Business Women นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนองค์กรทุกระดับต่างมีทักษะแห่งความเป็นผู้นำหนุนหลังอยู่ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ โดยปัจจุบันต่างมีภารกิจท้าทายอย่างการต่อกรกับ Technology Disruption ที่นับวันจะยิ่งแผ่ขยายไปในวงกว้างขึ้นทุกที เช่นเดียวกับต้องรักษาสมดุลในแง่มุมอื่นของชีวิตให้ลงตัวที่สุดควบคู่ไปด้วย ทาง Techsauce จึงนำเรื่องราวฉบับย่อของสุภาพสตรีผู้โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับบนเวทีธุรกิจที่หลากหลายมาบอกเล่าผ่าน Top Business Women of 2019 ในครั้งนี้
แม้ในวันนี้ Technology Disruption จะยังไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจของกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group แต่ในฐานะผู้นำที่มองการณ์ไกลไปข้างหน้าก่อนหลายก้าวอย่าง จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง ก็ไม่ปล่อยให้กิจการต้องเดินสู่จุดเพลี่ยงพล้ำ จึงเลือกที่จะริเริ่มภารกิจ Digital Transformation ตั้งแต่เมื่อครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงยังจัดตั้ง WHA Innovation Talent Group เพื่อปั้นแนวคิด Startup ในองค์กร เพื่อเป็นบันไดไปสู่ลู่ทางใหม่ ๆ ในอนาคต
ด้วยเธอมีแนวคิดว่าองค์กรธุรกิจย่อมเปลี่ยนไปตลอดเวลาและไม่เคยจะหยุดนิ่ง ดังนั้นผู้นำจึงต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงและรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จึงจะสามารถนำองค์กรไปได้ถูกทาง และไม่ถูก disrupt
อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักของการปรับเปลี่ยนองค์กรก็เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเติบโตที่รวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งมีเทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยตั้งเป้าสร้างรายได้เติบโต 70% ในปีนี้
ทั้งนี้เธอมองว่า Digital Transformation ของ WHA คือการปรับเปลี่ยนคนให้สามารถรองรับกับแนวทางดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต โดยต้องเริ่มจากกำหนดโจทย์ที่ถูกต้องก่อนว่าต้องการทำอะไรบ้าง เพราะแม้จะปรับเรื่องภายนอกให้รองรับ Digital Technology ได้ แต่ถ้าภายในปรับตัวไม่ได้ก็ถือว่าล้มเหลว จึงต้องเดินคู่ขนานไปพร้อมกัน เพียงแต่ต้องใช้เวลาเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2 ปีก็จะเริ่มเห็นภาพการเปลี่ยนที่ชัดเจน
กระนั้นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นรากฐานความสำเร็จไม่อาจมองข้ามคือ แนวคิดสร้างศูนย์กระจายสินค้าตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า (build-to-suit) ที่จุดประกายโดยจรีพร จนสามารถขับเคลื่อนให้ WHA เป็นที่ยอมรับในวงการ ไม่เพียงเท่านั้นด้วยมูลค่าของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่สูงมาโดยตลอด ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเป็นผู้มั่งคั่งในอันดับที่ 35 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 865 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.76 หมื่นล้านบาท) ท่ามกลาง 50 เศรษฐีไทยที่จัดอันดับโดย FORBES ประจำปี 2019
แต่ฝีมือและศักยภาพในฐานะผู้นำหญิงยังต่อยอดไปสู่เรื่องราวอื่น ๆ อีกโดยล่าสุด เธอยังได้รับภารกิจที่สำคัญอีกหนึ่งบทบาทที่เพิ่งเกิดขึ้นคือเป็นหนึ่งในกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
อีกหนึ่งนักบริหารหญิงผู้เฉียบคม ที่มีเรื่องราวน่าสนใจไม่น้อย ดังเช่น ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกลุ่ม ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยประสบการณ์ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไอทีระดับโลก ตามมาด้วยการสวมหมวกประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทดาวเทียมเบอร์หนึ่งแห่งเอเชียแปซิฟิก อย่าง บมจ. ไทยคม ที่ผลงานเด่นจนสามารถพลิกผลการดำเนินงานให้กลับมามีกำไรได้ภายในระยะเวลาไม่นาน
