2018 ปีแห่ง Trade War 2019 สู่ปีแห่ง Tech War? | Techsauce

2018 ปีแห่ง Trade War 2019 สู่ปีแห่ง Tech War?

  • 2018 เป็นปีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศสงครามการค้าตามที่เคยหาเสียงไว้ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จีน อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐดีขึ้นหลังผลการหารือนอกรอบระหว่างการประชุม G20 ระบุว่าสหรัฐตกลงจะคงอัตราภาษีไว้ที่ 10% แลกกับการที่จีนยอมเริ่มเจรจาเรื่องประเด็นการบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และอื่น ๆ
  • แม้สงครามการค้าจะบรรเทาลง แต่ประเด็นด้านเทคโนโลยีกลับรุนแรงขึ้น หลังจากที่มีการจับกุม ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน หรือ CFO ของหัวเว่ย ทำให้เกิดคำถามสำคัญ  3 ประการ คือ (1) เพราะเหตุใดทั้งสหรัฐและจีนจึงยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราว (2) การจับกุม CFO หัวเว่ยเกี่ยวข้องกับประเด็นสงครามการค้าหรือไม่ (3) ผลกระทบของสงครามการค้าที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นสงครามด้านเทคโนโลยีคืออะไร
  • สาเหตุที่สหรัฐยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราว เป็นเพราะสัญญาณเสี่ยงเศรษฐกิจเริ่มสูงขึ้น หากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามที่ประกาศไว้ อาจกระทบการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐเอง นอกจากนั้น สหรัฐยังมองว่าประเด็นสงครามการค้าเป็นประเด็นเชิงกลยุทธระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี 5G ตามแนวทาง Made in China 2025 รวมถึงกังวลว่าสินค้าเทคโนโลยีของจีนที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เสี่ยงต่อการจารกรรมทางไซเบอร์ (Cyber Espionage)
  • หัวเว่ยเป็นทั้งผู้ผลิตโครงข่ายและโทรศัพท์มือถือระดับโลกและเป็น Supplier สำคัญให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทำให้หัวเว่ยมีเทคโนโลยีล้ำหน้าและพร้อมเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้าน 5G นอกจากนั้น หัวเว่ยยังมีความเสี่ยงด้าน Cyber espionage ทำให้ทางการหลายประเทศเริ่มคว่ำบาตรสินค้าและระบบของหัวเว่ย
  • กรณีหัวเว่ยอาจนำไปสู่การเปลี่ยนวิถีการค้า (Trade Diversion) โดยในระยะสั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Disrupt) ในระบบห่วงโซ่อุปทาน และจะกระทบต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่ในระยะต่อไป อาจกระทบต่อแนวทางการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากทั้งลูกค้าและ Supplier ของหัวเว่ยและผู้ผลิตจีนอาจหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีจีนในอนาคต

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้สรุปภาพสถานการณ์สงครามการค้าในปี 2018 และทิศทางของประเด็นดังกล่าวในปี 2019 ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

ในปี 2018 เป็นปีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศสงครามการค้าตามที่เคยหาเสียงไว้ เริ่มต้นจากการประกาศขึ้นภาษีเครื่องซักผ้า Solar Cell เหล็กและอลูมิเนียม โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบคือประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นหลัก เช่น กลุ่มประเทศยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก

 แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จีน โดยนอกจากจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าข้างต้นแล้ว ยังถูกสหรัฐเก็บภาษีโดยเฉพาะในจีนเอง โดยอ้างประเด็นการที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการบีบบังคับให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยี (Forced Technology Transfer) เป็นหลัก โดยขึ้นภาษีอัตรา 25% ในสินค้านำเข้ามูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีในสินค้ามูลค่าและอัตราที่เท่ากัน) และเก็บอีก 10% ในสินค้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมขู่ว่าจะขึ้นเป็น 25% ในปี 2019

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านสงครามการค้าโดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นไปในทางที่ดีขึ้นหลังผลการหารือนอกรอบระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ระบุว่าสหรัฐตกลงจะคงอัตราภาษีไว้ที่ 10% ตามเดิม แลกกับการที่จีนยอมเริ่มเจรจาเรื่องประเด็นการบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี (Forced Technology Transfer) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และอื่น ๆ และจะซื้อสินค้าเกษตร และอื่นๆ จากสหรัฐ ในจำนวนมากทันที โดยมีเป้าหมายเจรจาให้ได้ข้อตกลงภายใน 90 วัน แต่หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนเป็นอัตรา 25%

แต่แม้ว่าประเด็นด้านสงครามการค้าดูเหมือนจะบรรเทาลง ประเด็นด้านเทคโนโลยีก็กลับรุนแรงขึ้น หลังจากที่ทางการแคนาดา จับกุมตัวเมิ่งหวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน หรือ CFO ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (Huawei Technology) หลังจากที่หัวเว่ยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่สหรัฐกำหนด

พัฒนาการดังกล่าวทำให้เกิดคำถามหลายประการ แต่คำถามสำคัญสำหรับประเด็นเหล่านี้มี 3 ประการ ได้แก่

  1. เพราะเหตุใดทั้งสหรัฐและจีนจึงยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราว (Truce)
  2. การจับกุม CFO หัวเว่ยโดยใช้ข้อกล่าวอ้างเรื่องการละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่านนั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสงครามการค้าหรือไม่
  3. ผลกระทบของสงครามการค้าที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นสงครามด้านเทคโนโลยีคืออะไร

สำหรับคำถามแรก ที่ว่าเพราะเหตุใดจีนและสหรัฐจึงยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราวนั้น อาจพิจารณาได้ทั้งจากฝั่งสหรัฐและจีน

ในฟากสหรัฐนั้น แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐยังแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน แต่สัญญาณของความเสี่ยงเศรษฐกิจเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะด้านการลงทุนที่เริ่มชะลอลง โดยจากรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed Beige Book) ระบุชัดเจนว่า ภาคธุรกิจเริ่มกังวลกับทิศทางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐและการตอบโต้ของต่างประเทศทำให้ต้นทุนการผลิตมีมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงเริ่มชะลอการลงทุนลง นอกจากนั้น หากพิจารณาในรายละเอียดของสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่สหรัฐมีแผนจะปรับภาษีขึ้นจาก 10% เป็น 25% นั้น จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ต่างจากสินค้านำเข้ามูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เป็นชุดแรกที่ถูกเก็บภาษีนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลาง ดังนั้น หากสหรัฐยังคงขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามที่ประกาศไว้ อาจกระทบการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐเอง

นอกจากนั้น แนวคิดของที่ปรึกษาผู้นำสหรัฐบางท่านนั้นเห็นว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเป็นประเด็นเชิงกลยุทธระยะยาว เนื่องจากจีนใช้การบีบบังคับให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศเข้าร่วมทุน (JV) กับบริษัทจีน และต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทร่วมทุน เพื่อให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติ Made in China 2025 นอกจากนั้น ยังกังวลว่าสินค้าเทคโนโลยีของจีนที่ส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รวมถึงเครือข่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมนั้น ยังเสี่ยงจากประเด็นด้านการรุกล้ำและการจารกรรมทางไซเบอร์ (Cyber Espionage) ด้วย สหรัฐจะหันมาใช้ประเด็นด้านการค้า การลงทุน และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อกดดันจีนมากขึ้น

ในฝั่งของจีนนั้น ทิศทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอรุนแรงกว่าสหรัฐจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าใน 3 ด้าน คือ

(1) หนี้ประชาชาติที่สูง (2) ภาคการบริโภคและลงทุนในประเทศที่ชะลอตัวลง และ (3) ความตึงตัวภาคการเงิน ทำให้จีนยอมโอนอ่อนต่อความต้องการของสหรัฐมากขึ้น

โดยหลังจากการประชุม G-20 ทางการจีนก็ประกาศมาตรการ 4 ประการคือ (1) ทบทวนนโยบาย "Made in China 2025" โดยลดความแข็งกร้าวในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี (2) เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนได้ง่ายขึ้น โดยอนุญาตให้ Tesla, UBS และ ExxonMobil เข้ามาเปิดกิจการในจีนได้ (3) ลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐจาก 40% เป็น 15% และ (4) นำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐมากขึ้น

หัวเว่ย หัวใจของ Made in China 2025

ถึงแม้ว่าจะพัฒนาการระหว่างทางการจีนและทางการสหรัฐในประเด็นสงครามการค้าและเทคโนโลยีจะดูดีขึ้นในระยะสั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจับกุม CFO ของหัวเว่ยนั้น เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสงครามเทคโนโลยีทั้งในประเด็นด้าน (1) การเป็นเสาหลักของกลยุทธ Made in China 2025 (2) ประเด็นด้านการพัฒนาเทคโนโลยียุคที่ 5 (5G) และ (3) ในประเด็นด้านการจารกรรมทางไซเบอร์

ใน 2 ประเด็นแรก เกี่ยวข้องกันชัดเจน โดยหัวเว่ยในปัจจุบันได้เติบโตจากมูลค่าบริษัทที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐใน 30 ปีก่อน มาเป็นผู้ผลิตเครือข่ายโทรคมนาคมใหญ่อันดับ 1 ของโลก และผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีธุรกิจใน 170 ประเทศทั่วโลก และมีรายได้รวม 9.3 หมื่้นล้านดอลลาร์ ทำให้เป็นธุรกิจที่ขนาดเดียวกับ Microsoft และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) และใหญ่เป็น 2 เท่าของ Alibaba

การที่หัวเว่ยเป็นทั้งผู้ผลิตโครงข่ายและโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ และเป็น Supplier สำคัญให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทำให้หัวเว่ยมีเทคโนโลยีล้ำหน้าและพร้อมเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้าน 5G โดย (1) สามารถผลิต Core Processor chips ที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับ iPhone (2) เป็น 1 ใน 5 ผู้นำในการผลิต Server ของโลก (3) เร่งพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้ใน Server และ Wearable เพื่อแข่งขันกับจ้าวตลาดเช่น Qualcomm และ Nvidia

นอกจากประเด็นด้าน 5G แล้ว ประเด็นด้าน Cyber espionage ก็สำคัญ โดยนอกจากสหรัฐแล้ว หน่วยงานในหลายประเทศกังวลว่าระบบของหัวเว่ยอาจเปิดช่องให้เกิดการ Hacking หรือโจรกรรมข้อมูลได้ง่าย ทางการต่าง ๆ จึงเริ่มคว่ำบาตรสินค้าและระบบของหัวเว่ย เช่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น รวมถึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อที่จะตรวจสอบว่าหัวเว่ยมีการโจรกรรมข้อมูลจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเหล่านั้นยังไม่สามารถหาหลักฐานผูกมัดหัวเว่ยได้ชัดเจน ทำให้ทางการบางประเทศ เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส ยังคงเชื่อมั่นว่าหัวเว่ยไม่ได้มีการกระทำดังกล่าวและยังอนุญาตให้หัวเว่ยทำธุรกิจได้

กรณีหัวเว่ย จุดเปลี่ยน Tech War

หากใช้กรณีหัวเว่ย เป็นกรณีศึกษาของพัฒนาการสงครามการค้า (Trade War) ที่เปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) แล้ว จะพบว่ามีความน่าสนใจใน 2 ประเด็น กล่าวคือ

ประเด็นที่ 1: ประเด็นด้านสงครามการค้าอาจเริ่มลดความตึงเครียดลง แต่สงครามเทคโนโลยีอาจรุนแรงขึ้น เนื่องจากการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐนั้น จะทำได้ในระดับหนึ่ง เพราะหากสหรัฐยังขึ้นภาษีต่อเนื่อง จะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐเอง เพราะรายชื่อสินค้าต่อไปที่จะเก็บภาษี เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐมากขึ้น

นอกจากนั้น การขึ้นภาษีก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนลดลงแต่กลับเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตแข็งแกร่ง จึงนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น โดยใน 9 เดือนแรก สหรัฐขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น 10.4% และมีแนวโน้มว่าจะขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ดังนั้น หากพัฒนาการยังเป็นเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าทางการสหรัฐอาจไม่เพิ่มระดับการขึ้นภาษี แต่จะหันมากำกับรายอุตสาหกรรม-รายบริษัทแทน ทำให้ผลกระทบต่อสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจโลกในฐานะห่วงโซ่การผลิตโลก (Global supply chain) อาจไม่รุนแรงมากนัก

ประเด็นที่ 2: ในประเด็นหัวเว่ย หากสหรัฐคุมเข้มโดยการเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรคว่ำบาตรสินค้าและ/หรือบริการเครือข่ายของหัวเว่ยแล้ว อาจกระทบต่อผลประกอบการของหัวเว่ยได้พอสมควร รวมถึงกระทบต่อการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีนในอนาคต โดยหากทางการสหรัฐสั่งการให้ธุรกิจของตนห้ามทำธุุรกรรมซื้อขายกับหัวเว่ย (เช่นเดียวกับที่เคยทำกับ ZTE ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับ 2 ของจีน) แล้ว จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจเทคโนโลยีพอสมควร

ในการผลิตโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) นั้น หัวเว่ยต้องใช้ Chips ที่ผลิตจากบริษัทสหรัฐ เช่น Intel และ NXP รวมถึงจากประเทศที่เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงเช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ประกาศคว่ำบาตรหัวเว่ย อาจทำให้บริษัทที่เคยเป็น Suplier สำคัญของหัวเว่ย เช่น ASE, LG Display, Sunny Optical, TSMC และ Qualcomm จำเป็นต้องหยุดทำธุรกรรมกับหัวเว่ย ซึ่งจะทำให้บริษัทที่เป็นลูกค้าสำคัญของหัวเว่ยและต้องพึ่งพาหัวเว่ยในการเป็นห่วงโซ่การผลิต เช่น Chinasoft, BYD Auto, Foxconn, TSMC และ SK Hynix ประสบปัญหาขาดชิ้นส่วนในการผลิตสินค้า 

หากพิจารณาในภาพรวม กระแสดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอาจนำไปสู่การเปลี่ยนวิถีการค้า (Trade Diversion) โดยในระยะสั้น กระแสดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Disrupt) ในระบบห่วงโซ่อุปทาน และจะกระทบต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่ในระยะต่อไป อาจกระทบต่อแนวทางการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากทั้งลูกค้าและ Supplier ของหัวเว่ยและผู้ผลิตจีนอาจหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีจีนในอนาคต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...

Responsive image

ทำไม Fastwork ขาดทุนเกือบทุกปี ? ฟังเหตุผลของ CK Cheong

Fastwork เป็นอีกหนึ่งชื่อธุรกิจที่มาแรงในช่วงเวลานี้ ด้วยความไวรัลบนโลกออนไลน์ของผู้บริหาร CK Cheong (ซีเค เจิง) ที่มักทำคลิปให้ทัศนะเรื่องการเงิน การใช้ชีวิต และธุรกิจ แต่กลับถูกต...