ธุรกิจ Healthcare ปรับตัวอย่างไรในยุค Digital Disruption ดังกรณีศึกษาของกลุ่มรพ.ต่างจังหวัดเครือพริ้นซิเพิล ฯ | Techsauce

ธุรกิจ Healthcare ปรับตัวอย่างไรในยุค Digital Disruption ดังกรณีศึกษาของกลุ่มรพ.ต่างจังหวัดเครือพริ้นซิเพิล ฯ

Healthcare เป็นหนึ่งให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระบทจาก Digital Disruption จึงเริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับคุณภาพบริการให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการพึงพอใจ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาแพง ขณะที่รพ.ยังสามารถทำกำไรคือแนวคิดหลักของ สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ที่พัฒนาระบบ Electronic Medical Record จนทำให้รพ.ปากน้ำโพ ผ่านเกณฑ์ระดับโลกของ HIMSS และยังมุ่งมั่นขยายศักยภาพต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในเครืออีก 8 แห่งภายใน 2 ปีข้างหน้า

 Healthcareสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด 

บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยในเครือบมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และการบริหารจัดการโรงพยาบาล ที่ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 9 โรงพยาบาล ได้แก่ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 จังหวัดนครสวรรค์ รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ รพ.พริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี รพ.พิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก รพ.พิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ รพ.สหเวช จังหวัดพิจิตร รพ.ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และล่าสุดคือ รพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษ จังหวัดศรีษะเกษ

ทั้งนี้บริษัทวางเป้าหมายที่จะเปิดกิจการโรงพยาบาลให้กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ซึ่งจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 20 โรงพยาบาล ภายในปี 2566 ด้วย 2 แนวทางคือสร้างโรงพยาบาลขึ้นเองใหม่ ที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษจึงจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้บริการ ส่วนอีกแนวทางคือไปร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลที่ก่อตั้งอยู่แล้วและไปพัฒนาต่อ ทั้งติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติมและปรับปรุงในภาพรวมใหม่ 

“เราตั้งเป้าการเติบโตประมาณ 15% ต่อปี และคาดว่าจะรักษาอัตรา net profit ที่ 5-6%” 

สำหรับจุดเริ่มต้นของภารกิจที่สาธิตได้รับมอบหมายให้ไปสร้างโรงพยาบาลแห่งแรกที่เมืองพัทยา (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา) ตั้งแต่เมื่อปี 2557 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสานต่อความฝันที่ต้องการสร้างโรงพยาบาลในต่างจังหวัดของบิดาคือ นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร (หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพและปัจจุบันเป็นประธานกรรมกรรมบมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล ตลอดจนล่าสุดได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 38 ของ การจัดอันดับ 50 อภิมหาเศษฐีไทย ประจำปี 2562 โดย FORBES) แม้ว่าสาธิตจะร่ำเรียนมาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาเครื่องกล) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ตาม 

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามปณิธานที่นพ.พงษ์ศักดิ์ยึดถือคือ ต้องการสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้คนที่มีรายได้ปานกลาง (รายได้ราว 9,000 บาท/เดือนตามนิยามที่โรงพยาบาลกำหนด) สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ เพราะค่าใช้จ่ายไม่แพง โดยมุ่งจัดตั้งในจังหวัดที่การแพทย์ยังเข้าถึงได้น้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งเมื่อลูกค้าเข้าไปใช้บริการแล้วต้องสัมผัสถึงความผ่อนคลาย สะดวกสบาย ไม่อึดอัด ตลอดจนไม่หรูหราเกินไป 

“หลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือต้องเป็นโรงพยาบาลที่ดี มีคุณภาพและทำกำไรได้” 

สำหรับเหตุผลที่ทำไมต้องเป็นพัทยานั้น สาธิตเล่าต่อว่า ด้วยเพราะบิดามองว่าตัวเขาน่าจะคุ้นเคยกับพื้นที่ดี เนื่องจากมีประสบการณ์เคยทำงานที่โรงกลั่นศรีราชาจังหวัดชลบุรีเมื่อครั้งอยู่ที่ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) มาก่อน หากจะไปบุกเบิกสร้างโรงพยาบาลก็ไม่น่าจะลำบากเกินไป

โดยภารกิจสร้างโรงพยาบาลครั้งนี้ได้ให้บทเรียนที่ล้ำค่าในหลายแง่มุมแก่สาธิต เพราะตัวเขามีหน้าที่ตั้งแต่ดูแลเรื่องการก่อสร้างจนถึงจัดหาพนักงาน แต่ที่วัดฝีมืออย่างหนักหน่วงคือวิชาวางแผนด้านการเงิน เมื่องบประมาณที่ได้มา 80 ล้านบาทถูกใช้หมดไปจนไม่เพียงพอจ่ายเงินเดือน จึงจำต้องขอกู้จากครอบครัวมาชดเชย 

“หลังจากทำไปได้ประมาณ 2 ปี ก็เริ่มรู้แนวทางว่าส่วนใหญ่จะต้องเน้นเรื่อง teamwork และ finance ซึ่งเมื่อก่อนมีน้อยคนที่จะอยากจะไปทำงานอยู่โรงพยาบาล ถ้าไม่ได้จบหมอ ยกเว้นผม แต่เขา (บิดา) ก็ไม่ได้กดดันให้เราเรียนหมอ”

 Healthcare

Healthcare vs Digital Disruption

แม้ปัจจุบันธุรกิจ Healthcare อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก  Digital Disruption แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือก่อนสายเกินไป ซึ่งนอกจากเป็นการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ Digital Transformation แล้วยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานของบุคลากรให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นด้วย 

ทั้งนี้ด้วยหัวใจสำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลคือ การบริการและระบบเวชระเบียนเพราะทะเบียนประวัติคนไข้คือรากฐานสำคัญในการตรวจรักษา จึงเป็นที่มาของการที่เครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิลริเริ่มพัฒนาระบบ Electronic Medical Record (การบันทึกทะเบียนผู้ป่วยแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์) 

สาธิตเล่าว่าโรงพยาบาลเห็นความสำคัญของการพัฒนา Electronic Medical Record ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ด้วยวิธีการ scan แต่ก็มีจุดบอดตรงที่ไม่สามารถนำข้อมูลจากเวชระเบียนมาใช้วิเคราะห์ได้ จึงหาทางออกใหม่ด้วยการให้แพทย์ป้อนข้อมูลการตรวจรักษาผ่านระบบ Application จากต่างประเทศที่พัฒนาร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทคนไทยแทน 

“ตอนแรกคุณหมอบางท่านจะยังไม่คุ้นชินกับการ key ข้อมูลลงระบบด้วยตัวเอง แต่เราก็ช่วยหาทางออกให้โดยเริ่มจากมีผู้ช่วยก่อน กระทั่งตอนหลังคุณหมอก็เลือกที่จะป้อนข้อมูลด้วยตัวเอง จนเริ่มถนัด และสะดวกกับการใส่ข้อมูลเองมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ใช้เวลาฝึกเพียง 1-2 เดือนคุณหมอก็ใช้งานได้คล่องแล้ว”

หลังจากที่ผ่านการเรียนรู้และปรับปรุงได้ประมาณ 3 ปี เพื่อให้เป็นไปตามตราฐานสากลในที่สุดโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 จังหวัดนครสวรรค์ หนึ่งในโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ตลอดจนเป็นโรงพยาบาลที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ขั้นที่ 7 (HIMSS Analytics Stage 7) ซึ่งถือเป็นขั้นสูงสุดของมาตรฐาน EMRAM (Electronic Medical Record Adoption Model) เมื่อเดือนตุลาคม 2562 และตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ในเครือสามารถผ่านมาตรฐานดังกล่าวให้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้าด้วย

โดยโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง เปิดให้บริการมาแล้ว 30 ปี เป็นโรงพยาบาลที่ได้นำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการดูแลผู้ป่วยของทางโรงพยาบาลให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัยสูงสุด มีระบบการตรวจสอบและทวนสอบ เพื่อความมั่นใจ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักหรือการเสียชีวิตจากความผิดพลาดในการรักษาหรือการสั่งยาลงได้

“หลังจากใช้ระบบ Electronic Medical Record แล้วพบว่ามี medical error ประมาณ 60-70 รายการต่อเดือน ต่ำกว่าเดิมที่เคยเกิดขึ้นอย่างมหาศาล”

ทั้งนี้ EMRAM จัดทำโดยองค์กร HIMSS (Healthcare Information and Management Systems Society) ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองระบบการทำงานที่เน้นในเรื่องของการทำให้ผู้รับบริการในโรงพยาบาลมีสุขภาพที่ดีด้วยการใช้ระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการกำหนดระเบียบวิธีและขั้นตอนในเรื่องการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นไปดังมาตรฐานหรือข้อกำหนดที่ทาง HIMSS Analytics กำหนดไว้

สำหรับมาตรฐาน EMRAM นั้นจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูข้อมูลการรักษาจากระบบได้ทุกที่ ทุกเวลา ได้ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ ลดปัญหาด้านเอกสารและการจัดเก็บ ลดความผิดพลาดในการอ่านลายมือแพทย์ มีระบบการแจ้งเตือนแพทย์และพยาบาล เช่น การเตือนเรื่องยาและผลแล็บ 

นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่องของการตัดสินใจการรักษาของแพทย์ เช่น การเตือนว่าผู้ป่วยรายนี้เข้าเงื่อนไขของผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตหรือย้ายลง ICU ของคนไข้ลดลงได้ถึง 3% 

รวมถึงระบบยังช่วยป้องกันการจัดยาผิดได้ถึง 75% เมื่อเทียบกับก่อนใช้ระบบ และยังมีระบบช่วยการให้ยาให้ถูกคน ถูกยา ถูกขนาด และถูกเวลา โดยการสแกน QR Code ที่ข้อมือผู้ป่วยก่อนรับยาเพื่อยืนยันว่ายาที่กำลังจะได้รับเป็นการจ่ายที่ตรงกับระบบการจ่ายยา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโปรเจคที่โรงพยาบาลทำร่วมกับบริษัทประกันชีวิตอีกสองแห่ง ซึ่งจะส่งผลให้จากเดิมที่คนไข้ซึ่งเป็นผู้ป่วยในจะออกจากโรงพยาบาลต้องใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายถึง 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยในปัจจุบัน จะเวลาเหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น 

“อีกไม่นานคนไข้และคุณหมอจะ discuss กันผ่านมือถือได้ ฉะนั้นการแพทย์ทุกอย่างจะอยู่บนมือถือทั้งหมด ทั้งระบบเวชระเบียน แพทย์ และคนไข้ไปอยู่ในมือถือให้ได้ภายใน 3 ปี”

Healthcareยกระดับงานด้าน HR 

นอกจากพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน อีกทั้งปรับปรุง Electronic Medical Record ให้เป็นมาตรฐานสากลแล้ว ยังนำนวัตกรรมมาใช้กับการบริหารงานทรัพยากรบุคคล (HR) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวเพื่อรับมือกับ Digital Disruption และสร้างมาตรฐานการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพของเครือโรงพยาบาลพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ โดยนำWorkday solutions ซึ่งเป็นระบบ Human Resource Management ระดับโลก มาพัฒนาระบบ HR ขององค์กร

สาธิตเล่าว่าเริ่มนำระบบ HR ใหม่มาใช้ในองค์กรได้กว่า 1 ปีแล้ว โดยบุคลากรสามารถทำรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้าน HR แบบออนไลน์ผ่านทาง App ที่ติดตั้งบนโทรศัพท์ เช่น ใช้การ Check-in ผ่านระบบแทนการตอกบัตรเข้างาน การอนุมัติวันลา เป็นต้น

“โรงพยาบาลต้องมีคนทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อใช้ระบบออนไลน์ก็ทำให้การจัดการต่าง ๆ คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ช่วงแรกจะต้องรณรงค์และสอนให้ทุกคนฝึกใช้ ซึ่งบางคนก็อาจะมองว่ายาก แต่ 90% ก็พอใจ ”

สำหรับมุมมองของสาธิตที่มีต่อความตื่นตัวของผู้ประกอบการในธุรกิจ Healthcare ของไทยนั้น เขาได้ทิ้งท้ายว่า “ภาพรวมของโรงพยาบาลในไทย ยังมีความตื่นตัวด้าน Health Tech ค่อนข้างน้อย จึงอยากจะเชิญชวนให้มาทำกันมากขึ้น” 




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...