องค์กรจะใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพพนักงานและผู้บริหารได้อย่างไร | Techsauce

องค์กรจะใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพพนักงานและผู้บริหารได้อย่างไร

จากการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า องค์กรทุกขนาดเริ่มประสบปัญหาสุขภาพของพนักงานและผู้บริหาร ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพหรือค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ปัญหาความเสี่ยงและการเกิดโรคร้ายแรงในผู้บริหารระดับสูง ความซับซ้อนและภาระงานที่มากขึ้นของการบริหารงานบุคคลในด้านสุขภาพ ปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตของพนักงาน อาการออฟฟิตซินโดรมที่มีแนวโน้มมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากพนักงานและผู้บริหารมีจำนวนมาก ดังนั้น เราจึงเห็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลสุขภาพพนักงานและผู้บริหารมากขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง มีอัตราเพิ่มมากขึ้นในองค์กร ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงที่รักษายากและอันตราย เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ มากขึ้น จากข้อมูลพบว่าบางองค์กรมีสัดส่วนของพนักงานมีความผิดปรกติของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากถึง 25% ของพนักงานทั้งหมดซึ่งนับว่าสูงมาก

ข้อมูลจาก Harvard Business Review  ระบุว่า งบประมาณที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพของพนักงานทุก 1 ดอลลาร์ องค์กรจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมา 2.71 ดอลลาร์ โดยเฉพาะด้านของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดการลางานจากการเจ็บป่วย หรือ ลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย

จากความสำคัญดังกล่าวทำให้มีการประมาณการมูลค่าตลาดของการดูแลสุขภาพสำหรับองค์กร จะเติบโตอยู่ที่ $90.7 Billion ในปี 2026 (Grand View Research, Inc.)  ทั้งนี้ เทคโนโลยีสำหรับการดูแลสุขภาพและผู้บริหารในองค์กร แบ่งตามรูปแบบการให้บริการต่างๆ เช่น

  • แนวทางการใช้เทคโนโลยีสำหรับป้องกันความเสี่ยงโรค (Preventive) เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลสุขภาพและป้องกันก่อนการเกิดโรคต่างๆ  
    • การใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและพยากรณ์ความเสี่ยงสุขภาพของพนักงานหรือผู้บริหาร ปัจจุบันข้อมูลสุขภาพจากการตรวจสุขภาพประจำปีนั้น พนักงานจะได้รับในรูปแบบสมุดสุขภาพเป็น hard copy ไม่สามารถติดตามผลการตรวจสุขภาพเป็นแนวโน้มได้ ทำให้อาจไม่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงมีการนำระบบ เช่น การรวบรวมข้อมูลสุขภาพจาการตรวจสุขภาพประจำปี หรือ การตรวจตามหลักอาชีวเวชศาสตร์ มาวิเคราะห์และแปลผลในรูปแบบของส่วนบุคคลและภาพรวมองค์กร เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนที่จะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ และให้คำแนะนำในการดูแลก่อนป่วยได้ด้วย 
    • การสร้างกิจกรรมร่วมกับการใช้เทคโนโลยีในการติดตามผลเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ให้พนักงานหรือผู้บริหาร องค์กรเริ่มมีการนำเทคโนโลยี wearable device ที่แพร่หลายในตลาด มาประยุกต์ใช้ในการการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในองค์กร เช่น การแข่งขันการลดน้ำหนักออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  การแข่งขันออกกำลังด้วยการวิ่งแบบ Virtual Run เป็นต้น มีบางองค์กรนำมาใช้ เช่น Seagate ใช้เทคโนโลยีของ Diamate ในการลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังของพนักงานภายใต้การดูแลด้านอาหารและการออกกำลังกาย หรือ กรุงเทพประกันชีวิต ดำเนินการจัดแข่งขันลดน้ำหนักให้พนักงาน เป็นต้น หรือ Virgin Pulse  แพลทฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของพนักงานผ่านกิจกรรมต่างๆ  ในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ Vitality แพลทฟอร์มที่สามารถการเปลี่ยนการออกกำลังมาเป็นแต้มรางวัล 

ตัวอย่างบริการ Dietz ในการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ

  • แนวทางการใช้เทคโนโลยีสำหรับรักษาโรค (Curative) เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลรักษาโรคในกรณีที่เป็นโรคไม่ซับซ้อน หรือ โรคเรื้อรังที่ต้องดูแลต่อเนื่อง ลดการเดินทางมาโรงพยาบาลซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของพนักงานได้ เช่น 
    • การดูแลเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานผ่าน Tele Medicine องค์กรเริ่มมีการนำเทเลเมดิซีนหรือการแพทย์ทางไกล มาให้บริการพนักงานหรือผู้บริหาร ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ไม่ซับซ้อนที่พบบ่อย หรือ การรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการได้ หรือการให้บริการด้านสุขภาพจิตหรือความเครียดของพนักงานโดยรูปแบบการให้บริการนักจิตวิทยาคำปรึกษาผ่านแอปพลิเคชั่น เนื่องจากสามารถอำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยส่วนนี้องค์กรจำเป็นต้องประสานงานกับบริการประกันสุขภาพพนักงานที่ใช้บริการอยู่ให้ดำเนินการรองรับการบริการผ่านเทเลเมดิซีนด้วย ตัวอย่างผู้ให้บริการ เช่น ออก้า เทเลเมดิซีนที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ  

 ออก้า เทเลเมดิซีนที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต

  • การดูแลสุขภาพพนักงานถึงสถานที่ทำงาน สำหรับองค์กรขนาดใหญ่มักจะมีบริการทางการแพทย์โดยแพทย์หรือพยาบาลมาประจำที่สถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบริการในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพเพื่อการดูแลสุขภาพในองค์รวม เช่น นักกายภาพบำบัด เภสัชกร นักโภชนาการหรือนักกำหนดอาหาร นอกจากนี้ องค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังไม่สามารถจัดสวัสดิการเหล่านี้ได้มากนัก การนำเทคโนโลยีบริหารจัดการบุคลากรด้านสาธารณสุขในสถานประกอบการแบบ  As a service จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการที่พนักงานเดินทางไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล เช่น REFIT บริการจัดส่งนักกายภาพบำบัดเพื่อแก้ปัญหาออฟฟิตซินโดรมและการให้คำแนะนำด้านออกกำลังกายให้พนักงาน 

REFIT บริการจัดส่งนักกายภาพบำบัดเพื่อแก้ปัญหาออฟฟิตซินโดรมและการให้คำแนะนำด้านออกกำลังกายให้พนักงาน 

  • การลดค่าใช้จ่ายด้านยาและการรักษาพยาบาลโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ หลายองค์กรประสบปัญหาค่าใช้จ่ายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือ โรคอ้วนซึ่งโรคเหล่านี้สามารถปรับลดค่าใช้จ่ายด้วยการส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพได้ เช่น การส่งเสริมให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลัง ซึ่งเมื่อควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพิ่มเติมแล้ว จะทำให้สามารถลดการใช้ยาบางชนิดลง เช่น ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น Glycoleap แพลทฟอร์มดูแลผู้ป่วยเบาหวานในประเทศสิงคโปร์

Glycoleap แพลทฟอร์มดูแลผู้ป่วยเบาหวานในประเทศสิงคโปร์

  • การรับยาโรคเรื้อรังที่ห้องพยาบาล แนวคิดคือ ในบางองค์กรมีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังในระดับที่สูง ซึ่งโรคเรื้อรังที่สามารถควบคุมอาการของโรคให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การควบคุมความดันโลหิต หรือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนให้การพบแพทย์ในห้องพยาบาลของสถานประกอบการ เป็นจุดที่พนักงานมารับการตรวจติดตามและรับยาโรคเรื้อรังได้ โดยอาจเพิ่มเติมเทคโนโลยี tele medicine สำหรับการปรึกษากับเภสัชกรก่อนทำการรับยาด้วย 
  • แนวทางการใช้เทคโนโลยีสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและลดค่าใช้จ่าย เทคโนโลยีนี้เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบและจัดการเคลมค่ารักษาพยาบาล หรือ การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ 
    • การให้บริการข้อมูลตามกรมธรรม์ หรือตามสวัสดิการของพนักงานผ่านแอปพลิเคชั่น รวมถึงการดำเนินการต่างๆที่จากเดิมฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะเป็นผู้ดำเนินการ เช่น การให้บริการข้อมูลต่างๆ ตามกรมธรรม์ หรือตามสวัสดิการของพนักงาน เช่น สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล ประวัติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (การเคลม) ประวัติการเบิกจ่ายตามสวัสดิการ รายละเอียดความคุ้มครองของผู้ใช้งานและครอบครัวของผู้ใช้งาน การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและการติดตามสถานะการพิจารณา เป็นต้น ตัวอย่างบริการ เช่น TPA Care ของไทยรีเซอร์วิส พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลตนเอง รวมถึงการติดตามสถานะ หรือ การใช้สิทธิรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลได้อีกด้วย หรือ การให้บริการข้อมูลผ่านระบบแชทบอท ของบริษัทประกันต่างๆ เป็นต้น

 TPA Care ของไทยรีเซอร์วิส พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลตนเอง รวมถึงการติดตามสถานะ หรือ การใช้สิทธิรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลได้

  • การจัดให้มี Self Insurance เพื่อเพิ่มเติมจากสวัสดิการหลัก ให้พนักงานสามารถเลือกจ่ายสมทบเพิ่มเติมเพื่อการคุ้มครองที่มากขึ้นได้ ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น CollectiveHealth, Self-insurance SaaS platform
  • การเปรียบเทียบและเลือกบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี เป็นการใช้คลังข้อมูลของผู้ให้บริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล คลินิก มาประเมิน และวิเคราะห์เปรียบเทียบในด้านต่างๆ เพื่อเลือกผู้ให้บริการสุขภาพที่เหมาะสมทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษา ความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงด้านค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น  Castlight Health ที่ให้บริการ subscription mode สำหรับองค์การในการเข้าถึงข้อมูลการเปรียบเทียบผู้ให้บริการสุขภาพ หรือ ในประเทศไทยเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกสถานพยาบาล เช่น การเปิดเผย ราคายาในโรงพยาบาลเอกชน  ของกรมการค้าภายใน เป็นต้น

การเปิดเผย ราคายาในโรงพยาบาลเอกชน  ของกรมการค้าภายใน

  • การส่งเสริมสุขภาพทางการเงินสำหรับพนักงาน เป็นการนำบริการด้านการเงินส่วนบุคคล หรือ การบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล มาบริการในรูปแบบเทคโนโลยี ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น PayActiv
  • การบริหาร Employee Health Benefit การบริหารจัดการ Employee Health Benefit เป็นอีกปัญหาหนึ่งขององค์กร การบริหารจัดการส่วนนี้ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น PlanSource Holdings

จะเห็นได้ว่ามีหลากหลายแนวทางในการที่องค์กรจะใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพพนักงานและผู้บริหารได้ ทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน หรือรักษาโรค หรือการเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อยู่ที่ท่านผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละองค์กรต่อไป

เรียบเรียงโดย
พงษ์ชัย เพชรสังหาร
ผู้ร่วมก่อตั้งไดอะเมท แพลทฟอร์มดูแลผู้ป่วยเบาหวานและโรคเรื้อรังสำหรับองค์กร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
[email protected]

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...

Responsive image

Tech talent คืออะไร ทำไมองค์กรถึงต้องการตัวมากขึ้นในทุกๆ ปี

Tech Talent คือ คนหรือกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญ และทักษะทางเทคโนโลยีในการสร้าง และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางดิจิทัล ซึ่งมีความสามารถที่จะทำงานกับเทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เ...