Family Business หรือธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งนับแต่สมัยรุ่นปู่ยาตายายหรือแม้แต่เพียงรุ่นพ่อแม่ ที่ดำเนินกิจการจนทำให้ทั้งชื่อเสียงบริษัทและแบรนด์เป็นที่รู้จักมาเป็นสิบ ๆ ปี ต่างมีผู้สืบทอดที่เป็นลูกหลานจาก New Generation เริ่มนำแนวคิดรุ่นใหม่มาปรับใช้กับกิจการ เพื่อให้ธุรกิจยังคงยืนอยู่อย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกระแสการเปลี่ยนของโลกธุรกิจในยุค Digital Disruption ควบคู่กับการบริหารองค์กรที่ประกอบด้วยคนหลายรุ่นให้ทำงานสอดผสานกันอย่างลงตัว จนสามารถส่งผ่านสินทรัพย์สู่มือทายาทรุ่นต่อไป
กลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2477 โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) นับเป็นองค์กรที่ยืนหยัดในวงการค้าเครื่องดื่มมาถึง 85 ปี ทำให้ประเด็นเรื่องความต่างวัยของบุคคลกรหรือ Generation gap เป็นหนึ่งความท้าทายของทายาทรุ่น 4 อย่างภูริต ภิรมย์ภักดีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ต้องเผชิญ เพื่อนำพาองค์กรให้ก้าวผ่าน Technology Disruption
โดยภูริตยืนยันว่าด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้องค์กรหรือบริษัทอยู่ได้ไปอีก 100 ปี จึงไม่ยอมต้องเป็นฝ่ายถูกผู้อื่นมา disrupt จึงจำต้องพัฒนาตัวเองและเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี ที่เพิ่งริเริ่มขึ้นใหม่มาใช้กับชีวิตประจำวันและระบบขององค์กรให้แข็งแรงขึ้นได้ นั่นคือส่วนที่ดีอยู่แล้วก็จะยังเก็บไว้แต่ส่วนที่ไม่ดีก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องบริหารจัดการคนให้อยู่ในจุดที่ต้องการ เพราะมองว่าทุกคนต่างมีความเก่งและความดีในตัวเอง จึงขึ้นกับการที่ผู้นำจะดึงศักยภาพออกมาให้ได้ โดยต้องรู้ว่าแต่ละคนเก่งในเรื่องใดแล้วเลือกงานที่เหมาะสมกับความสามารถ ยกตัวอย่างเช่นไม่ให้นักวิ่งมาราธอนมาแข่งวิ่ง 100 เมตร แต่กว่าที่จะเลือกนักวิ่ง 100 เมตรมาได้ก็ต้องผ่านการคัดกรองและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมาก่อน ทว่าขั้นตอนดังกล่าวคงไม่สามารถทำให้พนักงานเป็นพันคนพึงพอใจได้ทั้งหมด แต่หวังว่าจะสามารถทำให้คนหมู่มากพอใจ
ไม่เพียงเท่านั้นยังให้น้ำหนักกับการค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะนำมาซึ่งการเติบโตแบบยั่งยืนให้แก่กิจการด้วยกลไกของ CVC ในนาม Singha Venture Capital Fund (กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส) เพื่อปูทางให้กิจการของครอบครัวภิรมย์ภักดียังคงเติบโต ผ่านบทบาทของการเป็นประธานกรรมการบริหาร กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการลงทุนที่อยู่ภายใต้บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการของกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ฯ
หนึ่งในธุรกิจสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่วางแผงตั้งแต่เมื่อปี 2505 โดยเจ้าของกิจการรุ่นปู่ อย่างกำพล วัชรพล ในนามบริษัท วัชรพล จำกัด ที่ในวันนี้ได้ปรับตัวสู่ธุรกิจ Digital Content ซึ่งริเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2551 โดยทายาทรุ่นสาม วัชร วัชรพล ที่สวมหมวกทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด) และสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด)
ปัจจุบันเส้นทาง Digital Content ของค่ายไทยรัฐได้พัฒนาไปไกลกว่าเดิมอย่างมาก และจะยังคงยืนหยัดที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ยังเป็นธุรกิจสื่อชั้นนำดังเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยกลยุทธ์ customer centric นอกจากนี้ยังมีการนำ AI และ Machine Learning มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน เพื่อให้สามารถนำเสนอ content ที่ตรงกับความสนใจของประชากรโลกออนไลน์
ไม่เพียงเท่านั้นนอกจากปรับ branding ครั้งใหญ่แล้ว ยังได้ปรับเปลี่ยนการนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การนำ data visualization มาใช้ประกอบข่าวหรือรายงานข่าว เพื่อทำให้ข่าวที่ซับซ้อนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเป็น trend ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงยังเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ MIRROR และ PEEPZ ขยายฐานแฟนให้กว้างกว่าเดิม
ทั้งด้วยความที่กลุ่มไทยรัฐมีทรัพยากรบุคคลที่หลากหลาย generation มาก สิ่งสำคัญที่วัชรคือต้องให้คนทุกรุ่นต่างเคารพและเข้าใจในบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน นั่นคือคนรุ่นก่อนต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานของคนรุ่นใหม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ให้ความเคารพในประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนที่สามารถขอคำแนะนำและคำปรึกษาได้
Family Business ในนามบริษัท ห้าตะขาบ (ซิมเทียนฮ้อ) จำกัด ที่ก่อตั้งมากว่า 80 ปีโดยชาวจีนโพ้นทะเลที่เลือกมาตั้งรกรากในเมืองไทยอย่างจุ้ยไซ แซ่ซิ้ม จนสร้างชื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ที่พัฒนาจากศาสตร์การแพทย์แผนจีนอย่างแบรนด์ ‘ตะขาบ 5 ตัว’ ที่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์รวม 4 ประเภทคือ ยาอมแก้ไอ ยาขมเม็ด ยาเม็ดเบอร์เจ็ด (ยาแก้บิด) และยากวาดมหาจักร์ ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างท่ามกลางกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ
กระทั่ง ณ วันนี้ผลิตภัณฑ์ของ ‘ตะขาบ 5 ตัว’ ได้ออกไปวางขายยังตลาดหลายประเทศทั่วโลก โดยมีทายาทอย่างสุเทพ สิมะวรา ประธาน บริษัท ห้าตะขาบ ฯ ผู้เป็นตัวแทนทายาทรุ่นสอง ที่รวมพลังกับทายาทรุ่นสาม ปรับโฉมทั้งผลิตภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานสากลและภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ด้วยกลยุทธ์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น บริษัทจึงเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต เช่น สมุนไพรพ่นคอในรูปแบบสเปรย์ เพื่อลดอาการเจ็บคอและแก้ปัญหากลิ่นปากที่จะเปิดตัวภายในปีหน้า รวมถึงในอนาคตจะนำเสนอผลิตภัณฑ์น้ำดื่มที่ช่วยทำให้ชุ่มคอ สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงทุนสร้างโรงงานภายในปีหน้า
ทั้งนี้ด้วยความที่เป็นองค์กรซึ่งก่อตั้งมายาวนาน จึงมีบุคลากรหลายวัยทำงานร่วมกัน ซึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้ทั้งองค์สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างราบรื่นนั้น สุเทพย้ำว่าต้องแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนและให้ทุกคนมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน รวมถึงในบางกรณีก็ต้องมีการพูดคุยหรือสื่อสารในแง่ความรู้สึกด้วย ไม่ใช่สนใจแค่เรื่องตัวเลขอย่างเดียว
Healthcare เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระบทจาก Digital Disruption จึงเริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับคุณภาพบริการให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการพึงพอใจ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาแพง ขณะที่โรงพยาบาลยังสามารถทำกำไรคือแนวคิดหลักของ สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ผู้เป็นทายาทของนพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร (หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพและปัจจุบันเป็นประธานกรรมกรรมบมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล) ที่ฝันจะสร้างโรงพยาบาลเอกชนที่ให้ผู้มีรายได้ปานกลางในต่างจังหวัดเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้
ทั้งนี้บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ฯ เป็นบริษัทย่อยในเครือบมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และการบริหารจัดการโรงพยาบาล ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 9 โรงพยาบาล ได้แก่ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 จังหวัดนครสวรรค์ รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ รพ.พริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี รพ.พิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก รพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ รพ.สหเวช จังหวัดพิจิตร รพ.ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และล่าสุดคือ รพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษ จังหวัดศรีษะเกษ
โดยเครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิลเลือกนำนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อยกระดับศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งเริ่มจากพัฒนาระบบ Electronic Medical Record จนทำให้รพ.ปากน้ำโพ ผ่านเกณฑ์ระดับโลกของ HIMSS และยังมุ่งมั่นขยายศักยภาพต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในเครืออีก 8 แห่งภายใน 2 ปีข้างหน้า
ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านในนามโฮมฮับ (Home Hub) เปิดต้อนรับลูกค้าครั้งแรกในฐานะร้านขายสีเมื่อปี 2519 ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จนปัจจุบันกลายเป็นกิจการ Modern Trade ซึ่งทำรายได้เฉลี่ยราว 3 พันล้านบาทต่อปีจากทั้ง 5 สาขา ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น และอุดรธานี ที่บริหารโดยทายาทรุ่นสอง ชาตรี ตั้งมิตรประชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โฮมฮับ จำกัด
ในฐานะทายาทรุ่นสอง ชาตรี ปรับปรุงร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่รุ่นพ่อเริ่มไว้ให้ผันตัวสู่ธุรกิจค้าปลีกร่วมสมัยเมื่อปี 2548 จนถึงวันนี้เขาก็ยังไม่หยุดค้นหานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับร้าน Home Hub เพื่อให้ตอบโจทย์ใน 3 ด้านหลักคือ หนึ่ง คือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท สองลดค่าใช้จ่ายขององค์กรโดยรวม และสามเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้มีช่องทางจำหน่ายที่กว้างขึ้น
กระทั่งปัจจุบันที่กระแสดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ในสารพัดธุรกิจไม่ไว้แม้กระทั่งร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้าน ส่งผลให้ Home Hub ต้องเข้าสู่การทำ Business Transformation ด้วยหวังช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างช่องทาง Online Shopping พร้อมติดอาวุธการตลาดด้วย Social Media ที่เข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ได้กว้างขวาง ยังคงพัฒนาต่อเนื่องโดยใช้ Cloud Computing บริหารฐานข้อมูลของบริษัท เปิดให้ซัพพลายเออร์เช็คสต็อคผ่านระบบ Supply Chain Web Access เช่นเดียวกับร้าน Modern Trade ชั้นนำ
ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีที่บริษัทนำมาใช้เพื่อพลิกโฉมให้ธุรกิจคล่องตัวขึ้นจะไม่ได้แปลกใหม่ไปกว่าองค์กรอื่น ๆ มากนัก แต่ผลที่ได้ก็สร้างความพอใจด้วยตรงดังเป้าหมายที่ชาตรีวางไว้ ไม่เพียงเท่านั้นเขายังวางแผนที่จะยกเครื่ององค์กรให้ทันสมัยยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากเมล์เขียว (รถบรรทุกที่ตัวถังทำจากไม้ทาสีเขียว) ที่ให้บริการโดยบริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยคำรณ ทองคำคูณ ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2507 แล้วพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็น Green Bus ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด (CTC) ซึ่งปัจจุบันบริหารโดยทายาทรุ่นสอง สมชาย ทองคําคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่
Green Bus ให้บริการด้านการขนส่งและการเดินทางที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทยและเมืองเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยปัจจุบันมีธุรกิจหลักประกอบด้วย บริการรถโดยสารประจำทาง บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ และบริการรถเช่าเหมาเพื่อการเดินทางครอบคลุมทั่วประเทศไทย ที่รวมแล้วสามารถทำรายได้ราว 500 ล้านบาทต่อปี
ทว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผันแปรเร็ว ทำให้ Digital Transformation กลายเป็นภารกิจหลักของ Green Bus ที่เริ่มจากส่ง Mobile App มาผูกใจผู้โดยสารรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะผลักดันยอดจองตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ เพิ่มเป็น 80% ภายใน 3 ปี
โดยสมชายวางแผนระยะยาวที่จะนำ AI มาใช้ค้นความต้องการลูกค้าเพื่อขับเคลื่อนบริการและผลิตภัณฑ์ให้ครองใจแฟนคลับได้อย่างยั่งยืน รวมถึงยกระดับขีดความสามารถขององค์กรให้พร้อมเชื่อมต่อกับโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต
เมล็ดพันธุ์แห่งกลุ่มบริษัทไร่กำนันจุลงอกงามขึ้นเมื่อกว่า 80 ปีก่อนโดยผู้ก่อตั้งรุ่นหนึ่ง กำนันจุล คุ้นวงศ์ ที่ยึดมั่นเจตนารมย์ตั้งใจสร้างพื้นที่การเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งยังคงสืบต่อมาถึงวันนี้ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นสาม จงสฤษดิ์ คุ้นวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทไร่กำนันจุล จนถึงปัจจุบัน
ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลกผ่านขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำในแนวทาง 'From Soil to Silk' ของจุลไหมไทล้วนแต่มีนวัตกรรมสอดแทรกอยู่ เพื่อช่วยให้สามารถควบคุมการผลิตเส้นไหมอย่างครบวงจรตั้งแต่ การพัฒนาสายพันธุ์ไหมที่เหมาะสมกับภูมิอากาศแต่ละฤดูของประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์หม่อนร่วมกับกรมหม่อนไหมกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
กระทั่งปัจจุบันที่พัฒนา App เพื่อแก้ pain point ที่จุลไหมไทยต้องการยกระดับเกษตรกรให้เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องทีมงานทำให้ไม่อาจขับเคลื่อนได้ดังใจ ด้วยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรเพียง 30 รายที่ทำภารกิจในฐานะนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรให้คำปรึกษาแนะนำอาชีพให้กับเกษตรกรหม่อนไหมที่มากกว่า 5,000 รายใน 30 จังหวัด พร้อมยกระดับวิชาชีพเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น
โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มเป้าหมายปริมาณรังไหมเข้าโรงงานที่ 5,000 ตันต่อปี ภายในปี 2568 เพื่อให้กิจการเข้มแข็งและสามารถสู้กับผู้เล่นในตลาดโลกได้จริง เช่นเดียวกับที่ในอนาคตจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Robotics (วิทยาการหุ่นยนต์) มาทดแทนแรงงานคนวัยหนุ่มสาวที่นับวันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นเส้นทางสำคัญที่ส่งเสริมให้กิจการจุลไหมไทยไปต่อได้
ตลาดยิ่งเจริญที่อายุยืนยาวกว่า 60 ปี ก่อตั้งโดย สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ มาตั้งแต่ปี 2498 ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้นำที่เป็นทายาทรุ่นสองอย่างณฤมล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด ขณะที่เริ่มมีทายาทรุ่นสามดังเช่น อริย ธรรมวัฒนะ กรรมการบริหารงาน ตลาดยิ่งเจริญ และบริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด เริ่มเข้ามาช่วยงานกิจการของครอบครัวในฐานะบุตรชายของห้างทอง ธรรมวัฒนะ
ในวันนี้ทายาทรุ่นสามแห่งตลาดยิ่งเจริญยกเครื่องกิจการให้หลากหลายขึ้นด้วยบริการ Food Supply ผ่าน Online Platform ในนามของ ‘ส่งสด’ (Songsod) ด้วยหวังให้เป็นทางออกแก้ปมคนมาจับจ่ายวัตถุดิบในตลาดยิ่งเจริญน้อยลง และสร้างความต่างด้วยผู้คัดสรรมืออาชีพที่จะมาช่วยเลือกสินค้าให้ตรงใจพร้อมส่งถึงมือลูกค้า โดยวางแผนกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดภายในปีหน้า พร้อมตั้งเป้าหมายให้ภายใน 5 ปีแรกทำยอดขายโตเฉลี่ยถึง 100% ต่อปี และขยายฐานรายได้จาก B2B เพิ่มเป็น 30% ต่อยอดขายรวมภายในสิ้นปีนี้
ไม่เพียงเท่านั้นอริยยังมีแผนนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่ม เพื่อให้ตลาดยิ่งเจริญเข้มแข็งขึ้นจะให้ความสำคัญในเรื่องของการบริการจัดการข้อมูล เช่น จำนวนลูกค้าที่มาจับจ่าย จำนวนเงินที่ใช้ ประเภทสินค้าที่ซื้อ เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับกลุ่มลูกค้าที่จะมาใช้พื้นที่สำหรับจัดงานและกิจกรรมในตลาดยิ่งเจริญ
Community Mall (Lifestyle Mall) ที่นักช็อปในถิ่นอีสานต่างรู้จักอย่าง UD Town ในวันนี้เกิดขึ้นเมื่อราว 10 ปีก่อนที่ ธนกร วีรชาติยานุกูล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด เล็งเห็นโอกาสของการทำธุรกิจศูนย์การค้าจึงเกิดแนวคิดที่จะทำกิจการขึ้นบนพื้นที่ 25 ไร่ใจกลางอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นตั้งของห้าง UD Town ในปัจจุบัน ตัดสินใจลงทุนสร้างกิจการใหม่ของครอบครัวขึ้นจากรากฐานเดิมที่ครอบครัววีรชาติยานุกูลสร้างตัวจากกิจการแปรรูปมันสำปะหลังและโรงสีข้าวตั้งแต่รุ่นหนึ่ง
ปัจจุบัน UD Townอยู่ภายใต้การบริหารงานอย่างเต็มตัวของทายาทรุ่นสอง อภิชา วีรชาติยานุกูล ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรพลาซ่า ฯ ผู้ซึ่งปรับใช้วิชา Visual merchandising ที่ร่ำเรียน มาสอดผสานกับทฤษฎีการตลาดจนสร้างชื่อเสียงและการเติบโตให้ศูนย์การค้าของครอบครัว ที่เดินหน้าตอบรับสถานะ MICE City ทั้งการเปิดศูนย์แสดงสินค้า และเติมเต็มให้ครบภาพด้วยธุรกิจโรงแรม
คุณเข้าร้านแว่นครั้งล่าสุดเมื่อไร? เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาเข้าร้านแว่นแต่ละครั้งจึงไม่รู้สึกสนุก ตื่นเต้นเหมือนเวลาเข้าร้านเสื้อผ้า ถึงแม้ว่าจะมีให้เลือกซื้อออนไลน์ แต่ถ้าไม่ได้ลองก็ไม่รู้ว่าจะเหมาะกับตัวเองหรือเปล่า เป็นคำถามที่ทายาทแห่งร้านหอแว่นที่ก่อตั้งมากว่า 50 ปี ปริณดา ประจักษ์ธรรม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Glazziq (ร้านแว่นตาออนไลน์) ตั้งข้อสงสัย สำหรับธุรกิจแว่นตาและสามารถพลิกให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ
โดยเธอปลุกปั้นธุรกิจแว่นของครอบครัวแล้วต่อยอดจนกลายเป็น แบรนด์ GLAZZIQ Startup ด้านอีคอมเมิร์ชของตัวเอง ด้วยเป้าหมายในการเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแว่นตาผ่านช่องทางออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก
โดยปิดทุกจุดบอดของการซื้อแว่นตาออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีมาเชื่อมระหว่างคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงมี Chatbot เป็นผู้ช่วยในการเลือก พร้อมมี Style guide เป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยลูกค้าในการเลือกแว่นตา เพื่อสร้างประสบการณ์การเลือกซื้อแว่นตาให้ง่ายและเพลิดเพลินเหมือนการเลือกซื้อเสื้อผ้า โดยมีแคตตาล็อกแว่นให้ดู พร้อมทั้งรูปคนใส่แว่นให้ดูแบบ 360 องศาในทุก ๆ รุ่น หรือดูภาพใน social media ก็ได้
สำหรับจุดยืนที่ปริณดายึดถือในการสร้างสรรค์กิจการ คือ เมื่อได้ตัดสินใจเลือกอะไรไปแล้ว สุดท้ายก็คือสิ่งที่คุณเลือก ดังนั้นคุณจะเลือกทำอะไรก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับผลลัพธ์ที่จะตามมา
เหล่านี้คือเรื่องราวของบรรดาทายาทที่ต่างมีความเชื่อและจุดยืนชัดเจนในการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อขยายศักยกภาพให้กิจการของครอบครัวยืนหยัดอย่างมั่นคงและสามารถส่งไม้ต่อไปยังคนรุ่นหลังได้อีกยาวนาน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด