JWD ฉีกสู่ New S-curve ด้วยบริการ Art Space เพื่อลูกค้ากระเป๋าหนัก | Techsauce

JWD ฉีกสู่ New S-curve ด้วยบริการ Art Space เพื่อลูกค้ากระเป๋าหนัก

Art Space คือบริการใหม่ที่มุ่งตอบโจทย์นักสะสมกระเป๋าหนัก ที่ JWD (บมจ. เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์) ผู้ให้บริการ logistics ของไทยเล็งเห็นโอกาสที่จะช่วยสร้างการเติบโตด้าน B2C ควบคู่ขยายเครือข่ายบริการ Self-Storage ให้กว้างขึ้น สานต่อแผนงาน transform องค์กรในวาระครบรอบ 40 ปี เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายปรับสัดส่วนธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากด้าน logistics เป็น 50% จากรายได้รวมภายในปี 2565

art space-self storage-jwd

กลุ่มบริษัท JWD ก่อตั้งเมื่อปี 2522 โดยวิทยา บัณฑิตกฤษดาที่เริ่มจากให้บริการขนย้ายบ้านและสำนักงาน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบริการจัดเก็บเอกสาร ก่อนต่อยอดสู่ logistics และซัพพลายเชนเต็มรูปแบบบริหารจัดการคลังสินค้าทุกประเภท ขนส่งและกระจายสินค้า และพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ logistics

“คุณพ่อผมสร้างธุรกิจนี้ เพราะเห็นว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ต้องใช้บริหารด้าน logistics เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน จึงน่าจะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและมีอนาคตกว่าธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะถนัดด้านงานบริการมาโดยตลอด” จากการบอกเล่าของชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แห่ง JWD ผู้ที่ปัจจุบันเป็นทั้งทายาทรุ่นสองและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สัดส่วนราว 21%

ชวนินทร์เล่าถึงวิวัฒนาการของกลุ่ม JWD ที่ผ่านมาว่า การพัฒนาธุรกิจเป็น 5 ช่วงหลัก ๆ แม้ในช่วงแรกยังมีตลาดที่เล็กและยังไม่ลงลึกนัก จนช่วงที่สองตั้งแต่ปี 2536 ที่เริ่มบริหารคลังสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยมีเรื่องนวัตกรรมและ IT ต่าง ๆ มาช่วย เพื่อให้สะดวกและแม่นยำ

จากที่เราเริ่มพัฒนา software ด้านบริหารคลังสินค้าขึ้นเองในบริษัท กระทั่งมีการตั้งบริษัท IT ขึ้น แต่ปัจจุบันทีมงานพัฒนาด้าน IT ของเราต้องปรับบทบาทจากผู้พัฒนาเป็น SI ที่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้กับงานและสามารถต่อยอดได้ด้วย

กระทั่งช่วงที่สามก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือระหว่างปี 2548 ถึง 2558 ที่ตัวเขามองว่าเป็นระยะเวลาที่บริษัทมีการเติบโตสูงสุด เนื่องจากเป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเติบโตมาก จากทั้งการลงทุนและนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ มาถึงช่วงที่สี่หลังเป็นบริษัทมหาชนแล้วก็เดินหน้าที่จะเป็น regional player จึงเริ่มขยายออกไปเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นจนมีเครือข่ายใน 9 ประเทศของอาเซียนดังเช่นปัจจุบัน

โดยปัจจุบันมีบริษัทในเครือ 18 บริษัท ที่ครอบคลุมใน 4 กลุ่ม ประกอบ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจไอที และธุรกิจอินเวสต์เม้นต์ โดยให้บริการครอบคลุม ทั้ง 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาว อินโดนีเซีย ไต้หวัน และล่าสุดในประเทศเวียดนาม ส่วนประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย จะดำเนินการผ่านพาร์ทเนอร์ของ JWD

art space-self storage-jwd

เปลี่ยนโครงสร้างปรับรายได้

ทั้งนี้เพื่อให้ JWD ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังยืนหยัดมาถึง 40 ปี และเข้าสู่ช่วงที่ 5 ที่นับตั้งแต่ปี 2562 จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอีกครั้ง โดยบริษัทยังคงมุ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียน (ASEAN Top Specialized Supply Chain Solutions) ต่อไป พร้อมมีการวางโครงสร้างธุรกิจใหม่สำหรับ 4 กลุ่ม

