'Vietnam Startup Ecosystem' เผย Startup Landscape เวียดนามครบทุกมุมที่คนอยากเข้าต้องรู้ | Techsauce

'Vietnam Startup Ecosystem' เผย Startup Landscape เวียดนามครบทุกมุมที่คนอยากเข้าต้องรู้

ปัจจุบัน Startup Ecosystem ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือได้ว่ากำลังคึกคักทีเดียว ซึ่งหากถามว่าประเทศใดที่ควรจับตามองในเวลานี้คงหนีไม่พ้น “เวียดนาม” ที่ Startup Ecosystem ของพวกเขากำลังเติบโตอยู่ภายในประเทศ แต่กลับมีมูลค่าของธุรกิจสูงจนไม่อาจละสายตาได้

Techsauce ได้รับเชิญจาก True Incube ร่วมทริปเดินทางไปประเทศเวียดนาม ร่วมกับ 5 Startup ไทยในโครงการ True Incube Incubation & ScaleUp Program Batch 5 – Startup Grand Prix ประกอบด้วยทีม ChangTrixget, DRX, Fling, Kooup และ ShopJJ เพื่อสำรวจ Startup Ecosystem ของประเทศเวียดนามผ่านการเยี่ยมชมสำนักงานของ Key Player ใน Ecosystem ประกอบด้วย tiki.vn, Circo, CP Vietnam และ Saigon Innovation Hub ซึ่ง Techsauce ขอนำเนื้อหาที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้มาสรุปและแบ่งปันให้ทุกท่านได้ติดตามกัน

Introduction

เวียดนามเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดพื้นที่ 331,210 ตารางกิโลเมตร อยู่ติดชายฝั่งยาวถึง 3,260 กิโลเมตร แบ่งทั้งหมด 63 จังหวัด โดยมีเมืองที่สำคัญได้แก่ ฮานอย, โฮจิมินซิตี้ และดานัง มีประชากรทั้งหมดราว 95 ล้านคน GDP รวม 215,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2017 คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 6.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบจากปี 2014

สถานการณ์ Startup Ecosystem ในเวียดนาม

เวียดนามเริ่มมี Tech Company มาตั้งแต่ช่วงปี 2000 ส่วน Startup Ecosystem เริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังช่วงปี 2016 หลังจากการแพร่ขยายของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะโทรคมนาคมอย่างอินเทอร์เน็ทและ 4G รวมถึงการผลักดันด้านการศึกษาเทคโนโลยีที่ทำให้มีบุคลากรในตลาดเพิ่มขึ้น และการส่งเสริมผู้ประกอบการโดยหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวเวียดนามที่ศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ (ชาวเวียดนามเรียกว่าเวียดคิว - Viet Kieo) กลับมาช่วยผลักดันอีกส่วนหนึ่งด้วย

ปัจจุบันเวียดนามมี Startup ที่ลงทะเบียนกับภาครัฐฯ ราว 3,000 ราย และมีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา มีจำนวน Deal การลงทุน 92 Deal คิดเป็นมูลค่า 291 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ E-Commerce ตามด้วย Food Techology และ Finance Techology

นอกจากนี้ ยังมี Startup ที่ Exit จากการถูกซื้อกิจการมาแล้วถึง 8 ครั้ง คิดเป็นมูลค่ารวม 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เป้าหมายของ Startup Ecosystem ต่อไปของเวียดนามคือการพา Startup สัญชาติเวียดนาม Scale ออกไปในระดับโลก ซึ่งปัจจุบัน Startup ส่วนใหญ่ยังเติบโตจากตลาดในประเทศมากกว่าจากตลาดต่างประเทศ

จุดแข็งของเวียดนามในการสร้าง Tech Startup Ecosystem

  • ประชากรวัยแรงงานอายุต่ำกว่า 45 ปีถึงร้อยละ 60 นับเป็นปัจจัยการเติบโตที่น่าจับตามองที่สุดของเวียดนาม เพราะการมีบุคลากรอายุน้อยและมีทักษะด้านดิจิทัลระดับที่ดี ทำให้พร้อมต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
  • ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถึง 52 เปอร์เซ็นต์ การเข้าถึงเทคโนโลยีของประชากรก็เป็นตัวชี้วัดการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้เช่นกัน ซึ่งตัวเลขนี้ของเวียดนามกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้ Mobile ที่เติบโตขึ้น 152 เปอร์เซ็นต์
  • เป็น Developer Hub ประชากรมีความสามารถด้าน Tech สูง เป็นที่รู้กันว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มี Software House ชั้นนำของภูมิภาคนี้ โดยมีบริษัทไอทีใหญ่ๆ ของโลกเข้ามาใช้บริการอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังมีค่าครองชีพที่ถูกนั่นหมายถึงช่วยลดต้นทุนในกระบวนการพัฒนานวัตกรรมได้มากทีเดียว
  • เปิดให้ต่างชาติเป็นถือหุ้นบริษัทได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในเกือบทุกอุตสาหกรรม เป็นอีกแรงจูงใจที่ทำให้ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อขยายกิจการ ซึ่งหมายถึงสิทธิ์ในการบริหารกิจการและการเป็นเจ้าของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นด้วย

Vietnamese Insight พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องรู้

  • ยังคงนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสด แม้ประชาชนจะเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น แต่การใช้จ่ายของชาวเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงนิยมใช้เงินสดมากกว่า แม้กระทั่ง E-Commerce ของเวียดนามยังต้องมีบริการจ่ายเงินผ่านช่องทางผู้รับส่งเงิน
  • Online-Payment ใช้ทางบัญชีธนาคารมากกว่าบัตรเครดิต ขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่งคือการใช้จ่ายผ่านอินเทอร์เน็ต ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ก็ยังคงชอบใช้จ่ายแบบทั้งก้อนด้วยการตัดยอดในบัญชีธนาคาร ส่วนบัตรเครดิตนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนักแม้จะเป็นช่องทางออนไลน์ก็ตาม
  • นิยมใช้ Online Media Platform ของเวียดนามเอง สำหรับด้านความบันเทิง ชาวเวียดนามนิยมใช้งาน Platform สัญชาติเวียดนามที่มีชื่อว่า Zalo ซึ่งมีแอปพลิเคชันทั้ง Messeging, Music, Video และ Content โดยเป็น Platform ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย
  • Ride-Hailing กำลังมาแรงในเขตเมือง สำหรับการคมนาคมในเขตเมือง นอกจากแท็กซี่และรถประจำทางแล้วยังมี Ride-Hailing หรือบริการเรียกรถรับส่งผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่น้อย โดยผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศมากกว่า ซึ่งหนีไม่พ้น Grab ที่ควบรวมกิจการของ Uber เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนผู้เล่นอีกรายที่น่าจับตามองคือ Go-Jek ที่เข้าตลาดเวียดนามในชื่อ Go-Viet นั่นเอง
  • สื่อท้องถิ่นลงข่าวธุรกิจ Startup เป็นข่าวกระแสหลัก Media นับเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อน Startup Ecosystem ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสื่อท้องถิ่นของเวียดนามลงข่าวเกี่ยวกับธุรกิจ Startup เป็นเรื่องปกติ ทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับวิธีการทำงานในแบบ Startup อยู่แล้ว

Tech Company and Startup สัญชาติเวียดนามที่น่าจับตามอง

VNG Tech Company สัญชาติเวียดนามที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2004 เจ้าของ Zing เว็บไซต์ด้าน Media และ Zalo แอปพลิเคชัน Messenger ที่ชาวเวียดนามนิยมใช้งาน และเป็น Gaming Publisher รายใหญ่ของเวียดนาม ปัจจุบันประเมินกันว่ามีมูลค่าบริษัทสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านการรับการลงทุนโดยกลุ่มทุนจากประเทศจีนและญี่ปุ่น

tiki.vn Startup ด้าน E-Commerce แบบ B2C และ B2B2C สัญชาติเวียดนาม เริ่มต้นดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2010 ในฐานะร้านขายหนังสือ ก่อนจะขยายมาขายเครื่องสำอางและอุปกรณ์ไอทีในปีต่อมา มีจุดเด่นที่สามารถส่งสินค้าถึงมือภายใน 2 ชั่วโมง ปัจจุบันเปิดระดมทุนในระดับ Series C โดยมีผู้ลงทุนชั้นนำอย่าง JD.com เข้าร่วมด้วย

foody.vn Startup ที่พัฒนา Community Platform ด้านอาหารสัญชาติเวียดนามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศ ปัจจุบันถูกซื้อกิจการไปแล้วโดย SEA Group ด้วยมูลค่า 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Momo Mobile Money Fintech Startup ที่ให้บริการ e-Wallet และ Payment Gateway บน Smartphone รองรับการใข้จ่ายมากกว่า 100 รายการผ่านธนาคารในประเทศ 24 แห่ง และผู้ให้บริการบัตรเครดิตอย่าง Visa, MasterCard และ JBC สำหรับการลงทุนรอบล่าสุดอยู่ใน Series B เมื่อปี 2016 โดยมีผู้นำการลงทุนคือ Standard Chartered ที่ลงทุนเป็นมูลค่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Yeah1 Network Startup ด้าน Digital Media แบบ Multi-Platform ทั้งในช่องทางของตัวเอง, Facebook และ YouTube ก่อตั้งเมื่อปี 2015 จับกลุ่ม Content สำหรับวัยรุ่นและเนื้อหาข่าวประจำวัน Yeah1 ระบุว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้งานทุกช่องทางรวมกัน 90 ล้านผู้ใช้ และมียอดเข้าชม 3,200 ล้านครั้งต่อเดือน ปัจจุบัน Yeah1 ได้ IPO สู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hongkong Stock Exchange หรือ HOSE) โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดที่ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

The Gioi Di Dong เว็บไซต์ E-Commerce ด้านอุปกรณ์ไอทีชั้นนำ เปิด IPO เมื่อปี 2014 โดยมีมูลค่าตลาดปัจจุบันที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Jamja Startup ด้าน Marketplace Platform สำหรับนำเสนอส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดขายทั้งกับร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ ได้รับเงินลงทุนในขั้น Seed จากนักลงทุน 4 รายเมื่อปี 2018

Topica Edtech Group Startup ด้าน Edtech ผู้พัฒนา Solution และ Platform ด้านการศึกษา ปัจจุบันกำลังเตรียมเปิดระดมทุน Series D โดยประเมินยอดเงินลงทุนที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Appota Startup ผู้ให้บริการ Mobile Platform โดยมีธุรกิจหลัก 3 อย่าง ได้แก่ Game Publisher, ธุรกิจโฆษณา และ Payment Platform โดยเพิ่งรับการลงทุน Series C จากกลุ่มนักลงทุนเกาหลีและกำลังเตรียมเปิดลงทุนรอบ Series D ในเร็วๆ นี้

แผนภาพ Startup Ecosystem ในประเทศเวียดนาม Source: Saigon Innovation Hub

VC, CVC และ Angel Investor

ด้านการสนับสนุนทุน ส่วนใหญ่มาจากทางฝั่งของ VC โดยเป็นกองทุนข้ามชาติมากกว่ากองทุนในประเทศ ส่วน CVC นั้นมาจากธุรกิจข้ามชาติและกิจการที่อยู่ในกำกับของภาครัฐมากกว่าบริษัทเอกชนในประเทศ

VC ที่ Active และน่าจับตามอง

IDG Ventures Vietnam เป็น VC ด้านเทคโนโลยีรายแรกของประเทศเวียดนาม ลงทุนใน VNG ตั้งแต่ Series A ในปี 2005

Monk’s Hill Ventures VC จากสิงคโปร์ที่ Active ในเวียดนามชัดเจน

500 Startup VC แบบ Micro-Fund เน้นลงทุนใน Tech Startup ของเวียดนาม

Dragon Capital กองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 1994 มีสาขาที่ไทย ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร โดยนอกจากลงทุนในกิจการแบบ Traditional แล้ว ปัจจุบันยังหันมาเป็นนักลงทุนใน Startup ด้วย

