ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เปิดรับ Digital พร้อมเสิร์ฟทั่วโลก | Techsauce

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เปิดรับ Digital พร้อมเสิร์ฟทั่วโลก

  • เป็นธุรกิจรถเข็นรายแรกของไทยที่เดินหน้าสู่บริษัทมหาชนภายในปี 2564 พร้อมปูทางสร้างแบรนด์สู่ตลาดโลก
  • นอกจากเริ่มใช้ Cashless Payment แล้วยังพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้ผู้สนใจและลูกข่ายแฟรนไชส์สร้างธุรกิจได้ง่ายกว่าเดิม
  • ปัจจุบันมีเครือข่ายร้าน 4,500 สาขา คาดปิดยอดที่ 5,000 สาขาภายในปีนี้ ตั้งเป้ามี 10,000 สาขาภายภายใน 5 ปีข้างหน้า
  • ทำรายได้แตะ 1 พันล้านบาทเมื่อปี 2561 โดยยังคงมุ่งรักษาอัตราการเติบโตที่ 20-30% ต่อปี
  • เตรียมเข็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบของร้าน CHAYSEE FACTORY แล้วตามด้วยรถขายอาหาร easy meal

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ธุรกิจรถเข็นรายแรกที่กลายร่างสู่กิจการมหาชนภายในปี 2564 เดินหน้าสร้างแบรนด์จาก street food ของไทยให้พร้อมเสิร์ฟสู่ผู้บริโภคทั่วโลก ตอบรับนวัตกรรม Cashless Payment จับจ่ายคล่องตัว เล็งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ฉีกจากกรอบเดิมเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ วางเป้าหมายเพิ่มเครือข่ายเป็น 10,000 สาขาภายใน 5 ปีข้างหน้า

chaixi-owner-cashleess

พันธ์รบ กำลา

จุดกำเนิดของร้านชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เริ่มขึ้นเมื่อปี 2535 โดย พันธ์รบ กำลา ที่ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด นักสู้ชีวิตจากจังหวัดร้อยเอ็ด ที่จบการศึกษาในระดับป.4 ที่เริ่มหาเลี้ยงตัวจากขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสพร้อมกับขายบะหมี่เกี๊ยว

กระทั่งค้นพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ชอบกินเส้นบะหมี่มากกว่า แต่ทว่าในระหว่าง 2 ปีที่ขายนั้นตัวเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพของเส้นบะหมี่และแผ่นเกี๊ยว จึงจุดประกายความคิดให้พันธ์รบต้องการผลิตเส้นบะหมี่-แผ่นเกี๊ยวขึ้นเอง จนจัดตั้งบริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ฯ อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2543

จากวันแรกจนถึงปัจจุบันแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวได้เติบโตแตกยอดจนแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นนอกจากปั้นแฟรนไชส์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวจนติดตลาดแล้ว ยังมีแฟรนไชส์อาลี หมี่ฮาลาล แฟรนไชส์โจ๊ก ต้มเลือดหมู แฟรนไชส์พันปี หมี่เป็ดย่าง แฟรนไชส์โจ๊ก ต้มเลือดหมู แฟรนไชส์เตี๋ยวไก่ ข้าวมันไก่ ล่าสุดที่กำลังมาแรงในด้านความนิยมคือแฟรนไชส์ ชิ้นเนื้อ เนื่องจาก ร้านชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวไม่สามารถเปิดได้มากกว่า 1 สาขาในแต่ละอำเภอ เพราะจะส่งผลให้ยอดขายจะตกทันที จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ต้องพัฒนาแฟรนไชส์อื่น ๆ มาตอบโจทย์ เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำตกที่คนไทยคุ้นเคยเช่นกัน

chaixi-street-food-to-set

สิ่งหนึ่งที่ก่อร่างให้แบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งนอกจากแฟรนไชส์ที่มาในรูปของรถเข็นต่าง ๆ แล้ว ยังฉีกกรอบไปกว่าเดิมด้วยแฟรนไชส์ร้านคาเฟ่ขายอาหารในรูปลักษณ์ของ CHAYSEE FACTORY ที่จะเริ่มเดินเครื่องขายแฟรนไชส์ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ แล้วตามติดมาด้วยรถขายอาหารหรือ food truck แบรนด์ easy meal จากการบอกเล่าของ อิทธิพัทธ์ ภูกิจจีรภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จำกัด