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ มีเพิ่มบริการที่หลากหลายเพื่อครอบคลุมบริการครบวงจรรองรับลูกค้าทั้งแบบ B2B และ B2C ได้แก่ การขนส่งเครื่องจักรกลหนักที่ตอบรับโครงการลงทุนต่าง ๆ ใน EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) บริการขนส่งอีคอมเมิร์ซ บริการ Self-Storage (ห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า) และ JWD Art Space (บริการจัดเก็บและแสดงงานศิลปะครบวงจร) นอกจากนี้มีแผนขยายโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์อื่น ๆ เช่น การให้บริการท่าเทียบเรือ ปัจจุบันบริษัทฯ เริ่มให้บริการยกขนตู้รถไฟบริเวณท่าเรือแหลมฉบังแล้ว

ด้านกลุ่มธุรกิจอาหาร ให้บริการฟู้ดซัพพลายเชนโซลูชั่นส์ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบสำหรับลูกค้า กระบวนการแปรรูปและจัดเตรียมวัตถุดิบพร้อมปรุง เช่น ผักหั่นฝอย ไข่เหลวบรรจุขวด อบขนมปังและเบอเกอรี่ สำหรับกลุ่มลูกค้า Quick Services Restaurants ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ บริการจัดเก็บและกระจายสินค้า รวมทั้งเป็นตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกี่ยวกับอาหารจากทั่วโลก

ธุรกิจไอที ใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจ ซึ่งมุ่งด้านการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติที่สำคัญ (Business Intelligence) เพื่อใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลางช่วยให้สามารถตัดสินใจในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สามารถพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้า รวมทั้งสร้างให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า

ในฝั่งธุรกิจอินเวสต์เมนต์ เน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งการลงทุนใหม่ ๆ ในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคต ที่ชวนินทร์มองว่าเป็นอีกช่องทางที่จะทำกำไรให้แก่กลุ่ม JWD นอกเหนือจากธุรกิจอื่น ๆ

ขณะที่แนวทางลงทุนในธุรกิจ Startup นั้น ชวนินทร์เล่าว่าจะเน้นในรูปแบบของ strategic partner เพื่อนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเสริมการดำเนินกิจการของกลุ่ม JWD มากกว่าที่จะเน้นในแง่สร้างการเติบโตให้กิจการโดยรวม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยกับ Startup รายหนึ่งที่ทำ platform เรื่องการซื้อขายของสด ที่จะมาช่วยเสริมธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นและการขนส่งสินค้า

“สำหรับช่วงที่ 5 นี้ เราต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การบริหารท่าเรือและการชนส่งทางเรือ การขนส่งทางรถไฟ เป็นต้น รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายทั้ง 9 ประเทศจากโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทไปลงทุน”

ทั้งนี้เพื่อให้สุดท้ายแล้วจะสามารถปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหาร ธุรกิจไอที และธุรกิจอินเวสต์เมนต์ เติบโตเพิ่มจนเป็น 50% ของรายได้รวมภายในปี 2565 เช่นเดียวกับที่ต้องการให้รายได้จากฝั่งต่างประเทศเติบโตขึ้นจากที่ 12% ในปัจจุบันเป็นไม่ต่ำกว่า 35% ภายในปี 2565 ด้วย

สำหรับเป้าหมายระยะสั้นของการ transform ในครั้งนี้ ชวนินท์มองว่าในช่วง 1-2 ปีแรก จะเน้นให้ทีมงานที่รับผิดชอบดูแลในแต่กลุ่มธุรกิจและแต่ละประเทศจะสามารถผลักดันตัวเลขต่าง ๆ ให้ได้ตามที่มอบหมายไว้

