300,000* คนคือตัวเลขประมาณสำหรับนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังจะเจอความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน
ข่าวลบจากผลกระทบของโรคระบาดในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริษัทจำนวนมากปิดตัวลงหรือประกาศลดจำนวนพนักงาน ทำให้ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีเท่าไหร่ในการหางาน
มีคำพูดที่ว่า “ชีวิตจริงนั้น เริ่มต้นหลังรั้วมหาวิทยาลัย”
แต่สำหรับนิสิตที่กำลังจะจบการศึกษานั้น ความ”จริง”ของชีวิตในปีนี้ ดูจะโหดร้ายเป็นพิเศษ
ในฐานะนักออกแบบชีวิต (Life Designer) แทนที่เราจะโทษเรื่องโชคชะตา เราสามารถปรับมุมมองว่านี้คือ “ข้อจำกัด” ที่มีอยู่ในบริบทปัจจุบัน และเราสามารถเริ่มลงมือทำอะไรกับ”ข้อจำกัด”เหล่านี้ได้บ้าง เพื่อปรับตัวให้ตัวเองมีโอกาสมากขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้
วันนี้จะมาแนะนำ 5 สิ่งที่นักศึกษาสามารถทำได้ (ทันที) เพื่อให้เรามีโอกาสดีขึ้นในการหางาน
ข้อแรก Build Up Your Network - ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการสร้าง Network ที่เหมาะสมให้กับตัวเอง เพราะงานในตลาดกว่า 70-80% ไม่ได้ถูกโฆษณาแต่เกิดจากการแนะนำต่อของคนใน** ดังนั้นหากเรามี Network ที่มีคุณภาพ เราก็จะมีโอกาสมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆในการเข้าถึงงานที่คนอื่นมองไม่เห็น
นอกจากนี้ในช่วงไวรัสระบาด ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะมีโอกาสพูดคุยกับคนที่เราไม่มีโอกาสได้คุยเพราะการทำงานที่บ้าน ทำให้คนที่เราอยากคุยด้วยหลายคนมีเวลามากขึ้น การพูดคุยผ่านวีดีโอคอล เช่น Zoom ดูจะเป็น New Normal ที่หลายคนเริ่มปรับตัวได้ ดังนั้นการขอนัดโทรคุยก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเคอะเขินแต่อย่างใด ให้เราใช้เวลาในช่วงนี้ในการดูว่าเราอยากคุยกับใคร เตรียมข้อมูลว่าเราอยากรู้อะไรจากเค้าและลองลงมือสอบถามดูเลย
ข้อสอง คิดก่อนโพสท์ - ในช่วงที่เกิดโรคระบาดและมีการบังคับใช้ Social Distance มากขึ้น ทำให้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีในการทำความรู้จักตัวผู้สมัครจึงมีบทบาทมากขึ้นและจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ผู้ว่าจ้างหลายๆคนใช้ในการรู้จักผู้สมัครคือการ “ส่อง” Social Network ของผู้สมัครนั้นๆ ดังนั้นหากเรารู้ตัวว่าเป็นคนที่ชอบโพสท์ข้อความ บทความ หรือ วีดีโอใดๆที่ทำให้เห็นว่าเราเป็นผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ”ไม่เหมาะสม” ก็จะทำให้เราเสียโอกาสในงานหรือตำแหน่งที่สำคัญๆไปได้ ลองดูว่าหน้าสื่อโซเชียลของเราเป็นอย่างไร? มีรูปกรอกเหล้าไหม? มีบทความที่วิจารณ์การเมืองอย่างรุนแรงไหม? และใช้เวลาในช่วงนี้จัดการให้เหมาะสม
ข้อสาม Build Your Personal Asset – มีคนบอกว่าเด็กนั้นเหมือนผ้าขาว แต่เราอยากจะบอกว่านิสิตจบใหม่ก็เหมือนผ้าที่ย้อมสีมาแค่สีเดียวเช่นกัน ผู้ว่าจ้างจะไม่มีทางรู้เลยว่านิสิตที่จบจากคณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกันแต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างไรนอกเหนือจากเกรดเฉลี่ย (ซึ่งก็ไม่ใช่ตัวตัดสินที่ดีเท่าไหร่) หรือกิจกรรมนอกห้องเรียน
ดังนั้นหากเราเข้าสู่ตลาดการทำงาน การสร้าง Personal Asset เพื่อให้เรามีความแตกต่างเป็นสิ่งที่จำเป็น เราอาจจะใช้เวลาในช่วงนี้หาความรู้ทาง Online จากสถาบันที่ได้รับการรับรอง เพื่อให้เรามีทักษะที่แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ
ข้อสี่ สร้าง”การฝึกงาน”ให้ตัวเอง – ในหลายครั้ง สิ่งที่ผู้ว่าจ้างใช้เป็นตัวตัดสินระหว่างผู้สมัครสองคนที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกันคือดูว่าใครได้ผ่านการฝึกงานในสายที่เกี่ยวข้องกับงานมาบ้าง ซึ่งหากเราไม่เคยฝึกงานในระหว่างเรียนมาก่อน อีกทั้งในเวลานี้ก็ไม่รู้จะไปหางานฝึกได้ที่ไหน? ทำไมเราไม่ลองสร้างการฝึกงานให้ตัวเองละ?