"เราทำรถเข็นมา 24 ปีแล้ว จึงถึงเวลาที่เราจะก้าวไปอีกขั้นเพื่อขยายสู่ segment ใหม่"

นอกจากนวัตกรรมในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว การนำ Digital Technology มาใช้ในส่วนการชำระเงินก็เป็นอีกหนึ่งการปรับตัวครั้งใหญ่ ที่ออกตัวครั้งแรกกับค่าย True You โดยบริษัท ทรู ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม จำกัด ที่ให้ลูกค้าจ่ายค่าอาหารโดยสแกน QR Code และจ่ายด้วย TrueMoney Wallet ผ่านแอปทรูไอดี

ล่าสุดยังร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์และ VISA ที่ให้บริการด้านการบริหารเงินแบบครบวงจร หรือ Total Business Solution ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ระบบชำระเงินเชิงธุรกิจ (B2B Payment) สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ในการซื้ออุปกรณ์ และวัตถุดิบจากชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวผ่านการสแกน QR Code รวมถึงระบบการจัดการข้อมูลต่างๆ ที่บริษัท ชายสี่ ฯ สามารถดึงข้อมูลออกมาวิเคราะห์เพื่อนำมาพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น ตลอดจนมีระบบที่ผู้บริโภคสามารถชำระเงินด้วย QR Payment ที่รับทั้ง Virtual Credit Card หรือหักบัญชีธนาคาร

“Cashless Society นอกจากทำให้ชายสี่ ฯ มีระบบและบริการที่ดีแล้ว ยังทำให้คนภายนอกรู้สึก wow กับสิ่งที่เราทำ เพราะผมจะบอกลูกน้องเสมอว่าเราไม่มีทางปฏิเสธโลกดิจิทัลได้ แต่เราต้องเรียนรู้จึงจะอยู่ได้”

นอกจากนี้บริษัทยังเร่งพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเปิดให้ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์และลูกค้าปัจจุบัน สามารถสั่งซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้ทาง https://chaixishopping.com ที่ในอนาคตยังช่วยให้นักธุรกิจรุ่นใหม่สามารถริเริ่มกิจการของตัวเองได้ง่ายขึ้น เพราะมีระบบที่ช่วยกำหนดภาพรวมของร้านและออกแบบรายละเอียดต่าง ๆ ได้ตามต้องการ เช่นที่อิทธิพัทธ์เล่าว่ายึดแนวคิดมากจากแบรนด์ร้องเท้าจากต่างประเทศที่ให้ลูกค้าสามารถออกแบบรองเท้าได้ตัวเองผ่านเว็บไซต์ได้

chaixi-street-food-to-set

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวสู่ตลาดโลก

ขณะที่ในส่วนของการขยายธุรกิจในต่างประเทศภายใน 3 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นใน 3 ประเทศเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ในรูปแบบของธุรกิจร่วมลงทุน หรือ Joint Venture (JV) ซึ่งทางบริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ฯ จะไปร่วมหุ้นที่จำนวนเงินราว 20-30 ล้านบาทกับพันธมิตรที่มีขนาดธุรกิจระดับกลางและเป็นผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางในแต่ละประเทศ

ในส่วนของ สปป.ลาว ที่ตอนนี้มี 73 สาขาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมสร้างโรงงานขึ้นที่เมือง Vientiane (เวียงจันทน์) ขณะที่กัมพูชามีอยู่ราว 10 สขาและเริ่มทำโรงงานที่เมือง Serei Saophoan (ศรีโสภณ) ขณะที่ในส่วนของเมียนมากำลังคุยกับว่าที่พันธมิตรอยู่ 2-3 ราย แต่เริ่มทดลองไปเปิดขายแล้ว 5 สาขา

ทั้งนี้อิทธิพัทธ์มองว่าการเรียนรู้ด้วยการขยายธุรกิจกับ 3 ประเทศเพื่อนบ้านในระยะแรกจะเป็นบันไดสู่การขยายธุรกิจของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวให้กว้างไกลไปทั่วโลกในวันข้างหน้า อย่างไรก็ตามขณะนี้บริษัทยังมีรายได้จากฝั่งต่างประเทศเพียง 3% จากรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้แม้ว่าจะยังไม่ได้มีเป้าหมายสำหรับอัตราส่วนรายได้จากต่างแดนที่ชัดเจนในตอนนี้ แต่อย่างน้อยต้องเปิดให้ได้ 1,000 สาขาสำหรับทุกประเทศที่ได้มีการจัดตั้งโรงงาน

Chaixi-GM

สำหรับแผนการขยายแฟรนไชส์ในภาพรวมบริษัทต้องการมีเครือข่ายที่ 10,000 สาขาภายใน 5 ปี นอกจากนี้ต่อไปจะเริ่มเปลี่ยมุมมองการทำธุรกิจในเมืองไทยจากสถานะของผู้บริหารแฟรนไชส์เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า (Supplier) ให้แก่ทั้งร้านอาหารริมทางและร้านอาหารทั่วไป ด้วยมีความพร้อมทั้งด้านนวัตกรรมการผลิตและชื่อเสียงของแบรนด์

ดังนั้นอัตราส่วนรายได้ในอนาคตจะมาจากด้าน Supplier ราว 70 -8% ขณะที่ในส่วนธุรกิจแฟรนไชส์จะหดลงอยู่ที่ 20-30% ต่างจากขณะนี้ที่ครองอัตราส่วนถึง 50% โดยเมื่อปี 2561 บริษัทสามารถทำรายได้แตะ 1 พันล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งรักษาอัตราการเติบโตที่ 20-30% ต่อปี

เราเป็นธุรกิจเงินสด หาก GDP ดีเราก็เติบโตด้วย แม้ไม่ดีเราก็ยังโต แต่อาจจะไม่สูงมาก

ทั้งนี้เพื่อคงอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2561 บริษัทออกแคมเปญให้ยืมรถเข็น ที่อิทธิพัทธ์เปรียบเทียบว่า ‘เปิดฟ้า’ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ที่ไม่มีกำลังเงินพอที่จะจ่ายค่าแฟรนไชส์ได้มีโอกาสสร้างวิชาชีพได้ ทำให้จากเดิมที่เคยได้ขายได้ปีละ 200-500 คัน  แต่ปีนี้สามารถขายได้ปีละ 1,000 - 1,500 คัน

โดยผลที่ตามมาคือทำให้เครือข่ายของแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวครอบคลุมพื้นที่ทำเลดีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ดังที่เปรียบเทียบว่า  ‘ปิดฟ้า’ หากเมื่อใดที่เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาก็ย่อมช่วยให้บรรดาเครือข่ายช่วงชิงความได้เปรียบ เพราะจับจองแหล่งค้าขายที่ดีไว้หมดแล้ว ซึ่งด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้มีสาขาเพิ่มขึ้นเป็นราว 5,000 สาขาภายในปลายปีนี้

“ตอนนี้มีผู้สนใจราว 200 รายต่อวันมาต่อคิวซื้อแฟรนไชส์ แม้เราทำตลาดแค่ให้ผู้คนรู้ว่าแบรนด์ของเราคืออะไร”

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้ขายแแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจทุกราย แต่ต้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีวี่แววจะทำธุรกิจจริงจัง หรือมั่นใจว่าธุรกิจรถเข็นขายอาหารนี้จะทำให้พวกเขาสามารถสร้างฐานะให้มั่งคงได้จริง ไม่เพียงเห็นเป็นงานอดิเรกหรือหาอะไรทำแก้เบื่อเท่านั้น อิทธิพัทธ์ยังฝากไว้อีกว่าหากใครคิดจะซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วไม่ลงมือขายด้วยตัวเองอย่างจริงจังมีโอกาสม้วนเสื่อกลับบ้านถึง 99% ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้สนใจส่วนใหญ่ที่เข้ามาติดต่อซื้อแฟรนไชส์ต่างเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบปริญญาตรีกันแล้ว ทำให้ทางฝั่งของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวเองก็ต้องปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับการเตรียมอาหารให้สั้นและง่ายเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วย

กระนั้นเพื่อแผ้วถางกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน อิทธิพัทธ์ย้ำว่าต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือระบบการจัดการของร้านสาขา ที่การรรักษาคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีทีมเซล 135 คนทำหน้าที่ตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำเพื่อรักษาคุณภาพให้เป็นมาตรฐานของแบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ตั้งร้านหน้าร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ และในสถานีบริการน้ำมันจะได้รับการกวดขันเป็นพิเศษ

ส่วนต่อมาคือผลิตภัณฑ์และบริการ โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์นั้นต้องนำเสนอให้ครบถ้วนและตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า เพื่อร้านสาขาจะได้เลือกซื้อของแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวมากกว่าที่จะใช้ของรายอื่น เช่นเดียวกับด้าน บริการ ที่ต้องปรับรอบการจัดส่งสินค้าให้ได้ทุกวัน เพื่อให้ร้านสาขาใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ 3 อันดับแรกที่ขายดีได้แก่ เส้นบะหมี่ เกี๊ยว และผงซุป

ส่วนสุดท้ายคือ ด้านการตลาด ที่นอกจากการพัฒนาด้าน Technology เช่น Cashless Payment จะนับเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดแล้ว บริษัทยังให้น้ำหนักกับการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง ที่จะนำไปวางขายทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ที่จะช่วยอุดช่องโห่วในเรื่องการของการไม่สามารถวางเครือข่ายข่ายร้านสาขาและกรณีที่อยากรับประทานในเวลาที่ร้านยังไม่เปิดขาย

อีกทั้งเริ่มพัฒนาธุรกิจ Food service ที่เน้นเจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องการสร้างสรรค์แบรนด์ธุรกิจอาหารของตัวเอง แต่ไม่มีประสบการณ์และขาดความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตอาหารและจัดหาวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการ Food service อยู่แล้วคือร้านอาราบิเทีย (บริหารโดยบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัดในเครือเจริญโภคภัณฑ์) ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์เป็ดย่างของบริษัทอยู่

ให้เขาใช้เวลากับการสร้างสรรค์ร้านอาหารในฝันไป ส่วนเรื่องการพัฒนาสูตรอาหารและการจัดหาวัตถุดิบเราจะดูแลให้เอง

สำนักงานใหญ่และโรงงานของชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ที่คลองหก

ดันธุรกิจรถเข็นเข้าตลาดหุ้นไทย

ด้วยแต้มบุญที่บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ฯ เป็นธุรกิจที่มีบัญชีเล่มเดียว ทำให้เส้นทางเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือ SET จึงไม่ยากเข็ญนั้น ขณะที่ระบบการจัดการภายในนั้นได้จัดเตรียมกำลังคนและผู้บริหารรุ่นสองที่เป็นมืออาชีพจากวงการต่าง ๆ มาเป็นแรงขับเคลื่อนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้คาดว่าจะพร้อมยื่นข้อมูลในหนังสือชี้ชวน หรือ ไฟลิ่ง (Filing) ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาได้ภายในสิ้นปี 2562

อิทธิพัทธ์เล่าถึงที่มาของการปรับเปลี่ยนให้บริษัท ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ฯ เป็นกิจการมหาชนว่า เป็นความตั้งใจของพันธ์รบที่หวังให้กิจการเติบโตอย่างมั่งคงต่อไปในระยะยาวแม้ในวันที่ตัวเขาไม่ได้อยู่บริหารกิจการแล้ว รวมถึงมองว่าการขายหุ้นให้แก่นักลงทุนอื่น ๆ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจการที่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีแห่งการแบ่งปันที่พันธ์รบยึดถือมาโดยตลอด

“หากไม่มีอะไรเกินความคาดหมายก็น่าจะขายหุ้น IPO ได้ภายในปี 2564 แต่สุดท้ายก็ต้องดูสภาวะตลาดในช่วงเวลานั้นด้วย”

อิทธิพัทธ์ยังทิ้งท้ายถึงการสร้างแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวให้มีความอินเตอร์มากขึ้นว่า “ในปีหน้าผมอยากเชิญ MICHELIN GUIDE มาสำรวจและให้คะแนนกับร้านสาขาของแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว”

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...

Responsive image

ทำไมองค์กรต้องมี ‘Innovation Culture’ พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ถ้าอยากสร้างนวัตกรรม

ในบทความนี้ Techsauce ขอพาผู้อ่านไปรู้จักคำว่า Innovation Culture หรือ วัฒนธรรมนวัตกรรม อีกฟันเฟืองสำคัญของการสร้างนวัตกรรมองค์กรที่ขาดไปไม่ได้...

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...