คุยกับ Paul McTaggart CEO แห่ง Medical Departures กับการมาทำ Startup ด้าน Healthcare ในประเทศไทย | Techsauce

คุยกับ Paul McTaggart CEO แห่ง Medical Departures กับการมาทำ Startup ด้าน Healthcare ในประเทศไทย

PaulMcTaggart

Startup ที่เรามองว่ามีความใกล้ตัวสุดๆ ก็คงจะเป็นด้านการแพทย์หรือ Healthecare ซึ่งตอนนี้มีผู้ให้บริการเพื่อมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ช่วยในการให้บริการระหว่างสถานพยาบาลและคนไข้ วันนี้เรามีโอกาสคุยกับ 1 ผู้ให้บริการในเรื่องนี้ที่เปิดบริษัทในเมืองไทยในนาม Medical Departures โดยคุณ Paul McTaggart

editorial note: บทสัมภาษณ์นี้เป็นการพูดคุยกันก่อนจะมีการแถลงข่าวการได้รับเงินทุน Series A 2.5 ล้านเหรียญ

ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวครับว่าเป็นใคร และก่อนหน้าที่จะมาทำ Medical Departures และ Dental Departures เคยทำอะไรมาก่อนหน้านี้?

Paul - ผม Paul McTaggart - CEO ของ Medical Departures

ก่อนหน้าที่ผมจะมาทำ Medical Departures ผมเคยทำงานที่สำนักงานใหญ่ของ Expedia ที่ Seattle กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกามาก่อนเป็นเวลา 6 ปีครึ่ง ผมเป็น Program and Product Manager ที่ดูแลระบบการชำระเงินที่มีมากกว่า 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินทั้งหมดที่ชำระเข้ามาในระบบของ Expedia ทั้ง Visa, MasterCard, Amex, Diners รวมทั้งช่องทางการชำระเงินอื่นๆ ของแต่ละประเทศด้วย ทั้งหมดผมทำงานร่วมกับทีมวิศวกรเพื่อที่จะดูแลระบบการชำระเงินให้ดีที่สุด

นอกจากนั้นผมยังเป็น Product Manager ดูในส่วนของระบบป้องกันการทุจริต (Fraud System) เพื่อป้องกันคนเข้ามาในระบบแบบไม่ประสงค์ดีอีกด้วย

อีกอย่างที่ผมเคยทำก็คือการทำงานที่ Microsoft Store ผมเอาสมาร์ทโฟน Lumia มาต่อกับชุดฮาร์ดแวร์เพื่อให้สามารถรูดบัตรเครดิตเพื่อจ่ายเงินผ่านเครื่องได้เลย ซึ่งเครื่องนี้ถูกเอามาใช้ในสหรัฐฯ, แคนาดา, สหราชอาณาจักร และในจีนอีกด้วย

ประสบการณ์การทำงานก่อนหน้าถือว่าน่าสนใจมากๆ แล้วคุณได้อะไรบ้างในการเอามาพัฒนาบริการของคุณ

Paul - จากที่ได้ร่วมงานกับ Expedia และ Microsoft ผมได้ร่วมงานและได้มีประสบการณ์ที่เจ๋งมากๆ กับการทำงานร่วมกับนักการตลาด, คนดูแลด้านการเงิน ทุกคนล้วนแล้วแต่ทำให้ผมได้รู้ว่าในองค์กรใหญ่ๆ เขาทำงานและทำธุรกิจอย่างไรบ้าง รวมไปถึงเขาใช้เทคโนโลยีในการขยายธุรกิจอย่างไร

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ได้รับก็คือ การได้ประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับทีมวิศวกรที่เก่งๆ ที่ร่วมกันสร้างซอฟท์แวร์ที่ยอดเยี่ยม รวมไปถึงการเปลี่ยนถ่ายซอฟท์แวร์จากการใช้งานระบบเก่ามาเป็นระบบใหม่  ซึ่งทำให้ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคโมบายล์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ

เท่าที่ฟังมาดูเหมือนสิ่งที่ทำผ่านมาอย่าง Expedia จะไปได้สวย แล้วทำไมถึงเปลี่ยนจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ มาพัฒนา Medical Depatures ละครับ?

Paul - ขอเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเรียนนะครับ ผมเป็นคนแคนาดา ตัวผมเองชอบและมีความคิดที่จะทำธุรกิจมาตั้งแต่เรียน ซึ่งผมเริ่มมีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่สมัยเรียนไฮสคูล แล้วก็มาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้าน Entrepreneurship ซึ่งเป็น Business School ที่คุณสามารถที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งอย่างทุกมุมที่เกี่ยวกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การขาย, การตลาด, การดูแลลูกค้า, การเงิน, กฎหมาย, การจัดการคน แต่พอเรียนจบมาผมกลับต้องมาเป็น Broker ซื้อขายหุ้นแต่ผมเบื่อ เลยหันมาตั้งบริษัทของตัวเองเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในช่วงประมาณปี 2000 แต่สุดท้ายก็เจ๊ง

ต่อมาผมเลยเริ่มมาร่วมงานกับทาง Expedia และ Microsoft แต่ผมก็ยังไม่ทิ้งความฝันเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ ยังคงอยากจะเป็นอยู่และอยากทำสิ่งที่เป็นที่จดจำของคนทั่วโลกได้ (make a dent in the universe)

ช่วงที่ผมอยู่ Expedia ผมเริ่มสนใจในเรื่องเกี่ยวกับ Health Care ผมลองเอามาเทียบแนวทางกันแล้ว มันแทบไม่ต่างกับ Travel ที่ Expedia ทำอยู่ เพียงแค่ Health Care ยังไม่มีแพล็ตฟอร์มและเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้คนสามารถจองและนัดหมอได้ทั่วโลก ซึ่งผมคิดว่ายังมีคนต้องการที่จะทำจะพัฒนาด้าน Health Care นี้ให้เกิดขึ้น หากจะลองดูในด้านการซื้อขาย, การศึกษา จะเห็นว่ามีเว็บไซต์ที่สามารถเปรียบเทียบราคาได้ แต่พอมาเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่สำคัญอย่างสุขภาพ กลับไม่มี นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผมถึงทำขึ้นมา โดยใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ในการพัฒนา จนผ่านไป 2 ปี Dental Departures ก็เริ่มให้บริการ และต่อมาก็มี Medical Departures มาจนถึงทุกวันนี้

เห็นว่าคุณตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยเลย ทำไมถึงเลือกที่นี่

ตอนนี้เราได้ตั้งบริษัทในประเทศไทยและมีการจดทะเบียนบริษัทไปเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา โดยที่ไทยจะเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท มีพนักงานที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ประมาณ 20-22 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยแทบทั้งหมด มีชาวต่างชาติอยู่แค่ 4 คน

ก่อนที่เราจะเลือกประเทศไทย เรามีตัวเลือกหลายที่มาก ไม่ว่าจะเป็น เซียงไฮ้, สิงคโปร์ แต่สุดท้ายผมก็ได้คำตอบว่า ที่ๆ ผมอยากจะอยู่มากที่สุดในโลก (ใน Planet) นั่นคือประเทศไทย ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่ดีมากๆ เป็นศูนย์กลางของ SEA, ชอบวัฒนธรรมคนไทยแบบ สบาย สบาย (ตอนสัมภาษณ์พูดคำนี้ชัดมากจนถึงกับอมยิ้ม), อาหารอร่อย ซึ่งภรรยาผมเป็นเชฟอยู่

แต่สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดหากคิดในเรื่องธุรกิจก็คือ แรงงานที่มีการศึกษาสูง, มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจทางเทคนิคมาก รวมทั้งเรื่อง Infrastructure, เรื่องอินเทอร์เน็ตและโมบายล์ที่มีความเสถียรและน่าเชื่อถือกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบกับอินโดนิเซีย, ฟิลิปปินส์ และการคมนาคม BTS, MRT ทางด่วน เมืองไทยเป็นที่ๆ เหมาะสมที่สุดสำหรับผมที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ ที่ๆ ผมจะสร้างเทคโนโลยีชั้นเลิศที่นี่

คำถามสั้น แต่ตอบยาวหน่อยนะครับ (หัวเราะ)

กลับมาเรื่องปัจจุบันนะครับ อยากให้อธิบายครับว่า Medical Departures และ Dental Departures ที่คุณทำขึ้นมา เป็นบริการเกี่ยวกับอะไร

medical-departures-homepage

Paul - บริการของเราอธิบายได้ง่ายๆ ครับ หากคุณต้องการที่จะเปรียบเทียบเกี่ยวกับการแพทย์ Medical Departures เปิดโอกาสให้คุณสามารถหา, เปรียบเทียบ และนัดหมอ, ทันตแพทย์, คลินิค และโรงพยาบาลได้ทั่วโลก เหมือนกับคุณค้นหาโรงแรมที่จะเข้าพักผ่าน Agoda, AirBnB

ผู้ใช้งานสามารถที่จะค้นหาแพทย์ได้ตามประเทศ หรือตามอาการ สามารถดูอัตราค่ารักษาได้ตามสกุลเงินของคุณ สามารถดูรูปที่ทางโรงพยาบาลและคลินิคนำขึ้นมาไว้บนระบบของเรา ซึ่งเราเองก็มีการไปเก็บภาพด้วยตัวเองเช่นกัน สามารถดูการรีวิวจากคนไข้ที่เคยใช้บริการก่อนหน้านี้ว่าได้รับบริการเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งทางเราจะเป็นตรวจสอบว่าเป็นคนไข้จริงๆ ที่มาเขียนรีวิว ไม่ใช่หน้าม้า

และคุณสามารถที่จะนัดแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาได้ โดยผู้ใช้งานสามารถใช้คุณสมบัติการ Chat เพื่อที่จะคุยกับ Customer Care Agent ได้ หรือหากต้องการโทรศัพท์คุย ก็สามารถโทรผ่านเบอร์ของประเทศนั้นๆ ได้เช่นกัน

โดยผู้ใช้บริการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายกับทางเรา แต่คลินิคที่เป็นพันธมิตรกับเราจะเสียค่าบริการเมื่อมีผู้ใช้งานมาใช้บริการให้แก่เรา เรียกว่าเป็น Marketing Fee  ซึ่งเราก็ดำเนินงานในด้านการทำการตลาด, การขายให้กับคลินิค เพราะเขาไม่รู้ว่าจะหาคนไข้มาที่โรงพยาบาลหรือคลินิคได้จากไหน แต่เราสามารถหาให้ได้ ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนในโลก ก็สามารถมาเป็นคนไข้ให้กับคลินิคของคุณได้

ตอนนี้เราให้บริการใน ไทย, มาเลเซีย, อินโดนิเซีย, เกาหลีใต้, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, เม็กซิโก และคอสตาริกา ซึ่งตั้งแต่เราเริ่มธุรกิจ มีลูกค้าที่มาใช้บริการกับเราในการนัดแพทย์มากกว่า 50,000 ครั้งแล้ว

กลุ่มลูกค้าที่คุณตั้งเอาไว้เป็นใคร เป็นชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในไทย หรือเป็นกลุ่มอื่น?

Paul - เราเน้นคนต่างชาติครับ คนกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เขาเข้ามาเมืองไทยด้วยเหตุผลที่ว่า ที่นี่เพราะค่าครองชีพถูกมากๆ ดังนั้นการค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าทันตกรรมทั้งหลายก็ถูกกว่าประเทศอื่นๆ กว่า 50-70% ด้วยคุณภาพระดับโลก (World Class)

ที่กล้าพูดว่า World Class เพราะตัวผมเองและลูก เคยไปหาหมอและหมอฟันตามประเทศต่างๆ มาแล้ว ทำให้รู้ว่ามาตรฐานของไทยสูงระดับโลกจริงๆ แต่ถ้าคุณไปประเทศอย่างจีน, เวียดนาม, สปป.ลาว, กัมพูชา หรือ เมียนมาร์ แม้ว่าจะราคาถูกกว่าไทย แต่คุณภาพที่ได้รับก็แย่กว่าที่ควรจะเป็น แย่กว่าในไทย

คุณมีการรักษาที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมอยู่แล้วในประเทศ แถมยังเป็นที่ๆ มีความต้องการจากผู้ใช้งานที่อยากจะเข้ามารักษาอย่างมากอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องการมากกว่าการจะต้องจ่ายราคาที่ไม่แพง ก็คือการที่พวกเขาต้องการการดูแลด้านการแพทย์ที่มีคุณภาพมากกว่า

คิดว่าประเทศไหนที่ไปเปิดบริการแล้วคิดว่ามีการดำเนินการยากที่สุด

Paul - ผมคิดว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ท้าทายที่สุดในตอนนี้ ด้วยการหาคลินิคเพื่อเข้ามาร่วมกับทางเราเป็นการหาที่ยากและท้าทายมากๆ ในประเทศนี้ จริงๆ ไทยก็ยากเหมือนกันครับแต่ตอนนี้ก็ต้องยกให้เกาหลีใต้จริงๆ

บริการทางการแพทย์ประเภทไหนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

Paul - จากที่เราดูแล้ว บริการที่ประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมเป็นสิ่งที่คนมาใช้เยอะที่สุด ระบุเจาะจงไปเลยก็คือศัลยกรรม ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น จมูก ตา หน้า คาง หู หน้าอก, การตรวจสุขภาพประจำปี, การปลูกผม, ทำ Botox, Juvederm ที่พูดมาทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่เรามีบริการให้

แต่ถ้าถามว่าเราไม่ได้บริการอะไรบ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องการผ่าตัด เช่น หัวใจ, เข่า, แขน, การรักษามะเร็ง ที่เราไม่ได้ให้บริการก็เพราะเรายังเป็นบริษัทขนาดเล็กอยู่ เราอยากจะเน้นกลุ่มที่เราสนใจและตรงกับกลยุทธ์ของเราเท่านั้น

สิ่งสำคัญเลยสำหรับบริการของคุณคือสถานพยาบาล คุณมีขั้นตอนหรือวิธีการเลือกโรงพยาบาลหรือคลินิคที่จะเข้ามาร่วมกับทาง Medical Departures อย่างไรบ้าง?

Screen Shot 2016-04-25 at 12.57.33 PM

Paul - เป็นคำถามที่ดีมากๆ Medical Departures ขายความเชื่อใจและมั่นใจให้กับลูกค้าหรือกลุ่มคนไข้เป็นหลัก เราเอาใจใส่ใจเรื่องคุณภาพในการให้บริการ เมื่อเป็นอย่างนี้เลยมีคำถามว่าเราสามารถสร้างคุณภาพจากมาตรฐานที่มีในหลากหลายพื้นที่ในการให้บริการได้อย่างไร สิ่งที่เราทำก็คือการทำการสอบถามรายละเอียดข้อมูลของคลินิคหรือโรงพยาบาล เป็นต้นว่า เปิดให้บริการมานานกี่ปีแล้ว, ตั้งอยู่ที่ไหน?, รายละเอียดในการตั้งคลินิค, มีวิธีการดูแลเพื่อการปลอดเชื้ออย่างไรบ้าง? รวมทั้งคำถามที่ว่า เคยถูกฟ้องไหม? เคยโดนยกเลิกหรือระงับใบอนุญาตประกอบการหรือเปล่า? ทีมงานของคุณเคยมีคดีหรือไม่? คำตอบที่ได้ควรจะต้องเป็น “ไม่” แทบทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างอื่น เราก็จะไม่เลือกในบริการของเรา

หลังจากที่เราได้สอบถามไปแล้ว เราก็จะทำการตรวจสอบไปยังกรมการแพทย์ และสถาบันทันตกรรมเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีชื่อจดทะเบียนอยู่จริง

ส่วนการพิสูจน์ว่าโรงพยาบาลและคลินิคนั้นมีอยู่จริงไหม เราไปยังสถานที่จริงเพื่อทำการถ่ายรูปและนำมาใช้งานในเว็บไซต์ของเราด้วยตัวเอง

สิ่งที่ตามมากับการบริการก็คือการรีวิว เรามีวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง รวมถึงรีวิวด้านลบ เราป้องกันดราม่าอย่างไร?

รีวิวทั้งหมดที่อยู่บน Medical Depatures ที่ได้มาจากคนไข้ของแต่ละคลินิคจะผ่านการตรวจสอบจากเราทั้งหมด โดยเรากระบวนการนี้ว่า ReviewThought ทุกรีวิวที่เขียนจะถูกอ่านและ Approve เพื่อแสดงขึ้นในระบบ ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับที่ TripAdvisor มีทีมที่ดูแลเรื่องนี้ ทั้งหมดเพื่อให้มั่นใจว่ารีวิวนั้นเป็นรีวิวจริงจากคนไข้จริง

ส่วนรีวิวด้านลบ เรามองว่าเป็นสิ่งที่ดีกับตัวคลินิคเองในเชิงของด้านจิตวิทยา เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผมเองได้ไปคุยเรื่องรีวิวด้านลบกับคลินิคที่เป็นพันธมิตรกับเรา สิ่งที่เราอธิบายก็คือ ให้เขาลองคิดว่าถ้ามีรีวิว 100 รีวิว แล้วได้ 5 ดาวหมด คุณจะคิดว่าเป็นอย่างไร? ในใจคุณต้องคิดแน่ๆ ว่าเป็นรีวิวหลอกแน่ๆ เพราะเป็นไปได้ยากมากๆ ที่จะได้รับรีวิวคะแนนเต็มจากทุกคน มันต้องมีสักคนหล่ะที่ไม่ชอบบริการของคุณ นั่นคือสิ่งที่คุณจะต้องมีในเรื่องของการรีวิวที่มีทั้งด้านดีและด้านลบ