ตัวเลือกหนึ่งที่ทำได้คือทำงานอาสาสมัคร โดยเลือกงานอาสาสมัครที่ได้พัฒนาทักษะของตัวเอง วิธีนี้มีข้อดีหลักๆอยู่สองข้อ คือข้อแรกเราจะได้สร้างประสบการณ์และเป็น Personal Asset ที่สำคัญสำหรับตัวเอง ส่วนข้อที่สองคือในการทำงานอาสา (หากใช้เวลาในการเลือกงานอาสาที่ดี) เราจะมีโอกาสได้เจอกับคนเก่งมากมายที่อยากจะมาลงมือลงไม้ช่วยให้สังคมผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปให้ได้ และอาจจะทำให้เราได้มี Network ที่ดีกว่าคนอื่น เรียกได้ว่ายิงปืนทีเดียวได้นกสองตัวเลย
ข้อสุดท้าย ถ้าต้องเลือกระหว่าง Underemployment VS Unemployment –Underemployment คือการทำงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่าคุณสมบัติของตัวเอง ในขณะที่ Unemployment คือการว่างงาน
ถ้าให้เลือกระหว่างสองตัวเลือกที่ไม่ค่อยน่าดึงดูดเท่าไหร่ เราควรจะเลือกอะไร?
คำตอบคือเราควรจะเลือก Underemployment เพราะตามสถิติของการหางานแล้ว นายจ้างมักจะพิจารณาคนที่มีงานทำมากกว่า คนที่ว่างงานถึงสี่เท่า*** โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ว่างงานเกินเก้าเดือน
ในการทำงานนั้น เราย่อมอยากจะทำงานที่ได้ใช้ความสามารถของเราอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หากบริบทของเรามีความจำเป็นในเรื่องของการหารายได้ การทำงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่าคุณสมบัติของตัวเองในปัจจุบันก็ดูเป็นอีกหนึ่งทางเลือกจำเป็น
ทั้งนี้ทัศนคติที่สำคัญสำหรับการหางาน Underemployment คือ งานนั้น “ดีพอ สำหรับตอนนี้” เราไม่ได้กำลังจะผูกมัดตัวเองกับงานนี้จนเกษียณ เพราะการระบาดของไวรัสในครั้งนี้จะเป็นแค่ชั่วคราวและมันก็จะผ่านไป ดังนั้นเรากำลังมองหางานที่ดีพอเพื่อ “ตอนนี้” เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อตลอดไป...แต่แค่ “ตอนนี้” ก็พอ
ซึ่งสิ่งสำคัญที่อยากจะให้พิจารณานอกเหนือจากเรื่องเงิน คือ Underemployment ที่เรากำลังเลือกนั้น อยู่ใน Personal Asset ที่เรากำลังอยากจะสร้างรึเปล่า? มันได้ใช้ทักษะที่เราอยากมี หรือ อยู่ในอุตสาหกรรมที่เราอยากจะเติบโตรึเปล่า?
เพราะหากเราได้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราอยากอยู่ แม้ว่างานปัจจุบันอาจจะไม่ท้าทายพอ แต่เราสามารถใช้โอกาสในการเรียนรู้งานที่เราอยากทำและสร้าง Network เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เราจะมีภาษีในการสมัครงานในตำแหน่งที่เราสนใจมากกว่าคนที่อยู่นอกอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
อาจจะกล่าวได้ว่า ระบบนิเวศของการหางานได้เปลี่ยนไปแล้ว บางทีเกรดเฉลี่ย 2.7 ที่เริ่มปรับตัวให้ทันกับ New Normal อาจจะมีโอกาสในการหางานมากกว่าคนเกรดเฉลี่ย 3.6 ที่ไม่ยอมปรับตัวก็ได้
เป็นกำลังใจให้นิสิตที่หางานทุกคนครับ
และสำหรับใครที่กำลังสนใจ Designing Your College Life and Beyond หลักสูตร Online สำหรับน้องๆ นักศึกษาที่กำลังจะเรียนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยที่นี่
บทความและคลาส Designing Your College Life and Beyond สอนโดย :
ดร. เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล(คุณปัง) เป็นนักจิตวิทยาที่ปรึกษา ที่มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรที่หลากหลาย และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Modular Consulting และเพจ Modular Consulting เพจที่ให้แง่คิดเชิงจิตวิทยาที่ทำให้การทำงานมีความสุขมากขึ้น โดย ดร.เพิ่มสิทธิ์ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย University of California, Los Angeles (UCLA) ปริญญาโทเกียรตินิยมด้านบริหารธุรกิจจาก SASIN จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกเกียรตินิยม สาขาจิตวิทยาที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และได้รับการ Certified Coach ทางด้าน Designing Your Life รวมถึง เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์โดยตรงจากเจ้าของวิชา Bill Burnett และ Dave Evans
บทความนี้มีส่วนนำข้อมูลซึ่งอ้างอิงจาก
Bangkokpost
BusinessInsider
qz
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด