คุยกับ ดร. ภากร ปีตธวัชชัย การพัฒนาอย่างยั่งยืน กับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นมากกว่าแหล่งระดมทุน | Techsauce

คุยกับ ดร. ภากร ปีตธวัชชัย การพัฒนาอย่างยั่งยืน กับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นมากกว่าแหล่งระดมทุน

ท่ามกลางการเติบโตของโลกทุนนิยม สิ่งที่พัฒนาไปควบคู่กับการเติบโตดังกล่าวก็คือ การพัฒนาของเทคโนโลยี เพราะถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ภาคธุรกิจนำมาใช้ในการแข่งขัน ซึ่งทำให้เกิดการ Disrupt กันอย่างรุนแรงในหลายธุรกิจ โดยต่างฝ่ายต่างก็มุ่งพัฒนาสิ่งเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การครองตลาด โดยมุ่งเน้นการเติบโตในเชิงปริมาณ ในรูปแบบของความสามารถในการทำกำไร หรือ การรับผลตอบแทนในแนวตรงเป็นหลัก ไม่ได้มองถึงมุมกว้างโดยรอบ ซึ่งหลายครั้งอาจจะนำมาซึ่งการละเลยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่อยู่ในระบบนิเวศน์ของการดำเนินธุรกิจ 

จากประเด็นดังกล่าว ในระยะแรกจึงได้มีการสนับสนุนให้บริษัทมีการทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) เพื่อเป็นการคืนกำไรให้สังคมโดยให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ขาดโอกาส แต่แล้วด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของโลก ความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยวิธีการดังกล่าวไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้นแนวคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ (Sustainability) จึงได้เข้ามามีบทบาท และได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนผลักดันให้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

บทความนี้ Techsauce มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร. ภากร ปีตธวัชชัย  กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย (SET)  ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดความยั่งยืน และนโยบาย  ESG ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบหลักทั้ง 3 ด้านที่บริษัทจดทะเบียนจะต้องมี ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการและ การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท 

ตลาดหลักทรัพย์-การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องของ Disruption เข้ามาค่อนข้างมาก ทำให้หลายองค์กรต้องมีการ Transform เพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯเองมีการรับมืออย่างไรบ้าง

เมื่อพูดถึงคำว่า Disruption คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่ามาจาก Digital แต่ความจริงแล้ว Disruption เป็นสิ่งที่มีความหลากหลายกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบวิธีการต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงาน เรื่องของ Business Model ภาวะการแข่งขันต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิด Disruption ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น Digital จึงเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตามต้องมีการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจให้เหมาะกับแต่ละช่วงเวลา และภาวะการแข่งขัน เพราะหลังจากนี้ Disruption ไม่ได้เป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นคลื่นใหญ่แล้วจบ แต่จะเป็นสิ่งที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นองค์กรจะต้องหาวิธีการที่จทำอย่างไรให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็น ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น การลดต้นทุน หรือจะคงต้นทุนไว้เท่าเดิมแต่สามารถทำงานได้มากขึ้น รวมถึงการทำให้บริการและผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการถูก Disrupt ในบางส่วน และที่สำคัญสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่าง คือ จะทำอย่างไรให้คนที่ทำธุรกิจกับเราสามารถปรับตัวจาก Disruption ได้ด้วย...

เราต้องทำให้คนที่เกี่ยวข้องใน value chain และ supply chain ของเราสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะจะทำให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่เฉพาะเราคนเดียว ซึ่งการทำเช่นนี้จะส่งผลให้ในอนาคตเราจะได้ผลตอบแทนกลับมามากขึ้นและกว้างขึ้น และรับผลกระทบจากสิ่งที่จะมา Disrupt น้อยลง

