Smart Farming เชื่อมต่อเกษตรชุมชน สู่อุตสาหกรรมโลก ผ่านกรณีศึกษา Sunsweet ยักษ์ใหญ่ส่งออกข้าวโพดหวานไทย | Techsauce

Smart Farming เชื่อมต่อเกษตรชุมชน สู่อุตสาหกรรมโลก ผ่านกรณีศึกษา Sunsweet ยักษ์ใหญ่ส่งออกข้าวโพดหวานไทย

 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการดำเนินชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้มากขึ้น จึงได้มีการนำไปประยุกต์ให้สามารถอำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์กับประเทศในด้านต่าง ๆ  โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น ในด้านของการบริหารจัดการน้ำ การเพาะปลูก การจัดการด้านผลผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาดที่มีอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆให้เกษตรกรได้ หรือที่เรียกว่า Smart Farm หรือ  เกษตรอัจฉริยะ แต่ที่ผ่านเรามักจะเห็นการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ที่หวังเข้ามาช่วยยกระดับการทำการเกษตรยังไม่สามารถที่จะกระจายได้อย่างทั่วถึง หรือยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงเกษตรกรได้อย่างแท้จริง จากปัจจัยด้านการเรียนรู้และการทำความเข้าใจในการเทคโนโลยี 

โดยบทความนี้ Techsauce ได้พูดคุยกับ ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ Sunsweet  หนึ่งในผู้นำธุรกิจข้าวโพดหวานของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการทำ Smart Farm ที่สามารถในการสร้างความตระหนักรู้ และทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึง เข้าใจ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้จริง ในการเพิ่มพูนผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และสามารถยกระดับเกษตรกรรมระดับท้องถิ่นให้สามารถให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมระดับโลกได้

smart-farming

ดร.องอาจ เล่าว่า เดิมตนนั้นได้ประกอบอาชีพเป็นผู้ขายสินค้าการเกษตรหลากหลายชนิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ มะเขือเทศ และเมื่อถึงจุดหนึ่งได้เห็นว่าสินค้าเหล่านี้ควรจะมีการแปรรูป เพื่อที่จะสามารถมีมูลค่าเพิ่มได้ จึงได้ก่อตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขึ้น ต่อมาเมื่อถึงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปี 2540 ทำให้เห็นว่า เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดี เพราะการทำสินค้าหลายชนิด ต้องใช้ต้นทุนที่สูง จึงได้มองหาพืชการเกษตรที่สามารถนำมาเข้าระบบอุตสาหกรรมได้ จึงได้มาทำ ‘ข้าวโพดหวาน’  ซึ่งเป็นพืชที่มีการบริโภคกันทั่วทุกภูมิภาคของโลก และได้เป็นที่มาให้ตั้งเป็น Sunsweet ขึ้นมา 

สำหรับ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อปี 2560 โดยดำเนินธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูป และผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ KC (King Of Corn)  ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายภายในประเทศด้วยสัดส่วนเพียง 30% และอีก 70% เป็นการส่งออกไปจำหน่ายยัง 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีลูกค้าหลักในส่วนส่วนมากกว่า 50% เป็นโซนเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน และยังมีประเทศในแถบวันออกกลางรองลงมา อีกทั้งในปัจจุบันด้วยมาตรฐานของสินค้าที่มีคุณภาพทำให้ได้มีการเข้าไปตีตลาดใหม่ในแถบยุโรปเพิ่มเติมอีกด้วย  

จากการที่ Sunsweet ต้องมีการส่งออกไปทั่วโลก สิ่งสำคัญที่ต้องมีสม่ำเสมอ คงหนีไม่พ้นเรื่องของปริมาณผลผลิตที่จะต้องให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการและบริหารความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการทำ Contract Farming ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมมากกว่า 20,000 รายทั่วภาคเหนือ รวมพื้นที่ประมาณ 50,000-100,000 ไร่ต่อปี โดยเกษตรกรที่มาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวบริษัทจะดูแลตั้งแต่เรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปปลูก การตวรจสอบผลระหว่างปลูก และรับซื้อเมื่อถึงดูเก็บเกี่ยว ตรงนี้จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การลดความเสียหายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ลดต้นทุน และสร้างรายได้สม่ำเสมอให้กับเกษตรกร ส่วนในแง่ของบริษัทก็จะได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าได้ด้วย 

smart-farming

ยกระดับเกษตรกรรม กับความท้าทาย 3 ประเด็นหลักที่ต้องตีให้แตก 

ดร.องอาจ ได้เล่าถึง ประสบการณ์จากการคลุกคลีในวงการเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน ทำให้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น pain point ที่ขัดขวางการยกระดับเกษตรกรรมระดับท้องถิ่นให้สามารถมีศักยภาพแข่งขันในอุตสาหกรรมโลกได้ ซึ่งหากต้องการที่จะก้าวข้ามไปได้ต้องจัดการควบคุมความท้าทายให้ได้ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ 

หนึ่ง ปริมาณของสินค้า หลายครั้งที่ปัญหาของราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำก็เป็นเพราะการมีปริมาณของผลผลิตที่มากเกินไป และน้อยเกินไป ซึ่งเกิดความไม่สมดุล ตรงนี้เป็นอุปสรรคที่สูงมาก บางครั้งในช่วงเวลาหนึ่งสินค้าไม่ได้มีความต้องการจากผู้บริโภคมาก แต่ปริมาณของผลผลิตกลับมีออกมามากจนล้นตลาด หรือบางครั้งที่ความต้องการของผู้บริโภคมีมาก แต่ผลผลิตกลับไม่เพียงพอ 

สอง คุณภาพของสินค้า ในอดีตเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืช โดยที่ปลูกไปเรื่อย ๆ ถึงเวลาก็เก็บเกี่ยวตามฤดูกาล ตามความเป็นไปของธรรมชาติ โดยที่ไม่ได้สนใจเรื่องของคุณภาพว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ดังนั้นเมื่อผลผลิตออกมาแล้วไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดกำหนด ก็ส่งผลให้สินค้าถูกกดราคา ส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยนโยบายประกันราคาสินค้าจากรัฐบาล ตรงนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยควบคุม

สาม ต้นทุน เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชมักจะไม่ได้สนใจเรื่องของต้นทุนอย่างแท้จริง ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่มักจะทำงานด้วยต้นทุนที่สูง ส่วนนี้จะเป็นอุปสรรคทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ที่เสี่ยงต่อการขาดทุน และสุดท้ายก็ต้องจบด้วยการเป็นหนี้ 

นอกจากความท้าทาย 3 ประเด็นหลักที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นย่อย ที่จะเป็นส่วนของความร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาการทำเกษตรกรรมในประเทศไทยได้ ได้แก่ สถานะของตลาด ซึ่งเกษตรกรเองจะต้องศึกษาเรื่องนี้ เพื่อนำไปสู่การควบคุมต้นทุน และระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะต้องเอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร และสร้างผลประโยชน์ที่สมดุลระหว่างเกษตรกรกับนายทุนให้ได้ 

Smart Farming เข้าถึงเกษตรกรได้ ต้องไม่ละเลย 'การให้ความรู้' 

จากความท้าทายในหลายประเด็นที่จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เกษตรกรสามารถก้าวผ่านไปให้ได้ เพื่อการยกระดับเกษตรกรรม ถือเป็นโจทย์ที่ทำให้ Sunsweet ได้ริเริ่มโครงการ Smart Farm มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อที่จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาจัดการระบบน้ำ การให้ปุ๋ย การติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ 

ซึ่งจะสามารถตรวจวัดได้ถึง 6 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ความร้อน แสงแดด โดยใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ การตรวจวัดปริมาณแมลง ในการวิเคราะห์การเกิดและการแพรระบาด นำมาสู่การแจ้งเตือน เพื่อการสั่งการโดรนที่จะช่วยพ่นสารกำจัดได้อย่างทันท่วงที และสามารถทดแทนแรงงานของเกษตรกรได้  ตลอดจนเรื่องของการเก็บเกี่ยว การขนส่ง ซึ่งดร.องอาจเชื่อว่า เมื่อมีต้นแบบที่จะทำให้พวกเขาสามารถมาศึกษา ทำความเข้าใจได้แล้ว เขาก็จะสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการเพาะปลูกของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

 

สำหรับกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีนั้น Sunsweet ได้เริ่มต้นดำเนินการกับเกษตรกรใน Contract Farming ที่มีก่อน โดยจะมีทั้งการจัดอบรมสัมมนา การนำวัสดุ เครื่องมือต่าง ๆ มาสาธิตให้พวกเขารู้จัก และได้ทดลองใช้จริง

“เราสาธิตให้เขาเห็นเลยว่า เรื่อง อากาศ น้ำ ดิน ความชื้น แสงแดด เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมผ่านเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ พื้นที่เพาะปลูกของคุณสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไร ขาดอะไร ป้องกันได้อย่างไร และที่มากไปกว่านั้นคือ การพยากรณ์โดยรวมล่วงหน้าได้ว่าจะมีมากหรือน้อย มีเกิน หรือมีขาด ซึ่งเมื่อรู้ล่วงหน้าก็จะทำให้กำหนดทิศทางของการเพาะปลูกได้ และสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ วิธีการแบบนี้ คือ การยกระดับเกษตรกรอย่างแท้จริง”

พร้อมกันนี้ Sunsweet  ยังได้มีการร่วมมือกับบริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น บริลเลี่ยนท์ พาวเวอร์ ในการทำโครงการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ Solar rooftop เพื่อใช้ภายในโรงงาน การร่วมมือกับ สกาย วีไอวี ในการใช้โดรนในการถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์  รวมถึงการร่วมมือกับ ล็อกซ์เลย์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการนำเทคโนโลยี IOT sensor มาใช้ในการเกษตรแบบแม่นยำ เพื่อที่จะหาวิธีการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาทางการเกษตร และทำให้สามารถทำให้ผลผลิตมีคุณภาพที่สมบูรณ์มากขึ้นได้ 

