The Great Layoff เผยตัวเลขบริษัทเทคฯ เลิกจ้างไม่หยุด ในขณะที่ Apple ยังไม่เลิกจ้างเลย | Techsauce

The Great Layoff เผยตัวเลขบริษัทเทคฯ เลิกจ้างไม่หยุด ในขณะที่ Apple ยังไม่เลิกจ้างเลย

2022 คือปีที่มีการ Layoff สูงถึง 160,097 ตำแหน่งจาก 1,045 บริษัท โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ (Big Tech) ที่มีการเลิกจ้างเป็นจำนวนมากระดับหมื่นตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น Alphabet (Google) ที่ปลดพนักงานไปมากถึง 12,000 ตำแหน่ง และคู่แข่งอย่าง Microsoft ที่ปลดไป 10,000 ตำแหน่ง 

ในฝั่งของโซเชี่ยลมีเดียก็มีการเลิกจ้างเช่นกัน Twitter ปรับลดเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งนับตั้งแต่การเข้าซื้อของ Elon Musk นับเป็นจำนวน 3,700 ตำแหน่ง (50%) ฝั่งคู่แข่งอย่าง Meta (Facebook) ที่ Mark Zuckerberg เปลี่ยนชื่อบริษัทและปรับทิศทางไปสู่ Metaverse ก็ปลดพนักงานไปกว่า 11,000 ตำแหน่ง

Source: layoff.fyi

อะไรคือสาเหตุของปรากฏการณ์ครั้งนี้ ผลกระทบจะมากขนาดไหน และคลื่นการเลิกจ้างครั้งใหญ่นี้จะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ ติดตามได้ในบทความนี้ 

Layoff คืออะไร และทำไมถึงเกิดขึ้น 

Layoff คือการที่บริษัทยุติการจ้างพนักงาน ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น บริษัทประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ความต้องการผลิตภัณฑ์บริการลดลง ต้องการลดค่าใช้จ่าย ผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ หรือต้องการปรับลดขนาดธุรกิจหรือโครงสร้างองค์กร เป็นต้น 

บริษัทเทคโนโลยีขยายเร็ว (เกินไป) ในช่วงโควิด 

ในช่วงโควิดระบาดบริษัทเทคโนโลยีเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้เปรียบ เพราะผู้คนทั้งโลกจำเป็นต้องอยู่บ้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น ความจำเป็นในการใช้งานระบบ Video Conference ที่มากขึ้น ทำให้ Zoom หรือ Microsoft Teams ได้รับอานิสงส์นี้ไป 

Source: Office Reality

เมื่อต้องอยู่บ้าน จึงต้องใช้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ก็ทำให้ธุรกิจ E-Commerce อย่าง Amazon มียอดการสั่งซื้อของเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจนี้มากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการจ้างงานจำนวนที่เยอะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างพากันเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้น ในปี 2022 Amazon มีพนักงานเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2019 Meta ก็เร่งเพิ่มพนักงานขึ้นเกือบสองเท่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2020 จนถึงเดือนกันยายนปีที่แล้ว เช่นเดียวกับ Microsoft Google และบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก เช่น Salesforce Twitter 

บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่มีการจ้างมากขึ้นช่วงโควิด

และอย่างที่เราทราบกัน สถานการณ์เศรษฐกิจช่วงโควิดจนถึงปัจจุบันนับว่าวิกฤต อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่เริ่มดีขึ้นทำให้ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมมากขึ้น อัตราการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์จึงลดลง นอกจากนั้นเม็ดเงินจากค่าใช้จ่ายด้านโฆษณา (Advertising) ยังลดลงด้วย ส่งผลกระทบต่อกำไรและราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มโซเชียลมีเดีย 

อีกทั้งสงครามที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มมากขึ้นในระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ตามมาด้วยการแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่หลาย ๆ บริษัทเริ่มที่จะเลิกจ้างเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

อุตสาหกรรมเทคฯ ที่มีการ layoff ตั้งแต่ช่วงโควิด

ความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย

ปี 2022 คือจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจและฟองสบู่ของราคาหุ้นเทคฯ ที่เพิ่มสูงเกินความเป็นจริง สิ่งที่ตามมาจากการขึ้นดอกเบี้ยคือความเป็นไปได้ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ทำให้บริษัทเทคฯ รายใหญ่เริ่มที่จะปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมรับกับความเสี่ยงที่อาจจะขึ้น เนื่องจากบริษัทเทคฯ และสตาร์ทอัพนั้นพึ่งพาเงินทุนจาก Venture Capital (VC) ทำให้การกู้ยืมเงินมีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย

มีคนเปิดย่อมมีคนตาม (Copycat behavior)

Jeffrey Pfeffer ศาสตราจารย์จาก Stanford Graduate School of Business มีอีกมุมมองที่มีความเห็นต่าง เขากล่าวว่า กาารเลิกจ้างนั้นเป็นพฤติกรรมที่ทำตามๆ กัน (social contagion) ของบริษัทต่างๆ มันไม่ได้ช่วยเพิ่มราคาหุ้น หรือเพิ่ม productivity  Pfeffer คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยและมูลค่าของตลาดนี้ก็เป็นฟองสบู่ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ เช่น Meta ที่จ้างพนักงานเป็นจำนวนมากแถมมีเงินจำนวนมากแต่ก็เลิกจ้างเพราะทำตามบริษัทอื่นๆ 

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี

ปรากฏการณ์ระลอกคลื่น (The Ripple Effect) คือผลที่ตามมาจากการเลิกจ้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พนักงานที่ไม่ได้ถูก layoff จะต้องมีภาระงานที่มากขึ้นพร้อมกับความกดดันที่มากขึ้นตาม การที่ต้องทำงานมากเกินไปทำให้ความพึงพอใจหรือแพชชั่นในการทำงานลดลง ในส่วนของพนักงานที่ถูก layoff ก็เจอความท้าทายของการหางานใหม่เนื่องจากแวดวงเทคฯ เป็นวงการที่มีการแข่งขันสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผลที่ตามมาคือปัญหาเรื่องความมั่นคงทางการเงินและความมั่นใจในการทำงานที่ลดลงซึ่งส่งผลกระทบทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะถูก layoff หรือไม่ก็ตาม

มีงานวิจัยออกมาว่าเหตุการณ์การการเลิกจ้างสามารถเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายของพนักงานเป็นสองเท่า Jeffrey Pfeffer กล่าวว่าการเลิกจ้างไม่ได้แก้ปัญหาอะไรและส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น พนักงานที่ยังคงอยู่ก็จะรับแรงกดดันว่าจะเป็นรายต่อไปหรือไม่ เขาทิ้งท้ายว่าว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นการตัดสินใจที่แย่

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ฟ้าหลังฝนของการเลิกจ้างสายเทคฯ โอกาสของบริษัท Non-Tech

บริษัทที่ไหวตัวทัน (Apple, Airbnb)

หนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ไม่ได้มีการเลิกจ้างก็คือ Apple บริษัทเทคฯ ที่มีจำนวนพนักงาน 164,000 ชีวิต สาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องปลดพนักงานเป็นเพราะว่า Apple มีความระมัดระวังในการจ้างพนักงานไม่ให้จ้างเยอะเกินไปตั้งแต่แรกแล้ว

ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ในระหว่างปี 2020-2022 Apple มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 20% ในขณะที่ Alphabet บริษัทแม่ของ Google จ้างงานเพิ่ม 60% 

มากไปกว่านั้น Amazon และ Saleforce จ้างงานสูงถึง 100% ในฝั่งของ Meta และ Microsoft มีการจ้าง 90% และ 50% ตามลำดับ

ในทางกลับกัน Apple ไม่เลิกจ้างพนักงานแต่หันไปเลิกจ้าง recruiters หรือฝ่ายสรรหาบุคลากรเป็นจำนวน 100 คน ในเดือนสิงหาคม 2022 เนื่องจากได้พนักงานคงที่และครบดีแล้ว และ Tim Cook ยังรับเงินเดือนลดลง 40 % อีกด้วย

Apple มีการจ้างงานอย่างรอบคอบในช่วงโควิด

อีกหนึ่งบริษัทเทคฯ ที่เกี่ยวข้องกับบริการเช่าที่พักที่รอดจากปรากฏการณ์ครั้งนี้คือ Airbnb ที่มองเห็นแนวโน้มตลาดหลังเกิดเหตุการณ์โควิด ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง ทำให้ตัดสินใจ layoff พนักงานไปมากถึง 1 ใน 4 หรือเกือบ 1,900 ตำแหน่งเมื่อปี 2020 การเหยีบเบรคครั้งนั้นทำให้ Airbnb ไม่ติดโผการเลิกจ้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ล่าสุด (14 กุมภาพันธ์) มีการประกาศงบไตรมาสที่ 4 ปี 2022 พบว่ารายได้เพิ่มขึ้นมา 24% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และบริษัทเล็งที่จะจ้างงานต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2023 นี้ 

งบกำไรขาดทุน ไตรมาส 4/22 ของ Airbnb

ปรากฎการณ์ Layoff ครั้งนี้จะจบรึยัง 

ปรากฏการณ์นี้อาจจะยังดำเนินต่อไป สังเกตุได้จากตัวเลขของปี 2023 ที่เริ่มต้นปีได้ไม่นานก็มีการเลิกจ้างสูงถึง 101,807 ตำแหน่งจาก 340 บริษัทแล้ว ล่าสุด (8 กุมภาพันธ์) Disney ก็ได้ประกาศ layoff พนักงานกว่า 7,000 คน (คิดเป็น 3% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด) และมีแผนที่จะลดค่าใช้จ่าย 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกด้วย 

อ้างอิงข้อมูล

Layoffs.fyi

CBSnews

USA TODAY

Standford News

Venturebeat

AppleInsider

CNBC


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จากเทคโนโลยี AI สู่ IA เพื่อมนุษย์ ในมุมมองของ “Pattie Maes”

เทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาชีวิตได้อย่างไร? มาดูแนวคิดในการออกแบบและทดสอบอุปกรณ์ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปกับคุณ Pattie Maes นักวิจ...

Responsive image

สนามบินคันไซ 30 ปีไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย ตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่ 1994 จนปัจจุบัน

30 ปีไม่มีพลาด สนามบินนานาชาติคันไซของญี่ปุ่นรักษาสถิติ ‘ไม่เคยทำสัมภาระผู้โดยสารสูญหาย’ เลยสักครั้ง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 1994 จวบจนปัจจุบัน...

Responsive image

DeFi เกิดมาเพื่อทำลายระบบธนาคารจริงหรือไม่

เก็บตกประเด็นน่าสนใจจากงานเสวนาในหัวข้อ he Rise of Decentralized Finance (DeFi): Disruption or Distraction? จาก Money 20/20 Asia...