4 วิธีที่องค์กรจะช่วยปลุกไฟให้คนรุ่นใหม่ หลังสถิติชี้ Gen Z ยุคโควิดหมดไฟ หมดใจให้ที่ทำงาน | Techsauce

4 วิธีที่องค์กรจะช่วยปลุกไฟให้คนรุ่นใหม่ หลังสถิติชี้ Gen Z ยุคโควิดหมดไฟ หมดใจให้ที่ทำงาน

‘เด็กจบใหม่กำลังไฟแรง’  คือภาพจำของคนรุ่นใหม่ วัยหนุ่มสาวที่ออกจากรั้วมหาลัยหมาดๆ และก้าวสู่โลกการทำงานครั้งแรก แม้ประสบการณ์และวัยวุฒิจะไม่มากเท่ารุ่นพี่ในออฟฟิศ แต่ข้อดีของพวกเขาคือความกระตือรือร้น เป็นอิสระไม่มีพันธะทางครอบครัว ไม่มีลูกต้องคอยห่วง ร่างกายยังแข็งแรงพร้อมสู้งาน และอยากจะมีส่วนร่วมกับทุกโปรเจกต์ของบริษัท

แต่ไฟนั้นกำลังค่อย ๆ มอดดับลงไป หลังจากโควิด-19 เข้ามา

 

Gen Z ไม่มีส่วนร่วมกับองค์กรสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ

จากการสำรวจของ Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านองค์กรระดับโลก พบว่าในช่วงปี 2019-2022 พนักงานอายุต่ำกว่า 35 ปี ที่มีส่วนร่วมกับการทำงานและเป้าหมายของบริษัท ลดลงจาก 37% เหลือ 33% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2011 

แต่สัดส่วนของคนที่หมดไฟ ไม่อยากมีส่วนร่วมในการงานใดๆ ของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 17% และความรู้สึกนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจนทำให้การมีส่วนร่วมระหว่างคนหนุ่มสาวกับผู้ใหญ่ในที่ทำงานแทบไม่มีเหลือ 

แล้วการมีส่วนร่วม ความรู้สึกได้มีส่วนร่วมในที่ทำงานที่ลดลงไปนั้นมีอะไรบ้าง 

  • ความรู้สึกได้รับการดูแล
  • ความรู้สึกที่มีคนคอยส่งเสริมการพัฒนา
  • มีโอกาสเรียนรู้และเติบโต
  • มีเพื่อนซี้ในที่ทำงาน
  • เชื่อว่าความเห็นของพวกเขาสำคัญ

เราจะเห็นว่าหลายปัจจัยชี้ไปที่ข้อสรุปเดียวกันนั่นก็คือ บางอย่างในองค์กรกำลังทำให้พนักงานอายุน้อยที่สุด ที่จะเป็นอนาคตและความหวัง กำลังรู้สึกผิดหวัง 

ภาระที่จะเป็นปัญหาขององค์กรและองค์กรช่วยจัดการได้

ระดับของการมีส่วนร่วมในที่ทำงานที่ต่ำลงไปนั้นทำให้พนักงานออกจากบริษัทมากขึ้น (Job turnover) และบริษัทมีผลกำไรลดลง จึงถือเป็นข่าวร้ายและความท้าทายสำหรับองค์กร ส่วนในภาพใหญ่ ปรากฎการณ์นี้อาจทำให้ทั้งโลกต้องสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

หากคุณเป็น Gen Z ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ นั่นก็เป็นเรื่องแย่สำหรับคุณเช่นกัน เพราะภาวะหมดไฟ ลาออก มันอาจจะวนลูปไปเรื่อยๆ ถ้าไม่หาวิธีจัดการ 

"หากพนักงานไม่มีส่วนร่วม อาจมีบางอย่างเกี่ยวกับวิธีการการทำงานที่ไม่เหมาะ ถ้าคุณปรับสิ่งนั้นให้เหมาะสมได้ คุณจะปลดล็อกศักยภาพทั้งหมดของพวกเขา (Gen Z)" Caitlin Duffy ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Gartner กล่าว 

ทำไมหลังโควิดพนักงานคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในองค์กรน้อยลง 

ก่อนเราจะไปดูว่าองค์กรจะช่วยพนักงานเหล่านี้ได้อย่างไร ต้องพาไปดูสาเหตุก่อนว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่อาจทำให้พนักงานเด็กจบใหม่ หรือ Gen Z หลายคนมีส่วนร่วมกับองค์กรน้อยลง 