นอกจากการลงทุนในเรื่องของเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาช่วยแล้ว ดร.องอาจยังให้ความสำคัญถึงการให้ความรู้เป็นอย่างมาก จึงได้ทำโครงการที่เป็นการร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน  ( กศน.) จัดทำหลักสูตรการปลูกข้าวโพดหวานขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก เพื่อให้เกษตรกรสามารถมาเรียนนอกเวลา นอกสถานที่ได้ เพื่อที่จะให้พวกเขามีความรู้ และเพิ่มพูนทักษะในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างถูกหลัก 

Smart Farm จะกลายเป็นสิ่งจับต้องได้จริงๆ นั้น เราต้องไม่ละเลยที่จะให้ความรู้ ให้โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีกับเกษตรกร เพื่อที่จะทำให้เขาเข้าใจและนำไปใช้พัฒนาการเพาะปลูกในพื้นที่ของตัวเองได้

เชื่อมต่อเกษตรกรรมท้องถิ่น สู่ระบบอุตสาหรรมโลก

ดร.องอาจ ยังได้เล่าถึงการที่จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ไม่ได้เข้าร่วม Contract farming กับ Sunsweet  สามารถที่จะเข้าใจการทำ smart farm และเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะนำไปยกระดับการเพาะปลูกในพื้นที่ของตัวเองด้วยว่า  แผนการที่วางไว้ในระยะ 3-5 ปี เราจะสร้างระบบ smart farm ให้เป็นแพลตฟอร์ม ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำการเกษตร โดยภายในแพลตฟอร์มนี้จะมีเทคโนโลยีทุกอย่างที่สามารถควบคุมทั้ง ดิน น้ำ ปุ๋ย ซึ่งจะเปิดให้เกษตรกรที่มีความสนใจสามารถมาเข้าร่วมใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ได้ ซึ่งเรามองว่าเป็นประโยชน์กับเกษตรกรรมระดับชุมชนอย่างมหาศาล โดยปัจจุบันเราก็ได้ดำเนินการแบบแยกเป็นส่วน ๆ ไป แต่ในอนาคตอย่างที่บอกว่าต้องมีการเชื่อมต่อทั้งหมดเข้ามาไว้ในแพลตฟอร์มเดียว 

สิ่งสำคัญที่เราคาดหวัง คือ เราต้องการให้เกิดชุมชนใหม่ที่เป็นเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farm City ที่จะสามารถยกระดับเกษตรกรรมให้พัฒนาไปอย่างก้าวหน้ามากกว่าเดิม โดยที่หากย้อนเวลาไปเมื่อ 7 ปีก่อนที่จะมาเริ่มทำ smart farm ปัญหาของการเกษตร คือ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าพรุ่งนี้วัตถุดิบจะเข้าโรงงานเท่าไหร่ เดือนหน้าเท่าไหร่ และสถานการณ์ปริมาณของวัตถุดิบในปีหน้าจะเป็นอย่างไร จะตกลงส่งของกับลูกค้าก็ไม่สามารถที่จะขยายได้มาก เพราะความไม่รู้ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่วันนี้เรารู้ทั้งหมด เพราะเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ และมันสามารถแก้ได้จริง ๆ  ตอนนี้เราสามารถรู้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้ามากกว่า 50% ส่งผลให้เราสามารถขยายธุรกิจส่งออกให้กับลูกค้าเพิ่มเติมได้ไปในอีกหลายประเทศ รวมถึงเรื่องของคุณภาพสินค้าที่เราสามารถปรับปรุงให้ได้มาตรฐานของโลก

ประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตข้าวโพดหวานส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก และเราเชื่อว่าเกษตรกรไทยมีศักยภาพที่จะสามารถผลิตสินค้าส่งออกทั่วโลกได้ โครงการ Smart Farm ที่ซันสวีททำเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำอย่างจริงๆ และสิ่งที่เห็นคือ มี Impact หลายหมื่นครัวเรือน ถ้าสิ่งเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นอย่างจริงจังในระดับประเทศ เราเชื่อว่าจะสามารถยกระดับเกษตรกรรมไทย ให้พัฒนาก้าวไกลกว่าเดิมแน่นอน



 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก THaLLE (ทะเล) โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ที่เชี่ยวชาญภาษาไทยและการเงิน พัฒนาโดย KBTG หวังพลิกโฉมวงการ AI ไทย

KBTG เปิดตัว THaLLE (ทะเล) หรือ Text Hyperlocally Augmented Large Language Extension โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่ถูกออกแบบมาให้มีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและการเงินโดยเฉพาะ...

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...