Bitcoin Mining เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่า? | Techsauce

Bitcoin Mining เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่า?

ประเด็นดราม่าเรื่องการขุดบิตคอยน์กับพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเรื่องที่มีมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่จากองค์กรรักษ์โลกอย่าง Greenpeace USA ที่ออกมารณรงค์ให้เปลี่ยนโค้ดของ Bitcoin หรือ #ChangeTheCode เพื่อเปลี่ยนจาก Proof-of-Work ไปเป็น Proof-of-Stake แบบเดียวกับที่ Ethereum ทำผ่าน The Merge

แต่ประเด็นนี้ก็ทำให้ Bitcoiner ออกมาต่อต้านไอเดียที่จะเปลี่ยนโค้ด พร้อมมีการสู้กันด้วยข้อมูลและเหตุผลระหว่างสองฝ่าย บทความนี้จะมาให้ข้อมูลที่มาที่ไปของประเด็นดราม่า พร้อมให้ข้อมูลของฝ่ายที่ต่อต้านและสนับสนุน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถคิดและวิเคราะห์ได้ว่า ‘การขุด Bitcoin เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่?’

Greenpeace USA vs Bitcoiner

Greenpeace USA ได้ทำการลงบทความและคลิปวิดีโอบน Youtube เพื่อรณรงค์ผ่านงานศิลปะให้ชุมชน Bitcoin เปลี่ยนโค้ดจาก Proof of Work (PoW) ไปเป็น Proof of Stake (PoS) อย่างที่ Etheruem ทำไปใน The Merge ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไปได้มากถึง 99.95% 


แต่เกมพลิก! Bitcoiner กลับชื่นชอบผลงาน Skull Of Satoshi และนำไปตั้งภาพหน้าจอ ตัดต่อทำมีม นำไปต่อยอดและชื่นชมต่อศิลปินอย่าง Benjamin Von Wong จนเจ้าตัวออกมาทวีตขอบคุณที่ชอบผลงานเขา พร้อมได้รับข้อมูลอีกด้านจาก Bitcoiner เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมกับการใช้งาน Bitcoin จนทำให้เจ้าของผลงานยังกล่าวว่า “ที่จริงแล้วมันมีทางแก้ไขปัญหา Bitcoin กับสิ่งแวดล้อมอยู่หลายทางนะ” 

มุมมองของฝ่ายที่ต่อต้าน

#CleanUpBitcoin และ #ChangeThecode ,not climate 

เป็นสโลแกนหลักของ Greenpeace USA ที่มองว่า Bitcoin เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษจากการใช้พลังงานฟอสซิลและถ่านหิน เป็นต้นตอของก๊าซเรือนกระจกกว่า 63 ล้านเมตริกตัน (ปัจจุบัน 71.16) ทั้งยังสิ้นเปลืองพลังงาน โดย Bitcoin ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับประเทศนิวซีแลนด์ หรือคิดเป็น 0.2% จากการปล่อย GHG ทั้งโลก และใช้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่า สาธารณรัฐคาซัคสถาน

กราฟแสดงการผลิตก๊าซเรือนกระจกของ Bitcoin กับ 30 ประเทศตามลำดับ

พร้อมยังเรียกร้องให้สถาบันทางการเงินที่ถือ Bitcoin จำนวนเยอะอย่าง Fidelity Blackrock และ Goldman Sachs แสดงถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงโค้ด โดยใช้ทรัพยากรที่มีจากการเป็นสถาบันใหญ่ในการพลักดันปัญหานี้ เพราะ Bitcoin มีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ 

การรณรงค์ครั้งนี้ใช้ศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อน จากผลงานศิลปะที่มีชื่อว่า Skull of Satoshi โดยศิลปิน Von Wong นำ Electronics Waste กว่า 300 ชิ้นมาประกอบเป็นกะโหลกของซาโตชิสูงกว่า 11 ฟุต เสริมด้วยเลเซอร์สีแดงที่บ่งบอกถึงความเป็นสาวกของ Bitcoin โดย Greenpeace กล่าวว่าการใช้ศิลปะนั้นสามารถสร้างความตระหนักรู้และเข้าถึงผู้คนได้มากมาย ทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในเรื่องปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างเรื่อง Cryptocurrency และ Climate

มุมมองของฝ่ายที่สนับสนุน

Bitcoin จำเป็นต้องมี Proof of Work (คิดค้นโดย Adam Back) เนื่องจากเป็นวิธีที่เหมาะที่สุดในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มี เช่น Byzantine General Problems และ Double Spending พูดง่ายๆ คือ Bitcoin ตั้งใจที่จะเป็นระบบการเงินที่กระจายศูนย์ (Decentralized) ทำให้ Bitcoin ต้องใช้หลายๆ เทคโนโลยีประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Blockchain, PoW, difficulty adjustment algorithm เป็นต้น เพื่อทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องใช้ความเชื่อใจเป็นจริงได้ พร้อมป้องกันการโจมตีทางเทคนิคได้อีกด้วย (DoS, 51% Attack, High Cost Attack)