แม้ว่าหลายคนจะมองว่าการเป็นผู้บริหารหญิงที่จะต้องเปลี่ยนแปลง และนำพาองค์กรให้เติบโต เป็นความท้ายทาย แต่สำหรับเธอกลับมองว่า เรื่องของตัวตน ความสามารถ และศักยภาพของการทำงานไม่ได้เกี่ยวกับเพศ หรืออายุ แต่เป็นเรื่องของบุคคลที่จะต้องรู้และเข้าใจจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองให้ได้ แล้วนำมาใช้ให้ถูกจุด ดังนั้นเมื่อเธอได้รับมอบหมายหน้าที่ให้บริหารและเปลี่ยนแปลงองค์กร เธอจึงอาศัยการทำความเข้าใจ เพื่อที่จะสามรถปรับแนวคิด แรงบันดาลใจของคนในองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนทุกอย่างไปในทิศทางเดียวกันได้
ดังนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่าการที่เธอมารับหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งดุสิตธานี ก็สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างผลกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ท่ามกลางความท้าทายในยุค Digital Disruption ของโลกธุรกิจ
โดยเธอมีความตั้งใจที่จะสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับดุสิตธานี ที่เธอมองว่าเป็นแบรนด์ที่เปรียบดังตัวแทนของประเทศที่มีคุณค่าอย่างไม่อาจประมาณได้ ในการที่จะผลักดันให้เป็นธุรกิจซึ่งมือชื่อเสียงระดับโลก ด้วยการกำหนดกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งด้วยการวางแผนบริหารงานส่วนของโรงแรมที่มีแผนลงทุนเพิ่มจำนวนห้องพักอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขยายไปในต่างประเทศมากขึ้น และแตกไลน์ธุรกิจกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการ ที่เธอมองเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคตเพิ่มขึ้น
แม้ ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร (CEO) รพ.บำรุงราษฎร์ จะสวมหมวกผู้นำสูงสุดในองค์กรได้ไม่ถึง 1 ปีเต็ม แต่ตัวเธอก็มีประสบการณ์การทำงานหลากหลายเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงพยาบาลทั่วไทยถึงกว่า 25 ปี เช่นเดียวกับที่นับจากเริ่มงานกับรพ.บำรุงราษฎร์ เมื่อปี 2555 ก็มีโอกาสดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มาแล้วหลายตำแหน่ง จึงเป็นเส้นทางสำคัญที่ทำให้สามารถเข้าใจทั้งฝั่งการแพทย์และการบริหารงานภายในองค์กร
ในวันนี้ ด้วยความเชื่อที่มีต่อ Medical Tech ซึ่งปัจจุบันมาในบทบาทของ Big Data AI และ Life Science (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยถูกนำมาใช้ในหลายมิติเพื่อรับมือกับ Digital Disruption และส่งเสริมให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เดินหน้าสู่สถานะผู้นำด้านการบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลก (World-class holistic healthcare) ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้
โดยเธอย้ำว่าจำเป็นต้องนำ Medical Tech มาใช้เพื่อสุขภาพเชิงรุก ซึ่งให้ผลดีกว่าการตั้งรับรักษาอาการเจ็บป่วย โดยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลนำมาใช้จะคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง รวมถึงนำระบบบริหารจัดการในลักษณะ Operational Excellence มาใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุดด้วย
ทั้งนี้ ภญ.อาทิรัตน์ เปิดเผยว่าหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ขึ้นมาเป็นผู้นำหญิงในภาคธุรกิจได้นั้น คือ ไม่ว่าตัวเธอจะได้รับมอบหมายภารกิจใดก็ตาม แต่สิ่งที่เธอยึดมั่นเสมอคือ Entrepreneurship หรือการคิดเหมือนเป็นเจ้าของ เพราะมองว่าการได้รับโอกาสให้ลองทำโดยไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเองก็ยิ่งต้องพยายามทำให้ประสบความสำเร็จ
ล่าสุด ภญ.อาทิรัตน์ ได้รับรางวัล “The World Top 50 Healthcare IT Leaders” ในงาน HIMSS (Healthcare Information Management System Society) Asia Pacific 2019 และรางวัล “บุคคลคุณภาพแห่งปี 2562” ในภาคธุรกิจการแพทย์จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) ด้วย
การปฏิวัติวงการเป็นเส้นทางที่ Jubilee เลือกเดินเสมอ เช่นเดียวกับที่การนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับเครื่องประดับเพชร ตามที่อัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ ( JUBILE) ในฐานะผู้บริหารแบรนด์เครื่องประดับเพชร Jubilee เล็งเห็นโอกาส
ด้วยเธอมองว่ากระแสการขับเคลื่อนของดิจิทัลที่กระจายไปทั่วโลกกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงทำให้เกิดนวัตกรรมที่ผสานระหว่าง App และแหวนเพชรให้ถ่ายทอดช่วงเวลาแห่งความทรงจำ ผ่านนวัตกรรมที่เรียกว่า “ยูบิลลี่ ไอ โมเม้นท์” หรือ Jubilee iMOMENT ซึ่งอัญรัตน์ย้ำว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก นั้น สามารถเป็นจริงได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีกลุ่ม AI มาช่วย
แม้ผลกระทบจากยุคดิจิทัลไม่ได้ครอบงำกับการดำเนินธุรกิจโดยตรงแต่ก็ส่งผลกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค จึงถือเป็นความท้าทายที่ต้องเตรียมการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจไว้ล่วงหน้า เช่น ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า ที่ต้องเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ ไม่เหมือนอดีตที่สามารถใช้ช่างทางเดียวกันสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม
เช่นเดียวกับระบบงานหลังบ้านเองก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกันเพื่อให้องค์กรบริหารจัดการระบบข้อมูลได้ดี จึงเริ่มลงทุนและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลในลักษณะที่เรียกว่า Structured data ขึ้น ซึ่งช่วยให้ลดการตัดสินใจแบบใช้ประสบการณ์ แต่ใช้ Structured data มาเป็นแกนในการประมวลผล และข้อมูลจะช่วยให้สามารถทำงานโดยมุ่งเจาะลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลไปยังการบริหารจัดการ ควบคุมต้นทุนต่าง ๆ แล้วเชื่อมโยงไปถึงความสามารถในการทำกำไร รวมไปถึงต่อยอดสู่การสร้างยอดขายด้วยรูปแบบใหม่
อย่างไรก็ตาม ทั้งในฐานะผู้บริหารหญิงและในฐานะทายาทของกิจการค้าเพชรที่ก่อตั้งมาถึง 90 ปี เธอเองก็ต้องทำงานหนักและสร้างผลงานพิสูจน์ตัวเองมาไม่น้อยกว่า 17 ปี ซึ่งนอกจากเป็นที่ยอมรับทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยการันตีให้หนักแน่นขึ้นคืออีกระดับคือ รางวัล Young Rising Star CEO Award จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หลังจากที่ก้าวมาสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าไม่นาน บมจ.กันกุล เอ็นจีเนียริ่ง ก็ได้ผุดธุรกิจใหม่ขึ้นมา เพื่อเติมเต็มช่องว่างของธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การนำของคลื่นลูกใหม่อย่าง นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และทายาท ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการ GRoof Smart Living by Gunkul ที่เป็นการทำ Solar Rooftop ติดตั้งตามบ้านและโรงงาน ซึ่งเป็นการขยายฐานลูกค้าที่เป็นภาคเอกชนและให้เข้าถึงรายย่อยมากขึ้น เพื่อเป้าหมายช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายมากมายที่เข้าในอุตสาหกรรมพลังงาน
