ปรับ Mindset คน เพื่อ เปลี่ยนองค์กรให้อยู่รอด ด้วย Workplace Transformation | Techsauce

ปรับ Mindset คน เพื่อ เปลี่ยนองค์กรให้อยู่รอด ด้วย Workplace Transformation

เทรนด์ของการออกแบบพื้นที่ทำงานขององค์กรธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างมีนัยสำคัญ  และกล่าวได้ว่า เรื่องการออกแบบพื้นที่ทำงาน หรือเวิร์คเพลส (Workplace) กำลังมีบทบาทและมีอำนาจมากขึ้นในด้านการทำงานเพื่อสร้างผลลัพธ์และประสิทธิผลของงานให้เกิดขึ้นในทางบวก

ยิ่งเมื่อทุกวันนี้โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ด้วยแล้ว ยิ่งส่งผลให้การออกแบบเวิร์คเพลสมีความจำเป็นไม่น้อย และเป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรธุรกิจเกิดการปรับตัวเพื่อนำพาธุรกิจให้อยู่รอดได้ ไม่ถูกแทรกแซงหรือรับผลกระทบ (Disruption) จากโลกยุคใหม่ กล่าวได้ว่า นี่คือการก้าวเข้าสู่ เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Workplace Transformation) อย่างแท้จริง เพราะสมัยนี้การออกแบบหรือการดีไซน์พื้นที่การทำงาน ไม่เพียงแต่เป็นแค่การใช้แนวคิดออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับคน หรือเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนคนที่มีอยู่ หรือออกแบบเพื่อความสวยงามเท่านั้น  แต่ยุคเศรษฐกิจใหม่ที่อะไรก็แล้วแต่ที่เราคาดไม่ถึงจะเป็นแห่งการดิสรัปชั่น (Disruption) เราได้ตลอดเวลา การออกแบบที่ดีก็คงต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์เป็นสำคัญด้วย

จากซ้าย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), นายสมบัติ งามเฉลิมศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง PAPERSPACE (เปเปอร์สเปซ) Interior Design Start-up สัญชาติไทย ที่มีโอกาสได้ออกแบบสำนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก และ นายอาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร HUBBA Thailand

ต้องดูที่คนก่อนทำปรับสถานที่ทำงาน

คุณสมบัติ งามเฉลิมศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง เปเปอร์สเปซ (PAPERSPACE) บริษัทออกแบบของไทยที่เติบโตและสร้างชื่อเสียงในสิงคโปร์ ให้มุมมองไว้อย่างน่าคิดว่า “ก่อนที่เราจะออกแบบเวิร์คเพลส หรือว่าเราจะทำ เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น เราต้องค้นหาแกนหลักให้ได้ก่อนว่า เราจะเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร เพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือเปลี่ยนเพื่อต้องการลดต้นทุนการดำเนินงาน หรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่  เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีวัตถุประสงค์อะไรให้ชัดเจน ดังนั้นหน้าที่ของนักออกแบบจะต้องค้นหาแกนหลักให้ได้ก่อน”

ขณะที่ปัจจัยหลักของการทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่คุณสมบัติย้ำเสมอก็คือ คน ที่ต้องยอมรับและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงคนในทุกระดับขององค์กร ทรัพยากรบุคคลถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่อาจลืมไปว่า พื้นที่การทำงานที่เหมาะสมก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้องค์กรขันเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงเช่นกัน

“เรื่องของคน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะสังคมไทยของเราตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังคงยึดติดกับอำนาจ และตำแหน่ง โดยเฉพาะถ้าใครเป็นหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าขององค์กร กลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีความคิดเสมอว่า ต้องมีห้องทำงานส่วนตัว มีพื้นที่ส่วนตัวขนาดใหญ่ มีโต๊ะส่วนตัว มีที่เก็บของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงความคิดและค่านิยมได้ยาก แต่หากสามารถทำให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่รูปแบบใหม่ได้ ก็สามารถที่จะทำการออกแบบเวิร์คเพลสใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

มีการประมาณการณ์ไว้ว่า ในปี 2563 ประชากรเกินกว่าครึ่งหนึ่งในองค์กรจะเป็นคนในยุคเจนเนอเรชั่นวาย (Generation Y) ซึ่งคนกลุ่มนี้มีระบบความคิด รวมถึงค่านิยมในการทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างมาก  การออกแบบพื้นที่การทำงานในอนาคตจึงต้องออกแบบมาโดยคำนึงถึงคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ใช้แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงอารมณ์ (Emotional) มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย (Functional)

สังเกตได้ว่า องค์กรหลายแห่งยุคนี้เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่ทำงานให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น และลดขนาดของพื้นที่ส่วนตัวของพนักงานหรือแม้แต่ผู้บริหารระดับสูงให้น้อยลง มีโต๊ะทำงานเล็กลง เพื่อกระตุ้นให้พนักงานหันมาใช้พื้นที่ส่วนกลาง ถือเป็นการสร้างโอกาสในการพบปะ พุดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดกัน แทนที่จะหลบอยู่แต่ในมุมหรือโต๊ะของตัวเอง เพื่อจุดประกายความคิดใหม่ๆ แทนทีจะทำงานลำพังส่วนตัว ขณะเดียวกันพื้นที่ของสำนักงานก็มีแนวโน้มที่ลดขนาดลงเรื่อยๆ แต่ใช้การกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งเป็นที่มาของ Co-Working Space นั่นเอง

สำหรับองค์กรใหญ่ๆ ระดับโลกอย่าง กูเกิ้ล (Google) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็ยังให้ความสำคัญกับการทำ Workplace Transformation มีการออกแบบพื้นที่การทำงานแบบใหม่ที่หลุดจากกับดักเดิมๆ ซึ่งจากประสบการณ์ที่คุณสมบัติเคยออกแบบพื้นที่สำนักงานให้ทั้งสององค์กรนี้ไม่ว่าจะเป็น กูเกิ้ลในมะนิลา (ฟิลิปปินส์)  หรือจาการ์ตา (อินโดนีเซีย)  หรือในส่วนของเฟซบุ๊กเองนั้น พบว่า

“สไตล์ออฟฟิศของ เฟซบุ๊ก ที่ดูแล้วเหมือนกับว่าจะยังสร้างไม่เสร็จ แต่จริงๆ เป็นแนวคิดขององค์กรที่ต้องการสื่อสารให้พนักงานรู้สึกว่า ไม่ว่าเฟซบุ๊กจะเติบโตไปเท่าไร หรือในปัจจุบันที่อายุมากกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม แต่ตอนนี้เราเพิ่งเดินทางมาได้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เรายังเหลือระยะทางต้องเดินอีก 99 เปอร์เซ็นต์ซึ่งหมายความว่าเราต้องพัฒนาและก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง เป็นการกระตุ้นพนักงานว่าต้องพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ถึงเป้าหมาย”

ขณะที่ด้านของ กูเกิ้ล ก็มีแนวความคิดที่ว่า ผลงานหรือไอเดียดีๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่โต๊ะทำงาน หรือโต๊ะส่วนตัว แต่มักเกิดขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม กูเกิ้ลจึงลงทุนที่จะสร้างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกและความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องประชุม

คุณสมบัติ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ในเมืองไทยองค์กรส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เห็นความสำคัญหรือเข้าใจเรื่อง เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น ว่าคืออะไร สำคัญอย่างไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน  เพราะหลายแห่งยังยึดติดกับระบบแนวคิดเดิม อาทิ หัวหน้าต้องมีห้อง พื้นที่ต้องใหญ่ และห้องต้องอยู่มุมมีหน้าต่าง ทั้งๆ ที่องค์กรต้องตระหนักให้มากและต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่รอดได้ในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน

“TDRIความท้าทายการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม องค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงและน่าชื่นชมก็มีให้เห็น ดังเช่นกรณีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ยอมรับว่า  “เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่การทำงานของตัวเองมานานกว่า 30 ปี  ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก แม้แต่ผู้คนเองก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ต้องยอมรับว่า อนาคตของทีดีอาร์ไอ จะต้องเข้าสู่ยุคของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) แล้ว คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่เข้ามารับช่วงทำงานต่อจากเรา”

“ตอนแรกที่เราคิดจะทำเวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น ก็มีการต่อต้านพอสมควร  เพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงใหม่หมด แต่สุดท้ายก็มีการยอมรับและปิดออฟฟิศนานถึง 6 เดือน เพื่อการปรับเปลี่ยนใหม่ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ ทีดีอาร์ไอ ต้องเผชิญก็คือเรื่องของ คน เช่นเดียวกัน ที่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนมุมความคิดของพื้นที่การทำงานให้ได้ เพราะยังมีความคิดที่ต้องมีพื้นที่ส่วนตัวเองเป็นหลัก มีอาณาจักรของตัวเอง

แต่หลังจากที่ให้ทางเปเปอร์สเปซเข้ามาออกแบบและวางผังของพื้นที่สำนักงานใหม่ ทำให้ภาพรวมดูดีขึ้น บรรยากาศดูทันสมัย และมีความรู้สึกที่น่าอยู่มากขึ้น โดยเน้นสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้พนักงานได้มาใช้เป็นหลัก มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว

สำหรับสิ่งที่ได้กลับมานั้น ดร.เดือนเด่น สรุปว่า  “การใช้พื้นที่ในสำนักงานของเรา ทุกอย่างดูเป็นระบบระเบียบมากขึ้น  เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น พื้นที่ดูโล่งโปร่งตาสบาย ไม่อึดอัดไม่มีอะไรมากั้นสายตา พื้นที่กว้างขวางและมีส่วนกลางที่ ทำประโยชน์ได้มากกว่าเดิม ที่สำคัญในแง่ของผลผลิตหรือประสิทธิภาพการทำงาน ส่งผลต่อ Productivity ที่มากขึ้นด้วย”

“HUBBA” ชี้ต้องปรับไมนด์เซ็ท-ชูกลุ่มมิลเลนเนียล

คุณอาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร HUBBA Thailand ฉายภาพว่า  สิ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ มีทั้งขนาด (Scale) และความเร็ว (Speed) หมายความว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นไม่จำเป็นต้องมีปริมาณที่มากมาย หรือมีขนาดใหญ่โต แต่ต้องมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีคุณค่า มีหลายปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ อาทิ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ Block Chain ซึ่งน่าจับตามองว่าพวกนี้จะเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงเราอย่างไร แต่ที่สำคัญคือจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแบรนด์ ที่จะทำให้ความสำคัญของแบรนด์ลดลงไป นี่คือสิ่งแบรนด์ต้องคำนึงถึงและตั้งรับให้ได้

ทว่า ปัจจัยหลักที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ก็คือ Millennials Generation คนกลุ่มนี้จะสำคัญมาก ซึ่งแตกต่างจากคนในรุ่นก่อนนี้ ทั้งแนวความคิด ความเชื่อ ซึ่งคาดว่าในปี ค.ศ. 2020 จะมีถึง 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดยจะเป็นกลุ่มคนที่ควบคุมการใช้จ่ายทั่วโลกที่ซึ่งมูลค่ามากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาเล่นการเมือง คุณอาร์ชวัส วิเคราะห์ว่า คนกลุ่มดังกล่าวต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ  เพื่อให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์และสร้างสรรค์เศรษฐกิจยุคใหม่ได้ โดยไม่มีรูปแบบหรือความคิดเดิมๆ มาเป็นตัวสกัดกั้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จาก New Economy ได้หากมีการตั้งตัวและปรับตัวได้ทัน ซึ่งองค์กรใหญ่ๆ ควรเตรียมพร้อมในการรับมือที่จะถูกดิสรับชั่นด้วยการปรับมายด์เซ็ต (Mind Set)ผู้บริหารระดับสูง สำหรับการปรับเปลี่ยนข้อห้ามต่างๆ และเรื่องของ Innovation หากซีอีโอหรือผู้บริหารระดับสูงไม่มีวิชั่นหรือกลยุทธ์ที่ชัดเจนว่าจะพาองค์กรเดินต่อไปอย่างไร ก็ถือว่าเป็นการดิสรับชั่นตัวเองแล้ว

Creative Economy พลังสร้างเศรษฐกิจใหม่

ทางด้าน คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ซีอีเอ (CEA)  มองว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy เป็นความหวังสำคัญที่จะสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา

“หลายประเทศที่มีการเติบโตอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์  เพราะมีการบริหารจัดการที่มีแนวคิดในการทำที่ดี  อาทิ หากใครมีการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทีดีน่าสนใจ  รัฐบาลก็จะมีการประกาศให้รางวัลเป็นสิ่งตอบแทน (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้เอกชนทำต่อ ไม่ว่าจะเป็นออกมาตรการลดภาษีต่างๆ หรือสนับสนุนการดำเนินงาน ด้วยการให้งบประมาณจำนวนหนึ่ง   ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์” คุณกิตติรัตน์ กล่าว

จากบทสนทนาที่เกิดขึ้นจากงานเสวนา Corporate Transformation for New Economy นั้น ทำให้เห็นถึงอนาคตของการเตรียมเผชิญกับเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญของแรงขับเคลื่อน การให้ความสำคัญกับ “คน” ในมิติต่างๆ ย่อมสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่ง Workplace Transformation เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย ความสำเร็จในทุกๆ เรื่องย่อมเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจเองก็เช่นเดียวกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...