นโยบาย Work from home 100 % ไม่ได้ดีกับเด็กจบใหม่ 

สำหรับเด็กจบใหม่พึ่งจะออกจากรั้วมหาลัย พวกเขาต้องการสังคม ต้องการคำแนะนำและอยากปรึกษาพี่ๆ ในที่ทำงานที่มีประสบการณ์สูง และการทำงานแบบทางไกล (Remote) หรือแบบผสมผสาน (Hybrid) อาจทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างานที่ทำไม่สนุก และไม่ได้ความรู้ 

Chat-effect 

วิธีการสื่อสารผ่านทางแชท ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันลดลงไป ช่วงโควิดระบาดเราเปลี่ยนวิธีการสื่อสารจากการเห็นหน้า นั่งประชุมด้วยกัน ไปสู่การคุยกันในแชท ประชุมทางออนไลน์ แม้ตอนนี้หลายบริษัทจะปรับให้พนักงานกลับมาเข้าออฟฟิศ แต่เรายังคงสื่อสารกันผ่านแอปด้วยความเคยชิน ทำให้ความเฉื่อยชาต่อกัน ความห่างเหินกับเพื่อนร่วมงานตามมา 

มีการศึกษาหนึ่งในจีนสุ่มแบ่งพนักงานออกเป็นสองกลุ่ม 

กลุ่มที่ 1 ทำงานแบบผสมผสาน ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละสองวัน 

กลุ่มที่ 2 ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน 

โดยพบว่า สำหรับพนักงานกลุ่มแรกที่สลับทำงานที่บ้านด้วย เข้าออฟฟิศด้วย แม้วันที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศพนักงานก็ยังส่งข้อความกันในแชทอยู่ดี นี่จึงเรื่องยากสำหรับกลุ่ม First jobber ที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง 

เป้าหมายและวัฒนธรรมองค์กร 

แน่นอนว่าการทำงานทางไกลหรือแบบไฮบริด พนักงานไม่ได้มาอยู่ร่วมกัน การจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้กับพนักงานเป็นไปได้ยาก นี่ยังไม่นับมาตรฐานและความคาดหวังในการทำงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน สำหรับวัยแรกเริ่มทำงานการมีประสบการณ์ระดับมืออาชีพที่น้อยนิด ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่นอนและไม่ชินเมื่อต้องเข้าสังคม 

ภาวะเครียดหลังโรคระบาด 

สถานการณ์โรคระบาดที่บังคับให้เราต้องอยู่ในบ้าน แยกตัวออกจากสังคม ตามมาด้วยความรู้สึกหดหู่และวิตกกังวล ซึ่ง Gen Z มีโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์นั้นมากกว่าวัยอื่น ๆ และจะต้องใช้เวลาเพื่อจะฟื้นตัวเองให้กลับมา 

แต่การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทันทีก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย 

กรณีศึกษาจาก JPMorgan และ Meta บริษัทแม่ของ Facebook เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะบอกว่า ‘การแก้ปัญหาไม่ใช่การเรียกพนักงานกลับออฟฟิศ’ เพราะทั้งสองบริษัทใหญ่นี้สั่งให้พนักงานทุกคนกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ และบอกด้วยว่าพนักงานอายุน้อยเป็นแรงจูงใจหลักในการพาทุกคนกลับไปที่ทำงาน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มันจะทำให้เรื่องทั้งหมดแย่ลงไปอีก 

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Gartner ระบุว่า บริษัทที่ให้พนักงานเลือกได้ว่าจะกลับมาทำงานที่ออฟฟิศหรืออยู่บ้าน จะมีอัตราการมีส่วนร่วมของพนักงาน Gen Z มากกว่าบริษัทที่บังคับให้เข้าออฟฟิศ 10%

นอกจากนั้น อีก 65% บอกว่าความเต็มใจของพวกเขาที่จะทำงานต่อไปในบริษัท ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่นหรือไม่ กล่าวคือมีความยืดหยุ่นของรูปแบบการทำงานนั่นเอง นั่นแปลว่า พวกเขาต้องการมีตัวเลือก เขาต้องการตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะเข้าหรือไม่เข้ามาทำงานในออฟฟิศ

อ่านมาถึงตรงนี้ คนเป็นผู้ประกอบการคงหัวหมุนบ้าง แล้วฉันจะทำยังไงต่อ ในเมื่อการทำงานแบบไม่เจอหน้ากันตามมาด้วยปัญหามากมาย แต่การให้พนักงานทุกคนกลับเข้าออฟฟิศก็ไม่ใช่ทางแก้ที่เหมาะ ลองไปดูวิธีข้างล่างกันต่อ 

4 วิธีเพิ่มการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน 

ก็ทำให้ออฟฟิศเราน่าเข้ามาทำงานสิ 

คนรุ่นใหม่ไม่ใช่คนที่คุณจะบังคับ ตั้งกฎให้พวกเขาได้ง่าย ๆ ยิ่งหากเราต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในที่ทำงานมากขึ้น จำไว้ว่า ‘Carrots work better than sticks’ เรามีลาอยู่หนึ่งตัว เราเลือกได้ว่าจะทำให้มันเดินด้วยการใช้แครอทล่อมันไว้ข้างหน้า หรือจะใช้ไม้เฆี่ยนมัน

มันคงหมดสมัยแล้วกับคำว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี แครอทเปรียบเหมือนรางวัล สิ่งจูงใจ คำชื่นชม วิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ ไม้ก็คือการทำโทษ คำวิจารณ์ การมองโลกในแง่ร้าย 

หากอยากให้พนักงานเข้ามาออฟฟิศมากขึ้น เราอาจจะลองปรับสภาพแวดล้อม โต๊ะทำงานดี ๆ เก้าอี้สุขภาพ ห้องเล่นเกม อาหารกลางวันหรือขนมฟรี เวลาเข้าออกงานที่ยืดหยุ่น หรือชั่วโมงแห่งความสุข (Happy hour( ที่พนักงานจะมารวมตัวกันเล่นเกม สิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหากผลตอบแทนคือคุณได้คนมีพรสวรรค์และความสามารถเข้ามาอยู่ในองค์กร 

การสื่อสารที่ดียังใช้ได้เสมอ 

ปัญหาการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การตั้งมาตรฐาน กฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติ เราบอกแล้วว่าทั้งหมดนี้ทำได้ยากหากเราไม่ได้มาอยู่ร่วมกัน ลองใช้วิธีการสื่อสารและอธิบายอย่างละเอียดให้พวกเขาเข้าใจดู และอย่าสร้างแนวปฏิบัติที่คลุมเครือ 

เมเนเจอร์และเซสชั่น one-on-one นั้นสำคัญ 

นักวิจัยของ Gallup แนะนำให้บริษัทดูแลผู้จัดการระดับกลางให้ดีขึ้น เพราะคนเหล่านี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าได้รับความสนใจและมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น แม้จะทำงานระยะไกลหรือแบบไฮบริด ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ระดับเมเนเจอร์จะเรียนรู้ว่าอะไรจะกระตุ้นพนักงานของพวกเขาได้บ้าง อาจจะนัดพนักงานมาคุยแบบ one-on-one สัปดาห์ละครั้ง เพราะจริงๆ เราจะเห็นว่า การที่พนักงานมีส่วนร่วมน้อยลงกับที่ทำงาน ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าออฟฟิศ แต่เป็นเพราะวิธีที่เมเนเจอร์จะดูแลจัดการพวกเขาในโลกการทำงาน ซึ่งเป็นโลกใบใหม่ของพวกเขามากกว่า 

“การที่เมเนเจอร์ให้ฟีดแบ็กที่มีความหมายกับพนักงานสัปดาห์ละครั้งมีความสำคัญมากกว่าสถานที่ที่พนักงานทำงานซะอีก” นักวิจัยของ Gallup กล่าว 

สร้างพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก 

คนรุ่นใหม่เชื่อในกฎระเบียบโลก เชื่อในสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาพึงมี ทำให้พวกเขาต้องการแสดงความเห็น บริษัทต่างๆ ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ และสร้างโอกาสให้พนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่มีอายุน้อยกว่า ได้แสดงความคิดเห็น ถามคำถาม และให้ข้อมูลในทุกแง่มุมของธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงควรจัดการประชุมร่วมกันเป็นประจำ เช่นเดียวกับฝ่ายบุคคลที่ต้องจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นให้มากขึ้น ผู้บริหารต้องรับฟังความคิดเห็น ตอบคำถาม และดำเนินการตามความเหมาะสม หรือพยายามหาตรงกลางร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

อ้างอิง : businessinsider 

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...