เธอเล่าว่าในช่วงที่ตัดสินใจเข้ามาช่วยกิจการของครอบครัว ถือเป็นยุคที่ Renewable Energy กำลังเฟื่องฟูพอดี เลยรู้สึกว่าสนใจที่จะเข้ามาร่วมงาน จึงเริ่มเข้ามาช่วยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อกิจการ โดยได้ใช้ความรู้จากการที่ไปทำงานข้างนอกมาก่อนให้เป็นประโยชน์ ซึ่งตอนนั้นกันกุลอยู่ระหว่างซื้อโครงการพลังงานลม เริ่มไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น และเริ่มทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันการใช้งาน Solar Rooftop เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่สมบูรณ์จากการที่ยังไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน ที่สามารถเก็บไฟฟ้าที่ผลิตไว้เวลาไม่ได้ใช้ ซึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะมาเติมเต็มระบบ คือ แบตเตอรี่ ถ้าหากแบตเตอรี่มีการผลิตเป็นที่แพร่หลายก็ทำให้จะสามารถต่อยอดได้อีกมาก
โดยเธอย้ำว่า เมื่อแบตเตอรี่ราคาถูกลง ทำให้เราสามารถผลิตและใช้ไฟได้ด้วยตัวเองทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้นการไฟฟ้าอาจพิจารณาปรับนโยบายเพิ่มเติม เพื่อให้ทันกับยุค Disruptive Technology ได้
Financial Crisis วิกฤตการเงินปี 40 เป็นดังฝันร้ายของนักธุรกิจไทยหลาย ๆ คนในตอนนั้น โดยเฉพาะกับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ (Property) หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มคุณาลัย (Kunalai) อสังหาริมทรัพย์เจ้าถิ่นย่านบางบัวทอง ที่ได้ทุบหนี้ก้อนโตจำนวน 5 พันล้านบาท จนกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง ผ่านฝีมือของ ประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วิลล่า คุณาลัย ผู้บริหารหญิงแกร่ง บุตรสาวของ ปกรณ์ ศังขวณิช หนึ่งในผู้บุกเบิกการสร้างเมืองย่านนั้นในยุคแรก โดยปัจจุบันเธอนำแบรนด์เก่าแก่ของครอบครัวกลับมาปลุกปั้นใหม่อีกครั้งภายใต้ชื่อ ‘วิลล่า คุณาลัย’ จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทมหาชนที่กำลังเติบโต
แต่กว่าจะมีวันนี้ ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งผลักดันให้ ประวีรัตน์ ต้องเรียนรู้งานในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น งานขาย งานการตลาด งานประสานงาน การกู้เงิน ตลอดจนการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งทำให้ซึมซับ รู้สึกรัก และผูกพันกับงานที่ทำ จนนำไปสู่การลงหลักปักฐานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อ แล้วตัดสินใจเริ่มต้นสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้งด้วยชื่อเดิม
โดยวางเป้าหมายให้ผลการดำเนินงานเติบโตปีละ 15-20% และที่สำคัญคือ ต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัท จึงวางกลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ รวมไปถึงจัดโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการให้เกิดความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จนั้น ประวีรัตน์ เน้นย้ำว่า ด้วยเป็นคนที่เชื่อในความสุข เพราะถ้าไม่มีความสุขก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นกับมุมมอง ที่ในบางครั้งคำว่าประสบความสำเร็จ อาจเป็นสิ่งที่เรากำหนดด้วยตัวเอง และสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ดังใจเราเอง ตลอดจนเธอยังเป็นคนที่เชื่อมั่นในองค์ความรู้ ว่าเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จ
อีกหนึ่งนักธุรกิจหญิงผู้มาสืบทอดกิจการของครอบครัว กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ในฐานะทายาทรุ่นสองของอาณาจักร Index Living Mall
โดยริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้แก่ธุรกิจดั้งเดิมทั้งธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและของตกแต่งบ้าน ที่เริ่มต้นฉีกกฎร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องเช่าพื้นที่ตามห้างสรรพสินค้า มาเป็นร้านค้าแบบ Stand Alone ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้านครบวงจร ตลอดจนการบุกเบิกการขายเฟอร์นิเจอร์ผ่านช่องทางออนไลน์
ล่าสุดยังคงเดินหน้าบุกเบิกในการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ pain point ของผู้บริโภคในการตกแต่งที่อยู่อาศัย เพื่อให้สอดรับกับ Disruptive Trend ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ด้วยบริการใหม่ภายใต้แบรนด์ชื่อว่า Younique เป็นเฟอร์นิเจอร์สั่งตัดตามใจ ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ 4.0 (Customized Furniture 4.0)
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ กฤษชนกผู้ซึ่งถูกผลักดันให้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการตั้งแต่อายุยังน้อย ก็ต้องผ่านบทพิสูจน์มาไม่น้อยด้วยการปรับวิธีการบริหารงานในแบบฉบับของเธอที่ต้องการให้องค์กรมีการเปิดกว้างมากขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะพิสูจน์ตัวเองจากการที่บริษัทมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นอย่างมาก จากตัวเลขกำไรสุทธิเติบโตขึ้นถึง 5 เท่า ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทมา และยังคงรักษาการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2562 ได้สำเร็จ
เชื่อว่าแวดวงด้านธุรกิจไอที คงไม่มีใครไม่รู้จัก ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ด้วยเธอเป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจหญิงที่น่าศึกษาถึงวิธีคิดในฐานะผู้นำที่มีภารกิจท้าทายต้องนำพาองค์กรเป็นที่บริษัทไอทีระดับตำนานให้ผ่านการถูกจู่โจมจาก Digital Disruption เช่นเดียวกับที่สามารถใช้เวลาอย่างมีคุณภาพให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างสมดุล
โดยปฐมาย้ำว่าก้าวสำคัญที่จะนำพาให้ IBM ข้ามผ่านอุปสรรคของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ ต้องเริ่มจากการปรับตัวและการเปิดมุมมอง ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต แต่ต้องปรับตัวในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งการขายและการทำงาน เพื่อให้สามารถรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้ ทั้งด้วยความเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีบุคลากรจำนวนมากและมีหน่วยงานที่หลากหลาย จึงย่อมขยับช้ากว่าแต่ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ยังครองความเป็นผู้นำได้ เช่นเดียวกับต้องออกไปศึกษาธุรกิจอื่น เพื่อทำและปรับให้ยังคงเป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเธอนั้น สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจในยุคดิจิทัลคือ ‘ข้อมูล’ เพราะวันนี้ความสำเร็จขององค์กรคือการที่รู้ว่าจะนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงทักษะสำคัญสำหรับคนในองค์กรคือต้องเป็นผู้เข้าใจเทคโนโลยี และสามารถตีความการใช้ประโยชน์จากขุมทรัพย์ข้อมูลมหาศาลที่เรานั่งทับอยู่ได้
นอกจากนี้เธอยังไขความลับที่นำพาให้มายืนเป็นผู้บริหารหญิงแถวหน้าได้ว่าผ่านการเรียนรู้จากคุณแม่ ผู้เป็น Working Woman ที่สอนให้เรียนรู้ถึงการจัดการบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ให้สมดุลด้วยการจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม ซึ่งสำหรับเธอแล้วมองว่าช่วงชีวิตปัจจุบันก็คือคุณพ่อคุณแม่ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ส่วนเวลาที่เหลือถือเป็นของตัวเธอเอง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ไปถึงจุดนั้นได้เกิดจากทีมที่แข็งแกร่งและผู้ช่วยที่ดี โดยท้ายสุดเธอเชื่อว่าไม่มีใครทำได้ดีที่สุดในทุกเรื่อง แต่ต้องเลือกว่าแต่ละคนควรโฟกัสในเรื่องใด
เส้นทางสร้างธุรกิจของกนกพร ณ ระนอง ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร The Black Tie Service คงคล้ายกับฝันของหลาย ๆ คน ที่หวังจะเปลี่ยนจากพนักงานบริษัทมาสู่เส้นทางผู้ประกอบการในวันหนึ่ง ซึ่งเธอเลือกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในฐานะเลขานุการให้กับผู้บริหารระดับสูงทั้งบริษัทในไทยและต่างประเทศ มาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี แล้วเริ่มลงทุนกับเพื่อนเปิดโรงงานปลาสลิดส่งออกต่างประเทศ
จนเมื่อธุรกิจแรกลงตัวเธอจึงเริ่มต้นอีกครั้งกับ THE BLACK TIE SERVICE ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าขององค์กร ในรูปแบบของการเป็น Corporate Concierge Service หรือผู้ช่วยส่วนตัวที่จะดูแลอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า พร้อมด้วยการบริการเสริมอื่น ๆ เช่น จัดทริปพิเศษ เป็นต้น
ทั้งนี้ด้วยอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจจึงนำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เธอค้นพบและเชื่ออย่างถ่องแท้ว่าการบริหาร ‘คน’ และ ‘วัฒนธรรมองค์กร” คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร โดยองค์กรจะต้องมีการหาคนที่สามารถทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน หรือเรียกว่า Blend เข้าหากันได้ และมีใจรักกับงานที่ทำ จะทำให้เดินหน้าอย่างคล่องตัว
สุดท้ายเพื่อให้ธุรกิจพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทมหาชนในวันหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือในฐานะที่เป็นกิจการ SME จึงต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ง่าย มองไปข้างนอก หาความรู้ตลอดเวลา ตลอดจนเปลี่ยนแปลงไว ลงมือทำเร็ว ตามที่เธอมองว่า “ไม่ว่าทำธุรกิจอะไรก็ตามสามารถอยู่รอดได้ทุกคน”
รถซาเล้งขายมะพร้าวน้ำหอมคือจุดเปลี่ยนที่ปลุก passion แห่งการเป็นผู้ประกอบการของอดีตสาวออฟฟิศให้รุกโชน จนตัดสินใจเดินหน้าสู่เส้นทาง Smart Farmer ดังเช่นนวลลออ เทอดเกียรติกุล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ “Aromatic Farm”
ด้วยพบว่าธุรกิจค้ามะพร้าวน้ำหอมมีอัตราการเติบโตของตลาดสูงถึง 300% และมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยทุกคน จึงตัดสินใจที่จะทำกิจการสวนมะพร้าวน้ำหอม แม้ว่าตัวเองจะไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อนก็ตาม ซึ่งเธอสร้างให้ Aromatic Farm เป็นสวนมะพร้าวน้ำหอมที่จัดการด้วยนวัตกรรมทั้งฝั่งบริหารข้อมูลเพาะปลูกและกลยุทธ์การตลาด ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าการเกษตรของไทยมีอนาคตไกลกว่าเดิม รวมถึงวางแผนยกระดับพัฒนาฐานข้อมูลให้ชาญฉลาดและสร้างผลผลิตให้ตรงโจทย์กว่าเดิมด้วย AI
ทว่ากว่าเส้นทาง Smart Farmer ของนวลลออจะงอกงามก็ต้องเผชิญหลายความท้าทายที่เธอเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การถูกต่อต้านหรือถูกตั้งคำถามจากคนในชุมชมในช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการทำ Aromatic Farm หรือแม้แต่ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ต้องหันไปไปพึ่งพาคนต่างด้าวแทน
สำหรับแผนงานในอนาคตเพื่อให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนจากการใช้แสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ที่จะมาช่วยตอบโจทย์ในแง่การลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมจากกระบวนการทำสวนมะพร้าวน้ำหอมได้ หรือแม้แต่นำวัสดุเหลือใช้จากผลผลิต เช่น เปลือกมะพร้าวไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานชีวภาพในส่วยของการผลิตวุ้นมะพร้าวหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่นเดียวกับที่จะปลูกพืชขึ้นมาทดแทนเพื่อชดเชยกับที่ปล่อยคาร์บอนออกมาด้วย
สุดท้ายแล้วนวลลออฝากถึงคนที่มี passion อยากเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่าถ้าเรารู้จักตัวเองเร็วจะทำให้มีเวลามากพอไปถึงเป้าหมายและปักธงได้ชัดเจน ที่สำคัญคือให้มีความเพียรจึงจะอดทนฝ่าฟันอุปสรรคจนทำสำเร็จได้
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด