ร่ายมนต์ธุรกิจ Digital Content ในแบบทายาทรุ่นสามแห่งไทยรัฐ | Techsauce

ร่ายมนต์ธุรกิจ Digital Content ในแบบทายาทรุ่นสามแห่งไทยรัฐ

Digital Content ของเครือไทยรัฐทั้งไทยรัฐออนไลน์ (Thairath Online) และสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ที่ต่างขึ้นมาอยู่แถวหน้าของแวดวงสื่อยุคปัจจุบันจากการแจ้งเกิดของผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง วัชร วัชรพล ด้วยกลยุทธ์ customer centric ที่ล่าสุดนำ AI และ Machine Learning มาใช้เพื่อช่วยนำเสนอ content ให้โดนใจประชากรโลกออนไลน์ พร้อมเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ MIRROR และ PEEPZ ขยายฐานแฟนให้กว้างกว่าเดิม

วัชร วัชรพล

ปัจจุบันวัชร วัชรพล ในฐานะทายาทรุ่นสามที่มารับภารกิจดูแลธุรกิจ Digital Content ที่แตกแขนงออกจากหนังสือพิมพ์รายวันของบริษัท วัชรพล จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ก่อตั้งโดยคุณปู่ผู้ล่วงลับของเขาคือ กำพล วัชรพล ด้วยบทบาทประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด) และสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด) ตลอดจนเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสนับสนุนธุรกิจ บริษัท วัชรพล จำกัด กระทั่งผ่านมาราว 10 ปี ในวันนี้ทั้งช่อง 32 และไทยรัฐออนไลน์ต่างได้พัฒนาไปไลกกว่าเดิมอย่างมาก และจะยังคงยืนหยัดที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยังเป็นธุรกิจสื่อชั้นนำดังเป้าหมายที่วางไว้

จุดเริ่มต้นที่เข้ามาดูแลกิจการของครอบครัวเป็นมาเช่นไร

ผมถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้วว่าต้องมารับช่วงบริหารกิจการต่อ เมื่อ 10 ปีก่อนจึงเริ่มมาดูแลไทยรัฐออนไลน์ (ผู้ผลิตข่าวบนเว็บไซต์ www.thairath.co.th และสื่อออนไลน์อื่น ๆ ที่ริเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2551) ซึ่งเดิมแม้ว้าตัวเว็บไซต์จะมีมาก่อนตั้งแต่ปี 2538 แล้วแต่ยังไม่ได้มีการดูแลอย่างจริงจัง ทางผู้ใหญ่ก็เลยมอบหมายให้มาดูแลเพื่อปรับโฉมใหม่

จนเมื่อ 5 ปีก่อนที่กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เปิดให้ประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล หรือ Digital TV ซึ่งทางไทยรัฐก็มองว่าเป็นอีกโอกาสที่จะขยายธุรกิจสื่อและธุรกิจใหม่ ๆ จึงกระโดดเข้ามาร่วมประมูลใบอนุญาตด้วย

เมื่อได้มาดูแลไทยรัฐออนไลน์จริง ๆ แล้วเป็นอย่างที่คาดหวังหรือไม่

ตอนแรกเริ่มจากการส่งข่าวทาง SMS เพราะยุคนั้นยังไม่มี social media และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังไม่ได้ใช้ระบบ 3G เราเริ่มจากสร้างทีมใหม่ขึ้นมาทั้งหมดเพื่อปรับปรุงเว็บไซต์ก่อน

สำหรับที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นไปอย่างคาดหวังไว้ เพราะจากที่เว็บไซต์เคยอยู่อันดับ 20 กว่า ตอนนี้ขึ้นมาถึงอันดับ 1-2 ของประเทศ (ด้านเว็บไซต์ข่าว) แล้ว แต่ก็คงต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมองว่าสื่อออนไลน์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ออนไลน์หยุด (พัฒนา) ไม่ได้เลยจริง ๆ ถ้าหยุดสักพักก็เหมือนตก trend แล้ว

แล้วอะไรคือ key success ที่ทำให้ไทยรัฐออนไลน์ประสบความสำเร็จ

น่าจะมาจากพื้นฐานของความเป็นมืออาชีพด้านข่าวที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคหนังสือพิมพ์ที่นำมาปรับใช้ในการนำเสนอข่าวให้ถูกกับจริตของผู้อ่าน/ผู้ชมในแต่ละแพลตฟอร์ม

“ผมคิดว่าการเข้าใจผู้อ่านและคนดูเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ทั้งนี้จริตของผู้อ่านข่าวทางออนไลน์และทางหนังสือพิมพ์จะไม่เหมือนกันหรือแม้แต่คนที่ดูทีวีก็ตาม เพราะจะมีความสนใจที่ต่างกันออกไป เช่นจากเดิมที่ผู้อ่านทางออนไลน์จะชอบอ่านข่าวสั้น ๆ พอมาวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปอีกคือชอบดูวิดิโอมากขึ้น

จุดเด่นของไทยรัฐออนไลน์คืออะไร

ด้วย branding ของไทยรัฐเองที่มีมายาวนานก็น่าจะเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ ความเร็วแต่ถูกต้อง นอกจากนี้จะเป็นเรื่องการนำเสนอที่เข้าใจผู้อ่าน/ผู้ชมว่าต้องการรับข้อมูลในรูปแบบไหน

digital content-thairath

 

ภาพลักษณ์ของ Digital Content ในเครือไทยรัฐที่ดูทันสมัยมีรากฐานแนวคิดมาอย่างไร

ทั้งตัวผมเองและน้อง ๆ ชอบอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากประเทศฝั่งตะวันตกและสหรัฐฯ ว่ามีอะไรใหม่ ๆ บ้าง แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย ต้องเข้าใจและดูด้วยว่าจะไปกันได้กับความชอบของคนไทยหรือลูกค้าของเราหรือไม่ด้วย อาจต้องมาปรับให้เข้ากับผู้บริโภคไทยด้วย

ได้นำวัตกรรมอะไรมาใช้บ้าง

นอกจากปรับ branding ครั้งใหญ่แล้ว เรายังปรับเปลี่ยนการนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การนำ data visualization มาใช้ประกอบข่าวหรือรายงานข่าว เพื่อทำให้ข่าวที่ซับซ้อนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเป็น trend ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ในส่วนของไทยรัฐออนไลน์ยังมีการนำ AI และ Machine Learning มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เพื่อให้สามารถนำเสนอ content ที่ตรงกับความสนใจของผู้อ่านแต่ละกลุ่ม โดยสามารถเพิ่มยอด Click Through Rate (CTR) ให้สูงขึ้น อยู่ในช่วง 10% - 18%

ไม่เพียงเท่านั้นยังเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่คือ PEEPZ และ MIRROR เพื่อขยายฐานผู้อ่านให้กว้างขึ้น โดย PEEPZ (พีพซ์) จะเริ่มอย่างเป็นทางการก่อนในเดือนมิถุนายนนี้ โดยเป็น brand ที่เน้นกลุ่มวัยรุ่นที่พร้อมจะร่วมค้นหาตัวเองไปกับเพื่อน และทำทุกเรื่องไปให้สุดในทางของตัวเอง โดยนำเสนอวิดีโอที่สนุก ๆ ในรูปแบบของ Short-Form Mobile VDO ที่เนื้อหาเจาะไปที่ความสนใจของวัยรุ่น เช่น เกม เรื่องตลก เพลง เต้น ความสัมพันธ์กับเพื่อน แฟน ครอบครัว และ LGBT

"PEEPZ เน้นเจาะกลุ่มคนวัย Gen Z ที่เดิมไทยรัฐอาจจะยังเข้าไม่ถึง"

ส่วน MIRROR (มิร์เรอร์) ที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนั้นเป็น brand ที่จะเป็นเพื่อนกับผู้หญิงยุคใหม่ นำเสนอเนื้อหาที่ช่วยให้ผู้หญิงได้ค้นพบและเป็นตัวเอง ที่ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน นั่นคือ Style Beauty และ Life

รวมถึงนำ AI Technology ของ Google cloud ที่ชื่อว่า Vision API และ Auto ML มาใช้ในการวิเคราะห์รูปภาพ เพื่อหาข้อมูลที่สำคัญ ในรูป และใช้ข้อมูลนั้นในการทำ keyword แบบอัตโนมัติเพื่อช่วยจัดระเบียบคลังข้อมูลและภาพทั้งหมดของเครือไทยรัฐกว่า 10 ล้านรูป จากเดิมที่ต้องใช้บุคคลากรและเวลานานในการทำงาน อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพให้กองบรรณาธิการ สามารถค้นหาภาพ ข่าว เนื้อหาและเอกสารต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ผ่าน Google cloud search และต่อไปยังมีแผนจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับการค้นหาข่าวในเว็บไซต์อีกด้วย

ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ 100% แต่ข้อมูลชุดแรกน่าจะเริ่มใช้งานได้ภายในต้นไตรมาส 4 ของปีนี้

อีกทั้งมีโครงการ “ThaiStringers.com” ซึ่งเป็น แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก YouTube Innovation Funding หนึ่งในโครงการของ Google News Initiative เพื่อสร้าง Local News Marketplace ของประเทศไทยให้นักข่าวอิสระ และสำนักข่าวทั่วประเทศ สามารถซื้อขายลิขสิทธิ์ข่าวได้สะดวกขึ้น

digital content-thairath

การบริหารงานในส่วนสถานีไทยรัฐทีวีเป็นอย่างไรบ้าง

ในส่วนของไทยรัฐทีวีต้องยอมรับว่าเราผ่านการลองผิดลองถูกมามากตั้งแต่เริ่มเปิดสถานีเมื่อ 5 ปีก่อน จนวันนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถพบส่วนผสมลงตัวที่เป็น character ของเราและที่เป็นภาพจำของผู้ชม นั่นคือวาง positioning ว่าเป็นช่องข่าวและกีฬา ซึ่งจะเลือกนำเสนอเนื้อหารอบตัวที่ผู้คนให้ความสนใจมารายงานด้วยการเล่าข่าวในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ซับซ้อน หรือสามารถอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่ายได้ ด้วยผู้ประกาศที่เป็นคนข่าวตัวจริง

พร้อมกับที่ใช้เทคโนโลยี Immersive Graphic ช่วยอธิบายเรื่องต่าง ๆ อีกทั้งมีความยืนหยุดในการปรับผังรายการเพื่อรายงานข่าวอย่างเข้มข้น เช่น ข่าวภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวง หรือแม้แต่การเลือกตั้ง 2562 เป็นต้น ที่สามารถสร้างภาพจำให้กับผู้ชมได้ ซึ่งทำให้เวลามีข่าวใหญ่หรือเหตุการณ์สำคัญก็จะนึกถึงไทยรัฐทีวีก่อน

ตัวแปรที่ชี้วัดความสำเร็จของไทยรัฐทีวีคืออะไร

น่าจะเป็นความไว้วางใจจากผู้ชมที่แน่นอนว่าต้องสะท้อนมาที่ตัว rating และการเป็น talk of the town ก็จะทำให้ได้รับการเหลียวแลจาก agency มากขึ้น

เร็ว ๆ นี้ไทยรัฐทีวีจะมีอะไรที่แปลกใหม่กว่าเดิมหรือไม่

ตลอดเวลาเราพยายามคัดสรรรายการดี ๆ เช่น กีฬา วาไรตี้ เพื่อให้โดนใจผู้ชมมากขึ้น เช่นเดียวกับปรับปรุงรายการข่าวให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

เป้าหมายเชิงธุรกิจในอนาคตเป็นอย่างไร

เราหวังว่าจะทำให้ไทยรัฐอยู่คู่คนไทยตลอดไปทั้งในแง่ content provider และในแง่การนำเสนอข่าวอันดับหนึ่งของเมืองไทย ที่พยายามครอบคลุมให้ครบสื่อทุกแขนง

มุมมองต่อช่วงขาลงของวงการสื่อ

เป็นเรื่องที่พูดยากมาก เป็นยุคที่ต้องยอมรับว่าไม่ว่าเป็นสื่อแขนงใดก็เหนื่อยเหมือนกันหมด เพราะ social media ก็ดึง audience ไป (จากสื่อกระแสหลัก) เป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับในส่วนของธุกิจทีวีดิจิทัลที่เมื่อมีจำนวนช่องน้อยลงไป ก็หวังว่า ecosystem จะมีการปรับสมดุลได้มากขึ้น เพราะด้วยจำนวน 24 ช่องในตอนแรกก็คือว่ามีจำนวนมากเกินไป

จากแนวโน้มที่สื่อกระแสหลักหลายรายมาเน้นออนไลน์มากขึ้น จะมีผลต่อไทยรัฐออนไลน์หรือไม่

ผมคิดว่าไม่มีครับ เพราะแข่งกันมาตั้งนานแล้ว ไม่ได้หนักใจอะไร ก็ยังคงทำในสิ่งที่วางแผนไว้ตามกลยุทธ์ของเราต่อไป

มีหลักการบริหารคนอย่างไรบ้างท่ามกลางทีมงานที่มีหลากหลายวัยในองค์กร

ไทยรัฐมีคนหลากหลาย generation มาก สิ่งสำคัญคือต้องให้คนทุกรุ่นต่างเคารพและเข้าใจในบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน นั่นคือคนรุ่นก่อนต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานของคนรุ่นใหม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ให้ความเคารพในประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนที่สามารถขอคำแนะนำและคำปรึกษาได้

วาง corporate culture อย่างไร

ในส่วนของไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ที่ผมดูแลโดยตรง ก็พยายามวาง corporate culture ให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงกัน แต่ก็มีวัฒนธรรมองค์กรบางส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละ business unit ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น เช่น ในส่วนของไทยรัฐออนไลน์ที่ต้องให้มีการทำงานในแบบ digital lifestyle มากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ที่ทีมงานแต่ละคนสามารถทำงานหลาย ๆ หน้าที่จบได้ด้วยตัวเอง หรือการทำงานจากนอกออฟฟิศได้โดยเฉพาะทีมงานที่ดูแลแบรนด์ใหม่ทั้ง PEEPZ และ MIRROR

หัวใจหลักของการทำธุรกิจสื่อในปัจจุบันคืออะไร

คือความเข้าใจต่อ audience ของเราหรือ customer centric (การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง) เพราะเป็นแก่นของทุกธุรกิจ

ในฐานะทายาทมีแรงกดดันหรือความท้าทายอย่างไรบ้าง

ช่วงแรก ๆ ก็กดดัน แต่พอเริ่มมาทำงานแล้วได้รับมอบหมายให้ทำออนไลน์ที่เราชอบจึงรู้สึกสนุกกับงาน ซึ่งพอ success ก็ลดแรงกดดันลงไปบ้าง อย่างไรก็ตามช่วง 2-3 ปีหลังที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมากก็ทำให้เรากดดันมากกว่าตอนแรก

ที่รับแรงกดดันได้ ต้องบอกว่าผมโชคดีที่มีทีมงานดีมีน้อง ๆ ที่เก่งและมีความสามารถมาช่วยกันอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับต้องมี work-life balance ด้วย



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...