ทำความรู้จัก Melanie Perkins ผู้สร้าง "Canva" The New Unicorn

ทำความรู้จัก Melanie Perkins ผู้สร้าง "Canva" The New Unicorn

วงการ Start Up มีคำเรียกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเติบโต ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเรียกว่า "ยูนิคอร์น" ประหนึ่งว่าเป็นม้าแห่งเทพนิยายที่สร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ ตะลึง และสำเร็จอย่างแท้จริง ซึ่งในต่างประเทศช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราเจอยูนิคอร์นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Airbnb, SpaceX หรือ Toutaio (จีน) มาวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ Unicorn ตัวใหม่ของวงการ Start Up ที่เกิดขึ้นจากหางเสือเรือคนสำคัญ "Melanie Perkins"

วิธีการคิดและทำงานของ Melanie คือ "การตั้งเป้าหมายที่ใหญ่แบบบ้าคลั่งและทำให้มันเกิดขึ้น" เธอไม่ได้ล้อเล่นนะครับ ด้วยวัยเพียง 32 เธอกลายเป็นเศรษฐีนีคนใหม่ของโลกด้วยการเป็นเจ้าของและขับเคลื่อน "Canva" ธุรกิจที่มีมูลค่าระดับ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ Canva เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ก่อร่างสร้างตัวมากว่า 10 ปี ถอยกลับไปสมัยที่เธอเรียนมหาวิทยาลัย  เธออยากทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ และเริ่มตั้งธงคำถามให้กับตนเองถึง "The Future of Publishing" อนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร ณ ตอนนั้นเธอไม่รู้จักการทำธุรกิจ เธอไร้ประสบการณ์สุดๆ และไม่เข้าใจวิธีการหาเงินลงทุนเลยแม้แต่น้อย Melanie สาวสวยจาก Perth ประเทศออสเตรเลีย เธอพกไอเดียที่สุกงอมและเดินทางสู่ Silicon Valley (USA) เพื่อไปพบ Bill Tai เจ้าพ่อนักลงทุนที่ชื่นชอบ Tech สุดๆ Bill มีมุมมองแบบนักลงทุนที่แตกต่างจากนักลงทุนรุ่นใหม่ Bill ไม่ได้สนับสนุนให้คนที่จะทำธุรกิจต้องออกกลางคันจากมหาวิทยาลัย (เขายังมีความหัวเก่านิดๆ และเชื่อว่ามหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องเรียน เพราะมันช่วยขัดเกลาบางอย่างให้พร้อมก่อนจะจบออกมาเพื่อลุยโลกธุรกิจ) เขาแนะนำเธอให้กับนักลงทุน วิศวกร หรือนักพัฒนาเทคโนโลยีคนอื่นๆ ให้รู้จักไอเดียของ Melanie แต่สุดท้ายเขาเองนั่นแหละที่ตัดสินใจลงทุนใน Canva

Canva คืออะไร?

Canva คือธุรกิจที่ให้คุณได้ออกแบบผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะออกแบบอะไรก็ได้ตั้งแต่การ์ดอวยพรวันเกิด วันแต่งงาน งานนำเสนอผ่าน PowerPoint โปสเตอร์โฆษณา เว็บไซต์ เรซูเม่ หรือปฏิทินสำหรับใช้เอง เป็นของแจก หรือใช้ในองค์กรและโอกาสต่างๆ เรียกว่าอะไรที่ออกแบบได้ เธอทำมันหมด! รองรับการใช้งานผ่านเว็บไซต์ รองรับการทำงานด้วยภาษาต่างๆ กว่า 100 ภาษาที่ใช้กันในโลก และมีฐานลูกค้าจาก 190 ประเทศทั่วโลก การระดมทุนครั้งล่าสุดในปีนี้ เธอได้เงินลงทุนเพิ่มอีก 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบัน Canva มีมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เธอตัดสินใจนำเงินลงทุนรอบใหม่ไปซื้อบริษัทอย่าง Pexels และ Pixabay ที่ให้บริการคลังภาพ ถือเป็นต่อยอดธุรกิจให้ครบลูปมากขึ้น

