‘ปารีสโอลิมปิก’ 124 ปี ความล้มเหลวในอดีต สู่ 'Luxury Olympics' ที่จะเปลี่ยนภาพจำคนทั้งโลก | Techsauce

‘ปารีสโอลิมปิก’ 124 ปี ความล้มเหลวในอดีต สู่ 'Luxury Olympics' ที่จะเปลี่ยนภาพจำคนทั้งโลก

โอลิมปิก ปารีส 2024 จะเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ปารีสได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยมี LVMH เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งทำให้คนทั่วโลกต่างจับตาโอลิมปิกในปีนี้อย่างมากว่ามันจะกลายเป็น Luxury Olympics หรือมหกรรมกีฬาที่หรูหราและมีสไตล์มากที่สุดในประวัติศาสตร์

แต่เชื่อหรือไม่ว่า การเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกครังที่ 1 และ 2 เมื่อ 124 ปีที่แล้วของฝรั่งเศสไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ แต่ ทบไม่มีคนสนใจ !

โอลิมปิก ปารีส 2024

บทความนี้ Techsauce จะพาไปย้อนรอยเรื่องราวของ 'ปารีสโอลิมปิก' 2 ครั้งที่ผ่านมาว่า ฝรั่งเศสทุ่มสุดตัวเท่าปีนี้ไหม และเขาเคยได้อะไรกลับไปบ้าง

ฝรั่งเศสผู้ฟื้นคืนชีพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของโลกสมัยใหม่

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีประวัติยาวนานกว่าพันปี แต่การแข่งโอลิมปิกโบราณถูกยกเลิกตั้งแต่ 393 ปีก่อนคริสตกาล และการชุบชีวิตโอลิมปิกสู่ยุคใหม่เกิดขึ้นได้เพราะชายชาวฝรั่งเศสชื่อ Baron Pierre de Coubertin 

เขาเชื่อว่าโอลิมปิกจะเชื่อมคนทั่วโลกเข้าด้วยกันได้ โดยยังคงใช้โมเดลการจัดแข่งขันทุก 4 ปีเหมือนเดิม ภายใต้ชื่อ The Modern Olympic Games ที่ครั้งแรกจัดขึ้น ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 1896 เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศต้นกำเนิดของโอลิมปิกโบราณ

1900: โอลิมปิกที่ไม่มีใครจำ

4 ปีผ่านไปจากการจัดโอลิมปิกยุคใหม่ครั้งแรก ในปี 1900 ฝรั่งเศสก็ได้โอกาสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก แต่มันดันมาจัดตรงกับงาน Paris EXPO งานแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ของโลก อีกหนึ่งงานที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพขณะนั้น

ในงาน Paris EXPO มีการแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บันไดเลื่อนตัวแรก รถยนต์ เครื่องบิน และภาพยนตร์ สร้างความฮือฮาไม่แพ้การเกิดขึ้นของ AI ในยุคปัจจุบัน ไทยเองก็ได้รับการสนับสนุนจากรัชกาลที่ 5 ให้ส่งสินค้า ผ้าไหม และเฟอร์นิเจอร์แบบไทยไปโชว์ด้วย

            รูปภาพจาก: www.silpa-mag.com

Paris EXPO แย่งซีนการแข่งโอลิมปิกไปหมด บวกกับโอลิมปิกครั้งนั้นไม่มีพิธีเปิดหรือปิดอย่างเป็นทางการที่น่าจดจำ ทำให้คนเข้าใจผิดว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นส่วนหนึ่งของงาน Paris EXPO และที่แย่ไปกว่านั้นนักกีฬาหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการแข่งกีฬาที่ตนเองเข้าร่วม คือ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 

ฝรั่งเศสทุ่มสุดตัวกับโอลิมปิกแค่ไหน ?

ค่าใช้จ่ายในการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ไม่มาก เมื่อเทียบกับเงิน 120 ล้านฟรังก์ (ราว 4.8 พันล้าน) ที่ฝรั่งเศสใช้กับงาน Paris Expo สำหรับงานโอลิมปิกเงินที่ใช้ไปส่วนใหญ่ คือ การให้เงินรางวัลแก่ผู้ชนะ เช่น Albert Ayat แชมป์กีฬาฟันดาบที่ได้รับเงินรางวัลกว่า 3,000 ฟรังก์ หรือประมาณแสนกว่าบาท

โอลิมปิกในปี 1900 ฝรั่งเศสได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ?

แม้โอลิมปิก 1900 จะดูเงียบเหงาแต่ก็มีนักกีฬาที่เดินทางมาแข่งเกือบ 1,000 คนจากทั้งหมด 24 ประเทศ ฝรั่งเศสประกาศว่าได้ขายตั๋วเข้าชมงานมูลค่า 1,000,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 35 ล้านบาท) 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การขายตั๋วหรือการดึงดูดคนเข้ามายังฝรั่งเศส ( Paris Expo มีคนมาเยี่ยมชมงานกว่า 50 ล้านคน มากกว่าโอลิมปิกหลายเท่า) แต่คือ ‘การทำลายกำแพงเรื่องเพศ’

เพราะในปีนี้นับเป็นครั้งแรกในโลกตั้งแต่มีโอลิมปิกมาที่ผู้หญิงลงแข่งได้อย่างเป็นทางการ แม้ว่าจำนวนจะน้อยมากก็ตาม โดยมีนักกีฬาชาย 975 คนและหญิง 22 คน เข้าร่วมการแข่งขัน และมี Briton Charlotte Cooper กลายเป็นแชมป์โอลิมปิกหญิงเดี่ยวคนแรกในกีฬาประเภทเทนนิสเดี่ยว 

การที่ผู้หญิงได้มีโอกาสลงแข่งขันโอลิมปิกเป็นการเปิดประตูสู่ความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬา หญิงยุคนั้นแต่งชุดกระโปรงยาว ตีกอล์ฟ ตีเทนนิส และยิงธนู ถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

1924: โอลิมปิกที่สร้างภาพจำใหม่ให้คนทั่วโลก

นับเป็นครั้งที่ 2 ของฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้การแข่งขันครั้งนี้ฝรั่งเศสตั้งใจที่จะฟื้นฟูกีฬานี้อย่างจริงจัง และสร้างภาพจำใหม่ให้กับคนทั่วโลก

ส่งผลให้ในปี 1924 ฝรั่งเศสทุ่มเงินมากขึ้นในการจัดงานโอลิมปิก โดยใช้เงินที่ราวๆ 10,000,000 ฟรังก์ หรือกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งเยอะพอสมควรเมื่อเทียบกับค่าเงินเมื่อ 100 ปีที่แล้ว แต่การทุ่มทุนในครั้งนี้ก็ช่วยให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปารีสครั้งที่ 2 ได้รับความนิยมมากกว่าครั้งแรก

มีผู้เข้าร่วมงานถึง 60,000 คนต่อวัน นักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นถึง 44 ประเทศ รวมถึงมีการรายงานข่าวจากสื่อทั่วโลกมากขึ้น ออกอากาศทางวิทยุ จนไปถึงการทำเป็นหนัง ซึ่งทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างขึ้น

จนผู้คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1924 ที่กรุงปารีสถือเป็นจุดเปลี่ยนของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีขนาดใหญ่ขึ้นและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากกว่าแต่ก่อน

ทำไมถึงเป็นจุดเปลี่ยน ?

อย่างที่รู้กันดีว่าก่อนหน้านี้ภาพลักษณ์ของโอลิมปิกไม่ใช่อีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจกับงานนี้มากเท่าปัจจุบัน ซึ่งการกลับมาเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของฝรั่งเศสก็เหมือนเป็นการเซ็ทระบบให้กับการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้เกิดประเพณีและแนวคิดใหม่ๆ มากมายที่ยังคงยึดถือไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปัจจุบัน อาทิ 

  • หมู่บ้านโอลิมปิก : จุดเริ่มต้นของการมีหมู่บ้านโอลิมปิกแห่งแรกของโลก สร้างขึ้นเพื่อให้นักกีฬาได้อยู่อาศัยในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การแลกเปลี่ยนเงินตรา ร้านซักแห้ง ช่างทำผม แผงขายหนังสือพิมพ์ และที่ทำการไปรษณีย์
  • ธงโอลิมปิก : สัญลักษณ์สำคัญของการแข่งขันโอลิมปิกก็เริ่มต้นขึ้นในปีนี้ การอัญเชิญธงคือสิ่งที่บอกให้ผู้คนทราบว่าโอลิมปิกได้เริ่มต้นขึ้น และจบลงแล้วเมื่อไหร่ นอกจากนั้นยีงเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดจิตวิญญาณของโอลิมปิกไปยังเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมืองถัดไป
  • The International Sports Exhibition: งานที่จัดแสดงเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของโลกกีฬา รวมถึงยังจัดแสดงด้านศิลปะ วรรณกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และดนตรีร่วมด้วย หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้จัดแสดงในงานนั้นก็เช่น รองเท้าฟุตบอลของ José Andrade หนึ่งในนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในยุคนั้น หรือจดหมายของ William DeHart Hubbard คนผิวดำคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก

แต่โอลิมปิกปีนี้ก็ยังขาดทุน !

หากวัดกันในแง่ของตัวเงินการจัดการแข่งขันที่ใช้เงินไปกว่า 400 ล้านบาท เงินที่ได้คืนมาตามการายงานของ New York Times ชี้ว่ารายได้รวมอยู่ที่ 5.4 ล้านฟรังก์หรือราวๆ 223 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งขาดทุนไปเกือบ 200 ล้านบาท

แล้วโอลิมปิกในปี 1924 ฝรั่งเศสได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ?

นอกจากความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกีฬาโอลิมปิก ในฐานะอีเวนท์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ฝรั่งเศสไม่เพียงสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้โอลิมปิก แต่ยังเน้นพัฒนาโครงสร้างเมืองที่ยั่งยืน ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้แม้หลังจบการแข่งขัน ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ฝรั่งเศสยึดมั่นในเรื่องความยั่งยืนมาตลอดกว่า 100 ปี อาทิ

  • ปรับปรุงเส้นทางรถไฟ 3 สายและสร้างสถานีรถไฟใหม่อย่าง Gare du Stade นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยือนในระหว่างการแข่งขัน ยังสร้างประโยชน์ระยะยาวในระบบการคมนาคมของเมืองอีกด้วย และปัจจุบันก็ยังคงใช้งานอยู่
  • สนามกีฬา Stade Olympique de Colombes ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าสนามกีฬา Yves-du-Manoir เป็นสถานที่สำคัญในการแข่งขันกีฬาปี 1924 โดยเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาและพิธีกรรมต่างๆ เกือบ 100 ปีต่อมา สนามกีฬาแห่งนี้จะถูกนำมาใช้อีกครั้งสำหรับการแข่งขันฮอกกี้ในโอลิมปิกที่ปารีส 2024
  • สนามกีฬา Stade Nautique des Tourelles อีกแห่งจากการแข่งขันปี 1924 (ปัจจุบันคือสระว่ายน้ำ Georges-Vallerey) เดิมสร้างขึ้นสำหรับการว่ายน้ำ ดำน้ำ และโปโลน้ำ สำหรับโอลิมปิกปารีส 2024 สิ่งอำนวยความสะดวกนี้จะใช้สำหรับการฝึกนักกีฬาว่ายน้ำ ว่ายน้ำมาราธอน และไตรกีฬา
  • หมู่บ้านโอลิมปิก สำหรับโอลิมปิกปารีสปี 2024 หมู่บ้านโอลิมปิกแห่งใหม่จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการก่อสร้างที่ลดการปล่อยคาร์บอนและใช้วัสดุรีไซเคิล มีอพาร์ทเมนท์ 2,800 ห้อง พร้อมสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ร้านค้า และโรงเรียน ซึ่งหลังจบการแข่งขันหมู่บ้านโอลิมปิกแห่งนี้จะกลายมาเป็นย่านที่อยู่อาศัยของประชากรราว 6,000 คน 

ทั้งนี้ การจัดโอลิมปิกในปี 2024 ฝรั่งเศสยังคงเน้นเรื่องความยั่งยืนและได้ LVMH อาณาจักรแบรนด์หรูระดับโลก ที่มีธุรกิจในเครืออย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Givenchy, Celine, Tag Heuer, Sephora และอีกมากมายรวมกว่า 75 แบรนด์ มาเป็น Premium Partner 

และคาดว่าบริษัทใช้งบประมาณถึง 166 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งมากกว่าครั้งแรกที่จัดหลายร้อยเท่า และมากกว่าปี 1924 ถึง 15 เท่า ทำให้การแข่งขันนี้คาดว่าจะดึงดูดความสนใจจากผู้ชมทั่วโลกได้กว่าพันล้านคน ไม่รวมผู้ชมที่จะเดินทางไปยังปารีสอีกราว 2-3 ล้านคน

ในฐานะสปอนเซอร์รายใหญ่และตัวแทนของฝรั่งเศส แน่นอนว่าธุรกิจของ LVMH จะได้รับการประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะผ่านงานออกแบบที่สะท้อนถึงความหรูหราของแต่ละแบรนด์ การมีส่วนร่วมกับการแข่งกีฬา 

แต่การลงทุนนี้ครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ เงินที่ใช้ไปกับการเป็นสปอนเซอร์โอลิมปิกนั้นจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมฝรั่งเศสในระยะยาวอย่างไร และฝรั่งเศสจะได้อกำไรกลับมาไหมยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป 

อ้างอิง: athensenvironmental, britannica, stillmed.olympics, showstudio, olympics1, olympics2

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SpaceX : ทำไม Starship และ Europa Clipper ถึงเป็นภารกิจสำคัญที่อาจเปลี่ยนโลกอวกาศ ?

SpaceX บริษัทด้านอวกาศของ Elon Musk กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการสำรวจอวกาศ ด้วยโครงการ Starship และการมีส่วนร่วมในภารกิจ Europa Clipper สองโครงการที่เปี่ยมไปด้วยความท...

Responsive image

ONNEX by SCG Smart Living รุก 'ตลาดโซลาร์' รับโลกเดือด ดันโมเดลธุรกิจ EPC+ 5 รูปแบบ

ONNEX by SCG Smart Living เปิดแผน EPC+ Business Model 5 รูปแบบ ทั้งโมเดลสำหรับผู้ประกอบการ, เจ้าของโครงการ, นักลงทุน, บริษัทในเครือข่าย และตัวแทนอิสระ...

Responsive image

เจาะลึกบทบาท CVC กับการลงทุนใน Startups ยุคใหม่ กับ Nicolas Sauvage หัวเรือใหญ่ TDK Ventures

เจาะลึกบทบาทของ CVC ในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ พร้อมเผยกลยุทธ์การเฟ้นหาและสนับสนุน Startups รวมถึงแบ่งปันวิสัยทัศน์เชิงลึกรวมถึงกลยุทธ์การลงทุนใน Startups ที่น่าจับตามอง โดย Nico...