ถึงเวลาตั้งคำถาม ธรรมาภิบาลธุรกิจ กรณีศึกษา Facebook ล่มหนักสุดในรอบ 8 ปี เพียง 1 วัน หลังถูกแฉสร้าง Hate Speech เพื่อกำไร | Techsauce

ถึงเวลาตั้งคำถาม ธรรมาภิบาลธุรกิจ กรณีศึกษา Facebook ล่มหนักสุดในรอบ 8 ปี เพียง 1 วัน หลังถูกแฉสร้าง Hate Speech เพื่อกำไร

เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ในรอบหลายปี กับเหตุการณ์ที่ระบบ Facebook, Instagram และ WhatsApp ล่ม ซึ่งได้สร้างความเสียหายที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ ปี 2008 เป็นต้นมา แม้ว่าตอนนี้ระบบจะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติแล้ว หลังจากที่ทีมงาน Facebook ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อกอบกู้ระบบกลับคืนมา แต่ด้านสาเหตุที่ทำให้ระบบล่มนั้น  Facebook ยังไม่มีการเผยออกมาอย่างเป็นทางการ 

Facebook ล่ม

จากกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนอะไร และมีเรื่องไหนที่เราควรเรียนรู้ และตั้งคำถามจากเรื่องนี้บ้าง ?

ย้อนกลับไปวันก่อนหน้า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ Facebook  ล่มรุนแรง Frances Haguen อดีต Product Manager ออกมาแฉเอกสารจำนวนมากภายใต้ชุดรายงาน “Facebook Files” ซึ่งได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับทาง The Wall Street Journal ว่า Facebook นั้นทราบเป็นอย่างดีว่าแพลตฟอร์มได้สร้างปัญหาทางสังคมโดยเฉพาะได้ปล่อยคำพูด Hate Speech ที่สร้างความเกลียดชังระหว่างคนในคอมมูนิตี้ แต่ Facebook ไม่ได้จัดการต่อปัญหาดังกล่าวเพราะเกรงต่อผลประโยชน์ที่อาจสูญเสียไป 

โดย Haguen ได้อ้างถึงอัลกอริทึมของระบบที่เปิดตัวในปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งจะควบคุมความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ผู้ใช้จะเจอในแพลตฟอร์ม Haguen กล่าวว่าอัลกอริทึมประเภทนี้มีส่วนสำคัญที่ปลูกฝังความกลัวและความเกลียดชังต่อผู้ใช้ “การปลุกปั่นให้คนโกรธนั้นทำได้ง่ายกว่าการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์อื่น ๆ” 

ในขณะนั้น Mark Zuckerberg ได้ย้ำว่าอัลกอริทึมดังกล่าวส่งผลกระทบในทางที่ดี “ทางธุรกิจจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมว่าบริการของเราไม่เพียงแต่ให้ผู้ใช้ได้เพลิดเพลินไปกับบบริการ แต่ต้องดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วย” 

อย่างไรก็ตามใน “The Facebook Files” ได้ปรากฏรายงานวิจัยที่พิสูจน์ว่า Instagram ได้ทำร้ายเด็กสาววัยรุ่น ทำให้เธอรู้สึกไม่ดีกับภาพลักษณ์ของร่างกายตนเอง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คนหันมาเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น 

ไม่เพียงเท่านี้ นอกเหนือจากรายงาน The Facebook Files ก่อนหน้านี้ก็ได้มีรายงานจากอดีตพนักงานที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวหา Facebook ว่า แพลตฟอร์มมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างความคิดเห็นให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองในสหรัฐฯ และนำไปสู่เหตุการณ์บุกโจมตีอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา

แต่ Nick Clegg Vice President of Global Affair ของ Facebook ได้ออกมาโต้ตอบในสื่อ CNN โดยบอกว่า “ผมคิดว่ามันไร้เหตุผล” Clegg กล่าวถึงกรณีที่โซเชียลมีเดียต้องรับผิดต่อเหตุการณ์จราจลเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา “ผมคิดว่าทำให้คนรู้สึกสบายใจมากกว่าถ้าต้องมีคำอธิบายทางเทคนิคสำหรับประเด็นการแบ่งขั้วทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา”

หลังจากที่ Facebook ถูกแฉ เพียง 1 วัน ...

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram และ WhatsApp ต่างเข้าสู่ระบบไม่ได้กะทันหัน ซึ่งเมื่อเข้าสู่แอปพลิเคชันดังกล่าวกลับมีการตอบสนองที่ระบุว่า ระบบเกิดข้อผิดพลาดทางเซิร์ฟเวอร์ อีกทั้งมีรายงานจาก DownDetector.com แสดงให้เห็นว่าระบบภายในของ Facebook ล่มเป็นวงกว้าง และยังระบุไม่ได้ถึงจำนวนผู้ใช้งานที่ไม่สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันได้ชัดเจน แต่คาดการณ์ถึงจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ราว 3.5 พันล้านคนทั่วโลก 

ทาง ThousandEyes บริการตรวจสอบเครือข่ายจาก Cisco ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุส่วนหนึ่งว่าเกิดจากความล้มเหลวของ DNS หรือ Domain Name System ที่ขัดข้องจนทำให้แพลตฟอร์มเว็บไซต์ Facebook หายไปจากระบบอินเทอร์เน็ต 

น่าสนใจมากว่านอกจากผู้ใช้งานจะเข้าสู่ระบบในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ไม่ได้แล้ว พนักงานของ Facebook เองก็เข้าระบบเพื่อทำการซ่อมแซมเซิร์ฟเวอร์ภายในไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะวิศวกรที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการบริการ

โดยพนักงานส่วนหนึ่งได้ให้ข้อสันนิษฐานถึงเหตุการณ์ล่มครั้งนี้ว่าอาจเป็น “เคราะห์กรรมสำหรับการทดสอบผู้แจ้งเบาะแสล่าสุด” 

อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นดังกล่าว แม้ว่าจะไม่สามารถกล่าวอ้างได้เต็มปากว่า เป็นเพราะสาเหตุใด ความผิดพลาดทางเทคนิค หรือ เคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นหรือไม่  แต่สิ่งที่เรียนรู้จากประเด็นนี้ คือ ธรรมาภิบาลของธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี 

ก่อนหน้านี้ หากใครยังจำกันได้ Mark Zuckerberg ได้มีข้อพิพาทกับ Tim Cook ในการถกเถียงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ 

นอกจากนี้ยังมีสารคดีเรื่อง The Social Dilemma ใน Netflix ที่ตีแผ่เบื้องหลังความโหดร้ายของเทคโนโลยี ที่คอยดึงดูดความสนใจและชักใยความคิดของมนุษย์ให้ติดอยู่กับหน้าจอออนไลน์ เพื่อหาผลประโยชน์จากการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการชักจูงความเห็นทางการเมือง สร้างความแบ่งแยกทางความคิดอย่างไร้มนุษยธรรม ที่เป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจด้วย 

ดังนั้นจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โซเชียลมีเดีย ส่งผลต่อความคิดและของผู้ใช้งานอย่างสิ้นเชิง 

Techsauce  เคยได้นำเสนอเรื่องราวของ Big tech ที่ควรจะต้องปฎิรูปโมเดลธุรกิจที่ดำเนินอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียรอบข้างมากขึ้น  ด้วยการหันมาสร้างนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอย่างมีมนุษยธรรม 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าเศรษฐกิจในโลกทุกวันนี้ต้องพบกับวิกฤตมากมาย หลายๆ ประเทศก็ให้ความสนใจไปกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถเลี้ยงปากท้องของคนในประเทศได้ จึงได้มีการนำเทคโนโลยีหลายๆ อย่างมาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จนทำให้ลืมไปว่า ตัวการสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจคือ มนุษย์

โลกออนไลน์ดึงดูดคนด้วยโฆษณาแฝงและข้อมูลลวง ทำให้โลกออฟไลน์ได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไม่เป็นมิตรกับระบบเศรษฐกิจแบบนี้ จึงเกิดเป็นผลกระทบกับมนุษย์มากที่สุด ทั้งทำให้มนุษย์ขาดความเชื่อมั่นในสื่อ และส่งผลให้ขาดความมั่นใจในการตัดสินใจต่างๆ 

ดังนั้น เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ควรจะผลิตออกมานั้นต้องมีความใส่ใจกับความเป็นอยู่ของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีไปในทางที่ดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน มากกว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กรของตัวเอง (อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่

อย่างไรก็ดี มูลค่าความเสียหายจาก #เฟสล่ม ได้ทำให้ราคาซื้อขายหุ้น Facebook ร่วงลงราว 5.5% คิดเป็นจำนวนเงินได้ราว 2 แสนล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 1.6 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

อ้างอิง CNBC

Forbes

CNBC 

NY Times

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถกยุทธศาสตร์ AI ไทย หนทางดึงไทยกลับเวทีโลก ควรเริ่มอย่างไร ?

ค้นพบโอกาสและความท้าทายของ AI ที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทย พร้อมกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลกในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน!...

Responsive image

รัฐบาลเวียดนามขยับ SME ได้เวลาทวงคืนตลาดแฟชั่นจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนอย่าง Shein และ TEMU

รัฐบาลเวียดนามเตรียม "บล็อก" แอปพลิเคชันและโดเมนช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนอย่าง Shein และ Temu ถ้าไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้องก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทวงคืน “อุ...

Responsive image

AI ไม่ได้แทนที่คุณ แต่จะช่วยให้คุณ 'ดีกว่าเดิม'

สำรวจแนวคิด "จิตวิทยาไซบอร์ก" ในการออกแบบระบบมนุษย์-AI เพื่อความรุ่งเรืองของมนุษย์ พร้อมบทบาทของ AI ในการพัฒนาไทยให้เป็น “AI Land” จากมุมมอง ดร.พัทน์ ภัทรนุธาพร ในงาน THE STANDARD ...