Hybrid Working การทำงานแบบผสมผสาน ดีต่อพนักงานจริงไหม ? ปัญหาสุขภาพจิตที่ตามมาและวิธีแก้ไข | Techsauce

Hybrid Working การทำงานแบบผสมผสาน ดีต่อพนักงานจริงไหม ? ปัญหาสุขภาพจิตที่ตามมาและวิธีแก้ไข

จากการระบาดของโควิดทำให้บริษัทต่าง ๆ เริ่มปรับให้มีรูปแบบการทำงานแบบ Work from home และ Hybrid มากขึ้น ส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำงานที่บ้านมีความสะดวกสบายมากกว่า แต่เมื่อทำไปนาน ๆ ก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ได้มีแต่ข้อดีซะแล้วสิ 

มีรายงานพบว่ากว่า 70% ของบริษัททั้งขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Apple Google หรือ Facebook วางแผนที่จะใช้รูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Working) เพื่อให้พนักงานสามารถแบ่งเวลาทำงานจากออฟฟิศและที่บ้านได้

แต่เมื่อปรับรูปแบบการทำงานแล้ว พบว่า 72% ของพนักงานนั้นเหนื่อยล้าจากการทำงานแบบ hybrid ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากการทำงานแบบ work from home และมากกว่าพนักงานที่ทำประจำที่ออฟฟิศด้วย 

นอกจากนี้แล้วยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการทำงานแบบผสมผสานนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพนักงาน และส่งผลให้พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้ามาก

ปัญหาจากการทำงานแบบ Hybrid ที่เกิดขึ้นต่อพนักงาน

ปัญหาระหว่างขอบเขตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

การมีขอบเขตระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานที่ไม่ชัดเจน หลายคนทำงานเกินเวลางานจริง ๆ เช็คอีเมลจนดึกดื่น หรือรู้สึกว่าต้องพร้อมทำงานตลอดเวลา ซึ่งความรู้สึกนี้ส่งผลให้มีความเครียดและกดดันในการทำงานมาก จนเสียสมดุลในชีวิตการทำงานและทำให้สุขภาพจิตแย่ลงในที่สุด 

ความรู้สึกแบ่งแยก ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่ทำงาน 

แม้ว่าการทำงานแบบผสมผสานจะให้อิสระในการทำงานจากระยะไกล แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ พนักงานที่ทำงานนอกออฟฟิศมักจะพลาดการติดต่อสื่อสารแบบเห็นหน้ากัน การขาดการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานและโอกาสในการทำงานร่วมกันที่ลดลงสามารถนำไปสู่ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ลง

ความกังวลถึงประสิทธิภาพการทำงาน 

การทำงานแบบ hybrid มักเกี่ยวข้องกับผลงานที่ได้ ทำให้พนักงานมีความเครียดสะสมเพิ่มมากขึ้นได้ มีแรงกดดันในการพิสูจน์ความสามารถในการทำงานตลอดเวลา ความกดดันนี้จะมีมากขึ้นกับพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในออฟฟิศ มีความกลัวว่าจะตามไม่ทันพนักงานคนอื่น ๆ หรือกลัวถูกมองว่ามีความขยันในการทำงานน้อยลง ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานน้อยลง 

ทำอย่างไรให้การทำงานแบบ Hybrid ดำเนินไปพร้อมกับการมีสุขภาพจิตที่ดี  

แม้ว่าการทำงานแบบ hybrid จะมีข้อดีมากมาย แต่สิ่งสำคัญคือต้องรับรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่ซ่อนอยู่ องค์กรต้องจัดการรับมืออย่างรอบคอบเพื่อที่จะให้การทำงานแบบผสมผสานนี้ดีต่อองค์กร ต่อพนักงาน และเป็นรูปแบบที่ดีในการปรับใช้ต่อไปในอนาคต

องค์กร หัวหน้า จะแก้ไขอย่างไร

  • ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร มีการพูดคุยถึงความคืบหน้าของงานเพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมและรับรู้ขอบเขตการทำงานของตนอยู่เสมอ มีแพลตฟอร์มการสื่อสารที่หัวหน้าสามารถเข้าถึงพนักงานได้ทุกคน การสื่อสารที่ชัดเจน จะทำให้การทำงานระหว่างหัวหน้ากับพนักงาน พนักงานกับพนักงานคนอื่น ๆ มีความเข้าใจกันมากขึ้น 
  • โครงการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตหรือบริการให้คำปรึกษา สนับสนุนให้พนักงานแบ่งปันความเครียดและขอความช่วยเหลือจากสภาวะเหนื่อยล้า หมดไฟโดยไม่ต้องกลัวการตัดสินจากคนรอบข้าง 
  • การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน การกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ให้ความสำคัญกับวันหยุดของพนักงาน กระตุ้นให้พนักงานหยุดพักโดยตัดการขาดจากการทำงาน องค์กรควรเป็นแบบอย่างโดยเน้นย้ำถึงคุณค่าของการพักผ่อน และการดูแลตัวเอง 
  • พนักงานต้องมีความเป็นอิสระในการจัดการตารางเวลาของตนเอง มีความยืดหยุ่นในการทำงานที่กำหนดได้เอง ไม่ใช่หัวหน้าเป็นฝ่ายกำหนด

แล้วตัวพนักงานเองจะแก้ไขอาการ burnout นี้ได้อย่างไร ?

  • การกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน หยุดพัก ไม่โหมงานจนเลยเวลา  
  • พักเบรคเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงความเหนื่อยหน่ายจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นออกไปเดินเล่นสูดอากาศ อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือเพียงแค่ลุกขึ้นยืดเหยียดร่างกาย 
  • ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ จะทำให้รู้สึกเหนื่อยหน่ายจากการทำงานน้อยลง มีเพื่อนที่เข้าใจความเครียดจากการทำงานของเรา คอยพูดคุย ระบาย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
  • หากิจกรรมอื่นทำนอกเหนือจากการทำงาน เช่นการออกกำลังกาย นั่งสมาธิ หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ
  • ขอความช่วยเหลือหากคุณรู้สึกเครียด หรือกดดันจากการทำงานจนเกินไป อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นพูดคุยกับหัวหน้า เพื่อนในทีม เพื่อสนิท หรือคนในครอบครัว 


อ้างอิง: stanford, linkedin, cnbc, gamma, bbc, inbloomproject

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก Brian Niccol เจ้าพ่อธุรกิจ Chain Restaurant และ CEO ป้ายแดงของ Starbucks

Starbucks ก็ดึงตัว Brian Niccol (ไบรอัน นิคโคล) ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารมือทองจาก Chipotle Maxican Grill ธุรกิจอาหารแม็กซิกันจานด่วนมาดำรงตำแหน่ง CEO คนใหม่...

Responsive image

บทเรียนผู้นำธุรกิจในยุคที่ AI ครองโลก

วิธีที่ผู้นำธุรกิจ โดยเฉพาะในประเทศไทย จะส่งเสริมการใช้งาน AI และยกระดับศักยภาพองค์กร รวมถึงทักษะที่ผู้นำต้องมีในยุคดิจิทัล...

Responsive image

วิธีปั้นคนในยุค AI ในแบบฉบับ SCBX บริษัทที่ตั้งเป้าใน 3 ปี รายได้ 75% จะมาจาก AI

เคยสงสัยไหมว่าการทำงานในยุคที่ AI เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก องค์กรจะสร้างบุคลากรอย่างไรให้เหมาะสมกับยุค ?...