ตลาดหลักทรัพย์ฯมีการวางกลยุทธ์อย่างไร สำหรับการเติบโตในระยะหลังจากนี้

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ได้มีการวางกลยุทธ์การดำเนินงานในระยะหลังจากนี้ โดยมุ่งเน้นการเติบโต 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ (1) การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับรูปแบบการทำงานโดยคำนึงถึงความร่วมมือที่จะทำให้สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ รวมถึงมองไปที่การทำธุรกิจในอนาคตของลูกค้าจะสามารถทำได้เร็วขึ้นและถูกลงได้อย่างไรบ้าง (2) การสร้างโอกาสใหม่ มุ่งขยายการระดมทุน ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความกว้างขวาง และหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ไปพึ่งกับผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว และ (3) การเติบโตไปพร้อมกับผู้ร่วมตลาดและสังคมอย่างยั่งยืน โดยเราต้องลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ของเราสามารถปรับตัว สร้างธุรกิจใหม่ ๆ ได้  ทั้งสามส่วนนี้จะเห็นได้ Business plan ของเราที่จะดำเนินการในอนาคต (Strategic Direction 2020-2022)

ระยะหลังทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับ 'การพัฒนาอย่างยั่งยืน' ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคธุรกิจ สำหรับ ดร.ภากร มองว่าต้องเป็นอย่างไร

ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า ณ ตอนนี้องค์กรของเรามีความยั่งยืนแล้วหรือยัง ก็ต้องย้อนมองและตอบให้ได้ก่อนว่า ในอีก 5 ปี หรือ 10 ข้างหน้า Business Model ของเรายังอยู่ได้ไหม จึงจะตอบได้ว่าองค์กรยั่งยืนหรือยัง ดังนั้นโจทย์หลักที่แต่ละองค์กรจะต้องทำ คือ ทำอย่างไรให้องค์กรของเราสามารถแข่งขันได้ เจริญเติบโตได้ โดยที่เราไม่ได้หายไป ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาก็ตาม สิ่งนี้คือ ‘ความยั่งยืน’ 

ขณะที่สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯเอง สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้มี 3 อย่าง ได้แก่ การที่องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสิ่งที่ทำ การทำสิ่งใหม่ และการสร้างธุรกิจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงจรธุรกิจที่ทำ  ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เราโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน 

ตลาดหลักทรัพย์-การพัฒนาอย่างยั่งยืนขอบคุณภาพจาก Freepik

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทจดทะเบียนอย่างไรบ้าง

เรามีนโยบายในการสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนในหลากหลายวิธีการด้วยกัน อย่างเช่น เราพยายามทำให้เขาเปิดเผยข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยการทำ Template มีการให้คำแนะนำให้เขาว่าควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลอะไรอย่างไรบ้าง หลังจากนั้น เราก็จะมีการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ และทำให้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากคนภายนอก โดยเรามีการประเมินให้คะแนน ESG กับบริษัทที่ดำเนินงานในส่วนนี้ได้ดี และสุดท้ายเราเองก็จะต้องทำอย่างไรให้บริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการที่เขาทำเรื่อง ESG ได้ดี ยกตัวอย่างเช่น การขอสิทธิประโยชน์  Green Project จากเรื่อง Carbon Credit ได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งที่เราสามารถสนับสนุนได้ คือ การทำให้กระบวนการตรงนี้ของบริษัทจดทะเบียนมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำลง ทำให้ทุกคนสามารถทำเรื่องเกี่ยวกับ ESG ได้ง่ายขึ้น และตรงกับความต้องการของคนมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายโดยตรงของเราที่จะต้องทำกับทั้ง Ecosystem ที่ไม่ใช่แค่บริษัทจดทะเบียน แต่รวมถึงนักลงทุนด้วย มิเช่นนั้นแล้วจะไม่เกิดการรับรู้ซึ่งกันและกันได้เลยว่า ประโยชน์ของความยั่งยืน (Sustainability) ที่ทุกคนเห็นจะต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่สามา่รถจับต้องได้จริง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม

การกรอกข้อมูลใน Template ทำแบบประเมิน ให้เป็นเอกสารถือเป็นสิ่งที่ง่าย แต่ถ้านับกันเป็นกระบวนการทำงานจริง ๆ จะทำอย่างไร ที่ไม่ได้ทำให้ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเป็นแค่การทำ CSR ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ

ต้องบอกเลยว่าเป็นสิ่งที่ทำจริงได้ยากมาก อย่างที่บอกว่า การทำ ESG ที่เป็นการปรากฎในรูปแบบของการกรอบแบบฟอร์ม สามารถทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ใส่ข้อมูลในโครงการที่คิดว่าได้คะแนน ESG  สูง แต่ที่ยากไปกว่านั้น คือ จะทำอย่างไรให้ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่อยู่ใน Business Plan หรือสามารถทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้จริง ดังนั้นจึงย้อนกลับไปที่แผนการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 3 อย่าง ที่มุ่งสร้างประสิทธิภาพ สร้างความหลากหลายที่ทำให้มีความสามาถในการรองรับการเปลี่ยนแปลง และสุดท้าย สร้างองค์ประกอบของ Ecosystem  ของคนที่เกี่ยวข้องกับเราให้ได้ประโยชน์จากการทำธุรกิจ เพราะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงกับการทำ ESG และ Sustainability เพราะว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมด มันได้ประโยชน์กับทั้งเราเอง และคู่ค้าที่เกิดขึ้นร่วมกัน

เป็นไปได้หรือไม่ ? ถ้าหากจะมองว่าเรื่องของการสร้างความยั่งยืนกับการดำเนินธุรกิจ คือ การที่บริษัทจดทะเบียนอาจจะต้องยอดลดเรื่องของผลตอบแทนในรูปแบบของกำไร

สำหรับเรื่องนี้ต้องมาดูกันว่า สิ่งที่จะต้องทำกับสิ่งที่จะตอบแทนกลับมาชดเชยกันได้หรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้นอะไรก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ที่จะได้รับร่วมกัน (mutual benefit) จากสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบหลัก ESG ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม หรือสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่าประโยชน์ที่จะกลับคืนสู่ผู้ประกอบการจะมากกว่าสิ่งที่กำลังจะใส่เข้าไป เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่า การทำให้ความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่ยาก จากการที่ต้องคิดว่า สิ่งที่ทำจะต้องเกิดประโยชน์หรือส่งผลต่อสังคม (social impact)  เป็นอย่างมาก คือ Output จะต้องมากกว่า Input

จากการที่หลายคนมองว่า...บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งระดมทุน แต่เป็นที่แห่งการสร้างความยั่งยืนด้วย ดร.ภากรมีมุมมองตรงนี้อย่างไร

จริง ๆ แล้ว เรื่องของการวัดความยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่สำหรับตลาดทุนเรามีหน้าที่ที่จะวัดว่าข้อมูลที่แต่ละองค์กรให้มา เมื่อนำมาวิเคราะห์ดูแล้ว องค์กรนั้นมีความสามารถในการสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ สิ่งนี้เป็นส่งที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญมากกว่า จะทำอย่างไรที่จะมีข้อมูลประเภทนี้ออกมาให้กับผู้ที่สนใจจะลงทุน สามารถนำมาวิเคราะห์ต่อได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ตลาดหลักทรัพย์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สนับสนุนให้มีข้อมูล และการวิเคราะห์แบบนี้ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนใช้หลักของความยั่งยืนในการทำธุรกิจ

ดังนั้นบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่จะทำให้เราสามารถวัดได้ว่าบริษัมมีความยั่งยืนหรือไม่ เพราะความเห็นของคนเราไม่เหมือนกัน อย่างน้อยถ้ามีการสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูล ก็จะทำให้คนเอาข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ได้ดีขึ้น 

โลกในอนาคต เป็นโลกที่มีความไม่แน่นอน มีความผันผวน  มีความซับซ้อน และมีความไม่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นยากมากที่จะบอกได้ว่า ผลลัพธ์จากการที่เราตัดสินใจว่าจะทำอะไรจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงตลอด คือ การตัดสินใจทำอะไรก็ตามจะต้องคำนึงถึง สังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียร่วมกันมากขึ้น ดังนั้นแนวคิดของความยั่งยืนที่จะมาใช้ในการดำเนินธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญ...


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...