สิ่งที่คลินิคต้องกลับมาคิดก็คือ เขาจะต้องตอบสนองกับสิ่งที่ได้รับไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบอย่างไร ข้อดีก็คือ ผู้ดูแลคลินิคสามารถตอบสนองแต่ละรีวิวได้ คุณสามารถกล่าวขอบคุณ หรือขอโทษพร้อมคำชี้แจงได้ในรีวิวนั้นๆ ทำให้คนที่รีวิวรู้สึกว่าได้รับรู้ และคนอื่นๆ ที่เข้ามาดูก็จะได้เห็นการตอบของคลินิคด้วย

ตอนนี้ใครเป็นคู่แข่งของ Medical Departures บ้าง แล้วเขาแตกต่างกันอย่างไร

Screen Shot 2016-04-25 at 12.57.58 PM

มีในสิงคโปรชื่อว่า DocDoc, Medigo ในเบอร์ลิน, WhatClinic ในไอร์แลนด์ และในไทยคือ Top Doc

เราทำในสิ่งที่คล้ายกัน แต่เราก็มีความแตกต่างดังนี้

  • เราเน้นการบริการกับลูกค้าเป็นหลัก เรามีแผนกดูแลลูกค้า 12 ที่ บริการ 24/7 พร้อมจะรับสาย, ตอบอีเมล และ Live Chat
  • เรื่องข้อมูลของคลินิค เรามีทุกสิ่งอย่างที่คนต้องการ ข้อมูลแพทย์, สถานที่ตั้ง, รูปถ่าย, รีวิว, ราคา
  • เทคโนโลยีในการพัฒนาที่ดีกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการดูแลลูกค้า, การขาย และข้อมูลที่มีอยู่บนเว็บไซต์และระบบของเรา

เราเชื่อว่าเราได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดที่มีในโลกนี้ นี่คือสิ่งที่แตกต่าง

อะไรคือสิ่งที่ท้าทายในการเริ่มต้นทำธุรกิจด้านนี้

สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำ Healthcare ก็คือเรื่องคุณภาพ การตัดสินใจที่จะเลือกคลินิคและแพทย์ที่จะมาร่วมเป็น Partner และจะเข้าถึงคนเหล่านี้ได้อย่างไร สิ่งที่เราทำมันคือ Double-sided Marketplace หรือตลาดสองทาง เราต้องมีคลินิคหรือแพทย์อยู่ในมือก่อนที่จะไปหากลุ่มลูกค้าที่ต้องการได้ และการที่ทำเรื่องนี้นั้นเราต้องเข้าไปติดต่อกับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็มีขั้นตอนในการขายที่ต้องใช้เวลานานกว่าในการหาทางฝั่งลูกค้า แม้กระทั้งการรักษาต่างๆ ที่แต่ละแห่งมีอยู่เป็นร้อยๆ รูปแบบให้เลือก ซึ่งเราเองต้องเลือกสิ่งที่เราสนใจเป็นหลัก แต่ก็ไม่อยากให้มีน้อยจนเกินไปเพราะสุดท้ายแล้วลูกค้าต้องมีทางเลือกให้เขาเลือกได้

หากเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็จะเห็นว่าเรามีข้อมูล, วิดีโอ, บทความของแต่ละการรักษาให้ได้เลือกอ่านเพื่อพิจารณา

นอกจากนี้ยังมีวิธีการฝึกอบรมทีมงานดูแลลูกค้าของเราเพื่อความสุขของลูกค้าของเรา เพราะเราเองไม่ได้เป็นแพทย์และทันตแพทย์ หลายคนอาจจะมองว่ามันไม่จำเป็น แต่เรามองว่าสิ่งนี้เป้นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เพราะเราจะต้องอยู่ในที่ๆ ลูกค้านึกถึงเป็นที่แรก และบอกกับเราได้ว่า มีแพทย์หรือทันตแพทย์รายไหนที่จะมาช่วยดูแลรักษาพ่อและแม่ของฉันได้?