CVC ที่ Active และน่าจับตามอง

Viettel ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของประเทศเวียดนาม

FPT Venture (Pre-Seed) อีกหนึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศ เน้นลงทุนในระดับ Pre-Seed โดยนับเป็น CVC เอกชนในเวียดนาม

Incubator และ Accelerator

โครงการสนับสนุน Startup ทั้งในรูปแบบ Incubator และ Accelerator ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและบริษัทเอกชนข้ามชาติเป็นสัดส่วนมากกว่า ซึ่งโครงการที่น่าสนใจ

Vietnam Silicon Valley เป็นทั้ง Accelerator และนักลงทุน ดำเนินการจัด Bootcamp ตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันมี Alumni ทั้งหมด 52 ราย ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่าง Ho Chi Minh City Department of Science and Technology

VIISA เป็น Accelerator และนักลงทุน Seed Stage จากการสนับสนุนโดย FPT Ventures และ Dragon Capital มี Alumni ที่น่าสนใจอย่าง Wisepass Startup ตัวแทนจาก CLMV ที่เข้ารอบ Grand Finale Pitching ในงาน Techsauce Global Summit 2018 ที่ผ่านมา

Hatch! Ventures วางตัวเป็น Vietnam Startup Ecosystem Builder ที่ดำเนินโครงการ Accelerator โดยมี Partner ที่น่าสนใจอย่าง UNDP และ Vietnam Mentor Initiative

Topica Founder Institute หนึ่งใน Startup Ecosystme Builder ที่มีศูนย์กลาง ณ เมืองฮานอย บ่มเพาะ Startup มาแล้วกว่า 70 ราย ซึ่ง 1 ใน 3 ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบต่อๆ ไปเป็นมูลค่ารายละ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Co-working Space ที่น่าจับตามอง

Co-Working Space ยังคงเป็นกลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อน Community ของ Startup Ecosystem ซึ่ง Co-Working Space ที่โดดเด่นในเวียดนามมีดังนี้

Circo Co-Working Space ที่มีฐานอยู่ที่เมือง Ho Chi Minh City เป็นสำนักงานของ Startup ทั้งในเวียดนามและจากต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอื่นๆ

sYs Hatch! Nest Co-Working Space เมือง Hanoi ตั้งอยู่ในศูนย์สนับสนุน Startup ที่มีชื่อว่า Supporting Center for Youth Startups

Saigon Innovation Hub เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเปิดเป็น Co-Working Space นับเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับการเข้าถึง Startup Ecosystem ที่เวียดนาม

ภาครัฐฯ ที่ส่งเสริม Ecosystem

Saigon Innovation hub หน่วยงานที่จัดตั้งเมื่อปี 2016 เพื่อส่งเสริมแผนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ปี 2025 ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขนาดเล็กและกลาง

กระทรวงวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม โดยมีแผนงานเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีของประเทศอย่างชัดเจน พร้อมกับเป็นผู้สนับสนุน Ecosystem ผ่านการจัดงานต่างๆ ด้วย

Business Startup Support Centre หน่วยงานสนับสนุนธุรกิจ Startup ที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการประชาชนแห่ง Ho Chi Minh City (People’s Committee of HCMC) เน้นส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีทักษะพร้อมเป็นผู้ประกอบการ

Mekong Business Initiative หน่วยงานที่รัฐบาลเวียดนามร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ลาว กัมพูชา และพม่า เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศในลุ่มน้ำโขง

Vietnam Silicon Valley เป็นหน่วยงานที่เกิดจากการสนับสนุนของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงการเงิน และกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ร่วมกับภาคเอกชน มีหน้าที่สนับสนุนโดยตรงผ่านบทบาท Accelerator และ VC

Nguyen Phi Van, Chair Woman - Board of Advisor, Saigon Innovation Hub

Event ที่น่าสนใจในเวียดนาม

TechFest Vietnam งานแสดงนวัตกรรมประจำปีของประเทศเวียดนาม มุ่งเป้าส่งเสริมเทคโนโลยีและผลักดันการพัฒนานวัตกรรมโดย Startup ครบทั้ง Ecosystem

WHISE (Week of Ho Chi Minh City Innovation, Startups and Entrepreneurship) จัดขึ้นที่ Ho Chi Minh City เน้น เป็นอีกหนึ่งงานแสดงด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ Startup ที่น่าสนใจในเวียดนาม

Hatch! Fair งานสัมมนาของผู้ประกอบการนานาชาติ (International Entrepreneur Conference) ที่จัดขึ้นใน Ho Chi Minh City เป็นส่วนหนึ่งของงาน WHISE ที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด

Startup Day จัดโดย Business Startup Support Centre จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 รวบรวมผู้ประกอบการและนักลงทุนจำนวนมากไว้ในงานเดียว นับเป็นงาน Startup Conference ที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนควรหาช่องทางการลงทุนในเวียดนาม

Vietnam Frontier Summit งาน Conference ด้าน Deep Technology  จัดที่เมือง Hanoi เน้นที่บรรดาเทคโนโลยีอย่าง Artificial Intelligence, Blockchain, Argmented Reality/Virtual Reality และ Internet of Things ในมุมที่ก่อ Impact กับอุตสาหกรรมต่างๆ

ข้อแนะนำเพื่อการเข้าร่วม Vietnam Startup Ecosystem

  • หา Partner ในประเทศ หาก Startup ต้องการขยายตลาดมายังประเทศเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญในประเทศต่างแนะนำว่าให้คุณมองหา Partner ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกรรมต่างๆ ราบรื่นยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ควรส่งทีมมาดูแลการดำเนินงานต่างๆ เอง
  • Scale จากต่างประเทศก่อนเพื่อบุกตลาดเวียดนามอย่างจริงจัง เนื่องจาก VC และ Accelerator ในเวียดนามเน้นการบ่มเพาะ Startup ในประเทศมากกว่า การเข้าไป Scale ที่เวียดนามเพื่อหวังว่าออกสู่ตลาดระดับโลกนั้นอาจไม่ค่อยเหมาะเท่าไร แต่หากต้องการเข้าไปเพื่อบุกตลาดเวียดนามอย่างจริงจังโดย Scale ตัวเองมาระดับหนึ่งก่อนก็นับว่าเป็นกลยุทธที่ดี เพราะมีขนาดตลาดค่อนข้างใหญ่ด้วยจำนวนประชากรและการใช้งานเทคโนโลยีที่ขยายตัวมากขึ้น
  • ศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียด เวียดนามเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม จึงมีเงื่อนไขและข้ออนุญาตเกี่ยวกับธุรกิจที่แตกต่างออกไป ผู้ที่จะเข้าตลาดเวียดนามจึงควรศึกษาในส่วนนี้ให้ละเอียดด้วย โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจ้างงาน การเงิน และประเภทของกิจการที่รัฐอนุญาต
  • เข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมชาวเวียดนาม ประชากรเวียดนามมีความสามารถด้านเทคโนโลยี จึงเหมาะกับการเข้ามาดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างมาก การทำความเข้าใจบุคลิกและวัฒนธรรมของชาวเวียดนามจะทำให้การผลักดันงานโดยคนเวียดนามทำได้ดีขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Topica Founder Institute (TFI), tiki.vn, CyberAgent Ventures, ESP Ventures, Circo, CP Vietnam และ Saigon Innovation Hub

ขอขอบคุณ True Incube ที่เอื้อเฟื้อการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลในครั้งนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมคนสหรัฐฯ เดือดร้อนกับการแบน TikTok ? 3 เหตุผลที่ TikTok สำคัญกับชาวสหรัฐฯ มากกว่าที่คิด

เจาะลึก 3 เหตุผลที่การแบน TikTok อาจส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันมากกว่าที่คิด ทั้งด้านเศรษฐกิจ อาชีพ และการเชื่อมโยงในยุคดิจิทัล...

Responsive image

รู้จัก Physical AI เอไอยุคใหม่ที่ Jensen Huang กล่าวถึงคืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน CES 2025 คือการที่ Jensen Huang ซีอีโอของ NVIDIA ได้มีการพูดถึงยุคต่อไปของ AI นั่นก็คือ ‘Physical AI’ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญยิ่งที่ AI กำลังจะเข...

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...