Canva ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย รวมไปถึงองค์กรธุรกิจ Canva กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยองค์กรธุรกิจให้ทำงานด้านการออกแบบสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นและต้องใช้ในชีวิตประจำวันให้ง่ายๆ ในแบบฉบับที่ไม่ต้องพึ่งพานักออกแบบ หรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิค เช่น การทำ PowerPoint เสนองานหรือสินค้าและบริการผ่าน template และเครื่องมือง่ายๆ ของ Canva หรือการออกแบบนามบัตร การ์ดเรียนเชิญลูกค้า คอนเซปของเธอคือ "การทำให้ชีวิตง่ายขึ้นสำหรับทุกองค์กรตั้งแต่ Size S จนถึง Fortune 500" จากแนวคิดและคอนเซปที่เธอมีและเริ่มต้นจากคน 3 คน ปัจจุบันกลายเป็น 600 คน และให้บริการลูกค้ากว่า 15 ล้านคนทั่วโลก

การทำให้ชีวิตง่ายขึ้นสำหรับทุกองค์กรตั้งแต่ Size S จนถึง Fortune 500

ชัยชนะของ Canva เกิดจาก?

เรามาลองวิเคราะห์ความสำเร็จของ Canva กัน อาจเรียกได้ว่า Canva สร้างขึ้นมาจาก Pain Point ก็ไม่ผิดนัก เธอรู้ว่าปัญหาของพนักงานทุกคนคือ ต้องทำงานหลายๆ งาน ถ้าเป็นงานเอกสาร งานวิเคราะห์ งานทำรายงานที่ใช้ความรู้และทักษะในเชิงธุรกิจหรืองานต่างๆ คงไม่มีปัญหา แต่ทุกคนจะตกม้าตายเสมอเมื่อต้องมาทำงานออกแบบ หรืองานกราฟฟิค โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่สายนี้ เรียนมา หรือฝึกฝนมาเพราะความชอบ คุณลองนึกภาพตาม เมื่อหัวหน้าคุณพูดว่า "ทอย! คุณวิเคราะห์งานได้ดีนะ มีประเด็นน่าสนใจดีมาก แต่สไลด์นำเสนอของคุณช่างจืดชืดมาก ทำให้ความน่าสนใจงสานลดลงไปลองออกแบบให้สวยๆ นะ" ความเครียดตามมาทันทีสำหรับพนักงานหรือทีมงาน เพราะคุณเก่งในงานที่ทำ แต่ใครละจะเก่งไปทุกอย่างโดยเฉพาะการออกแบบกราฟฟิค Canva เข้ามาตอบโจทย์และหาโซลูชั่นให้กับปัญหานี้ ทำให้การออกแบบมันง่าย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของพนักงานทุกๆ คนในองค์กรตั้งแต่เล็กจนใหญ่ ยังรวบไปถึงลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่ปัจจุบันชอบทำ DIY ของบางสิ่งด้วยตนเอง เช่น การ์ดแต่งงาน หลายคนในปัจจุบันก็เริ่มที่จะออกแบบด้วยตนเอง

ธุรกิจออกแบบที่ใช้การคิดเชิงการออกแบบ (Design Thinking)

