ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ ใน Thai Startup Reunion 2022 | Techsauce

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ ใน Thai Startup Reunion 2022

Thai Startup Reunion 2022 งานรวมกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อการแลกเปลี่ยนแนวคิด พัฒนาประเทศระหว่างสมาคม Thai Startup และทางกรุงเทพมหานคร (Thai Startup x Chadchart) ซึ่งจัดล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา มี Startup ผู้เข้าร่วมมากกว่า 55 บริษัทด้วยกัน ความพิเศษในครั้งนี้ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ร่วมเสวนา ซึ่งทำให้เราได้เห็นโอกาสและไอเดียที่สตาร์ทอัพจะสร้าง Ecosystem ในการทำงานร่วมกับ กทม. อยู่หลายประเด็นที่น่าสนใจ

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ ใน Thai Startup Reunion 2022

Disrupt คืออะไร สิ่งไหนที่กำลังจะถูก Disrupt

Disrupt คือ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ไม่เคยมี ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของสตาร์ทอัพ คุณชัชชาติได้กล่าวถึงตัวอย่าง Traffy Fondue ดูรายละเอียด ที่ยกปัญหาของคนกรุงเทพฯ นำมาแก้ไข จัดการอย่างเป็นระบบ บนแพลตฟอร์ม กว่า 40,000 เคส และแก้ไปแล้วกว่า 10% (4,000 เคส) ภายใน 10 วัน กทม. ไม่เคยแก้ปัญหาได้รวดเร็วขนาดนี้มาก่อน สิ่งนี้ก็เป็นการ Disrupt เพราะเปลี่ยนวิธีที่ภาครัฐทำงาน และทำให้ประชาชนที่ร่วมแจ้งข้อมูลผ่าน AI Chatbot ได้ตระหนักถึงพลังที่ตัวเองมีส่วนร่วม Disrupt กทม. ไปด้วยกัน โดยที่ไม่ได้ใช้งบประมาณเยอะแต่อย่างใด

สิ่งที่ถูก Disrupt นี้ สร้างประโยชน์ในแนวคิดการแก้ปัญหา เช้าชามเย็นชามของราชการได้อย่างดี เปรียบเสมือนเป็นการใช้ไฟฉายส่องให้เห็นปัญหา เพราะการมีสถิติ ทุกคนเห็นข้อมูลรายงานในแต่ละเขต ทำให้เกิด Open Data พอมีเทคโนโลยีและความโปร่งใสแล้ว ทุกฝ่ายก็มีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาไปด้วย

สำหรับแนวโน้มในอนาคต สิ่งที่จะถูก Disrupt ต่ออย่างแน่นอน คือ ด้าน Education และ Healthcare ด้วยความที่เป็นธุรกิจที่มี Margin สูงโดยไม่สมเหตุสมผล ตัวอย่างเช่น ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่สูงลิ่ว หรือค่าเทอมบางโรงเรียนหลักหลายแสน แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่มีประสิทธิภาพ อีกด้านหนึ่ง คือ ปัญหาความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่กำลังเป็นที่สนใจ เพราะเป็นเรื่องของเทรนด์ในระยะยาว จะเป็นสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

ความท้าทายของภาครัฐ & Startup ไทย

ทั้งสองฝ่ายมี Nature & Culture การทำงานที่ต่างกัน ภาครัฐ จะเน้นระบบ ขั้นตอน เป็นระบบงบประมาณที่ล้มเหลวไม่ได้ ขณะที่ Startup จะเป็นการ Explore ลองผิดลองถูกมากกว่า 

ทั้งนี้ Startup เองไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวในความร่วมมือกับภาครัฐ เพราะ Startup เองก็มีจุดแข็งในตัว คือ การไม่ได้แบกภาระต้นทุนเก่า วัฒนธรรมองค์กรเก่าๆ ทำให้สามารถแข่งกับธุรกิจใหญ่ที่มีต้นทุนหนากว่าเพราะได้เปรียบด้านความคล่องตัว กลับกัน ภาครัฐส่วนใหญ่พอนำวิธีคิดแบบ Startup มาใช้ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะวัฒนธรรมการทำงานต่างกัน 

ดังนั้น การทำงานร่วมกัน ภาครัฐต้องออกแบบวิธีร่วมงานที่เหมาะกับ Startup เพราะดั้งเดิมระบบราชการอาจไม่ให้ความไว้ใจเอกชน ตัว Startup เองก็อาจไม่เข้าใจในระบบ ระเบียบทางราชการ ความร่วมมือจึงเกิดอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ แต่อนาคตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอน ภาครัฐจำเป็นต้องให้เอกชนมีส่วนร่วม เพราะภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง GDP ของประเทศถึง 80%

วัฒนธรรมองค์กรที่ควรบ่มเพาะ

ภาพสะท้อนของผู้นำ - อีกหนึ่งหัวข้อที่คุณชัชชาติฝากถึงเจ้าของกิจการ แนวคิดสำหรับการปรับองค์กร คือ ผู้นำอยากให้องค์กรเป็นแบบไหน ผู้นำก็จำเป็นต้องเป็น Role model อยากให้คนในองค์กรชอบการหาความรู้เพิ่มเติม หรือรู้จักดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ผู้นำก็ต้องทำให้เห็นก่อน

การจริงใจและสื่อสารกันโดยตรง - คุณชัชชาติยกตัวอย่างแนวคิดปรัชญาของ Ray Dalio ในทฤษฎีที่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นหัวใจของสตาร์ทอัพ คือ Radical Transparency ทุกคนต้องกล้าพูดกันตรงๆ ในสิ่งที่ผิด สิ่งที่ถูก ปัญหาในองค์กรก็จะไม่ถูกซุกอยู่ใต้พรม

ไม่นำปัจจัยภายนอกเป็นข้ออ้างในความล้มเหลวของตัวเอง - ถึงแม้จะเป็นเรื่องง่ายที่จะโทษ External factor เวลาที่เราไม่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นจะทำให้เราลืมมองปัญหาที่แท้จริงของตนเอง อย่างเช่น การขายสินค้าหน้าร้านไม่ได้ตามเป้าแล้วกล่าวถึงว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี จริงๆ ปัญหาอาจอยู่ที่ระบบการค้าหน้าร้านอาจได้รับความนิยมน้อยลงกว่าระบบออนไลน์แล้ว ต้องมองปัญหาให้ตรงจุด

Ecosystem ที่เกื้อหนุน หยุดกระแสสมองไหลสู่ต่างชาติ

ท่านชัชชาติชี้แจงว่า อนาคตของสังคมเมืองไม่ได้วัดกันที่สิ่งปลูกสร้าง แต่แข่งกันที่ว่าใครสามารถรั้งแรงงานมีฝีมือเอาไว้ได้มากกว่ากัน หน้าที่ที่ทางกทม. มีในมือคือการสร้างสภาพแวดล้อม กทม. สร้างคุณภาพชีวิตดี ถึงจะดึงให้ Talent อยากอยู่ต่อ การจะเปลี่ยนความคิดใครอาจเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ การทำระบบนิเวศให้เหมาะสมกับพวกเขา เรื่องคุณภาพชีวิตจึงสำคัญไม่แพ้เรื่องเทคโนโลยี

ปัญหาที่ไทยประสบอยู่ตลอด คือการรักษาคนเก่งไว้ในประเทศไม่ได้ ตรงจุดนี้ ถ้าทำให้แรงงานมีฝีมืออยากอยู่ที่ไทยหรือแม้แต่กทม. ต่อ ไทยเองก็ต้องสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย กลับมาสร้างความหวังอีกครั้ง ทางกทม. เองยังได้มีการนำรูปแบบ Work from anywhere มาใช้ในปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้คนเก่งอยากทำงาน

ดังนั้น ถ้า Startup มีข้อสงสัยจุดใดต่อหน่วยงานราชการ สามารถมาปรึกษาทางกทม. ได้ คุณชัชชาติส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือ Startup ในด้านต่างๆ อย่างการร่วมมือในครั้งนี้ก็เป็นการสร้างความหวังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศต่อไป

Invest กับการศึกษาและคนรุ่นใหม่ อนาคตที่คุ้มค่า

จริงๆ แล้วการพัฒนาคุณภาพประชากรเป็นสิ่งที่สมควรสร้างในทุกวัย แต่การปลูกฝังให้ทักษะเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่ทำน้อยแต่ผลลัพธ์มาก โดยเด็กและเยาวชนเปรียบเสมือนต้นอ่อน อาศัยการบ่มเพาะและเอาใจใส่ที่ดี ต้นอ่อนเหล่านี้จะกลายเป็นไม้ใหญ่ให้สังคมเกิดคุณภาพได้ เพราะอนาคตประเทศก็เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องใช้

อีกหนึ่งแนวโน้มในอนาคตนั้น “Learning” สำคัญกว่า “Education” การปลูกทักษะต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สถาบันศึกษาที่เปิดหลักสูตรจะต้องรองรับกับตลาดได้จริง ทั้งพนักงาน Blue Collar และ White Collar ขณะเดียวกัน สถานฝึกวิชาชีพของกทม. เอง ในอนาคตก็จะขยายสาขาวิชาชีพที่ฝึกเพื่อให้รองรับกับตลาดเช่นกัน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...