เป็นที่รู้กันดีกว่าปัจจุบันสถานการณ์ทั่วโลกของ Tech Talent นั้นมีความดุเดือดมาก เพราะเมื่อเกิดการ Digital Transformation ในองค์กรจำนวนมากหลังเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่ใช่แค่ Tech Company เท่านั้นที่ต้องการคนกลุ่มนี้ ด้วยปริมาณแรงงานด้านนี้ที่มีทักษะและประสบการณ์มีอยู่จำกัด เมื่อเทียบกับความต้องการ จึงเกิดการแย่งชิงบุคลากรสายไอทีโดยมีการเสนอเงินเดือนที่สูงและสวัสดิการที่น่าสนใจ
ความน่าดึงดูดใจจากเงินเดือนที่สูงและสวัสดิการที่เพียบพร้อมไม่ได้เกิดขึ้นกับบริษัทในญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก และตอนนี้บรรดาบริษัทเทคในญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนคนกลุ่มนี้ เนื่องจากระบบอาวุโสที่เข้มงวดทําให้บริษัทไม่สามารถเสนอการค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดึงดูดใจได้
โดยค่านิยมหนึ่งของคนญี่ปุ่น Gen X ขึ้นไปคือไม่เปลี่ยนงาน หรือการทำงานที่เดียวตลอดชีวิต ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหานี้ เนื่องจากการปฏิบัติแบบดั้งเดิมค่าจ้างจะปรับตามความอาวุโสและประสบการณ์ ดังนั้นการทำงานในบริษัทเดิมเป็นเวลานานยิ่งทำให้ได้สิทธิพิเศษ และเป็นธรรมดาที่ผู้อาวุโสจะได้ก่อนและได้รับการปรับค่าจ้างในอัตราที่มาก
อีกหนึ่งสาเหตุของสถานการณ์ขาดแคลน Tech Talent ในญี่ปุ่นนั้นมาจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาด้านนี้ค่อนข้างสูง และด้วยแนวโน้มของการเพิ่มค่าจ้างที่จํากัด ระบบอาวุโสในการทำงานที่ไม่เอื้อกับคนรุ่นใหม่ ทำให้คนจํานวนมากจึงไม่มีแรงจูงใจในการลงทะเบียน
โดยปกติแล้วในตลาดแรงงานค่าจ้างจะถูกกําหนดตามอุปสงค์และอุปทาน แต่จากการสํารวจในปี 2021 โดย Mercer บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ พบว่าในญี่ปุ่นค่ามัธยฐานสําหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีและอินเทอร์เน็ตต่ํากว่าตัวเลขโดยรวม 2% เนื่องจากค่าจ้างไม่ได้สะท้อนถึงกลไกตลาด ดังนั้นแม้จะมีความต้องการบริการเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงสําหรับผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีกลับไม่เพิ่มตาม
และจากรายงานของ Doda บริษัทจัดหางานชื่อดังในญี่ปุ่นพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของพนักงานสายไอทีในปี 2021 ลดลง 4% จากปี 2019 อยู่ที่ 4.38 ล้านเยน (34,466 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท) ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์โลกและกลไกตลาดเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามรัฐบาลดูเหมือนจะตระหนักถึงปัญหานี้ เพราะการขาดพนักงานไอทีที่มีทักษะเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการทำ Digital Transformation ของญี่ปุ่น และจากการวิจัยของกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นพบว่าปัจจัยที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลของบริษัทมาจากการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ถึง 53% (โดยเฉพาะพนักงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและเยอรมนีอยู่ที่ 27% และ 31% ตามลำดับ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้ค่าจ้างค่อนข้างเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่มีระบบอาวุโส
อ้างอิง: Nikkei Asia
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด