เตรียมทักษะแห่งอนาคตเมื่อถึงยุค AI เรียนเขียน Code ง่ายๆ ผ่านหนังสือภาพกับ Linda Liukas | Techsauce

เตรียมทักษะแห่งอนาคตเมื่อถึงยุค AI เรียนเขียน Code ง่ายๆ ผ่านหนังสือภาพกับ Linda Liukas

Linda-Liukas

เราอาศัยอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันเข้ามาปฏิวัติชีวิตประจำวัน และกระทบแทบทุกสายอาชีพ สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว เมื่อโลกกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้นทุกวัน จึงเป็นความจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้โลกที่เราอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เคยตั้งคำถามไหม ว่าทำไมสิ่งที่เราเรียนในปัจจุบันถึงหมุนไม่ทันสิ่งที่โลกความเป็นจริงต้องการ?

การรู้เท่าทันเทคโนโลยีไม่เพียงจำเป็นต่อการอยู่รอดในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น ความรู้ทักษะใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นต่ออนาคตอย่าง 'Programming skills' หรือการเขียนโปรแกรม

การเตรียมความพร้อมให้เด็กในวันนี้รับมือกับโลกในอนาคตข้างหน้า เป็นสิ่งที่ลินดา ลูคัส (Linda Liukas) สาวหน้าตาน่ารักชาวฟินแลนด์แดนมูมิน ได้เล็งเห็นความสำคัญและไม่หยุดนิ่ง ผลักดันนำวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) บรรจุเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรของโรงเรียนในประเทศฟินแลนด์ได้สำเร็จ นอกจากเธอจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษาทั่วโลกแล้ว ยังเป็นนักวาดการ์ตูน นักเขียนโปรแกรม ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเพื่อต้องการทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นผ่านเทคโนโลยี

สะพานเชื่อมโลกจินตนาการสู่โลกความจริง

หากจะกล่าวว่าลินดาเป็น ‘นักเขียนหนังสือเด็กที่ประสบความสำเร็จ’ ก็คงเหมือนกับการบอกว่าสตีฟ จ๊อปเป็นแค่ ‘คนขายคอมพิวเตอร์’ เธอคือ 'เลดี้ เอดา เลิฟเลซ' (ผู้ได้รับยกย่องให้เป็นนักเขียนโปรแกรมคนแรกของโลก) ของยุคนี้ ที่สามารถเชื่อมเทคโนโลยีกับความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถของเธอนั้นหลากหลาย ทั้งนักเขียนโปรแกรม, ผู้ร่วมก่อตั้ง Rails Girls คอมมูนิตี้สอนการเขียนโปรแกรม, ผู้เขียน Hello Ruby หนังสือสอนเขียนโค้ดสำหรับเด็กผ่านการนิทานและเกม โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายก็เพื่อต้องการสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็ก ๆ ได้แสดงความเป็นตัวเองผ่านโลกดิจิทัล

ฉันไม่ใช่มองตัวเองในฐานะคนสอนเด็กเขียนโค้ด แต่ในฐานะคนที่มอบเครื่องมือการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ

การเล่น ความหลงใหล สู่ความตั้งใจทำให้โลกนี้ดีขึ้นผ่านการเขียนโปรแกรม

Linda Liukas

ด้วยความรักในการเรียนรู้ ลินดา จึงเลือกลงเรียนในศาสตร์หลายแขนง ตั้งแต่ปรัชญา ธุรกิจ ภาษาฝรั่งเศส ไปจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาพ หลังจบการศึกษาจากสแตนฟอร์ด เธอก็ค้นพบว่าศาสตร์ทั้งหมดที่เธอเรียนสามารถนำมาผสานร่วมกันได้ ผลงานของเธอจึงเหมือนเป็นส่วนผสมของแพชชั่นส่วนตัว ทั้งความรักในการอ่าน การวาดรูป และคอมพิวเตอร์

ย้อนกลับไปเมื่อเธอยังเด็ก ขณะที่เด็กคนอื่นกรี๊ดศิลปินดารา ลินดากลับมีความหลงไหลได้ปลื้มนักการเมืองชาวอเมริกันอย่างอัล กอร์ (Al Gore) และด้วยความที่ในสมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ Tumblr เธอจึงสร้างเว็บ Fanbase ขึ้นมาเอง

“ฉันเรียนเขียนโค้ดด้วยตัวเองตอนอายุ 13 เพื่อที่จะสร้าง Fansite ชาวฟินแลนด์ให้อัล กอร์ ด้วยความหวังเล็ก ๆ ว่าวันหนึ่งเขาจะเห็นมัน”

ฉันได้เรียนรู้ว่าการเขียนโค้ดนั้นก็เหมือนการมีสุดยอดเครื่องมือ ที่เราสามารถสร้างสรรค์โลกทั้งใบได้เอง

Rails Girls โลดแล่นบนเวทีโลก ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาในอุตสาหกรรมไอที

เมื่อนึกถึงคนที่ประสบความสำเร็จในวงการเทคโนโลยี คนแรก ๆ ที่มักจะปรากฎขึ้นคงจะเป็นชื่อของ Bill Gates หรือ Elon Musk เคยสังเกตไหมว่าทำไมถึงไม่ค่อยมีผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในวงการนี้มากเท่ากับผู้ชาย?

ล่าสุด World Economic Forum เผยว่า การเจริญก้าวหน้าของ AI จะส่งผลเสียต่อสายอาชีพของผู้หญิง และเพิ่มช่องว่างทางเพศให้ห่างกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากไม่มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานในวงการไอทีมากขึ้น อีกทั้งการที่มี AI เข้ามาแทนที่แรงงานในปัจจุบัน บวกกับการที่ AI ถูกพัฒนาโปรแกรมการทำงานโดยเพศชายเป็นหลัก สถานการณ์ช่องว่างทางเพศก็จะยิ่งแย่ลงตามไปด้วย

ตอนลินดาอาศัยอยู่ที่อยู่อเมริกา เธอได้เห็นผู้คนใช้พลังของเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เธอก่อตั้ง 'Rails Girls' ขึ้นมา ด้วยเป้าหมายรณรงค์ให้เด็กผู้หญิงและผู้หญิงทั่วไปเขียนโปรแกรม สร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยี และให้มีบทบาทวงการไอทีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันคอมมูนิตี้ของ Rails Girls ก็ได้ขยายไปแล้วทั่วโลก

ไม่จำเป็นต้องเนิร์ดก็เรียนเขียนโค้ดได้ กับ Hello Ruby

Hello Ruby เกิดขึ้นหลังจาก Rails Girls ได้ไม่นาน โดยไอเดียเริ่มเมื่อตอนที่เธอเรียนเขียนภาษา Ruby ด้วยตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่ไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ใหม่ ๆ เธอจะวาดรูปเด็กผู้หญิงผมแดงชื่อ 'รูบี' แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า

"ถ้าฉันเป็นรูบี  ฉันจะอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ได้อย่างไรนะ?"

หนังสือ Hello Ruby สอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการเขียนโปรแกรม ด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการใช้กระดาษ กับกรรไกร เธอต้องการสร้างความความเชื่อและภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ในเรื่องอย่าง คนเขียนโปรแกรมต้องเนิร์ด ต้องอัจฉริยะ ต้องเรียนสูงหรือว่าอะไร ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนเขียนโค้ดได้ เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ

ในปี 2014 Hello Ruby เล่มแรกระดมทุนบน Kickstarter ได้ 380,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กลายเปนหนังสือเด็กที่ได้รับเงินสนับสนุนมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม ปัจจุบัน Hello Ruby: Adventures in Coding (เวอร์ชันปี 2015) ได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วกว่า 25 ภาษา

ภาพจาก: Helloruby.com ภาพจาก Helloruby.com ภาพจาก: Helloruby.com ภาพจาก: Helloruby.com

Hello Ruby: Expedition to the Internet หนังสือเล่มที่สามจากซีรีส์ เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ต้องการให้เด็กสามารถเข้าถึงโลกโลกดิจิทัลโดยปราศจากความกลัว

“เด็ก ๆ มองว่าอินเตอร์เน็ตเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความมืดและน่ากลัว นั่นเป็นเพราะสื่อได้นำเสนอมันออกมาในรูปแบบนั้น” ลินดากล่าว

จริง ๆ มันเป็นเรื่องของการสื่อสาร หนังสือของฉันอธิบายให้เด็ก ๆ สามารถเข้าใจโลกอินเตอร์เน็ตได้ง่าย ๆ

“เทพนิยายยังคงเป็นอะไรที่ติดตัวฉันมาโดยตลอด ฉันเลยสอนเด็ก ๆ ผ่านการใช้นิทาน เปรียบเทียบอินเตอร์เน็ตให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างการทำให้มันเป็นปราสาทหิมะ ”

Hello Ruby เวอร์ชั่นภาษาจีนเป็นอีกโปรเจคที่กำลังเปิดตัว โดยภายในเล่มจะมีการสอนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ด้วย

ทุกคนสามารถสร้างสตอรี่ของตัวเองได้

linda liukas

ย้อนกลับไปเมื่อเราเป็นนักเรียน เราต้องเลือกว่าจะเรียนอะไรดี ระหว่างสายคณิตศาสตร์และสายศิลป์ เคยตั้งคำถามไหม ว่าทำไมเราถึงเลือกทั้งสองอย่างไม่ได้ล่ะ?

ลินดามักจะถูกสื่อนิยามว่าเป็น ผู้ต่อสู้ด้านการส่งเสริมสิทธิผู้หญิง อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่างานที่เธอทำนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเฟมินิสต์อะไรเลย แต่เป็น 'การสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย' ต่างหาก เด็ก ๆ สามารถสร้างสตอรี่ของตัวเองได้ แม้ว่าจะถูกสังคมหล่อหลอมด้วยชุดความคิดเดียวกันก็ตาม เมื่อถามเธอว่า ทำไมเธอถึงสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทั่วโลกได้ขนาดนี้? ลินดาตอบพร้อมกับยิ้มกว้างว่า

"ฉันอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา เมื่อไรก็ตามที่ฉันพบอะไรน่าสนใจ ความตื่นเต้นมันก็เพิ่มมาขึ้นทันทีเลยล่ะ"

"อีกหนึ่งจุดแข็งของฉันก็คือ 'ความมั่นใจ' ฉันมั่นใจว่า 'ฉันทำได้!' จะว่าไปแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่สะสมมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก"

“ฉันดีใจทุกครั้งเวลาได้ยินเด็กผู้ชายญี่ปุ่น บอกว่าคาแรกเตอร์โปรดของพวกเค้าคือสาวน้อย Ruby ไม่ใช่ Django ที่เป็นตัวละครชาย"

มันเยี่ยมไปเลยนะ ที่เด็กผู้ชายก็ยกให้ผู้หญิงเป็นฮีโร่เช่นกัน แน่นอนว่าฉันต้องการให้เด็กผู้หญิงเข้ามาในโลกเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ฉันก็ต้องการให้เด็กผู้ชายยอมรับในความหลากหลาย พวกเขาจะโตขึ้นมาเป็นบุรุษพยาบาลก็ได้ถ้าต้องการ

มองงานศิลปะและชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน

Linda Liukas, Photographer: Vesa Tyni

ลินดาเป็นหนอนหนังสือมาแต่ไหนแต่ไร เธออ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละเล่ม ไล่เรียงตั้งแต่แฮร์รี่ พอตเตอร์ไปจนถึงเฮมิงเวย์ กิจกรรมยามว่างของเธอนั้นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ นั่งชิลล์กินพิซซ่าในคืนวันศุกร์  ไปจนถึงงานคราฟต์อย่างการตกแต่งกลิตเตอร์บนยูนิคอร์น

"ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่บนคอมพิวเตอร์ เลยชอบใช้เวลาว่างทำกิจกรรมง่าย ๆ ไม่อย่างนั้นคงแยกงานกับชีวิตส่วนตัวลำบาก"

"อีกทั้ง ฉันพยายามเลียนแบบ Tove Jansson (นักวาดภาพประกอบและนักเขียนชาวฟินแลนด์ เจ้าของผลงาน 'มูมิน') ที่มองงานศิลปะและชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน"

จะอยู่รอดในวันข้างหน้า ต้องมีทักษะแห่งอนาคต

"ฉันอยากให้มีหนังสือ Hello Ruby สอนเขียนโปรแกรมเมื่อสมัยฉันยังเด็กบ้าง เพราะ 'Coding' หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเป็น 'ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21' หากเราสามารถทำให้คนเข้าใจเทคโนโลยี กล้าใช้ กล้าทดลองมันมากเท่าไร เราจะสามารถช่วยกันค่อยๆ แก้ปัญหา และสร้างโอกาสบนโลกนี้มากขึ้น"

เพราะ Disruption ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยี แต่เกิดจาก 'มนุษย์ที่มีวิสัยทรรศน์' ไม่ว่าจะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็ล้วนเกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ทั้งนั้น

การเขียนโปรแกรมนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนเพื่อเป็นโปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ข้อมูล เขียนแอพ หรือสร้างเว็บไซต์เท่านั้น การมีทักษะนี้จะช่วยสร้างวิธีคิดให้เป็นระบบหรือ (Systematic thinking) มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยคอมพิวเตอร์และคลังข้อมูลมหาศาล (Big Data) การมีทักษะการเขียนโปรแกรมนับว่าสำคัญ มันสามารถปรับใช้ได้กับการแก้ปัญหาทุกประเภท หากเปรียบปัญหาบนโลกใบนี้ ก็เหมือนกับการที่ต้องค่อย ๆ แก้โค้ด ปรับไปทีละส่วน แต่นักออกแบบซอฟต์แวร์โดยลำพังไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ จึงเป็นความจำเป็นที่เราต้องมีความร่วมมือและข้อมูลที่หลากหลาย เราจะยอมให้ AI มาเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือจะยอมให้มันมาทำงานแทนเรา ก็แล้วแต่ใครจะเลือก

หลักสูตรการเขียนโปรแกรม เป็นเรื่องปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว

เทคโนโลยีได้เข้ามาปฏิวัติชีวิตประจำวัน และวิชาชีพของเราอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกระทบตั้งแต่การเรียนรู้ในห้องเรียน ไปจนถึงวิธีที่รัฐบาลใช้รับมือกับปัญหาระดับชาติ ดังนั้นการทำให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจว่าคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร อีกทั้งมนุษย์สามารถทำอะไรได้บ้าง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาประชากรให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยี เนื่องจากคนรุ่นใหม่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจในวันข้างหน้า

การมีนโยบายด้านการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้าน Computer Science นั้นสำคัญ ประเทศต่างๆ อย่างฟินแลนด์ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ก็ได้นำการเขียนโปรแกรมเข้าไปบรรจุในห้องเรียนแล้ว เริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล อีกทั้งปัจจุบันนี้ทุกคนก็สามารถเรียนเขียนโปรแกรมได้ อย่างในหลายประเทศก็มีโครงการ Boot Camp เรียนเขียนโปรแกรมเกิดขึ้นมากมาย

ไทยเตรียมคนให้พร้อมกับโลกอนาคตแล้วหรือยัง?

ด้านประเทศไทย ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ก็ได้มีการบรรจุให้วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร อีกทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม CodingThailand ร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นต้นแบบหลักสูตรอย่าง Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอเมริกา จับมือกับภาคเอกชน อย่าง Microsoft, Google, Cisco, อักษรเอ็ดดูเคชั่น และอื่นๆ โดยได้เดินหน้าผลักดันให้ Coding Thailand เป็นแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ในทักษะดิจิทัล เพื่อมอบความรู้ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ

พบกับ Linda Liukas ได้ใน Techsauce Global Summit 2019!

อยากรู้ไหมว่าเธอสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายไดัอย่างไร? ถ้าอยากรู้ พบกับเธอตัวเป็น ๆ ได้ที่งาน Techsauce Global Summit 2019 ส่วนจะมาพูดเรื่องอะไรนั้น ต้องมาฟังด้วยตัวเอง! ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://summit.techsauce.co

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

2024 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยต้องโฟกัสอะไร? รู้จักกลยุทธ์ 2C โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย เจาะปัจจัยหลักที่นักการตลาดดิจิทัลต้องรู้

บทความนี้ Techsauce จึงจะพามารู้จักกับ 2 กุญแจชิ้นสำคัญอย่าง Content & Convenience ที่กุมชะตาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยในยุคดิจิทัล...

Responsive image

AirAsia MOVE ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ สู่ผู้นำแพลตฟอร์มเดินทาง OTA แบบคุ้มครบจบในแอปเดียว พร้อมแพ็กเกจบินทั่วอาเซียนแบบไม่จำกัด

airasia Superapp ประกาศรีแบรนด์ดิ้งใหม่ในชื่อ AirAsia MOVE พร้อมปรับโฉมแอปพลิเคชันใหม่ และเสริมกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อผลักดันให้ AirAsia Move เป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์ม OTA (ตัวแทนด้านก...

Responsive image

VC เผยวิธีมองสตาร์ทอัพให้ขาด ก่อน ORZON Ventures เข้าไปลงทุน

คุยกับ 'คุณณรัณภัสสร์ ฐิติพัทธกุล ผู้อำนวยการการลงทุน ORZON Ventures' เรื่องการทำงานระหว่าง OR กับ 500 TukTuks, เกณฑ์การพิจารณาสตาร์ทอัพที่น่าลงทุน, เหตุที่บางดีลเกิด/ไม่เกิด รวม...