บริษัท ควอนตัมเทคโนโลยีฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) หรือ QTFT องค์กรให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมระดับภูมิภาค ประกาศรับเงินลงทุนรอบ Seed Round มูลค่า 30 ล้านบาท ซึ่งการได้รับเงินลงทุนในครั้งนี้ สะท้อนถึงการตื่นตัวของอุตสาหกรรมควอนตัมภายในประเทศ สอดรับกับสถานการณ์การลงทุนด้านควอนตัมเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากทั่วโลก
QTFT ให้บริการธุรกิจแบบ B2B ในการเตรียมความพร้อมองค์กรเข้าสู่ยุคของควอนตัม ผ่านซอฟต์แวร์ Quantum Optimization ที่ทำงานอยู่บนระบบไฮบริดระหว่างดิจิทัลและควอนตัม เพื่อตอบโจทย์ของกลุ่มสถาบันการเงิน พลังงาน ภาคการผลิตและลอจิสติกส์ ปัจจุบันมีทีมงานนักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาลัยชั้นนำทั่วโลก อาทิเช่น เคมบริดจ์, ฮาร์วาร์ด, เอ็มไอที, เบิร์กลีย์ และ คาลเท็กซ์
“เงินทุนที่ทาง QTFT ได้รับในรอบนี้ จะถูกนำไปขยายทีมและพัฒนาซอฟแวร์ที่เรียกว่า SOR ซึ่งเป็น Quantum Optimization Engine สำหรับการทำ Prescriptive Data Analytics โดยเราตั้งเป้าว่า SOR จะต้องทำงานได้เหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในมุมของ Real-Time Optimization ซึ่งทำได้ยากโดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี แต่มีความต้องการใช้งานที่หลากหลาย อาทิเช่น การสร้างและบริหารพอร์ตลงทุน (Portfolio Optimization), การจัดการตารางเที่ยวบิน (Flight Scheduling Optimization), การวางแผนการผลิต (Production Planning), และการจัดการโครงข่ายไฟฟ้าอัจริยะ (Smart Grid Optimization)” ดร. จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหาร QTFT กล่าว
ในปี 2564 ที่ผ่านมา QTFT ได้ร่วมมือกับทางธนาคารกสิกรและ KBTG ในการพัฒนาอัลกอริทึมเชิงควอนตัมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเงินกู้และลดอัตราการเกิดหนี้เสีย โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับเลือกให้ไปนำเสนอในงานประชุมระดับโลก ที่ชื่อว่า APS March Meeting 2022 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 12,000 คน
นอกจากนี้ปลายปี 2564 ทาง QTFT ได้ร่วมมือกับทางฟูจิตสึ (ประเทศไทย) ในการนำเอาเทคโนโลยีที่ได้รับแรงบันดาลในจากควอนตัมลิขสิทธิ์เฉพาะของฟูจิตสึ ที่ชื่อว่า Digital Annealer มาใช้งานด้าน Combinatorial Optimization ครั้งแรกในประเทศไทย ควบคู่กับซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ QTFT พัฒนาขึ้น
ในด้านกำลังคน QTFT ได้ร่วมมือกับมหาลัยและองค์กรวิจัยชั้นนำระดับประเทศ อาทิเช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และวิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน เพื่อพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมถึงยกระดับศักยภาพงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อสร้างบุคลากรมารองรับความต้องการของตลาดในอนาคต
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด