แนวคิดเช่นไร ที่ทำให้ AIS เดินหน้าสู่การเป็นบริษัทที่อายุ 100 ปี บนเส้นทาง Sustainable Development | Techsauce

แนวคิดเช่นไร ที่ทำให้ AIS เดินหน้าสู่การเป็นบริษัทที่อายุ 100 ปี บนเส้นทาง Sustainable Development

Sustainable Development (SD) ที่บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ผลักดันคือการสร้างความยั่งยืนผ่านแนวทาง “ลดความเสี่ยงและสร้างโอกาส” ที่ขับเคลื่อนด้วย 7 กลยุทธ์ ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงต้องการนำพาให้ AIS อยู่ได้ถึง 100 ปีเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนทางเลือกที่จะเป็น Digital life service provider โดยมีหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญคือส่งเสริมให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้นถึง 400,000 คนภายใน 3 ปีข้างหน้า ตามคำบอกเล่าของ นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน 

Sustainable Development

ที่มาของการที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความยั่งยืน

จริง ๆ ต้องบอกว่าการพัฒนาสู่ความยั่งยืนหรือ Sustainable Development ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบริษัทในประเทศไทย กรณีของ AIS เอง ตั้งแต่สมัยคุณสมประสงค์ บุญยะชัย เป็นซีอีโอ เคยพูดแนวทางที่จะทำให้บริษัทอยู่ได้เป็น 100 ปี ที่เน้นการทำงานซึ่งมอง Stakeholder รอบด้านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น

โดยเฉพาะบริบทของ CSR (Corporate social responsibility) ของ AIS  ที่ให้ความสำคัญเรื่อง “คน” เพราะลูกค้าหลักของเราคือคน การที่คนจะแข็งแรงได้ ต้องย้อนกลับมาสถาบันครอบครัว จึงเป็นที่มาของการทำโครงการสานรัก เพื่อสนับสนุนสถาบันครอบครัว เพราะเชื่อว่าสถาบันครอบครัวที่แข็งแรงขึ้น คือพื้นฐานเบื้องต้นของสังคมที่แข็งแรง นั่นคือมีการศึกษาดี สามารถสร้างอาชีพและรายได้ได้ สุดท้ายแล้วก็จะเป็นลูกค้าที่สามารถมาใช้โทรคมนาคมในรูปแบบนี้ได้ 

ดังนั้น Sustainability ไม่ได้พูดแค่ social benefit หรือ environmental benefit แต่จะพูดถึง business benefit จึงจะเป็น in process ว่าแล้วองค์กรของเราเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร 

นอกจากนี้ เรื่อง Sustainable Development พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่สมัยที่เริ่มมี UN Millennium Goals หรือ MDGs (เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ) ซึ่งจะเน้นหนักในเชิงสังคมค่อนข้างมาก 

กระทั่งมองว่าจะขยายวงจากเรื่องนี้ให้ใหญ่ขึ้นอย่างไร จนวันนี้มี  Sustain Development Goals หรือ SDGs (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนโลกไปจนถึงเดือนสิงหาคม ปี 2573) ที่ผลักดันให้เกิดการพูดคุยในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น เช่น Responsible Investing ที่การลงทุนในตลาดทุนไม่ควรดูแต่กำไรของธุรกิจเท่านั้น ควรจะดูด้วยว่าธุรกิจเขาทำกันอย่างไร เขาส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทำให้มุมมองนี้เข้าสู่เมืองไทยผ่านตลาดทุนจากการผลักดันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

จุดยืนด้าน Sustainable Development ที่ AIS ยึดถือคืออะไร

เรื่องของการพัฒนาสู่ความยั่งยืนมองได้ 2 แกน นั่นคือความเสี่ยงและโอกาส สำหรับในที่นี้คือทำแล้วต้องลดความเสี่ยงแต่สามารถเพิ่มโอกาส ที่ไม่สามารถมองแค่ตัวบริษัทอย่างเดียวได้ เพราะความเสี่ยงและโอกาสมาจากปัจจัยภายนอกด้วย 

"นั่นคือธุรกิจที่ทำอยู่มีความเสี่ยงอะไรที่จะเข้ามากระทบ และมีโอกาสอะไรที่สามารถคว้าไว้ได้บ้าง โดยที่มองบริบทให้ครบทั้ง 3 ด้านคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม" 

ดังนั้นการสานต่อเรื่อง Sustainable Development ของ AIS จึงเลือกดำเนินการผ่านกลยุทธ์ 7 ด้านที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ 1. ต้องสำคัญกับบริษัทและบุคคลภายนอก 2. ต้องเป็นประเด็นระยะยาว เพราะเป็นเรื่องของความยั่งยืน 

ทั้งนี้ AIS นิยามตัวเองว่าต้องการเป็น Digital life service provider (สรรหาบริการทางด้านดิจิทัลมาให้ลูกค้า) จึงไม่อาจมองตัวเองเป็นแค่ธุรกิจโทรคมนาคมอีกต่อไป แต่จะต้องอยู่รอดอย่างยั่งยืนด้วย Business Model ใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เรื่องการนำคนเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างให้ชุมชนแข็งแรงขึ้น เรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงลดขยะในการดำเนินธุรกิจ

Sustainable Developmentกลยุทธ์ 7 ด้านสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

อะไรคือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่เรากำลังจะไป

เราอาจจะไม่ได้สื่อสารในบริบทที่เป็นวงกว้างทุกอัน แต่เลือกเฉพาะแกนที่ทำให้คนเข้าใจง่าย ด้วยความตั้งใจเดิมคือต้องการให้คนข้างใน (บริษัท) เข้าใจก่อน จากนั้นให้ลูกค้าและคนภายนอกเข้าใจด้วย ฉะนั้นแกนที่ดึงมาง่ายสุดและคนสัมผัสได้คือเรื่อง Cyber wellness (โครงการอุ่นใจไซเบอร์) และ โครงการ E-Waste (โครงการขยะอิเล็กทรอนิกส์) 

ในส่วน Cyber wellness มีเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกัน รณรงค์ ปลูกจิตสำนึก และสร้างเครื่องมือคัดกรอง Content ที่ไม่เหมาะสมจากโลกดิจิทัล โดยเน้น 2 ด้าน คือ มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างทักษะทาง Digital (Educator) เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเพื่อให้ใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน  และ ป้องกัน (Protector) ความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน Digital Solutions

สำหรับโครงการ E-Waste ต้องการสร้างการตระหนักถึงผลเสียของการทิ้งขยะอย่างไม่ถูกวิธี และรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อนำเข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของทุกคน และลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างในไทย โดยสามารถทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ ถังขยะ E-Waste ที่จะตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ อาทิ AIS Shop และศูนย์การค้าของ CPN และในอนาคตจะถูกกระจายไปยังมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยขยะจากถังจะถูกนำไปจัดการ และทำลายอย่างถูกวิธี ด้วยกระบวนการ Zero landfill (กระบวนการจัดการขยะ ทำให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เกิดมูลค่าได้อีก)

แต่ในอนาคตอีก 3 หรือ 5 ปีข้างหน้าอาจจะหยิบหมุนเวียนเอาแกนอื่นขึ้นมาพูด หรืออาจจะคิด business model ใหม่ขึ้นมาและอาจจะหยิบเรื่องอื่นขึ้นมาพูดแทนก็ได้ 

มีเป้าหมายหรือตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการในแง่มุมใดบ้าง

เป้าหมายจะเป็นไปตาม 7 กลยุทธ์ ที่เรื่องหลักคือ บรรเทาความเสี่ยงและสร้างโอกาสใหม่ ซึ่งคือเป้าหมายสูงสุดเพื่อนำพาองค์กรไปสู่ Digital life service provider 

ตัวอย่างเช่น Digital Innovation เราจะมองเป้าหมายตรง partnership ที่จะมาร่วมสร้างนวัตกรรมกับเรา เพราะนวัตกรรมไม่ได้ก่อเกิดได้จากองค์กรเพียงองค์กรเดียว แต่ต้องเข้าไปเกี่ยวกับ ecosystem เพื่อนำไปสู่การมีนวัตกรรมได้ 

ขณะที่เป้าหมายอย่างเรื่อง cyber security ก็จะเป็นในแง่การพัฒนาระบบเทคโนโลยีและคนของ AIS ให้สามารถที่จะดูแลความปลอดภัยของระบบการบริหารจัดการข้อมูลของเราได้ 

ขณะที่ในเชิง Social inclusion เป็นเรื่องของจำนวนคนว่า ต้องมี product/service ที่จะไปช่วยส่งเสริมให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นถึง 400,000 คนภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจำนวนตั้งต้นก็จะมีกลุ่ม อสม. (กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ซึ่งปลายปีที่ผ่านมาก็เกินเป้า 100,000 คนไปแล้ว

เป้าหมายทางด้าน Cyber wellness จะโฟกัสไปที่กลุ่มเด็ก ที่ตั้งเป้ามีจำนวน 2,000 โรงเรียนภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยตั้งใจจะนำบทเรียนเสริมทักษะด้านดิจิทัลเข้าไปสู่กลุ่มเด็ก จนถึงต้องมีเครื่องมือป้องกันให้กับคน ซึ่งเรามี product ออกมาแล้ว 2 ตัว (AIS Secure Net และ Family Link) ที่ควรจะเข้าถึงลูกค้าให้ได้ประมาณ 6,400,000 คนภายใน 3 ปีข้างหน้า 

เช่นเดียวกับด้านสิ่งแวดล้อม จะมีตัวชี้วัดเรื่องอัตราการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิตที่ต้องลดลง 90% เทียบกับปีฐาน รวมถึงกำหนด Mission Green 2020 ที่ตั้งเป้าหมายในการลดและกำจัดขยะ E-Waste ประมาณ 1 แสนชิ้น ซึ่งเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมกว่า 1 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนสมมูล (kgCO2e) ให้ได้ภายในสิ้นปี 2020 (นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวโครงการ E-Waste ในวันที่ 1 ต.ค. 2562)

Sustainable Development

ปัญหาหรืออุปสรรคหลักใด ที่ทำให้การขับเคลื่อนเรื่อง Sustainable Development ขององค์กรไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ

SD เป็นเรื่องระยะยาว หลายครั้งองค์กรถูกประเมินด้วยเป้าหมายระยะสั้นในรายปี ฉะนั้นจึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นหลักที่เรามองในระยะสั้น ซึ่งความท้าทายคือการนำบริบทระยะยาวมานำเสนอให้ตั้งแต่ระดับผู้บริหารได้เล็งเห็น และจัดสรรเวลาที่มีระหว่างระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตามการมองระยะสั้นไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเพียงพอที่จะตอบโจทย์ทั้งสองอย่างไปคู่กัน 

นอกจากนี้องค์กรธุรกิจเริ่มไม่มองเฉพาะเรื่องกำไรขาดทุนเท่านั้น แต่ต้องเพิ่มบริบทในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นจะเห็นว่าวิธีคิดของการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป เพราะไม่ได้มองแค่กำไรขาดทุนที่เป็นตัวเลข แต่มองว่าเราตอบโจทย์ higher purpose อะไรบางอย่าง 

ดังนั้น SDGs ซึ่งเป็น higher purpose กำลังบอกว่าถ้าไม่ช่วยกันดูแลโลกใบนี้ ก็อาจจะต้องล่มสลายแน่ หากยังอยากให้มีโลกสำหรับคนรุ่นหลังอยู่ ก็ต้องร่วมกันทำ ฉะนั้นเมื่อกลับมามองที่ตัวองค์กร หากเราสามารถเล็งเห็นหรือตอบโจทย์ความต้องการของคนในอนาคต ก็ทำให้เราสามารถกลับมาคิดในส่วนของ business model ใหม่ ๆ ได้

จริงหรือไม่ว่าจะทำ Sustainable Development ได้ต้องเป็นองค์กรที่รวยหรือแข็งแรงก่อนแล้วค่อยทำ

คิดว่าไม่มีถูกหรือผิด ตัวอย่างร้าน Bake oven ซึ่งขายเบเกอรี่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจด้านสุขภาพ แม้ตอนนี้ไม่ได้เป็นกิจการที่ร่ำรวย แต่มี SD อยู่ที่ mindset จริง ๆ แล้วถ้าเราทำให้ถูก นั่นหมายความว่าองค์กรสามารถลดต้นทุนได้ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม่ได้ปล่อยน้ำเสีย ไม่ได้ทิ้งขยะ 

ฉะนั้นถ้าเราทำทุกอย่างโดยที่เราคำนึงถึง Stakeholder อย่างดี ความเสี่ยงที่คนจะมาชี้นิ้วด่าก็จะไม่มี โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ยิ่งต้องควรทำ ที่บอกว่าควรทำไม่ใช่เพราะเรื่องเงิน แต่เป็นเพราะความใหญ่ ซึ่งหมายความว่ามี Stakeholder เป็นจำนวนมาก 

ตัวอย่างเช่นในมุมของการจ้างงาน ที่มีบุคลากรจำนวนมาก แล้วให้ความเป็นธรรมกับพนักงานหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ยั่งยืนแน่นอน เพราะสุดท้ายคนเหล่านั้นจะรู้สึกว่าเขาไปทำงานกับที่อื่นดีกว่า รวมไปถึงคู่ค้าด้วย ถ้าหากเอาเปรียบเขาเสมอ แม้ตอนนี้อาจจะยอมเพราะขนาดบริษัทใหญ่และมีกำลังซื้อ แต่ระยะยาวถ้ามีทางเลือกหรือมีหนทางอื่น เขาก็จะไม่มาหาเรา

มีแนวทางอย่างไรให้คนหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ปฏิบัติตามนโยบายหรืออยู่ในกรอบด้าน Sustainable Development 

เป็นคำถามที่ทุกคนพูดคุยกันมากและเป็นความท้าทายใหญ่ขององค์กร แต่การควบคุมพนักงานของตนเองยังไม่ยากเท่าไปควบคุมคนที่อยู่ใน value chain เป็นทอด ๆ เพราะบางทีก็ไม่รู้ว่าบริษัทที่เป็นแหล่งผลิตของไปจ้างบริษัทย่อยเช่นไร จึงถือเป็นความท้าทายของธุรกิจอย่างมาก 

ฉะนั้นสิ่งที่องค์กรเริ่มตั้งต้นทำได้คือจากภายในก่อน เริ่ม implement โดยมีนโยบายออกไป แปลงจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มีระบบการตรวจสอบและรายงานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอยู่ในร่องในรอย อาจจะไม่ 100% แต่เน้นให้ส่วนใหญ่อยู่ในร่องในรอยได้ จากนั้นเริ่มสื่อสารออกไปยังบริษัทคู่ค้า 

ยกตัวอย่างถ้ามองใน Supply chain วันนี้ เวลาเราซื้ออุปกรณ์ network จะมีกำหนดแกนสิ่งแวดล้อมใน TOR ของการจัดซื้อ ซึ่งคณะกรรมการจัดซื้อต้องพิจารณาตาม TOR เพราะเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องประเมิน แน่นอนว่าสัดส่วนอาจจะไม่ได้มาก เพราะสุดท้ายแล้วยังต้องดูเรื่องราคาและคุณภาพด้วย ดังนั้นทั้งสิ่งแวดล้อม คุณภาพ และราคา ต้องไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม Sustainable Development จะไม่ใช่การหักดิบมาก 

แม้โลกในปัจจุบันอาจจะซับซ้อนก็จริง แต่บางครั้งก็เหมือนจะง่ายขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำคนเดียว ตอนนี้พอทุกคนเข้มข้นเรื่อง SD ขึ้นมา เช่นกรณี supplier รายใหญ่ที่ขายทั่วโลก ก็จะมีความพยายามในการรวมกลุ่มและร่วมกันทำ central audit ถือว่าไม่ยาก ถ้าเราเข้าสู่กระบวนการหรือเข้าสู่มาตรฐานอะไรบางอย่าง หรือมี ISO เป็นตราประทับในการรองรับก็จะมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง 

อย่างที่บอกว่า SD ยังเป็น journey ที่ทุกคนค่อย ๆ พยายาม สิ่งที่ทำได้คือแต่ละองค์กรประเมินความเสี่ยงและชี้ลงไปว่าจุดไหนที่น่าจะเสี่ยงและเข้าไป audit เพราะเราคงไม่สามารถลงไป audit ได้ทุกจุด 100% 

อะไรคือความท้าทายสูงสุดในการมารับบทบาทเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนเรื่อง Sustainable Development

ความท้าทายแรกที่รู้สึกว่าผ่านมาแล้วในช่วง 2-3 ปีแรกคือ Awareness and Mindset ของคน เป็นการนำเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเด่นชัดหยิบขึ้นมาพูด ส่วนความท้าทายต่อมาคือ Priority อย่างที่บอกคือทุกคนมีงานสำคัญที่รออยู่ เราจะจัดสรรเอาเรื่อง SD ให้มาอยู่ในตารางเวลาและถูดจัดลำดับความสำคัญแต่ละหน่วยงานได้อย่างไร เพื่อให้ไปได้แบบเป็นองคาพยพ

นอกจากนี้ SD ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเป็น Change management อย่างหนึ่งในองค์กร อีกทั้งบางเรื่องก็มีต้นทุนแฝงที่มองไม่เห็น เวลาที่คนเรามองไม่เห็นก็เหมือน Covid-19 ในวันนี้ ซึ่งพอเห็นแล้วคนก็ตื่นตัว แต่เราคงไม่อยากให้ความเสี่ยงมาถึงแล้วเราค่อยไปตื่นตัว ฉะนั้นคือเรื่องที่ต้องทำให้คนเห็น

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดีที่องค์กรไทยให้ความตื่นตัวกันในเรื่องนี้มาก และโลกของสื่อสมัยใหม่ช่วยทำให้เรื่องนี้ใกล้ตัวคนมากยิ่งขึ้น เราจะเห็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่เติบโตมาด้วยวิธีคิดที่มีบริบทอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาก

ส่วนตัวคิดว่าเรื่อง SD ในเมืองไทยน่าจะอยู่ในจุดที่ดีกว่าในหลาย ๆ ประเทศ ด้วยความที่การคำนึงถึงการปฏิบัติต่อผู้อื่น มีอยู่ในพื้นฐานของคนไทยอยู่แล้ว



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...