ตู้บุญเติมเพิ่ม e-KYC ยืนยันตัวตนแบบ Online ได้ไตรมาสแรกปีนี้ | Techsauce

ตู้บุญเติมเพิ่ม e-KYC ยืนยันตัวตนแบบ Online ได้ไตรมาสแรกปีนี้

  • บริการ e-KYC ช่วยพิสูจน์ตัวตนหน้าตู้บุญเติม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นบริการใหม่ตีคู่ขายซิมการ์ด ซึ่งจะเปิดตัวภายในไตรมาส 1 ปี 2562
  • ขับเคลื่อน EV Charger (ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า) บริการทั่วถึงทั้งสถานที่ทำงานและพักอาศัย
  • คว้าโอกาสนำ AI มาวิเคราะห์การใช้งานและพฤติกรรมลูกค้าจากฐานข้อมูล Big Data ซึ่งสะสมกว่า 10 ปี มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงใจ
  • ฉีกจากธุรกิจหลักด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และ นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) ที่คิดอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่เกิน 28% ต่อปี และ 36% ต่อปีตามลำดับ

ตู้บุญเติมที่ติดตั้ง 130,000 จุดทั่วเมืองไทย ซึ่งให้บริการโดยบมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส มากว่า 10 ปีผ่านการเรียนรู้และพัฒนา Technology อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดบริการ e-KYC ช่วยพิสูจน์ตัวตนสำหรับทำธุรกกรรมกับธนาคารพาณิชย์ พร้อมเดินหน้าใช้ศักยภาพจากเครือข่ายตู้บุญเติมขายซิมการ์ดแบบออนไลน์ รวมถึงเพิ่มเติม EV Charger (ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า) รับกระแสรถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลาย ตลอดจนดึงประโยชน์จากฐานข้อมูล Big Data มาวิเคราะห์ด้วย AI Robot เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โดนใจลูกค้ารายบุคคล

ิboonterm-ekyc

ตู้สีส้มสดใสที่เห็นเด่นชัดได้จากระยะไกลและมีชื่อที่จำได้ติดหูว่า “ตู้บุญเติม” บริหารจัดการโดย บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART ในรูปแบบของการเป็นผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการรับชำระเงินออนไลน์ผ่านเครือรับชำระเงินอัตโนมัติภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตู้บุญเติม” ซึ่งเมื่อไตรมาส 3 ของปี 2561 FSMART ทำรายได้ราว 2.7 พันล้านบาท โดยมีผู้นำคนใหม่อย่าง ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี ซึ่งเพิ่งรับหน้าที่กรรมการผู้จัดการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2561 และเขาเคยเป็น CFO ของบริษัทมาตั้งแต่ช่วงปี 2557 ที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ บมจ. ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น หรือ FORTH (ที่เดิมชื่อบริษัท จีเนียส คอมมูนิเคชั่น ซีสเต็ม จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตตู้สาขาโทรศัพท์ภายใต้เครื่องหมายการค้า FORTH) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ FSMART จะแตกร่างธุรกิจตู้บุญเติมดังเช่นปัจจุบันนั้น

ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ FORTH อย่าง พงษ์ชัย อมตานนท์ ก็ผ่านการปรับตัวและเรียนรู้ เพื่อฝ่าอุปสรรคกับโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาไม่น้อย จากยุคแรกที่ทำผลงานสร้างชื่อด้วยระบบตู้โทรศัพท์ PABX ฝีมือคนไทยขึ้น เมื่อปี 2532 มาถึงตอนนี้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เด็กรุ่นใหม่แทบไม่เคยได้เห็นว่าหน้าตาเป็นเช่นไร

ครั้นเมื่อถึงยุค Internet และ Smart Phone เริ่มร่ายเวทมนต์จนสั่นสะเทือนไปทุกทิศทาง FORTH ก็ขยับตัวครั้งใหญ่เพื่อให้กิจการอยู่รอดด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้น จนแจ้งเกิดให้กิจการในเครืออย่าง FSMART กลายเป็นผู้ให้บริการตู้บุญเติมอย่างปัจจุบัน และแน่นอนด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งนวัตกรรมยังเป็นแรงส่งให้ FSMART ต้องเดินหน้าพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นทุกที

สำหรับบริการผ่านตู้บุญเติมนั้น ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ด้วยการหยอดเหรียญหรือธนบัตรและทำรายการชำระเงินด้วยตนเองบนเครื่องชำระเงินออนไลน์ผ่านระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงข้อมูลผ่านเครือข่ายซึ่งติดตั้งไว้ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนธุรกรรมผ่านตู้อยู่ที่ราว 2.2 ล้านรายการต่อวัน

ปัจจุบันมีตู้บุญเติมติดตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 130,000 จุด ตามชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศผ่านตัวแทนบริการ (Agent) ในระบบแฟรนไชส์และผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partners)  เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส แฟมิลี่มาร์ท สถานีบริการน้ำมัน ปตท. จิฟฟี่ LAWSON 108 สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น

โดย ตู้บุญเติม ทุกตู้เป็นระบบออนไลน์ (Online) ที่มีการเชื่อมต่อระบบ (Server) กับผู้ให้บริการโดยตรง ส่งผลให้ FSMART สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถตรวจสอบรายละเอียดการทำรายการได้ทันที (Real time) การตรวจสอบรายการย้อนหลังได้อย่างแม่นยำ ขณะที่การเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการบนตู้บุญเติมผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ด้วยบริการหลากหลายประเภท ได้แก่ ตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม 10” ตู้เติมเงินออนไลน์บุญเติม 10” พร้อมเครื่องชั่ง ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติเเละเติมเงิน บุญเติม เคาน์เตอร์เซอร์วิส ตู้กดน้ำดื่มสะอาดและเติมเงิน

ณรงค์ศักดิ์ ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า จริง ๆ แล้วตู้บุญเติมก็คือธุรกิจรับชำระเงินที่ใช้ตู้เป็นตัวกลางในการเก็บเงินให้ ที่เดิมเน้นในเรื่องการเติมเงินสำหรับโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก แล้วค่อยพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถชำระค่าบริการต่าง ๆ จนถึงวันนี้ก็ขยายไปถึงให้สามารถฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ โดยทุกตู้ที่ติดตั้งอให้บริการอยู่นั้นบริหารจัดการผ่านระบบ server กลางประหนึ่งเครือข่ายตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ที่รวมกันแล้วมีจำนวน 50,000 จุดเท่านั้น แต่ตู้บุญเติมมีถึง 130,000 จุดทั่วไทย

นอกจากนี้ จากศูนย์กลางสามารถสั่งการและดูสถานะต่าง ๆ ได้แบบ real time เช่น มีจำนวนเงินในตู้เท่าไร เป็นเหรียญเท่าไร เป็นธนบัตรเท่าไร การทำงานเเป็นอย่างไร ถ้าเสียแล้ววเกิดจากสาเหตุใด เป็นต้น ซึ่งด้วยศักยภาพของระบบเครือข่ายในขณะนี้สามารถรองรับธุรกรรมได้มากกว่า 1,000 รายการต่อนาที โดยมียอดเฉลี่ยที่ราว 2.2 ล้านรายการต่อวัน ซึ่ง 90% เป็นธุรรกรรมผ่านทางตู้บุญเติมในพื้นที่ต่างจังหวัด

จำนวน transaction ผ่านเครือข่ายตู้บุญเติมเทียบได้กับปริมาณธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางถึงใหญ่ได้เลย

เปิดตัว e-KYC ตีคู่ขายซิม

ภายในเดือนมกราคมปีนี้ FSMART ได้พัฒนาตู้บุญเติมรุ่นใหม่ที่เพิ่มฟังก์ชั่นซึ่งสามารถให้บริการ e-KYC หรือระบบการแสดงและยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งต่อยอดไปสู่การจำหน่ายซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือได้ด้วย นั่นคือตู้รุ่นใหม่นี้จะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มอีก 3 ประเภทคือ ช่องสำหรับเสียบบัตรประชาชน กล้องถ่ายรูป และตัวจ่ายซิม

สำหรับการบริการ e-KYC แม้เป็นการต่อเนื่องจากบริการอื่น ๆ แต่ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยเฉพาะในส่วนธุรกรรมกับธนาคาร ที่ยังจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตนให้ตรงตามบัตรประชาชนที่ใช้เป็นหลักฐาน ซึ่งบริการ e-KYC ที่หน้าตู้บุญเติมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่พยายามจะปรับลดสาขาและพนักงานเพื่อก้าวสู่ระบบดิจิทัล โดยเฉพาะการเปิดบัญชีที่เริ่มเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันบริษัทเจรจากับธนาคารพาณิชย์ 1 รายที่มีผู้เปิดบัญชีราว 4 แสนบัญชีต่อเดือน ซึ่งน่าจะเริ่มให้บริษัทอย่างชัดเจนได้ประมาณไตรมาส 1 ปี 2562

ขณะที่ในส่วนการจำหน่ายซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือนั้น ณรงค์ศักดิ์มองว่าเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสในการต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้จากตู้เติมเงินที่กระจายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง จากที่ FSMART เป็นผู้นำด้านการบริการเติมเงินมือถือ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานและพฤติกรรมของผู้ใช้ตู้เติมเงินบุญเติม รวมถึงได้มีข้อมูลของการจำหน่ายซิมมือถือในรูปแบบเติมเงินจากค่ายมือถือต่าง ๆ ที่มียอดขายต่อเดือนอยู่ที่ 3-4 ล้านซิมการ์ด

จากจุดนี้เองทำให้ FSMART เห็นโอกาสจึงให้บริษัทแม่อย่าง บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้พัฒนาและผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อจำหน่ายซิมการ์ดมือถือ ได้แก่ เครื่องอ่านบัตรประชาชน เครื่องไรท์ซิมมือถือ และกล้องถ่ายภาพเพื่อเชื่อมโยงกับตู้บุญเติม ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขโทรศัพท์ พร้อมลงทะเบียน และเมื่อดำเนินการทุกขั้นตอนเสร็จสิ้น ผู้ซื้อจะได้รับซิมการ์ดจากตู้และพร้อมใช้งานทันที

บริการ e-KYC และขายซิมการ์ด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของตู้บุญเติมให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีบริการกว่า 70 รายการ นอกจากตอบโจทย์ของผู้ใช้แล้วยังเป็นไปตามแนวทางที่จะผลักดันให้บุญเติมเป็นตู้ออนไลน์ที่ให้บริการครบวงจรมากที่สุด

boonterm-ev-charger

อนาคตใหม่กับ EV Charger

จากนี้เมื่อ Digital Disruption จะเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น ทำให้จากที่เคยขายแต่อากาศก็เริ่มขายสินค้าผ่านทางตู้บุญเติมมากขึ้น ซึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มไม่ทนกับการต้องรออะไรนานเกินไป และบริษัทต้องการแปลงทำเลดี ๆ ที่มีอยู่ 130,000 จุด ให้เป็นตู้อัตโนมัติที่ขายสินค้าได้มากขึ้น จึงมองว่าเครื่อง EV Charger น่าจะเป็นทางเลือกเหมาะสม

ณรงค์ศักดิ์เล่าว่า FSMART เล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังจะค่อย ๆ พลิกโฉมการใช้รถยนต์ในปัจจุบัน จากรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันไปเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่มาก

โดยบริษัทดำเนินการผลิตที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งแบบติดตั้งบริเวณออฟฟิศ คอนโด (Station) หรือติดตั้งที่บ้านพักอาศัย (Wall type) ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ให้ครบตามความต้องการของพื้นที่ใช้งานนั้น ๆ และมีระบบการเก็บเงินหรือชำระเงินผ่านทางแอพลิเคชั่น BeWallet ที่เป็นของบริษัทเอง รวมถึงการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นจากทางภาครัฐ เอกชน หรือภาคครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังต้องพิจารณาถึงสภาวะตลาดจากจำนวนรถที่เริ่มทยอยนำเข้ามาใช้งานและคำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ทั้งนี้หากตลาดเติบโตถึงระดับที่เหมาะสมแล้วทาง FSMART ก็พร้อมขยายการติดตั้งจุดให้บริการเพิ่มอย่างรวดเร็วได้ 2,000 ถึง 3,000 จุดต่อเดือน

ตอนนี้ในส่วนของ hardware ได้มีจำหน่ายไปบ้างแล้ว แต่ด้วยจำนวนรถ EV ในเมืองไทยยังไม่สูงมาก จึงไม่ได้ขยายเครือข่ายไปมากนัก แต่เชื่อว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าที่รถ EV ราคาถูกลงก็น่าจะมีผู้บริโภคนำมาขับมากขึ้น ซึ่งย่อมมีความต้องการใช้เครื่อง EV Charger เพิ่มตาม

ปั้น Big Data ช่วย Cross-selling

นอกจากนี้เพื่อให้พร้อมรับมือกับ Digital Disruption ในฐาะผู้นำด้านการบริการเติมเงินมือถือ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานและพฤติกรรมของผู้ใช้ตู้บุญเติมอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มี Big data อยู่ในมือ จึงมีแนวคิดที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลและเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของลูกค้าผ่านระบบ AI Robot เพื่อที่จะสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการ ที่ตอบโจทย์หรือสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ตรงกลุ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่จะนำข้อมูลที่ได้มาใช้กับการพัฒนา Mobile Application และเว็บไซต์ให้แข็งแรงกว่าเดิม

อาทิ หากลูกค้าชอบชั่งน้ำหนักบ่อย ๆ ก็น่าจะเป็นคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ หรือลูกค้าบางคนชอบดูข้อมูลเกี่ยวกับการทำนายโชคชะตา หรือบางคนเติมทีละน้อย ๆ แต่เติมบ่อย ก็อาจจะเป็นบุคคลที่กำลังมีภาระหนี้สิน หรือเติมเงินในเกมบ่อยก็ต้องเป็นคนที่ชื่นชอบการเล่นเกม เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าของการนำข้อมูลลูกค้ามาใช้เพื่อการขายผลิตภัณฑ์แบบ Cross-selling นั้น แม้จะได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้วว่าลูกค้ามีพฤติกรรมแบบไหนและชอบอะไร แต่ยังติดตรงที่ไม่รู้ว่าลูกค้าคือใคร นั่นคือรู้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือแต่ยังไม่รู้ชื่อและที่อยู่ จึงต้องใช้เวลากับการพัฒนาฐานข้อมูลให้ครอบถ้วนสมบูรณ์กว่านี้

อย่างไรก็ตามการใช้ Cloud Computing ก็มีส่วนทำให้การบริหารจัดการฐานข้อมูลมีความยืดหยุ่นได้กว่าเดิม และด้วยตัว BI ก็ช่วยเรื่องการกลั่นกรองข้อมูลได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่ยังไม่มีการวิเคราะห์แบบ Learning Machine ที่จะบอกได้ว่าจากที่เสนอผลิตภัณฑ์ไปแล้วประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แล้วต้องปรับกลยุทธ์อย่างไร ทั้งนี้ ณรงค์ศักดิ์ คาดการณ์ว่าคงต้องใช้เวลาอีกราว 2 ปีกว่า Big Data ที่พัฒนาขึ้นจะสามารถนำมาใช้เพื่อการทำ Cross-selling อย่างเต็มรูปแบบตามที่บริษัทตั้งใจไว้

เราถือว่าเป็นบริษัทที่มีฐานข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคจำนวนมากถึง 720 ล้านรายการต่อปีซึ่งสะสมมาเป็น 10 ปีแล้ว และเป็นลูกค้าที่ active สูงถึง 25 ล้านคน จึงถึงเวลาที่ต้องเรียนรู้ที่จะนำข้อมูลมาใช้งานให้เกิดประโยชน์โดยผ่านการวิเคราะห์ของหุ่นยนต์ (AI Robot) ซึ่งในอนาคตเราก็สามารถเสนอบริการใหม่เพิ่มเติมตอนที่ลูกค้ามาเติมเงินที่ตู้บุญเติมได้