ซึ่งต่างจากระบบธนาคารปกติที่มีผู้ตรวจสอบเพียงผู้เดียว (Centralized) นั่นก็คือตัวธนาคารเอง ทำให้ไม่มีปัญหาซับซ้อนเรื่องธุรกรรมทางการเงิน ในขณะเดียวกัน ผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้งานก็ต้อง ‘เชื่อใจ’ ในตัวธนาคาร ให้ธนาคารมีอำนาจในการอายัดบัญชี หรือควบคุมเงินของผู้ใช้งานได้ แลกกับความสะดวกสบายในการใช้เงินและไม่ต้องดูแลเงินเอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ Bitcoiner มองว่าการใช้พลังงานเพื่อทำให้ Bitcoin เป็น Bitcoin ที่มีความ Secure และ Decentralized นั้นเป็นสิ่งที่คุ้มค่า อีกทั้งมีการให้ข้อมูลว่าการขุด Bitcoin ส่วนใหญ่ใช้แหล่งพลังสะอาด หรือ Renewable Energy มากกว่า ครึ่งนึงเลยทีเดียว แถมชี้ให้เห็นว่าสามารถนำพลังงานที่ปกติต้องทิ้ง (waste energy) เช่น แก๊สที่ต้องเผาทิ้ง (Gas flare) หรือพื้นที่ห่างไกลเกินกว่าจะนำพลังงานมาใช้ได้ ก็สามารถใช้ Bitcoin มาต่อยอดทำเงินให้กับผู้คนได้ แลกกับการเป็นพลังงานให้ระบบ Bitcoin และให้ผู้ใช้งาน Bitcoin ได้ผลประโยชน์ต่ออีกทอดนึง เป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งกันใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

มากไปกว่านั้นเหล่า Bitcoiner ยังชี้ไปถึงแหล่งที่มาของเงินที่สนับสนุนโครงการนี้ ทำให้พบว่า Chris Larsen ผู้ร่วมก่อตั้งเหรียญฯ Ripple ที่ใช้ PoS เป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ยังมีข้อมูลและรายละเอียดปลีกย่อยเชิงเทคนิคมากมายจากทั้งสองฝ่าย ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม พลังงาน และเศรษฐกิจ เนื่องจากฝ่าย Bitcoiner มองว่าคุ้มมากกว่าเสีย  ส่วนฝั่ง Greenpeace USA ยังคงดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สามารถติดตามการเคลื่อนไหวเชิงสิงแวดล้อมได้ที่ Greenpeace USA และ Change The Code โปรเจกต์ย่อยที่ขับเคลื่อนในเรื่องของการเปลี่ยนโค้ด Bitcoin โดยเฉพาะจาก Greenpeace และ EWG องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม

อ้างอิงข้อมูล

Greenpeace

VonwongBlog

Cleanupbitcoin

Bitcoinist

Lyn Alden

Beincrypto

Cointelegraph

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ผู้นำที่ดีควรส่งเสริม ให้ลูกน้องวิจารณ์ตัวเอง สูตรลับที่ทำให้ Netflix ยิ่งใหญ่

‘ผู้นำที่ดีมักแสวงหาคำวิจารณ์ทุกครั้งที่เป็นไปได้’ คือประโยคที่ Reed Hasting ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของ Netflix กล่าวในพอดแคสต์ “The Tim Ferriss Show” รายการพอดแคสต์ธุรกิจอันดับหนึ...

Responsive image

5 เคล็ดลับมองโลก จากผู้นำระดับท็อปที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าจะไม่สูตรตายตัวที่จะประสบความสำเร็จแต่มี 5 อันดับที่ขาดไม่ได้ของเหล่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตั้งแต่ Elon Musk , Jeff Bezos จนไปถึง Susan Wojcicki ถ้าอยากรู้ว่า...

Responsive image

5 คนที่ควรมีในชีวิต ถ้าคิดอยากประสบความสำเร็จ

เส้นทางสู่ความสำเร็จ เดินคนเดียวอาจไปถึงช้า จะดีกว่าไหมถ้ามีคนที่ใช่เคียงข้างไปด้วย บทความนี้จะชวนทุกคนตามหา 5 ความสัมพันธ์ที่เราควรมี เพื่อเส้นทางสู่ความสำเร็จ...