ในเมืองไทย (ยอดขาย) ก็น่าจะจบได้ราว 4 พันล้านบาทภายในปีนี้

art space-self storage-jwd

เสริม B2C ด้วย JWD Art Space

“ตลาด B2B เริ่มอิ่มตัว และยังไม่มีอะไรใหม่ ๆ จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการขยาย B2C มากขึ้น เพื่อมาตอบโจทย์ด้าน e-Commerce มากขึ้น” จากมุมมองนี้เองที่ทำให้ JWD เริ่มให้บริการธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัว หรือ Self-Storage ในนามของ บริษัท สโตร์ อิท! แมเนจเม้นท์ จำกัด ตั้งแต่เมื่อปี 2557 ซึ่งร่วมมือกับบริษัท สโตร์ อิท! แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้นำด้านธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัวในประเทศสิงค์โปร์ โดยปัจจุบันมี 2 สาขา (สยามและศรีกรีฑา) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 9 สาขาในปีหน้า และขึ้นไปถึงราว 15 สาขาในปี 2564

ทั้งนี้บริการ self storage เน้นให้ความสะดวกสบายกับลูกค้าทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในเมือง และมีการนำนวัตกรรมมาใช้ โดยสามารถจัดการทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งทางเว็บไซต์และ App ได้

ล่าสุดกำลังจะเปิดให้บริการ JWD Art Space (บริการจัดเก็บและแสดงงานศิลปะครบวงจร) ในพื้นที่ถึง 1,300 ตารางเมตรหลังห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อาร์ท สเปซ จํากัด ซึ่งไม่เพียงประกอบธุรกิจให้บริการรับฝากสินค้า รูปภาพ ผลงานทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้เช่า รูปภาพ และผลงานทางศิลปะ และให้บริการจัดแสดงนิทรรศการรูปภาพ หรือ ผลงานทางศิลปะต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้เพื่อเน้นตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนักสะสมงานศิลปะที่มีกำลังซื้อสูง โดยจะมีระบบ platform ที่เชื่อมโยงระหว่างตัวศิลปินทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า หอศิลป และนักสะสม ที่ JWD Art Space จะเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่พัฒนา

โดยชวนินท์ในฐานะที่เป็นนักสะสมงานศิลปะอยู่ด้วย มองว่า art space เป็น pain point ของนักสะสมทุกคนที่ต่างก็มีภาพวาดกันเป็นร้อยชิ้น แต่บ้านส่วนใหญ่ก็ติดกันได้ไม่เกิน 10 ชิ้น เพราะภาพวาดมักมีขนาดใหญ่ จึงต้องการพื้นที่เก็บที่เหมาะสม มีผู้เชี่ยวชาญดูแลทั้งเรื่องการขนส่งและซ่อมแซม นอกจากนี้ยังมีระบบให้บริการแบบครบวงจรผ่าน App จึงช่วยให้บริหารจัดการและเรียกดูข้อมูลงานศิลปะที่เก็บไว้กับ JWD Art Space ได้สะดวกและง่าย พร้อมทั้งมีการประกันภัยงานศิลปะให้ด้วย

“เราไม่ได้คาดหวังว่าธุรกิจ art space จะเติบโตมากแต่คิดว่าไม่น่าช้า และยังสามารถขยายไปยังตลาดเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าในอีก 2-3 ปีหลังจากเปิดตัวแล้วก็น่าจะได้ขยายพื้นที่เพิ่มอีก เพราะกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการอยู่แล้ว อีกทั้ง JWD ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และเราโชคดีที่ได้ทีมงานซึ่งมีประสบการณ์ถึง 25 ปีแล้วมาดูแล”

ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคตบริษัทยังมีแผนพัฒนาห้องเก็บของนิรภัย เพื่อให้บริการจัดเก็บสิ่งของมีค่า ที่ชวนินท์ยืนยันว่าปลอดภัยยิ่งกว่าของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนให้บริการ Store It! Express รับส่งของ พร้อมนำมาจัดเก็บให้ถึงพื้นที่จัดเก็บ

“พยายามเน้นเรื่อง experience ที่ว่าทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึก wow และเหนือกว่าที่คาดหวัง”

สุดท้ายแล้วไม่ว่าปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร ชวนินท์ก็มั่นใจว่าธุรกิจของ JWD ในเมืองไทยจะโตได้ดีกว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP อย่างแน่นอน ทั้งจากจุดแข็งด้านความหลากหลายของบริการ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการกระจายความเสี่ยงด้านเครือข่ายธุรกิจที่ครอบคลุมหลายประเทศ และมีการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

วันนี้เป็นเกมของปลาใหญ่ ซึ่งโชคดี JWD ไม่ได้เล็ก แม้จะไม่ใหญ่เท่าต่างชาติ เช่น จีน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...