ไม่สามารถเข้าถึงผู้คนเป็นวงกว้างได้

สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อมี ‘สมาร์ทโฟน’ เข้ามาทำตลาดในช่วงปี 2012 ผู้คนเริ่มใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ส่งผลให้มีคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม Wongnai เพิ่มตามไปด้วย คอนเทนต์ในระบบที่เพิ่มขึ้นจึงดึงดูดผู้คนเข้ามามากขึ้น การค้นหาบน Google ก็เพิ่มตาม ทว่า ก็ยังไม่มีผู้ใช้งานมากพอที่จะสร้างรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจ แต่ทีมก็ยังเดินต่อและโฟกัสการทำคอนเทนต์อาหาร เพราะมองว่าทุกคนต้องกินอาหาร และคนส่วนใหญ่กินอาหารวันละ 3 มื้อ 

นั่นหมายความว่า ตลาดอาหารเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มาก ทีม Wongnai จึงใช้เงินตัวเองและหยิบยืมเงินจากครอบครัวมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงธุรกิจในช่วง 2 ปีแรก เพื่อให้ธุรกิจยังเดินต่อ แพลตฟอร์มยังอยู่ได้ โดยนำเงินที่รวบรวมได้ไปลงทุนด้านค่าใช้จ่ายปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ ร่วมกับการเพิ่มคน สร้างทีมที่ใหญ่ขึ้น 

เมื่อถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าธุรกิจนี้ไปต่อได้และควรสู้ต่อ คุณยอดตอบว่า “ให้ดูความเชื่อที่คุณมี ไอเดียที่คุณกับทีมมีร่วมกัน ว่าธุรกิจนี้พัฒนาได้ สามารถทําได้ดีกว่านี้ ดูความหลงใหลไปกับมัน และรั้นที่จะทำตามความเชื่อ” 

“ถ้ายอมแพ้ตั้งแต่แรก Wongnai คงไม่ได้อยู่มาถึงตอนนี้” คุณยอดกล่าวย้ำ

จากประสบการณ์ที่เคยกัดฟันสู้ คุณยอดให้มุมมองและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจว่า “คุณต้องอยู่ในตลาดที่ถูกต้องก่อน นั่นเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่สําคัญที่สุดในช่วงแรก ซึ่งการที่ Wongnai เลือกตลาดอาหาร เมื่อเรารวมกับ LINE MAN เราก็ยังเลือกอยู่ในตลาดอาหาร และมูลค่าตลาดอาหารในประเทศไทยก็มีขนาดใหญ่ราวๆ 30,000 ล้านบาท

จากนั้นก็เล่าต่อว่า “มีหลายคนบอกว่า โชคดีที่ Wongnai ได้ร่วมงานกับ LINE MAN ก่อนโควิดมา แต่เรารู้อยู่แล้วว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งอาหารมาแน่ ดังนั้น โควิดเป็นเพียงตัวเร่งให้ตลาดจัดส่งอาหารเติบโตเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่มีโควิด ยังไงธุรกิจจัดส่งอาหารก็จะยังเติบโต เพียงแต่โตช้ากว่า”

ยอด ชินสุภัคกุล LINE MAN Wongnai

ตามมาด้วยการเผยกลยุทธ์การทำธุรกิจในหลากหลายแง่มุม อาทิ

  • ด้านการรับมือคู่แข่งในตลาด - การมีคู่แข่งในตลาดจัดส่งอาหารจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นระดับโลกกับระดับภูมิภาค หากจะต้องสู้กับรายที่ใหญ่กว่า คุณต้องใช้ความเร็วและความคล่องตัวให้เป็นประโยชน์ 

  • ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร - สตาร์ทอัพต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรได้ท่ามกลางการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ยึดติดอยู่เพียงวัฒนธรรมเดียว ยกตัวอย่างช่วงแรก Wongnai มุ่งเพิ่มผู้ใช้งาน เน้นสร้างคอนเทนต์เพื่อดึงดูดผู้ใช้ สิ่งสำคัญในเวลานั้นคือ ความคิดสร้างสรรค์ แต่หลังจาก Wongnai ควบรวมกิจการกับ LINE MAN ความคิดสร้างสรรค์ยังคงมีความสําคัญ การจัดส่งอาหารก็สําคัญ แต่ให้ความสำคัญในเรื่องของข้อมูลและใส่ใจรายละเอียดมากขึ้น ตลอดจนการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หน้าที่ที่ใครจะมากําหนดว่า วัฒนธรรมแบบใดถูก แต่ต่างก็ต้องรู้ว่ากำลังทำงานอะไร รู้ว่างานไหนมีความสําคัญอย่างไร จากนั้นงานจะกําหนดวัฒนธรรมขององค์กรเอง 

  • การสรรหาพนักงานที่ใช่ - LINE MAN Wongnai มองหาทีมงานที่มีคุณสมบัติ 3 ข้อ ข้อแรก มีทักษะ ทํางานของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ข้อสอง มีความสามารถในการเรียนรู้ ปรับตัวและเติบโตต่อได้ และข้อสาม มีความคิดที่ถูกต้อง มีทัศนคติที่ดี 

  • คําแนะนําที่อยากบอกผู้ประกอบการในระยะเริ่มแรก  (Seed Stage) 1) คุณต้องอยู่ในตลาดที่เหมาะสม และเป็นตลาดที่ใหญ่ เพราะถ้าอยู่ในตลาดที่ไม่ใหญก็เป็นสตาร์ทอัพยาก 2) คุณไม่สามารถทํานายอนาคตได้ ดังนั้น อย่ายอมแพ้ และเตรียมตัวเองให้พร้อม เช่น ตอนที่ยังไม่รู้ว่า เทรนด์การใช้สมาร์ทโฟนจะมา Wongnai ลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้ทุกระบบที่มีในขณะนั้น ได้แก่ iOS, Android, Windows และ Blackberry เพราะเชื่อว่าถ้าแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งชนะหรือเป็นเจ้าตลาด Wongnai ก็ไปต่อได้ ซึ่งในท้ายที่สุดเห็นได้ชัดว่า มีเพียง iOS กับ Android ที่ได้ไปต่อ 

ซีอีโอ LINE MAN Wongnai ทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าคุณเชื่อว่าคุณมีทีมที่เหมาะสม มีตลาดที่เหมาะสมแล้ว อย่ายอมแพ้ อย่าเพิ่งล้มเลิก ก็เป็นเรื่องสําคัญมาก เพราะผมคิดว่าคุณไม่มีทางรู้ว่า เมื่อไหร่โอกาสหรือโชคจะมา คุณจึงต้องพร้อมไว้ก่อน และท้ายที่สุด ‘การตระหนักรู้ในตัวเอง’ ก็สําคัญมากเช่นกัน ต้องรู้ว่าคุณเป็นอย่างไร ทำอะไร จ่ายให้ความดื้อรั้นได้แค่ไหน และฝากสำหรับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการนี้ ถ้าคุณชนะ จงอย่าดีใจมากเกินไป เช่นเดียวกัน ถ้าคุณไม่ได้ชัยชนะ ก็อย่าดาวน์มากจนเกินไป เพราะนี่เป็นการแข่งขัน และสตาร์ทอัพที่ประสบความสําเร็จอาจเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่ชนะการแข่งขันเลยก็ได้” 

มุมมองจาก Beacon VC ที่มีต่อศักยภาพสตาร์ทอัพไทยและการต่อยอดในอนาคต

สอบถามถึงจุดเด่นของทีมผู้ชนะ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) บอกว่า ทุกทีมเหมือนกันตรงที่ใช้ Deep Tech และสามารถพัฒนาโปรดักส์ใหม่มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ แต่การเป็นผู้ชนะในโครงการนี้ มีเพียงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพยังไม่เพียงพอ ต้องนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้ธุรกิจเติบโต ประกอบกับความใส่ใจในการส่งการบ้าน การนำเสนอผลงานและตอบคำถามในรอบ Pitching มาประเมินร่วมกันทั้งหมด

"อันดับหนึ่ง Tambaan ผลิตภัณฑ์เขาอาจจะฟังดูไม่ได้ใหม่หรือหวือหวามาก แต่ว่าเขาได้คะแนนจากการทํางานเกือบเต็ม แล้วเขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น มี Passion ในการทําสตาร์ทอัพเพื่อแก้ปัญหาเรื่องรับเหมา และทําการบ้านส่งมาตลอด ส่วนอีก 3 ทีมนั้นได้คะแนนจากการ Pitching เยอะ ไม่ว่าจะเป็น Plant Origin ที่ทำ Eggcellence ซึ่งคนก็มี Pain Point เรื่องอยากบริโภคโปรตีนจากไข่แต่กลัวคอเลสเตอรอล PreceptorAI ที่นำ AI มาช่วยพวกคุณหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยทำเหมือน Advisor ให้คําแนะนําอีกที 

“หรืออย่าง Modgut ที่ปัจจุบันหลายคนอาจซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติกไปทาน โดยไม่รู้หรอกว่า ทานแล้วมันส่งผลดีต่อร่างกายจริงหรือไม่ แต่ถ้ามีคนทําเทสต์ให้ว่า เราขาดแบคทีเรียตัวไหนอยู่ หากทานเข้าไปสุขภาพของเราจะดีขึ้น เป็น Preventive ที่ช่วยเราไม่ต้องไปเสียเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพงๆ เราจึงให้ Sustainable Innovation Award เพราะช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพและทำให้การดูแลสุขภาพของคนไทยดีขึ้นได้”

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD

นอกจากหลักสูตรที่เข้มข้นไม่เกรงใจใคร สตาร์ทอัพที่เข้าโครงการในปีที่ผ่านมาและปีนี้ ต่างก็มีมุมที่ทำให้คุณธนพงษ์รู้สึกประหลาดใจ

“ปีที่แล้วมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทําเรื่อง ESG มาเข้าร่วมโครงการเยอะ ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อนว่า คนไทยจะทําเรื่อง ESG กันเยอะ แต่ปีนี้คนทํา Deep Tech กับ AI เข้ามาเยอะกว่า แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราทำมันสัมฤทธิผล คนที่มาเข้าหลักสูตรเราไม่ได้คิดแต่เรื่องเดิมๆ อีกแล้ว แต่พยายามหาเรื่องใหม่ๆ ที่มันตอบโจทย์โลกอนาคต ยิ่งสองปีหลังๆ นี่ค่อนข้างดีเลย คือทําสตาร์ทอัพที่มองถึงความต้องการของตลาดในอนาคต แล้วเราก็บรรลุเป้าหมายที่พยายามให้สตาร์ทอัพได้ทําอะไรใหม่ๆ ส่วนหนึ่งก็คือ Sustainability เพราะว่าการทําตลาดที่มันไม่ได้เป็น Red Ocean มีการแข่งขันเยอะๆ ทําธุรกิจให้อย่างยั่งยืนได้ง่ายกว่า”

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023The Sustainable Innovation Award เป็นรางวัลพิเศษที่มอบให้แก่ทีมที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ในด้านนวัตกรรม ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

ด้านเทรนด์การใช้เทคโนโลยีของเหล่าสตาร์ทอัพ คุณธนพงษ์กล่าวเชิงสรุปจากสิ่งที่เห็นในปีนี้ว่า ทุกทีมเริ่มนำ AI มาใช้งาน ไม่ว่าจะนำมาทํา Chatbot คุยกับลูกค้า นำมาทํา OCR (Optical Character Recognition) หรือ กระบวนการเปลี่ยนข้อความที่อยู่ในรูปแบบของภาพ มาอยู่ในรูปแบบของข้อความ, NLP (Natural Language Processing) ส่วนหนึ่งของ AI ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารได้เหมือนมนุษย์ และอีกสิ่งที่เหนือความคาดหมาย คือ การนำ AI มาสร้างโปรดักส์ใหม่ๆ 

คุยเรื่องจุดเด่นของทีมผู้ชนะ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023

katalyst startup launchpad 2023

มาที่จุดเด่นและคุณสมบัติสำคัญของทีมผู้ชนะในปีนี้ คุณเชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร Managing Director, KBTG Labs วิเคราะห์ให้ฟังว่า ปี 2023 มีทีมที่พัฒนา Deep Sciences มาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ต่างจากปีก่อนๆ และไม่สามารถเลียนแบบได้ง่ายๆ โดยในภาพรวม มีทีมที่นำ AI มาใช้ในธุรกิจราว 80% และส่วนใหญ่เป็นคนทำงานจริงจังในระดับที่มีการยื่นเรื่อง ขออนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐ หรือมีหน่วยงานวิจัย มีมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมหรือเป็นบอร์ดบริษัท นอกเหนือจากนั้น สตาร์ทอัพในปีนี้ยังมีความโดดเด่นในด้านการสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าใกล้ความจริงหรือใกล้จะเป็นสินค้าจริงจนมีองค์กรเข้ามา ‘Shopping’ ผลิตภัณฑ์ไปทดลองใช้

กล่าวโดยสรุป คุณเชษฐพันธุ์ประทับใจพัฒนาการของทีมที่เข้าแข่งขันในปีนี้ เนื่องจากมีความลึกของข้อมูล (Deep) มีเอกลักษณ์ (Unique) มี Know How ที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับ (Sciences) และมีศักยภาพที่จะไปได้ไกลกว่าเดิม (Potential) เช่น สตาร์ทอัพที่ทำ HealthTech สามารถที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศได้ 

เทคซอสมีโอกาสพูดคุยกับ คุณการันต์ แป้นทอง (ตั้ม) ผู้ก่อตั้ง Tambaan.co ภายใต้ Space NEXT Co., Ltd. บริษัทที่ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ตั้งแต่การทำสื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้านอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ Space Story และ AI Space Story เพื่อให้ไอเดียและความรู้เกี่ยวกับการทำบ้าน ซึ่งมีผู้ติดตามรวมกันทุกช่องทางมากกว่า 500,000 คน และ Tambaan.co ระบบจ้างงานผู้รับเหมาตั้งแต่การออกแบบบ้านด้วย AI การคัดเลือกผู้รับเหมา และการควบคุมงานก่อสร้าง เพื่อแก้ปัญหาการโกงในทุกขั้นตอนของการก่อสร้างและทำให้ทุกอย่างตรวจสอบได้

คุณตั้มเล่าว่า หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 ทำให้ได้เรียนหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการที่เข้มข้น ได้รับองค์ความรู้และมุมมองที่ลึกขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่สแตนฟอร์ดเน้นย้ำ โดยเฉพาะ การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า

Tambaan

"KATALYST มีหลักสูตรให้เราคอนเฟิร์มตัวเอง แล้วก็มีหลักการในการยืนยันลูกค้า โดยสอนให้มองเป็น Structure ว่า ธุรกิจอยู่จุดไหน มันใช่หรือไม่ และใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ หรือเปล่า มันทําให้เรามั่นใจว่า เฮ้ย เรามาถูกทางจริงๆ อันนี้ดีใจมากที่มี International Standard มาช่วยคอนเฟิร์มการทํางานของเรา และโชคดีที่ผมเคยเข้าโครงการบ่มเพาะ (Incubator) อื่นๆ มาก่อน จึงมีข้อมูลที่เตรียมไว้แล้วนำมากรองและ Update เพื่อส่ง KATALYST ซึ่งมันดีตรงที่เราได้อัปเดตข้อมูลหลังบ้านของเราด้วย"

ในด้านประสบการณ์การบ่มเพาะจากโครงการอื่นๆ คุณตั้มวิเคราะห์ถึงความต่างของโครงการให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า 

“จุดเด่นของ KATALYST คือมีหลักสูตรที่เป็นสเต็ปให้เราค่อยๆ เรียนรู้และมีการเพิ่มเนื้อหาเข้าไปเรื่อยๆ จากหลักสูตรทั้ง 8 วีค ทำให้เราได้ฟีดแบ็กทุกวีคว่า ควรปรับปรุงข้อมูลจุดไหนบ้าง และดีมากตรงที่ได้ขมวดปมตอน Consultation แล้วเราก็พยายามตอบคำถามจาก Feedback ทุก ๆ ข้อและมีสไลด์ข้อมูลเตรียมเอาไว้นำเสนอในรอบ Final Pitching และโชคดีที่คำถามของกรรมการ เราเคยเจอตอนเรียนของ KATALYST มาหมดแล้ว”

คุณตั้มเล่าเสริมอีกว่า ด้วย Passion ที่อยากจะ ‘ทําบ้าน’ เพราะมี Pain Point โดยตรง เมื่อมาได้รางวัลชนะเลิศจาก KATALYST STARTUP LAUNCHPAD 2023 จึงรู้สึกดีใจมาก และเป็นการคอนเฟิร์มไปในตัวว่า เขาตัดสินใจถูกที่ผลักดัน Tambaan และเข้าร่วมโครงการของ KATALYST by KBank นอกจากได้เงินรางวัลและสิทธิต่างๆ ในฐานะทีมผู้ชนะ คุณตั้มเปิดเผยถึงช่องทางต่อยอดธุรกิจในตอนท้ายว่า สนใจนำโซลูชันด้านการชำระเงินของ KBank ไปเชื่อมกับระบบ Tambaan เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้แก่ผู้ใช้งาน  โดยจะขอคำปรึกษาจากธนาคารกสิกรไทยหลังจบการแข่งขันไปแล้ว 

‘กสิกรไทย’ ธนาคารที่สนับสนุนสตาร์ทอัพไทยอย่างครบวงจร

จากการรับฟัง Pitching การได้พูดคุยกับสตาร์ทอัพและ Beacon VC เห็นได้ชัดว่า ธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยทุกมิติอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อต่อยอดธุรกิจจากทางพันธมิตรของ KATALYST by KBank การเชื่อมโยงหลายภาคส่วนเข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย โดยแบ่งสิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้

  • Knowledge : สตาร์ทอัพได้เข้าถึงองค์ความรู้อย่างเข้มข้นในการทำสตาร์ทอัพ ผ่านหลักสูตรระดับโลกจาก Silicon Valley และองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ของธนาคาร อาทิ Payment Solution จากธนาคารกสิกรไทย, UX/UI จาก Beacon Interface

  • Mentoring : สตาร์ทอัพได้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายอุตสาหกรรมผ่านทางเมนเทอร์ ได้ขอคำปรึกษา แก้ปัญหา ช่วยลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

  • Networking : สตาร์ทอัพได้สร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับพันธมิตรและสปอนเซอร์ ทั้งจากองค์กรในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่เข้าแข่งขันในโครงการเดียวกัน

  • Raise Fund : สนับสนุนการระดมทุน ดังที่เปิดทางให้ 10 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายมีโอกาสระดมทุนผ่าน Final Pitching Day 

  • Prize : ได้รับเงินรางวัลสนับสนุนสำหรับผู้ชนะเลิศโครงการ 3 อันดับแรก พร้อมการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อต่อยอดธุรกิจจากทางพันธมิตรของ KATALYST by KBank มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท 

  • Service Provider : ทีมผู้ชนะได้ใช้บริการจากพันธมิตรของ KATALYST by KBank อาทิ ได้ใช้ Co-working Space จาก True Digital Park ฟรี ได้เครดิตใช้งาน Cloud ของ AWS ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ได้ใช้แพลตฟอร์มจัดการบัญชีของ FlowAccount 

  • Certificates : ทีมผู้ชนะยังได้รับประกาศนียบัตรจาก KATALYST by KBank และประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรการเรียนรู้จาก Stanford Online ซึ่งสามารถการันตี สร้างความเชื่อมั่น และต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้

  • Opportunity : ทีมผู้ชนะมีโอกาสในการร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล

KATALYST STARTUP LAUNCHPAD

คุณธนพงษ์กล่าวเพิ่มว่า โครงการ KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ได้รับความสนใจมาตลอดระยะเวลาหลายปี และธนาคารกสิกรไทยก็เชื่อว่า สตาร์ทอัพเหล่านี้คือแนวหน้าด้านนวัตกรรมของประเทศไทย ทางธนาคารจึงมีแผนการต่อยอดกับกลุ่มสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะส่งเสริมและเสริมสร้าง Startup Ecosystem ในประเทศไทยให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน 

ส่วนการจัด KATALYST STARTUP LAUNCHPAD ครั้งต่อไป Beacon VC จะปรับเปลี่ยนแผนตามเทคโนโลยีและเทรนด์ในช่วงนั้นๆ โดยคุณธนพงษ์เปิดเผยว่า เป็นไปได้ที่เทรนด์การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจจะยังคงอยู่แต่จะก้าวหน้าอีกมาก และอาจมีเรื่อง Climate Tech เข้ามามากขึ้น เนื่องจาก Beacon VC ให้ความสำคัญในด้านความยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่ผ่านมาได้จัดตั้ง Impact Fund ขึ้น ทั้งยังร่วมก่อตั้ง Climate Tech Club สอดคล้องกับที่ธนาคารกสิกรไทยมีนโยบายผลักดันเรื่อง ESG อย่างเต็มรูปแบบ 

#KATALST #KATALYSTSTARTUPLAUNCHPAD2023 #STARTUP #KBank #BeaconVC #KATALYSTbyKBank

..........................................................

บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สองวิธีเรียกคืนอำนาจบริหารจากบริษัทตัวเอง ถกประเด็นน่ารู้จากซีรีส์ Queen of tears

เจาะลึกประเด็นซีรีส์ Queen of tears การต่อสู้แย่งชิงอำนาจบริหาร Queens Group กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นจริงแล้ว ตระกูลฮงจะกลับมายึดคืนอำนาจบริหาร ...

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...