ถอดรหัสปัญหา Burnout ที่องค์กรคุณอาจแก้ปัญหาไม่ถูก พร้อม 4 วิธีจัดการอย่างตรงจุด | Techsauce

ถอดรหัสปัญหา Burnout ที่องค์กรคุณอาจแก้ปัญหาไม่ถูก พร้อม 4 วิธีจัดการอย่างตรงจุด

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภาวะหมดไฟ (Burnout) ก็ลุกลามกระจายไปทั่วทุกมุมโลก ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หลาย ๆ องค์กรกำลังเผชิญอยู่ 

Microsoft สำรวจความคิดเห็นจากผู้คน 20,000 คนใน 11 ประเทศทั่วโลก พบว่าเกือบ 50% ของพนักงานและ 53% ของผู้จัดการหมดไฟในการทำงาน 

หลาย ๆ คนคงเกิดคำถามว่าภาวะ Burnout มีต้นตอมาจากอะไร องค์กรต้องเริ่มแก้ที่ตรงไหน เราไปรู้จักภาวะหมดไฟให้ดีกว่านี้กัน !

Burnout คืออะไร

Burnout คือภาวะหมดไฟในการทำงาน ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้จะรู้สึก เครียด เหนื่อยหน่าย ไม่มีสมาธิ และขาดแรงจูงใจในการทำงาน ฯลฯ ถึงแม้ว่าลักษณะอาการจะคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า แต่ภาวะหมดไฟเป็นเพียงแค่ปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่โรคซึมเศร้าเท่านั้น เพราะการ Burnout แท้จริงแล้ว.. 

ไม่ใช่โรคแต่เป็นเพียงภาวะหนึ่งที่มีปัจจัยหลักมาจากการทำงาน

ความรุนแรงของการที่พนักงานอยู่ในภาวะ Burnout นอกจากจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจจะนำไปสู่การลาออกได้อีก แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อบริษัท ดังนั้นองค์กรจึงควรเริ่มตั้งคำถามหรือพูดคุยถึงระบบการทำงานภายในองค์กรว่ามีปัญหาที่ตรงไหน ซึ่งมันอาจนำไปสู่ต้นตอของภาวะ Burnout ได้

เพราะบริษัทส่วนใหญ่มักตีความว่าอาการ Burnout เป็นเรื่องของโรคและสุขภาพจิตที่เกิดจากตัวบุคคล จึงมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขเฉพาะบุคคล แต่แท้จริงแล้วมันมีต้นตอมาจากการทำงานที่เป็นพิษ สิ่งที่ควรเริ่มแก้ไขอย่างแท้จริงก็คือ วัฒนธรรมองค์กร นั่นเอง

การทำงานแบบไหน “ยิ่งทำไป ไฟยิ่งมอด”

วัฒนธรรมองค์กรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน หากมีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษก็ย่อมส่งผลให้การทำงานในองค์กรเป็นพิษไปด้วย แล้วการทำงานแบบไหนกันที่ทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจจนหมดไฟ ไปดูกัน !

  • ความไม่สมดุลขององค์กร: ความไม่สมดุลในที่นี้ หมายถึง 1. Work-overload หรือการที่องค์กรมีภาระงานมาก แต่กลับมีพนักงานทำงานน้อย รวมถึงในบางองค์กรที่มีคนน้อยมาก ๆ พนักงานบางคนอาจจะต้องทำงานที่ตนเองไม่ถนัด และ 2. Work life balance การทำงานตลอดเวลา ไม่เคารพเวลาส่วนตัว เช่น เวลาหลังเลิกงาน และวันหยุด สิ่งเหล่านี้สร้างแรงกดดันมหาศาลแก่พนักงาน


  • การทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ: การทำงานที่แวดล้อมไปด้วยคนที่มีพฤติกรรมไม่ดี ย่อมสร้างบรรยากาศที่เป็นพิษต่อคนทำงาน เช่น อิจฉา แข่งขันกัน หรือการนินทาว่าร้าย ผลสำรวจพบว่ากว่า 70% ของพนักงานที่หมดไฟ เพราะเจอกับบรรยากาศในการทำงานที่ Toxic และถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลสูงที่สุด


  • ไม่มีส่วนร่วมในที่ทำงาน: การทำงานแบบ Work from anywhere ทำให้บางคนรู้สึกว่าไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับองค์กร โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ พบว่า 17% ของพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่รู้สึกหมดไฟและไม่อยากมีส่วนร่วมกับงานของบริษัท เพราะความรู้สึกไม่มีส่วนร่วมต่อองค์กรและความไม่ไว้วางใจให้ทำงานบางอย่าง สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้พนักงานรู้สึกไม่มีคุณค่าต่อองค์กร

องค์กรของคุณอาจกำลังหลงทางอยู่

ปัญหาอาการหมดไฟก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงวิธีแก้ไข แต่มันก็ทำให้หลาย ๆ องค์กรเริ่มให้ความสำคัญและพูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เห็นได้จากการที่บริษัทระดับโลกหลายบริษัทเสนอแนวทางเพื่อช่วยเหลือพนักงานจากภาวะ Burnout ด้วยโปรแกรมสุขภาพและความบันเทิงมากมาย เช่น 

1. Google

Google มอบสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพมากมายให้แก่พนักงาน ตั้งแต่คอร์สโยคะ ฟิตเนสเซนเตอร์ สปอร์ตคอมเพล็กซ์ จนถึงบริการดูแลสุขภาพในที่ทำงาน นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่พนักงานด้วย บริการซักรีด บริการตัดผม และจุดสำหรับนอนพัก เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข

2. Microsoft

Microsoft ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ใส่ใจในสุขภาพกายและจิตของพนักงาน มีโปรแกรมสุขภาพมากมายที่ให้แก่พนักงาน เช่น แพทย์และบริการดูแลสุขภาพในที่ทำงาน ลู่เดินและวิ่ง สนามกีฬา อาหารเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงบริการซักผ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงาน

3. Airbnb

Airbnb มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มวันหยุดให้แก่พนักงาน การทำงานที่มีเวลายืดหยุ่น เพราะบริษัทต้องการให้พนักงานได้มีเวลาพักจากงาน เพื่อไปทำกิจกรรมยามว่างที่ชอบ

4. Intel

Intel เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับพนักงานอย่างมาก บริษัทสนับสนุนโปรแกรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของพนักงาน อย่าง คอร์สเรียนต่าง ๆ Workshop และการสนับสนุนค่าเล่าเรียน รวมถึงยังจัดโปรแกรมสุขภาพให้แก่พนักงาน เช่น ศูนย์สุขภาพและฟิตเนสในที่ทำงาน อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

5. Apple

Apple มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มวันหยุดให้แก่พนักงาน  วันลาพักร้อนที่มากขึ้น อีกทั้งบริษัทยังสนับให้มอบความบันเทิงแก่พนักงาน เช่น จัดกิจกรรมรื่นเริงให้พนักงานและเชิญ Stevie Wonder และ Demi Lovato มาแสดงในงาน

เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อหลาย ๆ องค์กรรับรู้ว่า ภาวะ Burnout ในพนักงานทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่บริษัทใหญ่ Take action เป็นอันดับแรก ๆ เพื่อป้องกันพนักงานจากการ Burnout ก็คือ การมุ่งเน้นแก้ไขที่ตัวบุคคล เช่น การให้วันหยุด หรือสวัสดิการอื่น ๆ (จิตแพทย์เพื่อพูดคุย โปรแกรมสุขภาพ ไปจนถึงความบันเทิง)

บริษัทระดับโลกเหล่านี้มีเงินทุนมากพอที่จะมอบสวัสดิการเสริมให้แก่พนักงาน แต่ถ้าบริษัทของคุณไม่ได้อยากทุ่มทุนมหาศาลไปกับสวัสดิการเหล่านี้ เรามีวิธีการที่จะช่วยคุณแก้ปัญหาการ Burnout ในระยะยาว

โดยที่คุณแทบจะไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาทเดียว อย่างการ get to the point มุ่งแก้ปัญหาที่ต้นตอ !