ฉีกธุรกิจใหม่หนุนเติบโตยั่งยืน

ด้วยโจทย์ที่ต้องรักษาการเติบโตแบบยั่งยืน แต่ต้องฝ่าข้อจำกัดที่ปัจจุบันธุรกิจตู้ค่อนข้างเติบโตน้อยกว่าเดิม จากที่เคยมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยกว่า 30% ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยมีจำนวนคู่แข่งที่ให้บริการในแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มใช้เงินสดน้อยลง จึงจำเป็นต้องทำให้ภาพรวมของทั้งบริษัทยังขยายตัวอยู่ด้วยการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ยังเติบโตได้อยู่แม้จะเป็นระดับตัวเลขหลักเดียวก็ตาม

การให้สินเชื่อจึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ค่ายบุญเติมกำลังเล็งที่จะมุ่งไป โดยณรงค์ศักดิ์มองว่าธุรกิจนี้ส่วนหนึ่งเป็นการทำตามนโยบายรัฐที่ต้องการลดปัญหาหนี้นอกระบบ นอกเหนือจากการที่บริษัทต้องการบริหารความเสี่ยงในการเพิ่มช่องทางการหารายได้อื่นๆนอกจากธุรกิจเติมเงินที่เป็นธุรกิจหลัก จากจุดแข็งด้านเงินทุนหมุนเวียน และเครือข่ายตู้ที่ให้บริการกว่า 130,000 จุดทั่วประเทศ

โดยเบื้องต้นจะเริ่มจากการปล่อยกู้ให้กับตัวแทนบริการที่มีประวัติดี การันตีโดยพื้นที่ ซึ่งติดตั้งตู้เติมเงินบุญเติมที่มีศักยภาพ จากคอมมิชชั่นที่ทางบริษัทจ่ายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระเงินกู้ให้กับบริษัท และเริ่มต้นจะปล่อยกู้อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท

ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ตัวเลข และขอนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี 2 แนวทางในการขออนุญาต ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และ นาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) ที่มีอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ที่เรียกเก็บจากลูกหนี้รวมกันแล้วไม่เกิน 28% ต่อปี และ 36% ต่อปีตามลำดับ คาดว่าธุรกิจปล่อยกู้น่าจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้แต่จะยังจำกัดเฉพาะกลุ่มก่อน แล้วในไตรมาสสองจึงเริ่มให้สินเชื่ออย่างเป็นทางการ

แม้เราไม่ถนัดปล่อยกู้เท่าแบงก์ แต่มองว่าความเสี่ยงน้อยเพราะเห็นตัวเลขรายได้ทุกเดือน ที่สำคัญคือต้องการช่วย partner เพื่อดึงดูดให้อยู่กับเรา พร้อมกับช่วยในเรื่องบริหารเงินสดที่ถือในมือให้เกิดประโยชน์

ในแง่การแข่งขันนั้น แม้ตู้บุญเติมจะประจำการหน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งนับว่าเป็นทำเลทองมาเป็นเวลานาน แต่ธุรกิจที่เติบโตสวยก็ย่อมมีผู้เล่นรายใหม่ต้องการเข้าไปแบ่งปันส่วนแบ่งจากเค้กก้อนโต ดังนั้นเมื่อเดือนกันยายน 2561 จึงปรากฏตู้เติมทรูที่มีบริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ทรูมันนี่ เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และมีบริษัทภายนอกทำหน้าที่ปฏิบัติการมาติดตั้งให้บริการเคียงข้างตู้บุญเติม

จากเหตุการณ์ข้างต้น ณรงค์ศักดิ์ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการสั่นคลอนความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่ทาง FSMART มีกับ บมจ. ซีพี ออลล์ (ผู้บริหารกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น) แม้ว่าจะเป็นการทำสัญญาแบบปีต่อปีแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นคือปัจจุบันมีตู้บุญเติมติดตั้งหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ประมาณ 10,000 ตู้หรือเพียง 8% ของทั้งหมด รวมถึงมีฐานลูกค้าเดิมของตู้บุญเติมที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการต่าง ๆ ในเครือ True อยู่มากสุดไม่เกิน 20% ของฐานลูกค้าตู้บุญเติมทั้งหมดเท่านั้นที่จะหันไปใช้ตู้เติมทรูที่ติดตั้งหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

มีคนบอกว่าธุรกิจตู้ไปไม่ได้ แต่ผมเห็นคู่แข่งรายใหญ่ลงมาเล่นในตลาดนี้เต็มไปหมด

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...