ทำไมท่องเที่ยวไทยต้อง Go Holistic กุญแจปลดล็อกธุรกิจท่องเที่ยวสู่อนาคตที่ยั่งยืน | Techsauce

ทำไมท่องเที่ยวไทยต้อง Go Holistic กุญแจปลดล็อกธุรกิจท่องเที่ยวสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ด้วยจุดแข็งของการมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ภูมิประเทศที่น่าหลงใหล และราคาค่าครองชีพที่จับต้องได้ ทำให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกนิยมเดินทางมาเพื่อท่องเที่ยว โดยช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวมากถึง 40 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ 3 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย 1 ล้านล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสัดส่วนของรายได้ที่เกิดจากการภาคการท่องเที่ยวที่สูง ทำให้มีความท้าทายที่รอการแก้ไขและพัฒนาอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว การกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล และการยกระดับคุณภาพการบริการและสถานที่ท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์เทรนด์โลกในปัจจุบัน เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2565 นี้ ประเทศไทยก็มีเป้าหมายสร้างยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน (High-Value & Sustainable Tourism) ด้วยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม  (Holistic Approach) 

ในบทความนี้ Techsauce ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับผู้บริหารในหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ท่านด้วยกัน ได้แก่

  • คุณกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  • คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
  • คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

ทั้งสามท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบัน และแนวทางที่เราจะร่วมมือกันพัฒนาในอนาคต เพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน 

ความท้าทายของการท่องเที่ยวไทย

ทั้งสามท่านมีความเห็นตรงกันว่า หากดูในภาพกว้างจะเห็นว่าประเทศไทยสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามฉากหลังของความแข็งแกร่งนี้กลับมีจุดอ่อนอยู่ สิ่งแรกคือนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาทุกปีนั้น ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ เพียง 5-8 จังหวัดเท่านั้น ทำให้การกระจายรายได้ไม่สมดุล โดยเฉพาะรายได้ที่จะไปถึงเมืองรองและท้องถิ่น คุณกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ปัญหาที่ตามมาคือ ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เพราะต้องรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากทุกปี โดยยกตัวอย่าง อ่าวมาหยา เกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ ที่เพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมาใช้บริการอีกครั้งในรอบ 3 ปี หลังจากก่อนหน้านั้นประสบปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมจากการรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

นอกจากนั้น คุณกลินท์ได้กล่าวเสริมเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวต้องปิดตัวธุรกิจลง ส่งผลกระทบให้แรงงานในห่วงโซ่ธุรกิจตกงานไปด้วย แม้ปัจจุบันจะเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้แล้ว แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็ยังคงอยู่

ทำไมท่องเที่ยวไทยต้อง Go Holistic 

จากปัญหาของการท่องเที่ยวไทยที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สิ่งสำคัญที่ทุกฟันเฟืองในระบบนิเวศของธุรกิจท่องเที่ยวควรรู้จัก ทำความเข้าใจ และพยายามปรับตัวเข้าหา คือ โมเดล Go Holistic หรือ “การยกระดับวิถีเที่ยวไทยแบบองค์รวม” ซึ่งจะเข้ามาปลดล็อกการท่องเที่ยวไทยดียิ่งขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนได้

โมเดล Go Holistic คือการให้ความสำคัญกับผลประกอบการทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น การใส่ใจที่จะตอบสนองคนทุกกลุ่มที่มีความต้องหลากหลาย อีกทั้งการปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขทางยุคสมัยอย่างสร้างสรรค์ผ่านการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน (High-Value & Sustainable Tourism) ของประเทศไทยในปีนี้ 

โดยในการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 (ABAC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ได้กล่าวถึงความสำคัญของความยั่งยืนไว้ว่า สถานการณ์โลกในปัจจุบันเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้สร้างมูลค่าใหม่ (New value) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นผ่านการพัฒนาทางดิจิทัลและนำแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาปรับใช้ โดยแนวทางนี้ยังสามารถใช้เป็นแนวทางที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวได้ด้วยเช่นกัน 