ความเชื่อมั่นในตัวสถานพยาบาลและแพทย์ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุดต่อคนทั้งโลก

ขอถามมุมมองในเรื่อง Startup ในเมืองไทยนะครับ คุณ Paul คิดอย่างไรเกี่ยวกับ Startup Ecosystem ในตอนนี้

Paul: ผมค่อนข้างโชคดีที่เคยได้อยู่ใน Startup Ecosystem ที่ Seattle มาก่อน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นที่ๆ เหมาะสมในการทำ Startup อย่างมากเหมือนกับที่ Silicon Valley ซึ่งผมคิดว่าที่นั่นมีโอกาสมากมายที่จะเติบโต

ในเมืองไทยผมมองว่ายังเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะทำ Startup ที่นี่ ผมมีเหตุผลที่บอกไปอย่างนี้นะ อย่างแรกเลย ผมมองว่ายังไม่มี Success story เกิดขึ้นในแง่ของการสร้างพื้นฐานให้กับผู้ประกอบการ ผมขอยกตัวอย่างใน Seattle เพราะเป็นที่ๆ ผมพอจะมีข้อมูลนะครับ บริษัท Boeing บริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก เหล่าวิศวกรที่เก่งๆ ต่างเข้ามาที่ Seattle เพื่อเข้ามาทำงานที่นี่ด้วยเงินอันล่อตาล่อใจ ลูกๆ ของวิศวกรก็อยากจะโตขึ้นมาเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์, พ่อและแม่ของเขาก็ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกใช้ และเขาก็อยากจะเริ่มอยากทำบริษัทขึ้นมาเหมือน Microsoft เหมือน Expedia และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ออกจากการทำ Microsoft กลายเป็นเศรษฐี และกลายเป็น Angel Investor การตกทอดแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็ววันนี้

ถ้าให้ผมมองใน 10 ปีข้างหน้า คนต่างชาติและบริษัทข้ามชาติในระดับพันล้านเหรียญสหรัฐจะเข้ามาที่ประเทศ ผมไม่รู้หรอกนะว่าเขาเป็นใคร แต่เขาจะเข้ามาสนับสนุนบริษัทด้าน Startup เพื่อให้ทำในสิ่งที่ดีเยี่ยมให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ก้าวต่อไปของ Medical Departures จะเป็นอย่างไร

Paul - เราเองทำด้าน Dental มา 2 ปี ส่วนด้าน Medical เราทำมาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ดังนั้นตอนนี้เราถือว่ายังเป็นการเรียนรู้อยู่ สิ่งที่เราคิดว่ามันจะเกิดขึ้นคือขนาดของ Transaction ของตลาดด้านการแพทย์จะโตกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ นั่นคือโอกาสที่เราจะทำให้การบริการด้านการแพทย์ดีขึ้น ทั้งด้านลูกค้าและคลินิคที่เข้ามาใช้บริการการจองกับเรา นี่คือก้าวต่อไปของเรา รวมถึงการขยายการให้บริการไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มโดยเฉพาะใน SEA ที่ประเทศใหม่ๆ เช่น เวียดนาม, มาเลเซีย, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ พลิกข้อมูล สู่ขุมทรัพย์ด้วย analyticX ด้วยพลัง Telco Data Insights และ GenAI

ยุคนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง Data แต่จะใช้ Data อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างหากคือกุญแจสำคัญ! ในสัมมนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟ "Unlocking Data-Driven Decisions with Telecom Data Insights" ที่จั...

Responsive image

‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ด้านความยั่งยืน หนุน SMEs เปลี่ยน Vision เป็น Action

บทสัมภาษณ์ คุณอัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ และคุณพณิตตรา เวชชาชีวะ เกี่ยวกับ ‘UOB Sustainability Compass’ เครื่องมือออนไลน์ที่เข้ามาช่วย SMEs เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนอย่างเข้าใจและไม...

Responsive image

Intel พลาดอะไรไป ? ทำไมถึงต้องเปลี่ยน CEO กะทันหัน ? ถอดบทเรียนราคาแพงจากยุค Pat Gensinger

การ ‘เกษียณ’ อย่างกะทันหันของ Pat Gelsinger อดีตซีอีโอ Intel ในต้นเดือนธันวาคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการเทคโนโลยี หลายฝ่ายมองว่าเป็นการบีบให้ออกจากบอร์ดบริหาร อันเนื่องมาจากผล...