ภาพจาก Canva

Canva เป็นธุรกิจออกแบบที่ใช้การคิดเชิงการออกแบบ หรือ Design Thinking ในการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะการทำขั้นตอน Prototype และ Test เพื่อให้ Canva กลายเป็นธุรกิจแบบ Shark bite หรือธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดจริงๆ (Order Winner) เธอได้ทดลองมันกับนักเรียนมัธยม ในสมัยที่เธอเรียนที่ University of Western Australia จนเธอเข้าใจว่า Canva จะสำเร็จได้ต้องมีกระบวนการทำงานที่ Basic สุดๆ แต่สร้าง Outcome ที่พิเศษสุด (Something Special) เธอได้ลองทดสอบตลาดด้วยการเปิดตัว "Fusion Book" มันคือหนังสือรุ่นสำหรับตลาดโรงเรียนมัธยมทั่วออสเตรเลีย ใครจะคิดว่าหนังสือรุ่นยังเป็นตลาดเฉพาะส่วน (Niche Market) ที่ไปได้หรือเป็นที่ต้องการ เมื่อครั้งหนึ่งที่ Facebook เข้ามาครองโลกและเคยเปรยว่า Facebook คือ สิ่งที่เข้ามาแทนที่หนังสือรุ่น ผลการทดลองครั้งนั้นทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า Canva เป็นที่ต้องการของโลก

เธอสร้าง Unicorn ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด

ภาพจาก Canva

Melanie เคยได้มีโอกาสพบกับ Lars Rasmussen, ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Maps เธอชื่นชมเขาในฐานะชายที่ทรงพลังและยิ่งใหญ่ แต่วางตัวอย่างน่ารักแม้ยามประชุม Lars ได้ปลุกปั้นวิธีคิดใหม่ให้กับเธอในแบบฉบับ "Work hard, more as well" เรียกว่าทำให้หนักและดีพอ ดังนั้นเธอจึงคิดเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และดูบ้าคลั่งมากๆ เพื่อให้มันท้าทายเสมอ และเธอทำมันได้จริงๆ ลองมาดูไทมไลน์ความสำเร็จของเธอกัน

TimeLine ความสำเร็จของ Melanie และ Canva

  • ปี 2012: เธอก่อตั้งธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วน Cliff Obrecht และ Cameron Adams
  • ปี 2013: เธอสร้างเมล็ดพันธ์รายได้ 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตลาดในออสเตรเลีย
  • ปี 2014: เธอมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 1.5 แสนคน 
  • ปี 2014: เธอได้ Guy Kawasaki ผู้ทำหน้าที่สร้างเรื่องราว เนื้อหา ให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การยอมรับและใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง Chief Evangelist ของ Apple มาช่วยสร้างสรรค์ผลงานที่ Canva 
  • ปี 2014: Canva ออกผลิตภัณฑ์ "Design Button" ที่เป็น plug-in ให้กับผู้ให้บริการด้านเว็บไซต์ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถออกแบบกราฟฟิคให้กับเว็บไซต์ของตนเองได้ 
  • ปี 2014: เธอสร้าง New Platform ชื่อ Canva Design School ให้กลายเป็น Hub หรือศูนย์กลางของการสอนด้านดีไซน์
  • ปี 2015: Canva Pro เกิดขึ้นและปล่อยสู่ตลาดเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากว่า 4 ล้านคน 
  • ปี 2018: Canva กลายเป็น Unicorn เมื่อการระดมทุนครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของธุรกิจ และ Canva ถูกจัดให้มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปี 2019: Canva เข้าซื้อกิจการ Pexels และ Pixabay เพื่อต่อยอดธุรกิจ และถูกจัดอันดับมูลค่าธุรกิจใหม่เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

สรุปความสำเร็จของ Canva

  • คิดให้ใหญ่อย่างบ้าคลั่งและทำมันให้หนักและดีพอ
  • เข้าใจ Pain Point ของลูกค้า
  • รู้จัก Customer Needs คือ การใช้งานที่เบสิคและสร้างผลลัพธ์ที่พิเศษ
  • ใช้ Design Thinking เพื่อพิสูจน์ว่า idea ดีพออกสู่ตลาด

บทความนี้เป็น Guest Post เขียนโดย ดร.ทอย ปุญญภณ เทพประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็มวีพี คอนซัลท์แทนท์ จำกัด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...