ยกระดับมาตรฐาน ยกระดับรายได้

โดยในมิติของการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว คุณกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ได้ยกตัวอย่าง Happy Model ซึ่งเป็นโมเดลที่หอการค้าไทยได้ผลักดันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดย Happy Model นั้น มีทั้งหมด 4 องค์ประกอบย่อย ได้แก่ กินดี (รสชาติอาหารที่อร่อย สะอาด มีมาตรฐาน และมี Storytelling), อยู่ดี (โรงแรมที่พักที่ได้มาตรฐาน), ออกกำลังกายดี (แต่ละจังหวัดควรมีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถทำกิจกรรมได้), แบ่งปันสิ่งดี (การเฟ้นหา Unseen ของแต่ละพื้นที่) ซึ่งคาดว่าจะหากเราได้พัฒนาสินค้า บริการ และการท่องเที่ยวบนแนวคิดของการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภค (Customer Experience) ที่ดีแล้วก็จะเกิดการกระจายรายได้มาสู่ชุมชนมากขึ้น  

A person sitting in a chair

Description automatically generated with medium confidence

“แต่ก่อนเราจะบอกว่าเราอยากให้เมืองเป็นเมืองน่าเที่ยว แต่ตอนนี้เราอยากทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ เพราะถ้าเมืองน่าอยู่แล้ว ทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน ก็อยากจะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเอง”

สำหรับคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สิ่งที่ดึงดูดให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว คือ “คน” ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย นอกจากนั้นเรายังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม เทศกาลที่สะท้อน และวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา ซึ่งเรียกว่าวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ Food (อาหาร), Film (ภาพยนตร์), Fashion (เช่น เครื่องแต่งกาย), Fighting (เช่น กีฬามวยไทย) และ Festival (เทศกาลที่มีเอกลักษณ์) ซึ่งทั้งหมดนั้นก็อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของโมเดล Go Holistic ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น 

ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เอง ให้ความสำคัญกับการทำการตลาดด้วยหลัก NFT x Experience Thai Tourism ที่มุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีมากกว่าจะขายแหล่งท่องเที่ยวด้วย โดย NFT นั้น ประกอบไปด้วย 

  • N: Nature to keep การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อจะทำให้เกิดสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงอยากจะเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจบูรณาการการท่องเที่ยว ที่รักษ์โลกมากขึ้น เช่น Low Carbon Tourism เป็นต้น 
  • F:  Food to explore เป็นการเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาค้นหา และสร้างประสบกาณ์ความหลากหลายของวัฒนธรรมการกินในไทย
  • T: Thainess to Discover ส่งออกวัฒนธรรมความเป็นไทย 

เน้นคุณภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

การให้ความสำคัญกับมาตรฐานความสะอาด ความสะดวกสบาย รวมถึงความปลอดภัยนั้น จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะลดความรุนแรงลงแล้ว แต่นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยมากขึ้น 

A picture containing person, indoor, wall, person

Description automatically generated

โดยในจุดนี้คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวเสริมว่า เรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน กับการเดินทางที่สะดวกคล่องตัวมากขึ้น เป็นสองเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ และจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวด้วย 

นอกจากนั้น จุดแข็งหนึ่งของการท่องเที่ยวไทยคือราคาที่จับต้องได้ ซึ่งคุณขัตติยากล่าวว่า ถ้าเราอยากจะยกระดับการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ให้อยู่กับเรานาน ๆ ได้ และไม่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจำนวนมากอีกต่อไป ซึ่งจุดนี้ก็จะเข้าไปตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ในฐานะของภาคเอกชนคุณขัตติยาเน้นย้ำว่าการจะทำให้คนในประเทศเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง โดยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เราจะต้องช่วยกันพยายามดึงนักท่องเที่ยวไปที่เมืองรองให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวน การให้ข้อมูลข่าวสาร นอกจากนั้นต้องช่วยกันทำให้นักท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดนั้นเป็นเวลานานด้วย เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบ

ปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

หนึ่งในรากฐานสำคัญของโมเดล Go Holistic หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม  คือการปรับตัวเข้าหาเงื่อนไขทางยุคสมัยอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตอบโจทย์ 

โดยคุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า ทักทายเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ส่วนรวมของประเทศ เพราะทักทาย เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย สภาหอการค้าไทย อีกทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนกว่า 50 แห่ง ในการช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงข้อมูลและชักชวนให้ไปเที่ยวเมืองรองมากขึ้น ผ่านการพัฒนา Open Platform ที่มีชื่อว่า TAGTHAi (ทักทาย) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันเพื่อคนชอบเที่ยวแบบ One stop service ที่รวบรวมข้อมูล สถานที่เที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร รถเช่า อัตราแลกเปลี่ยนแหล่งช้อปปิ้ง รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจของแต่ละจังหวัดไว้  นักท่องเที่ยวสามารถหาข้อมูลได้ตั้งแต่ก่อนเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึง ก่อนเดินทางกลับและเมื่อกลับประเทศไปแล้ว

นอกจากนี้ ทักทาย ยังมีฟีเจอร์ที่กำลังจะขึ้น เป็นฟีเจอร์ที่นักท่องเที่ยวสามารถสร้างคอนเทนต์ (User Generate Content) ของตัวเองจากประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ทักทายมีความน่าสนใจมากขึ้น และเป็นอีกแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวที่กำลังตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทยตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 

เรื่องความปลอดภัย ทักทาย ยังตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย โดยมีปุ่ม SOS ที่นักท่องเที่ยวสามารถขอความช่วยเหลือ และติดต่อกับตำรวจท่องเที่ยว 1155 (สำหรับต่างชาติ) ที่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ทันที  และตำรวจ 191 (สำหรับคนไทย) เรียกว่าตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

สุดท้ายนอกจากการให้ข้อมูลแล้ว ทักทายยังให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการ โดยมีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักท่องเที่ยวจะได้รับบริการที่มีมาตรฐาน และได้รับประสบการณ์ที่ดี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือกันกับหลายฝ่าย ด้วยความเชื่อมั่นว่าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปด้วยกัน

 Go Holistic หนทางสู่อนาคตท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืน 

A person sitting in a chair

Description automatically generated

โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นว่าโมเดล Go Holistic ซึ่งให้ความสำคัญกับทั้งการเติบโตเชิงรายได้ การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน และการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างเป็นธรรม การอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงการพยายามปรับใช้เทคโนโลยีนั้น จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้มีคุณภาพและเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพราะเราทุกคนเป็นฟันเฟืองสำคัญของการเติบโตของประเทศไทย ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

แนวคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ประเทศไทยหรือระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในระดับเอกชนของเอเชีย-แปซิฟิก โดย สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council หรือ ABAC) ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคเอกชนและประชาชน ผู้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านธุรกิจแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ยังซึ่งได้มุ่งกำหนดผลักดันกรอบกลยุทธ์หลัก 5 ข้อ เพื่อมุ่งให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ MSMEs (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) และความยั่งยืนก็เป็นหนึ่งในกรอบกลยุทธ์สำคัญในปีนี้ด้วย แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้เกิดความร่วมมือแบบองค์รวม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนผลประโยชน์ของทุกคน 


บทความนี้เป็น Advertorial

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

การเดินทางจากอดีตสู่อนาคตของ NVIDIA

เจาะลึก Keynote CES 2025 โดย Jensen Huang ซีอีโอ Nvidia กับวิวัฒนาการ AI ตลอด 30 ปี ตั้งแต่ AlexNet สู่ Agentic AI ที่ปฏิวัติการประมวลผลของโลก...

Responsive image

รู้จัก OLDK แพลตฟอร์มจองนัดทำกายภาพบำบัดที่บ้าน ช่วยดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ จองได้ทั่วประเทศไทย

ในยุคที่สังคมสูงวัยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการบริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงง่ายและสะดวกสบายก็เพิ่มสูงขึ้นตาม โดยหนึ่งในโซลูชันจากบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่น่าสนใจก็คือ ‘OLDK’ ...

Responsive image

ชวนรู้จัก Project Digits ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ สินค้าใหม่ Nvidia ราคาเริ่มต้น 100,000 บาท

พบกับ Project Digits ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ตั้งโต๊ะจาก Nvidia ที่เปิดตัวในงาน CES 2025 ออกแบบมาสำหรับนักวิจัย AI และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ด้วยพลังประมวลผลระดับ 1 เพตาฟลอป ราคาเริ่มต...