ภาวะหมดไฟ (Burnout)ไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้าทั่วไป แต่มันเป็นภาวะที่ซับซ้อนกว่านั้น มันเกิดขึ้นเมื่อเราฝืนตัวเองเกินขีดจำกัดเป็นเวลานาน จนร่างกายและจิตใจแทบไม่เหลือพลัง แต่ที่น่ากลัวกว่าคือแม้จะรู้สึกเหนื่อยแค่ไหน กลับหยุดไม่ได้และถ้าวันไหนหยุดก็จะรู้สึกผิดขึ้นมาทันที

หลายคนอาจเข้าใจว่า "เหนื่อย" กับ "หมดไฟ" เป็นเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันต่างกันมาก ความเหนื่อยเกิดขึ้นเมื่อเราใช้พลังงานไปจนหมด แล้วต้องการพักเพื่อฟื้นฟู แต่การหมดไฟคือการที่เราฝืนตัวเองให้ทำต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่พลังงานหมดไปนานแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นวัน สัปดาห์ หรืออาจเป็นปี ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว
ที่สำคัญภาวะหมดไฟไม่ได้มีแค่แบบเดียว นักจิตวิทยาพบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ซึ่งแต่ละแบบมีสาเหตุและผลกระทบที่แตกต่างกันไป มาดูกันว่าคุณกำลังเผชิญกับแบบไหน และจะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง
1. หมดไฟเพราะ "งานล้นมือ"
เคยรู้สึกเหมือนต้องแบกงานเยอะๆ ไหม? งานกองเต็มโต๊ะแต่ไม่มีแรงแม้แต่จะทำ หรือบางครั้งก็ผัดวันประกันพรุ่งจนทุกอย่างรุมเข้ามาพร้อมกัน ถ้าใช่นี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหมดไฟจาก "งานล้นมือ"
ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณรับภาระและความคาดหวังมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นงานที่ล้นมือ เป้าหมายที่สูงเกินไป หรือแรงกดดันจากตัวเองและคนรอบข้าง ยิ่งถ้าเป็นงานที่เราไม่ถนัด ยิ่งจะทำให้รู้สึกแเข้าไปใหญ่ เพราะถึงแม้เจ้านายจะมองว่าเราขยัน แต่จริงๆ แล้วมันกำลังทำร้ายเราไปทีละนิด
งานวิจัยในวารสาร Anxiety, Stress, & Coping ปี 2013 พบว่าการทุ่มเทให้กับงานจนเกินพอดีจะทำให้เรามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว
สัญญาณที่ควรระวัง
- เหนื่อยล้า แม้จะพักแล้วก็ยังไม่สดชื่น
- หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียง่ายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
- โฟกัสงานได้ไม่นาน ประสิทธิภาพเริ่มลดลง
วิธีรับมือ
- ตั้งขอบเขตให้ตัวเอง กล้าปฏิเสธงานที่เกินกำลัง
- จัดลำดับความสำคัญ เลิกแบกทุกอย่างไว้คนเดียว
- ให้เวลากับตัวเอง หาเวลาพัก เติมพลังให้สมองและร่างกาย
ซึ่งอาการนี้หากปล่อยไว้นานเกินไป ไม่ใช่แค่งานที่เสีย แต่ความสัมพันธ์และคุณภาพชีวิตก็อาจพังไปด้วย ซึ่งอย่ารอให้ถึงจุดนั้น ลองหาวิธีและปรับสมดุลการใช้ชีวิตดู
2. หมดไฟเพราะ "พลังงานหมด"
ลองนึกภาพคุณพ่อคุณแม่ที่เคยเล่านิทานให้ลูกฟังหรือเล่นกับลูก แต่ตอนนี้แค่เตรียมข้าวกล่องให้ลูกยังรู้สึกเหนื่อย นั่นแหละคืออาการหมดไฟแบบ "พลังงานหมดเกลี้ยง"
อาการนี้เกิดจากความเหนื่อยสะสมจนเราไม่เหลือพลังงานอะไรอีกแล้ว เหมือนกับแบตเตอรี่ที่หมดเกลี้ยง ไม่ว่าจะพยายามชาร์จยังไงก็ไม่เต็ม ภาวะหมดไฟแบบนี้ไม่ได้เกิดจากงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงภาระจากชีวิตส่วนตัว เช่นการเป็นพ่อแม่ที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง หรือการดูแลสมาชิกในครอบครัวจนไม่มีเวลาพัก ความเครียดที่สะสมจากการทำหน้าที่ต่างๆ โดยไม่มีเวลาฟื้นฟูตัวเอง ทำให้พลังงานค่อยๆ หมดไปอย่างช้าๆ จนไม่มีแรงจูงใจ และอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจในระยะยาว
สัญญาณที่ควรระวัง
- รู้สึกเหมือนต้องฝืนใช้ชีวิตทุกวัน
- อารมณ์ด้านชา ไม่รู้สึกดีใจหรือเสียใจอย่างที่เคย
- มีอาการปวดหัว นอนไม่หลับ
วิธีรับมือ
- อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ
- จัดสรรเวลาพักบ้าง
- หากิจกรรมที่เติมพลังให้ตัวเอง
3. หมดไฟเพราะ "ไม่เจอคุณค่าในสิ่งที่ทำ"
เคยรู้สึกไหมว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ตอบโจทย์ชีวิต หรือมันไม่ตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ? นั่นคืออาการหมดไฟแบบ "ไม่เจอคุณค่าในสิ่งที่ทำ"
ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่เราทำไม่ตรงกับค่านิยมหรือความเชื่อของตัวเอง หรือรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับคุณค่าและความหมายในชีวิตมากกว่าเงินเดือน ถ้างานที่ทำไม่ตอบโจทย์ตรงนี้ จะทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังติดอยู่ในวังวนที่ไม่อยากอยู่
ภาวะนี้จะทำให้เราหงุดหงิด เบื่อหน่าย ไม่มีเป้าหมาย หากมันสะสมไปนานๆ มันจะส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเองและสุขภาพจิตได้
ซึ่งในงานวิจัยปี 2022 จาก International Journal of Engineering Business Management พบว่า คนเจน Z ในเวียดนามให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรมากกว่าค่าตอบแทน หากงานที่ทำไม่ตรงกับคุณค่าเหล่านี้ พวกเขาจะรู้สึกหมดไฟเร็วขึ้น
สัญญาณที่ควรระวัง
- รู้สึกเหมือน "ติดกับดัก" กับงานหรือชีวิตที่เป็นอยู่
- สูญเสียแรงจูงใจ ไม่มีเป้าหมาย
- หดหู่ เครียดง่าย
วิธีรับมือ
- ลองพิจารณาว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตหรือไม่ หากไม่ใช่อาจถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยน หรือมองหาสิ่งที่เติมเต็มคุณได้
ภาวะหมดไฟไม่ใช่แค่เรื่องของงาน แต่เป็นเรื่องของ “การบาลานซ์ชีวิต” หากคุณเริ่มรู้สึกเหนื่อย ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ หรือรู้สึกเหมือนกำลังวิ่งบนลู่วิ่งที่ไม่มีวันจบ นี่อาจเป็นสัญญาณให้คุณต้องหยุดและถามตัวเองว่า
- กำลังใช้ชีวิตตามที่ต้องการจริงๆ หรือเปล่า?
- ให้เวลากับตัวเองมากพอหรือไม่?
- สิ่งที่ทำยังทำให้มีความสุขอยู่ไหม?
หากคำตอบคือ “ไม่” อาจถึงเวลาที่ต้องปรับเส้นทาง ก่อนที่ภาวะหมดไฟจะกลืนกินคุณไปทั้งชีวิต
จำไว้ว่าภาวะหมดไฟมีหลายรูปแบบการที่เราเข้าใจสัญญาณของมันตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เราป้องกันไม่ให้มันลุกลามได้ ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่โอเคจงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและหาสิ่งที่มันใช่สำหรับคุณจริงๆ
อ้างอิง: forbes