Solar Rooftop ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา เป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งภาครัฐเองก็เปิดกว้างในการซื้อขายไฟฟ้าเสรีมากขึ้น อีกทั้งภาคเอกชนหลายรายก็ปรับตัวหันมาเป็นผู้เล่นในธุรกิจ Solar Cell ให้เข้าถึงภาคประชาชนเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือ บมจ.กันกุล เอ็นจีเนียริ่ง หลังจากที่ก้าวมาสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าไม่นานก็ได้ผุดธุรกิจใหม่ขึ้นมา เพื่อเติมเต็มช่องว่างของธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การนำของคลื่นลูกใหม่อย่าง ‘นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์’ กำลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการ GRoof Smart Living by Gunkul
ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชนหันมาให้ความสนใจและผลักดันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จากการที่ถือเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สะอาดและมีใช้ไม่จำกัด อีกทั้งเพื่อเป็นการลดต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าและเป็นการลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมไปในตัวด้วย ส่งผลทำให้มีบริษัทเอกชนหลายรายหันมาประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้น
หนึ่งในผู้เล่นที่ก้าวเขามาสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ก็คือ บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ที่มองเห็นโอกาสในการเติบโต และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีค่อนข้างสูง โดยเริ่มต้นจากการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับภาครัฐบาล และในปัจจุบันก็ได้มีการกระจายความเสี่ยง
โดยการทำโครงการ GRoof Smart Living by Gunkul ซึ่งเป็นการทำ Solar Rooftop ติดตั้งตามบ้านและโรงงาน เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าที่เป็นภาคเอกชนและให้เข้าถึงรายย่อยมากขึ้น ภายใต้การขับเคลื่อนของ ‘นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์' ทายาทของ ‘กันกุล ดำรงปิยวุฒิ์’ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริษัท เพื่อที่จะช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายมากมายที่เข้าในอุตสาหกรรมพลังงาน
นฤชล เล่าถึงการเริ่มต้นเข้ามาในธุรกิจพลังงานทดแทนว่า ตั้งแต่ตอนเด็กในทุก ๆ ปิดเทอมคุณพ่อได้ชวนมานั่งทำงานที่บริษัทมาโดยตลอด ดังนั้นมันก็เหมือนถูกกำหนดไว้ว่า เมื่อโตขึ้นก็ต้องกลับมาทำ จนกระทั่งได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เข้าไปทำงานเป็น Investment Banker ที่บริษัทหลักทรัพย์ข้างนอกก่อน แล้วจึงจะเข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว
ซึ่งตอนที่ตัดสินใจเข้ามาช่วยกิจการของครอบครัว ถือเป็นช่วงที่ Renewable Energy กำลังเฟื่องฟูพอดี เลยรู้สึกว่าเป็นจุดที่น่าสนใจที่จะเข้ามาทำด้วย ก็ได้เริ่มเข้ามาช่วยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อกิจการ โดยได้ใช้ความรู้จากการที่ไปทำงานข้างนอกมาก่อนให้เป็นประโยชน์ ซึ่งตอนนั้นกันกุลอยู่ระหว่างซื้อโครงการพลังงานลม เริ่มไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น และเริ่มทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา
การไปทำงานที่อื่นก่อนนั้น ถือว่าเป็นการหาประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเราเรียนจบด้านFinanceมา ก็อยากที่จะไปเรียนรู้ประสบการณ์ด้านนอกก่อนว่า Deal ที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ ในการควบรวมกิจการ หรือ ซื้อโครงการต่างๆ มันทำอย่างไร และเราก็สามารถนำความรู้ตรงนั้นนำมาใช้ที่บริษัทได้
สำหรับการเข้ามาทำงานในกันกุล ปัจจุบันก็ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซึ่งได้ดูแลในส่วนของการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัท หลังจากนั้นก็ได้มาเริ่มต้นดูแลโครงการ GRoof Smart Living by Gunkul ซึ่งเป็นการทำ Solar Rooftop ที่สามารถติดตั้งให้ภาคครัวเรือนไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมได้
และถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อเข้าถึงตลาด Retail ให้ได้มากขึ้น โดยเป็นการตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา เพื่อทำเป็น Sub-Brand เจาะกลุ่มที่พักอาศัยและกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งจะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมากันกุลเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ B2G (Business to Government) โดยการซื้อขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐบาลมาโดยตลอด
จากการที่กันกุลหันมารุกในการทำ Solar Cell ให้เข้าถึงตลาด Retail มากขึ้นนั้น ถือเป็นการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาฐานลูกค้าที่เป็นภาครัฐเพียงอย่างเดียว ประกอบกับในอนาคตมองว่าธุรกิจไฟฟ้ามันน่าจะคล้าย ๆ ธุรกิจสื่อที่มันเลี่ยนแปลงไป จากปัจจุบันนี้เราเป็นคนที่ซื้อไฟอย่างเดียว เหมือนแต่ก่อนเราก็เสพย์ข่าวอย่างเดียวทางโทรทัศน์
ต่อไปคนก็จะมี Activity มากขึ้นเพราะว่า เมื่อ Solar สามารถจำหน่ายไฟให้เราได้โดยตรง ดังนั้นเราก็จะสามารถผลิต ควบคุมระบบ บริหารจัดการเอง รวมถึงสามารถขายไฟให้เพื่อนบ้านได้อีกด้วย โดยผู้บริโภคสร้าง Sharing Economy กันเองได้ ซึ่งก็จะทำให้มีบทบาทมากกว่าในอดีต
ฉะนั้น การเข้าถึงฐานลูกค้าที่เป็นรายย่อย จึงไม่ได้ต้องการที่จะทำแค่แผงโซลาร์ที่นำไปติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ เพียงอย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงการทำให้ผู้บริโภคสามารถบริหารจัดการไฟฟ้าเองได้ (Energy Management) ด้วย โดยผู้บริโภคมีการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน แต่ก็ไม่ทราบว่าใช้ไปเท่าไหร่ เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นไหนที่กินไฟมากที่สุด จากปัญหาตรงนี้ทำให้กันกุลพัฒนาระบบการจัดการที่นอกเหนือไปจากการติดตั้ง ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าแต่ละวันต้องใช้ไฟอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดไฟมากที่สุด และเหลือนำไปขายให้กับเพื่อนบ้านได้
สำหรับการติดตั้งแผง Solar ตามครัวเรือน จะมีกระบวนการทำงานที่ไม่ซับซ้อน โดยเริ่มต้นจากการที่แสงอาทิตย์ตกลงมากระทบแผงโซลาร์แล้วก็จะผ่านอินเวอร์เตอร์ มาเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และเปลี่ยนเป็นกระแสสลับ (AC) ซึ่งก็จะเป็นไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านปกติ พร้อมกันนี้กระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จะมีระบบบริหารจัดการไฟฟ้าคอยควบคุม
ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่น โดยใช้ระบบ AI ในการเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของเจ้าของบ้าน และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละได้ เพื่อที่จะสามารถประหยัดไฟให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังสามารถบอกได้ว่า ในแต่ละวันผลิตไฟฟ้าได้เท่าไหร่ มีการวิเคราะห์ได้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นไหนกินไฟมากที่สุด พร้อมกันนี้จะมีระบบการแจ้งว่าตอนไหนสามารถใช้ไฟฟ้ามากหรือน้อย
ถ้ามีคนอยู่บ้านก็จะสามารถเปิดแอร์เพิ่ม ซักผ้า หรือรีดผ้าได้ และมีการสรุปให้ได้ว่าค่าไฟหลัก ๆ ในแต่ละเดือนมาจากกิจกรรมอะไร ควรมีการลดการใช้อุปกรณ์ชิ้นใด นอกจากนี้จะมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า เทอร์โมสตัท ที่จะทำหน้าที่ปรับอุณหภูมิเมื่อมีคนอยู่บ้านให้อัตโนมัติ โดยระบบจะวิเคราะห์ให้ว่า อุณหภูมิขนาดไหนอยู่ได้ โดยอุปกรณ์ตัวนี้มันจะไป Set up ระบบให้อัตโนมัติ ไม่ต้องปรับอุณหภูมิให้เปลืองค่าไฟ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันการใช้งาน Solar Rooftop เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่สมบูรณ์จากการที่ยังไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน ที่สามารถเก็บไฟฟ้าที่ผลิตไว้เวลาไม่ได้ใช้ ซึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะมาเติมเต็มระบบ คือ แบตเตอรี่ ถ้าหากแบตเตอรี่มีการผลิตเป็นที่แพร่หลายก็ทำให้จะสามารถต่อยอดได้อีกมาก
ต้องบอกว่าในปัจจุบันนี้ Disruption เป็นสิ่งที่มาแรงค่อนข้างมาก จากการที่มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งธุรกิจโรงไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ Solar Cell ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค จากในอดีตจะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้าสมัยก่อน ก็จะมีทั้งผลิตจากก๊าซ นิวเคลียร์ ฟอสซิสต่าง ๆ ซึ่งโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่และเงินลงทุนที่สูงมาก
แต่พอมีพลังงานทางเลือกอย่าง Solar และ Wind เข้ามาก็ทำให้เห็นได้ว่าโรงไฟฟ้ามีขนาดเล็กลง และรัฐบาลก็หันมากระตุ้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทำให้มีผู้ประกอบการต้องปรับตัวค่อนข้างมาก และทำให้มีโรงไฟฟ้าสามารถกระจายได้ทั่วไปหมด พอมาในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าก็มีการย่อส่วนให้เล็กลงอีก โดยแผงโซลาร์เพียงไม่กี่แผ่นก็สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้แล้ว
อย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้เล่นในธุรกิจโรงไฟฟ้ามีการปรับตัวและปรับนโยบาย โดยการไปหาธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถเป็นแนวทางใหม่ที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ เช่น การไปร่วมมือกับบริษัทค้าก๊าซ หรือเทเลคอม เพื่อให้บริการลูกค้าเป็น One Stop Service Solution ส่วนในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าในระยะหลังรัฐบาลเริ่มมีการเปิดกว้างมากขึ้น ในการซื้อขายไฟฟ้าเสรีให้กับภาคประชาชน
บางคนมองว่าวันหนึ่งภาครัฐถ้าไม่ปรับนโยบาย เมื่อแบตเตอรี่ราคาถูกลง ทำให้เราสามารถผลิตและใช้ไฟได้ด้วยตัวเองทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้นการไฟฟ้าอาจพิจารณาปรับนโยบายเพิ่มเติม เพื่อให้ทันกับยุค Disruptive Technology
ปัจจุบัน Solar Rooftop ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ด้วยราคาที่ลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้มีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีปัญหาที่สำคัญที่สุดของผู้ติดตั้งโซลาร์ คือ การผลิตพลังงานที่มากเกินความจำเป็น แต่ไม่สามารถขายหรือส่งให้กับผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าได้ จึงทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ ERC Sandbox (Energy Regulatory Commission Sandbox) เพื่อเป็นการผลักดันให้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาทดลองใช้ได้จริง
เช่น โครงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ที่ต้องยืมสายส่งไฟฟ้าระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการจัดระเบียบการขายไฟฟ้าของภาคประชาชนให้สามารถทำได้อย่างมีระบบมากขึ้น และจะเป็นมาตรการสำคัญในการผลักดันการเพิ่มการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า
ซึ่งการที่กันกุลได้เข้าไปร่วมโครงการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนที่มีการใช้ Solar Rooftop สามารถขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งได้ เพราะ ถ้าไม่ได้เข้าโครงการนี้มันจะยากมากที่จะขายไฟอย่างเสรี และในระยะทางที่ไกลขึ้น เช่น จากกรุงเทพฯขายไฟไปที่เชียงใหม่ หรือสระบุรี เพราะไฟฟ้าไม่สามารถยิงผ่านไวเลสได้ แต่มันต้องผ่านสายส่ง ซึ่งการที่จะทำได้อย่างเสรีนั้นก็ต้องร่วมมือกับทางภาครัฐบาล
โดยในต่างประเทศอย่างประเทศออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ใครก็ตามที่ต้องการจะซื้อขายไฟฟ้า สามารถซื้อขายกันได้เลย แล้วภาครัฐก็ออกกฎระเบียบในการสนับสนุนด้วยซ้ำว่าสายส่งซัพพอร์ตการซื้อขายของประชาชนได้ แล้วก็คิดราคาห้ามเกินที่กำหนด ดังนั้นมันขายกันอิสระได้เลย
ในอนาคต หากประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้น ที่สามารถซื้อขายไฟได้อย่างเสรีจริงๆ ต้องอาศัยการผลักดันจากภาครัฐที่อนุญาติให้ทำ และสนับสนุน ซึ่งต่อไปอาจจะเป็นเหมือนญี่ปุ่นที่มี libralization ตลาดซื้อขายไฟฟ้า
ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานแสงอาทิตย์กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการตื่นตัวของภาคเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของโรงงานที่มีการติดตั้งค่อนข้างมาก ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีการพิสูจน์มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี แล้วว่ามันใช่ เพราะมันสามารถทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ลดลง จากการที่มันสามารถผลิตไฟในหน่วยที่ถูกกว่าการไฟฟ้าของภาครัฐผลิต
ถ้าในแง่ของประชาชนที่ติดตั้งใช้ที่บ้าน ตลาดตรงนี้เป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะหากนับแค่ 1% ที่ติดตั้ง มันมีมูลค่าหลายพันล้านบาทเลยทีเดียว อย่างเช่นในประเทศออสเตรเลีย ที่มีรัฐบาลมีการเปิดเสรีให้ภาคประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop และสามารถขายไฟกันได้อย่างเต็มที่ ทั้งประเทศมีปริมาณการใช้โซลาร์ตามบ้านประมาณ 8 กิกะวัตต์ ในขณะที่ในประเทศไทยทั้งโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ และโซลาร์ขนาดเล็กตามบ้านรวมกันทั้งประเทศมีเพียงแค่ 2 กิกะวัตต์เท่านั้น ดังนั้นถ้าหากรัฐบาลให้การสนับสนุน และเปิดเสรีเต็มที่ ก็จะผลักดันให้ประเทศไทยไปถึงตรงนั้นได้ ที่มีคนใช้โซลาร์ตามบ้านเยอะ
ทั้งนี้ในทุกวันนี้ก็มีผู้เล่นในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทำให้เห็นได้ว่าตลาดมันกำลังมาจริง ๆ ทำให้คนตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนตรงนี้มากขึ้น ประกอบกอบมีการคาดการณ์ของ Bloomberg ไว้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า generation ของไฟฟ้าทั้งโลกจะมาจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ประมาณ 50% และถ้ามองในประเทศไทยตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ทำให้ประเทศไทยมีแผนที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีกเกือบ 40% ของโรงงานที่ต้องตั้งใหม่ตามแผนดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นความท้าทายในแง่ของการแข่งขันของผู้ประกอบการเช่นกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด