Web 3.0 อีกหนึ่งวิวัฒนาการทางอินเทอร์เน็ตครั้งสำคัญ หรือที่หลายคนอาจเรียกได้ว่าเป็น The Next Era of the Internet ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับเทคโนโลยีอย่าง Blockchain, Machine Learning (ML), Big Data, AI และอีกมากมาย ในระยะหลังมีการพูดถึงการเข้ามาของ Web3.0 ในมิติต่าง ๆ มากขึ้น บทความนี้เราจะพามาทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันว่า เทคโนโลยีดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างไร และเกี่ยวข้องกับ Blockchain อย่างไรบ้าง ไปจนถึงกรณีศึกษาที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจ และโอกาสในการทำรายได้จากการพัฒนาของเทคโนโลยี
จุดเด่นของ Web 3.0 คือคอนเซ็ปต์ของการเป็นเจ้าของ Data ซึ่งต่างจาก Web 2.0 ที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบกันได้บนเว็บ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องความไม่เท่ากันของข้อมูล เพราะอินเทอร์เน็ตปัจจุบันไม่สามารถจดจำข้อมูลของลูกค้าได้ ทำให้ต้องพึ่งพาระบบสมาชิกไปจนถึง Cookies เพื่อช่วยจดจำข้อมูลของลูกค้าและเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจุดนี้จะเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทใหญ่ที่ครอบครองข้อมูลจำนวนมากที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ดังนั้น Web 3.0 จะเป็นอีกขั้นของอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเป็นเจ้าของข้อมูลในรูปแบบการทำงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) เช่นเดียวกับ Blockchain
เมื่อพูดถึงการทำงานแบบ Decentralized แล้วจะไม่พูดถึงเทคโนโลยี Blockchain คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่ง Blockchain มีความสัมพันธ์กับ Web 3.0 โดยเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามาช่วยทำให้ Web3.0 ทำงานได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น
ขณะเดียวกันตัว Web 3.0 เองก็จะทำให้เทคโนโลยีอย่าง Blockchain, Machine Learning (ML), Big Data, AI และเทคโนโลยีอัจฉริยะตัวอื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมี Crypto Wallet ที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Crypto รวมทั้งยังเป็นการป้องกันการรั่วไหลหรือสูญหายของ Private Key หนึ่งใน Wallet ที่ได้รับความนิยมนั่นคือ MetaMask ซึ่งก็ได้เข้ามาช่วยให้ผู้คนเห็นภาพและตระหนักถึงศักยภาพของ Web3.0 มากขึ้นเนื่องจากมีการทำงานสนับสนุนกัน โดยเก็บข้อมูลสำคัญไว้ใน Wallet และทำงานบนระบบ Blockchain เพื่อเสริมความมั่นใจในเรื่องของความถูกต้องและความปลอดภัยของข้อมูล บนโลกยุคใหม่ที่เน้นในเรื่องความเป็นเจ้าของจึงเกิดเป็นรูปแบบของ Web 3.0 ในปัจจุบัน
ตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Web 3.0
MetaMask กระเป๋าเงินสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2016 โดยเป็น Wallet สำหรับเก็บเหรียญ Crypto บนระบบนิเวศของ Ethereum ทุกชนิด ในกลุ่ม ERC-20 รวมถึงรองรับการเก็บ NFTs โดยใช้ Wallet ของตัวเองโดยตรงไม่ผ่าน Exchange
ENS (Ethereum Name Service) โดยปกติแล้วเมื่อค้นหาเว็บไซต์จะต้องไปที่ Domain Name Server (DNS) เพื่อค้นหา IP Address ของเว็บไซต์นั้นได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกันบน Ethereum จึงมีการ Mapping สำหรับ Address บน Blockchain เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาให้คนสามารถอ่านได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า ENS จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ Web3.0 โดยตรง แต่ก็มีส่วนนำไปสู่ความสะดวกที่มากขึ้นสำหรับบริการของ Web 3.0
Sign-in with Ethereum การนำ Ethereum Address มา login ได้ เช่นเดียวกับการลงชื่อเข้าใช้งานเว็บต่างๆ ด้วยบัญชี Facebook, Apple หรือ Google โดยเปลี่ยนจากการใช้ข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบมาเป็น Public Key และ Private Key
Swash การเก็บ Browsing History Cookies ในรูปแบบ Web 3.0 และสามารถ Monetize ข้อมูลเหล่านี้ได้
Web 3.0 นับว่าเป็นแนวคิดที่ต่อเนื่องมากจากกรอบแนวคิดใหญ่อย่าง Decentralization ซึ่ง Crypto ก็เป็นการกระจายอำนาจในการเป็นเจ้าของเงินตามคอนเซ็ปต์ของ DeFi ที่เป็นการการกระจายอำนาจของบริการทางการเงิน
ขณะเดียวกัน Web 3.0 คือการกระจายอำนาจของการเก็บ Data และการเป็นเจ้าของข้อมูลรวมถึงอำนาจในการตัดสินใจของผู้ใช้งาน ดังนั้นผู้ใช้จึงควรเข้าใจหลักการทำงานของระบบการกระจายอำนาจเพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับทางฝั่งธุรกิจควรพิจารณาถึงผลของเทคโนโลยีที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจที่ทำอยู่ อย่างในกรณีการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ที่ทำได้ยากกว่าเดิม ก็อาจมองหาแนวทางเพื่อใช้งาน Data ขนาดเล็กลงให้ได้ผลลัพธ์มากขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้มีเพียงข้อจำกัดแต่ยังมีโอกาสที่เพิ่มขึ้นมา คือธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากความสะดวกของการเชื่อมต่อกันมาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น นอกจากนี้การทำธุรกรรมทางการเงินบน Blockchain ก็สามารถทำได้คล่องตัวมากขึ้น ตลอดจนโอกาสในการระดมทุนที่จะมีเพิ่มขึ้นมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สำหรับการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ ซึ่งเหล่าโปรแกรมเมอร์อาจต้องทำความเข้าใจโครงสร้างใหม่เพื่อให้สามารถปรับปรุงระบบพร้อมรองรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบได้ อีกทั้งในฝั่งของผู้ที่ต้องทำงานกับ Data อาจลองมองหาช่องทางเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่น้อยลง หรือพิจารณาโมเดลธุรกิจและความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกับ Crypto หรือ Token เป็นต้น
บทความนี้เป็นการสรุปเนื้อหาจาก Techsauce Live โดยคุณสถาพน พัฒนะคูหา CEO of SmartContract Blockchain Studio ได้มาร่วมพูดคุยแบ่งปันมุมมองกับเราในหัวข้อ “ทำความเข้าใจ Web3.0 วิธีการทำงาน Case Study และการหาโอกาสทางธุรกิจ”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด