รู้จักความน่ากลัวของ Boredout ภาวะเบื่อหน่ายที่กระจายไปทั่วโลก | Techsauce

รู้จักความน่ากลัวของ Boredout ภาวะเบื่อหน่ายที่กระจายไปทั่วโลก

Burnout (ภาวะหมดไฟ) ที่ว่าน่ากลัว ยังไม่สู้ Boredout ภาวะเบื่อหน่ายที่เกิดจากพนักงานในบริษัทขาดแรงจูงใจ และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดฮวบ !

Boredout คืออะไร มาจากไหน ?

คำว่า Boredout เป็นที่พูดถึงครั้งแรกในหนังสือ Diagnose Boreout ของ Philippe Rothlin และ Peter R. Werder ในปี 2007 และเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนบางส่วนในปี 2022 

Boredout หมายถึง ‘ภาวะ’ ที่พนักงานรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานของตัวเอง ขาดแรงจูงใจ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จากที่เคยมีไอเดียดี ๆ มานำเสนอ ก็เริ่มคิดงานไม่ออก ส่วนงานที่ออกมาก็แค่พอผ่าน ไม่ได้อยู่ในระดับดีเหมือนที่เคยเป็น

พูดง่าย ๆ ก็คือ ภาวะที่พนักงานหมดความสนใจกับงานที่ทำอยู่ไปโดยสิ้นเชิง (หรือหมดใจนั่นเอง) เพราะการทำงานเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน ทำให้พวกเขาเหนื่อยหน่ายเต็มทน ต้องทำงานแบบฝืน ๆ แค่ให้งานเสร็จโดยไม่คาดหวังคุณภาพ

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้พนักงานเกิดภาวะ Boredout ก็คือ ‘งานที่รับผิดชอบมีความสำคัญน้อยเกินไป’ ซึ่งทำให้บางคนรู้สึกว่างานที่ทำนั้นไร้ค่า ไม่มีความหมาย และไม่มีความท้าทายใหม่ ๆ ให้ได้พัฒนาตัวเอง จนเกิดเป็นภาวะเบื่อหน่ายขาดแรงจูงใจในการทำงาน

ทำไม Boredout ถึงน่ากลัวกว่า Burnout ?

ความจริงแล้วทั้ง 2 ภาวะนี้ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับองค์กรทั้งคู่ แต่สาเหตุที่ทำให้ Boredout น่ากลัวกว่า Burnout มาจาก 2 ปัจจัย คือ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้: 

Burnout เกิดจากการทำงานหนักมากเกินไปสะสมเป็นเวลานาน จนไม่มีสมดุลที่ดีระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว แต่สำหรับ Boredout เกิดจากพนักงานรู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความหมาย ไม่ท้าทาย และไม่สำคัญอะไรกับชีวิตเลย 

หากมองถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ Burnout ดูจะเป็นภาวะที่องค์กรเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า เช่น จัดหาคนให้สมดุลกับภาระงาน แต่ในส่วนของ Boredout การแก้ปัญหาขององค์กรอาจต้องเข้าไปแก้ไขในส่วน Mindset ของพนักงาน ซึ่งยากกว่าการแก้ไขปัญหางานหนักอย่างแน่นอน

สังคมยังขาดความตระหนัก:

ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักภาวะ Burnout กันอย่างแพร่หลาย และหลาย ๆ องค์กรก็เริ่มเห็นความสำคัญของการดูแลพนักงานไม่ให้ต้องแบกรับงานหนักอยู่คนเดียว แต่สำหรับภาวะ Boredout ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงพอ ๆ กัน กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักในปัจจุบัน อาจเป็นเพราะคนที่ตกอยู่ในภาวะนี้ไม่ได้คิดว่าความเบื่อหน่ายเป็นปัญหา แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ได้ขอคำปรึกษาจากใคร 

รายงานจาก Gallup เผยว่า ทั้ง 2 ภาวะนี้สามารถสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกได้ถึง 9% แต่เนื่องจากผู้คนไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับ ‘Boreout’ มากนัก จึงอาจกลายเป็นภัยเงียบที่บ่อนทำลายองค์กรได้มากกว่าภาวะ Burnout

วิธีที่องค์กรจะรับมือปัญหา Boredout ในวันที่พนักงานหมดใจ

Josh Bersin ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า องค์กรสามารถรับมือและป้องกันไม่ให้ภาวะ Boredout เกิดขึ้นกับพนักงานได้ด้วย 4 วิธีนี้

1. สร้างวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน

การที่พนักงานทุกคนรับรู้เป้าหมายขององค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อพนักงานเข้าใจว่าบริษัทต้องการจะทำอะไร และแต่ละคนมีหน้าที่ในการบรรลุเป้าหมายแบบไหน สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสำคัญในหน้าที่ของตนเอง และกระตือรือร้นกับงานมากขึ้น เนื่องจากงานของพวกเขาสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

2. ทุกตำแหน่งสำคัญต่อบริษัท

ในปัจจุบันแต่ละบริษัทมีทั้งพนักงานที่ทำงานแบบเข้าออฟฟิศ 100%, พนักงานแบบ Hybrid Work, และพนักงานแบบ Remote Work 100% ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบนี้มีส่วนทำให้พนักงานแต่ละประเภทรู้สึกถึงความสำคัญของตนเองที่มีต่อองค์กรแตกต่างกัน 

เช่น คนที่ Remote Work อาจรู้สึกว่าตนเองสำคัญน้อยกว่าคนที่เข้าออฟฟิศ 100% เพราะคนเหล่านั้นสนิทกับหัวหน้าและคนอื่นๆ ในบริษัท แถมยังรับรู้ข่าวสารของบริษัทมากกว่า องค์กรจึงควรจัดกิจกรรมที่ทำให้คนในบริษัทได้พบปะพูดคุย ไม่ให้รู้สึกห่างเหินจนเกินไป เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของพนักงานทุกคน

3. มอบหมายงานที่ท้าทายให้บ้าง

พนักงานบางคนอาจรู้สึกดีที่ได้อยู่ใน Safe Zone ของตัวเอง แต่ก็มีหลายคนที่รู้สึกว่าการทำงานซ้ำ ๆ จำเจ ไม่มีความท้าทาย คือ หายนะของชีวิตการทำงานชัด ๆ เพราะมันทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง หัวหน้าทีมจึงควรมอบหมายงานที่มีความท้าทายให้กับลูกทีมบ้าง เพื่อที่เขาจะได้พัฒนาตัวเอง และรู้สึกถึงโอกาสในการเติบโต

4. ให้ความเชื่อใจและเชื่อมั่น

ข้อนี้สำคัญที่สุด ผู้นำควรเชื่อใจและเชื่อมั่นว่าทีมของตนสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่าคิดว่าพวกเขายังไม่เก่ง อย่าแสดงออกถึงความไม่ไว้ใจ เพราะสิ่งเหล่านี้บั่นทอนพนักงาน และทำให้พวกเขารู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ 

ดังนั้น ผู้นำจึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจให้แต่ละคนกล้าที่จะพัฒนาตัวเอง ลองในสิ่งที่ไม่เคยทำ เมื่อผู้นำศรัทธาในศักยภาพของทีม บริษัทจะกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนมองเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเองและเห็นการเติบโต ซึ่งเป็นแรงจูงใจชั้นดีในการทำงาน

อ้างอิง: dictionary, inc, forbes

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทีมงานคุณภาพ เขาทำงานกันยังไง ? เผย 5 สูตรลับที่พนักงานเก่งใช้ในออฟฟิศ

ทีมงานคุณภาพทำงานแตกต่างจากทีมอื่นยังไง บทความนี้จะมาแชร์ 5 ข้อที่ทีมประสิทธิภาพสูงทำในที่ทำงาน...

Responsive image

ระวังหัวหน้าแย่เงียบ เช็ก 3 ลักษณะผู้นำ ‘ยอดแย่’

เช็กด่วนมีคนแบบนี้เป็นหัวหน้าอยู่หรือเปล่า! เจาะ 3 ลักษณะหัวหน้าแย่เงียบ ที่ไม่สังเกตอาจดูไม่ออกและส่งผลร้ายแรงต่อการทำงานของคุณแบบไม่รู้ตัว...

Responsive image

งานไม่เคยจบในที่ทำงาน ตามกลับมาบ้านด้วยเสมอ ปัญหาของชาว Hybrid Working ต้องแก้ยังไง?

บทความนี้ Techsauce จึงได้รวบรวม How to ทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศ และทวงคืนชีวิตที่มีคุณภาพของชาว Hybrid Working...