แก้ปัญหา Burnout ภายในองค์กรในระยะยาว

การแก้ปัญหาในระยะยาวต้องเริ่มแก้ที่ต้นตอ ซึ่งภาวะ Burnout เป็นเรื่องของการทำงานในวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ ส่งผลให้การทำงานเป็นพิษไปด้วย จุดที่ควรเน้นยำก็คือ Systematic solution หรือการแก้ไขที่ระบบไม่ใช่ตัวบุคคล มีทั้งหมด 4 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

สร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างในการพูดคุยถึงสุขภาพจิต

ก่อนที่จะลงมือแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากการยอมรับว่ามีปัญหา และมองปัญหาเป็นเรื่องปกติ ผู้นำองค์กรควรเป็นคนเริ่มพูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตเป็นอันดับแรก แสดงออกให้คนในองค์กรเห็นว่าการมีปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ การทำเช่นนี้จะทำให้พนักงานสบายใจที่จะพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตของพวกเขาและจะพบวิธีแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาได้

สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการทำงาน ลดสภาพแวดล้อมที่ Toxic

หากองค์กรมีคนที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน นั่นก็อาจเริ่มมาจากการที่หัวหน้างานไม่ได้บอกพวกเขาว่ากำลังทำผิด การแก้ไขปัญหา Toxic ในที่ทำงานจึงต้องเริ่มจากผู้นำ หมั่นสังเกตพนักงานและบรรยากาศในการทำงาน เมื่อรู้ว่าเกิดปัญหา Toxic ต้องพร้อมรับฟังและแก้ปัญหาทันที ทั้งการพูดคุย และตักเตือน เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่พนักงานคนอื่น ๆ 

สร้างสมดุลให้แก่องค์กร

ความสมดุลขององค์กร เริ่มที่การจัดสรรจำนวนคนให้เพียงพอต่อภาระงาน เพราะอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พนักงาน Burnout ก็มาจากความเครียดเรื้อรัง เพราะภาระงานที่มีมากเกินไป แต่ทรัพยากรคนที่จะทำงานมีน้อยกว่าภาระงาน ส่งผลให้พนักงาน 1 คนต้องแบกรับงานที่มากเกินความสามารถของเขา และรวมถึงความสมดุลในเรื่องของเวลาทำงาน ไม่รบกวนเวลาส่วนตัวของพนักงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพซึ่งกันและกัน

สร้างสภาพแวดล้อมที่คอยสนับสนุนพนักงานให้รู้สึกมีคุณค่า

การได้รับการยอมรับในองค์กร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า องค์กรควรแสดงออกว่าพนักงานทุกคนสำคัญเท่ากันหมด และปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีความลำเอียงหรือให้ความสำคัญกับคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ

อ้างอิง: who.int, forbes, mckinsey, youtube, deloitte

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานไม่เคยจบในที่ทำงาน ตามกลับมาบ้านด้วยเสมอ ปัญหาของชาว Hybrid Working ต้องแก้ยังไง?

บทความนี้ Techsauce จึงได้รวบรวม How to ทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศ และทวงคืนชีวิตที่มีคุณภาพของชาว Hybrid Working...

Responsive image

True เดินหน้าปั้นผู้นำรุ่นใหม่ 'True Next Gen' ตั้งเป้าเป็น Telco-Tech ชั้นนำในภูมิภาค สู่ Automation 100%

ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยเชื่อมั่นศักยภาพของ 'คนรุ่นใหม่' ร่วมเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telecom Tech Company ชั้นนำแห่งภูมิภาค พร้อมปรับการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ 100% ปี 2570...

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...