หลัก ‘4ม’: มั่นใจ ไม่ทอดทิ้ง มุ่งมั่น และไม่เกรงกลัว แนวทางพัฒนาหัวหน้าที่ดี | Techsauce

หลัก ‘4ม’: มั่นใจ ไม่ทอดทิ้ง มุ่งมั่น และไม่เกรงกลัว แนวทางพัฒนาหัวหน้าที่ดี

ในฐานะผู้นำเคยสงสัยไหมว่า ทำไมลูกน้องเข้ามาทำงานไม่นานก็ลาออกไป คนในทีมเปลี่ยนหน้าเป็นว่าเล่น คนที่ยังอยู่ก็ทำงานไม่เคยถูกใจ ปัญหาเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากลูกน้องเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากหัวหน้าไม่สามารถ ‘นำทีม’ ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการได้

ในบทความนี้ Techsauce  จึงจะพามารู้จักว่าหัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องไม่ต้องการ พร้อมกับช่วยหัวหน้ามือใหม่และหัวหน้ารุ่นใหญ่ปรับตัวให้ได้ใจลูกน้องด้วยหลัก 4ม: มั่นใจ ไม่ทอดทิ้ง มุ่งมั่น และไม่เกรงกลัว แนวทางพัฒนาหัวหน้าที่ดี

หัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องไม่ต้องการ

ความจริงแล้วการขึ้นมาเป็นหัวหน้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีพนักงานเก่ง ๆ มากมายที่หลังจากเลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าก็ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญ คือ การเป็นหัวหน้าที่ดีต้องใช้ทักษะที่แตกต่างจากการเป็นพนักงานที่ดี 

สาเหตุดังกล่าวทำให้พนักงานที่เลื่อนขั้นขึ้นมาเพราะความเก่ง ต้องกลายเป็นหัวหน้าที่นำทีมไม่เป็นเพราะขาดทักษะด้านการสื่อสารและการจัดการทีม จนในบางครั้งกลายเป็นความ Toxic ที่ลูกทีมรู้สึกขยาด สำรวจจาก GoodHire บริษัทชั้นนำด้านการจ้างงานและคัดกรองภูมิหลังพบว่า พนักงานถึง 82% พร้อมลาออกหากต้องทำงานกับหัวหน้าที่ทำงานไม่เป็น  

มันจึงสำคัญมากที่ผู้นำทั้งหลายควรรู้จักกับ ‘ประเภทของหัวหน้าที่ลูกน้องไม่ต้องการ’ อย่างน้อยก็เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่าเราไม่ควรเป็นแบบนี้ โดยสามารถแยกได้ทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้

  • ชี่ยวชาญ แต่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง: 

พนักงานที่เก่งและหัวหน้าที่เก่งย่อมมีจุดยืนที่ต่างกัน ทำให้การวางตัวและการแสดงออกจำเป็นต้องแตกต่างกันตามไปด้วย ในฐานะหัวหน้างานยิ่งแสดงออกถึงความไม่มั่นใจ ยิ่งส่งผลเสียต่อการควบคุมดูแลทีม เพราะความเชื่อมั่นในตัวเองนำมาสู่ทักษะสำคัญอย่าง การกล้าตัดสินใจ 

เรื่องบางเรื่องลูกทีมไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง หากหัวหน้าก็ไม่กล้าที่จะตัดสินและโยนปัญหากลับมาให้ลูกทีมคิดต่อ ก็อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาด หรือบริษัทพลาดโอกาสที่สำคัญไป และที่แย่ไปกว่านั้น คือ ขาดความไว้วางใจและความเคารพจากคนในทีม

  • ปิดกั้นทุกความเห็น เก่งอยู่คนเดียว: 

แม้แต่หัวหน้าก็มีโอกาสคิดผิด เป็นประโยคที่ผู้นำทุกคนควรท่องให้ขึ้นใจ เพราะหนึ่งในประเภทของหัวหน้าที่ลูกน้องเหนื่อยจะทำงานด้วยก็คือ คนที่ปิดกั้นทุกความเห็นและยึดเอาความคิดตัวเองถูกที่สุด หัวหน้าแบบนี้มักสร้างความอึดอัดใจให้กับคนในทีม 

พฤติกรรมของหัวหน้าประเภทนี้มักมาในรูปแบบการขอความเห็นจากทีม แต่สุดท้ายก็แต่ไม่เคยใช้แนวทางที่ทีมนำเสนอไปเลย ซึ่งการกระทำแบบนี้นอกจากจะไม่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมแล้ว ยังฉุดรั้งความก้าวหน้าของลูกทีมเพราะไม่ได้ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ และอาจทำให้ทีมหมดความสนใจและไม่อยากมีส่วนร่วมกับงานอีกด้วย 

  • ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ชอบทำลายบรรยากาศการทำงาน: 

หัวหน้าประเภทนี้มักไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกด้านลบของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความโกรธ หรือความหงุดหงิด และชอบกระจายความรู้สึกลบ ๆ เหล่านี้สู่ลูกทีมผ่านการสนทนาหรือท่าทางที่ดูไม่เป็นมิตร 

พฤติกรรมเหล่านี้สร้างบรรยากาศการทำงานที่ Toxic และที่สำคัญคือเมื่อมันเกิดขึ้นจากตัวของผู้นำ ก็คล้ายกับว่าบริษัทสนับสนุนการกระทำลบ ๆ และยอมรับให้ Toxic Culture เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร คนส่วนใหญ่จึงอาจมองว่าถ้าหัวหน้าทำได้ พวกเขาเองก็อาจทำแบบนี้กับเพื่อนร่วมงานได้เช่นกัน

หลัก ‘4ม’ ที่ผู้นำควรรู้

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าการเป็นหัวหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีหลักการง่าย ๆ ที่หัวหน้าทุกคนสามารถนำไปยึดถือปฏิบัติเพื่อเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นได้อย่าง หลัก 4ม: มั่นใจ ไม่ทอดทิ้ง มุ่งมั่น และไม่เกรงกลัว 

  • มั่นใจ (Confident in yourself): ความมั่นใจและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองเป็นหนึ่งในรากฐานที่สำคัญของการเป็นหัวหน้าที่ดี แต่ความมั่นใจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการวางตัวว่าตนเองเก่งที่สุดและถูกเสมอ แต่หมายถึงการเชื่อมั่นในสิ่งที่ได้ตัดสินใจทำลงไปว่านั่นคือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด ณ เวลานั้นแล้ว และหากผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ดีนัก ก็จงมั่นใจในศักยภาพว่าตนเองสามารถแก้ไขมันได้
  • ไม่ทอดทิ้ง หมั่นใส่ใจดูแลทีม (Connected to others): เมื่อคำว่าทีม = การรวมพลังของคนกลุ่มหนึ่ง ผู้นำทีมควรเป็นคนที่ริเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันดีและเข้ากับผู้คนในทีมได้ดีที่สุด เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและสามารถเป็นตัวกลางในการประสานคนในทีมเข้าด้วยกันหากเกิดข้อขัดแย้งภายใน หากทำได้ก็จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพและทรงพลังมากขึ้น
  • มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย (Committed to purpose): ถ้าเป้าหมายมีไว้พุ่งชน หัวหน้าทีมนี่แหละคือคนที่จะเร่งเครื่องเต็มกำลังเพื่อพาทีมบรรลุเป้าหมาย เพราะหัวหน้าที่ดีคือคนที่ไม่ปล่อยให้ลูกทีมต้องดิ้นรนหาทางกันเอง ดังนั้นคำว่า ‘มุ่งมั่น’ จึงหมายถึงการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือทีมไม่ว่าจะเป็น รับฟังปัญหา ช่วยหาทางแก้ หรือเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทีมอื่น ๆ เมื่อจำเป็น หรือพูดง่าย ๆ คือลงมือทำ ไม่ใช่นั่งและออกคำสั่งเพียงอย่างเดียว
  • ไม่เกรงกลัวอุปสรรค และมีความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotionally courageous): แน่นอนว่าเมื่องานยิ่งยาก ก็ยิ่งต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นอารมณ์ด้านลบ เช่น ความเครียดและความวิตกกังวล ดังนั้น หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงความท้าทายเหล่านี้ได้ ก็จงเผชิญหน้ากับมันด้วยความกล้า และจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองให้ดี หนึ่งในวิธีที่ผู้นำใช้จัดการอารมณ์ได้ก็คือ การนำปัญหาที่พบเจอมาพูดคุยกับทีมและหาทางออกร่วมกัน เพราะมันเป็นหนึ่งในวิธีระบายถึงปัญหาและความคับอกคับใจอย่างมีอารยะ และยังช่วยหลีกเลี่ยงการระเบิดอารมณ์ใส่คนในทีมได้อีกด้วย

คงเห็นแล้วว่าการที่จะประสบความสำเร็จในฐานะของผู้นำ ไม่ได้พึ่งเพียงแค่ทักษะความสามารถในการทำงานเท่านั้น แต่ยังอาศัยความยืดหยุ่น (Resilience) เพื่อที่จะปรับตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม และทำงานร่วมกับคนในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลัก 4ม จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่อาจช่วยหัวหน้าทุกคนในการปรับตัวเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้นได้

อ้างอิง: zenbusiness, businesswire, forbes, hbr.org

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Brian Niccol เจ้าพ่อธุรกิจ Chain Restaurant และ CEO ป้ายแดงของ Starbucks

Starbucks ก็ดึงตัว Brian Niccol (ไบรอัน นิคโคล) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารมือทองจาก Chipotle Maxican Grill ธุรกิจอาหารแม็กซิกันจานด่วนมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่...

Responsive image

บทเรียนผู้นำธุรกิจในยุคที่ AI ครองโลก

วิธีที่ผู้นำธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทย จะส่งเสริมการใช้งาน AI และยกระดับศักยภาพองค์กร รวมถึงทักษะที่ผู้นำต้องมีในยุคดิจิทัล...

Responsive image

วิธีปั้นคนในยุค AI ในแบบฉบับ SCBX บริษัทที่ตั้งเป้าใน 3 ปี รายได้ 75% จะมาจาก AI

เคยสงสัยไหมว่าการทำงานในยุคที่ AI เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก องค์กรจะสร้างบุคลากรอย่างไรให้เหมาะสมกับยุค ?...