ICO ความบ้าคลั่ง หรือ อนาคตของการระดมทุน | Techsauce

ICO ความบ้าคลั่ง หรือ อนาคตของการระดมทุน

ตอนนี้เพื่อนๆคงเห็นด้วยว่าใน Crypto Space เวลานี้ ไม่มีอะไรจะร้อนแรงเท่ากับ ICO แล้วนะครับ ไม่ว่าจะเรื่องทางจีนแบน ICO และขณะเดียวกัน จำนวน ICO นั้นผุดขึ้นมาแบบตามกันแทบไม่ทัน

เรามาดูกันนะครับว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับตลาด ICO บ้าง และมันจะมีแนวโน้มยังไงต่อไปบ้าง

ความร้อนแรงของ ICO

ICO หรือ Initial Coin Offering คือการระดมทุนรูปแบบใหม่ของบริษัท startup หรือกลุ่มนักพัฒนาโปรเจค ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับการระดมทุนผ่านการออกหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือ IPO แต่ต่างกันตรงที่สิ่งที่นักลงทุนจะได้คือเหรียญคริปโตไม่ใช่หุ้น ซึ่งชนิดของเหรียญคริปโตนั้นมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะให้ผลประโยชน์กับนักลงทุนไม่เหมือนกัน เช่นแบ่งรายได้ ให้สิทธิในการโหวต ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในระบบ และอื่นๆ อีกมากมาย

ในปี 2017 มีการะดมทุนผ่าน ICO มูลค่าสูงถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ซึ่งมูลค่าเงินที่มหาศาลนี้เองทำให้ นักกฏหมาย ธนาคารแห่งชาติ และรัฐบาลของหลายๆประเทศหันมาจับตามองการลงทุนประเภทนี้

จริงๆ แล้วมันก็ไม่แปลกที่ความต้องการในการลงทุนใน ICO นั้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากพวกเรานั้นอยู่ในภาวะดอกเบี้ยธนาคารต่ำและการลงทุนอื่นๆ ให้ผลตอบแทนช้า การมาเสี่ยงโชคกับ ICO ที่อาจจะให้ผลตอบแทนมหาศาลจึงเป็นอะไรที่น่าดึงดูดไม่น้อย จากภาพกราฟด้านล่างจะเห็นว่ามูลค่าของการระดมทุนด้วย ICO มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง

แม้แต่คนดังต่างๆ ก็ถูกนำมาใช้ในการโปรโมท Floyd Mayweather, Paris Hilton ซึ่งการตลาดแบบนี้อาจไม่ได้ทำเพื่อให้ Follower ของคนดังกล่าวมาลงทุนโดยตรง แต่ถือเป็นเสมือนการตลาดแบบสตันท์ ที่สร้างข่าวดึงดูดความสนใจคนในวงการคริปโต และทำให้คนแชร์ต่อไปในวงกว้าง

ผลกระทบจาก ICO กับธุรกิจด้านการระดมทุน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ICO ได้เข้ามาเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างในเรื่องการระดมทุน หรือพูดได้ว่ามันเข้ามาทำให้ความสำคัญของ Venture Capitalist (VC) และ Angel investor ลดลงไปมากเลยทีเดียว (ในแง่ของการระดมทุนนะครับ VC นั้นยังมีประโยชน์ต่อ startup อยู่มากนอกจากแค่เรื่องเงิน) หากเราดูภาพกราฟข้างล่างจะเห็นว่าเงินระดมทุนผ่าน ICO นั้นค่อยๆ มากขึ้นจากปีที่แล้วจนแซงหน้าการระดมทุนผ่าน VC / Angel funding แบบไม่เห็นฝุ่นเลยในเดือนมิถุนายน

เมื่อก่อน startup หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการขยายธุรกิจนั้นจะเลือกใช้ VC ในการ raise fund แลกกับหุ้นส่วนในบริษัท ตอนนี้บริษัทเหล่านั้นสามารถเลือกใช้ ICO ซึ่งช่วยหาทุนได้จากคนทั่วไป แทนที่จะเป็นบริษัทลงทุนมืออาชีพแบบพวก VC ได้

ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้ดีต่อแค่ startup แต่ดีกับนักลงทุนทั่วไปด้วย เพราะปกติแล้วคนส่วนมากนั้นไม่สามารถลงทุนในบริษัท startup ที่มีโอกาสเติบโตเป็นร้อยเป็นพันเท่าได้ (กฎหมายห้ามไว้ เราต้องผ่านเกณฑ์เช่นมีรายได้หรือทรัพย์สินขั้นต่ำในบางประเทศเพื่อที่จะเป็น Angel หรือไม่งั้นก็ต้องลงทุนผ่าน VC แทน) การใช้ ICO นั้นก็ตอบโจทย์นี้ได้เลยทีเดียว ผลก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มาดูกันครับ

ข้อดี

  • บริษัท startup ได้เงินง่ายขึ้น เพราะนักลงทุนทั่วไปนั้นเกณฑ์การคัดเลือกต่ำกว่า
  • ได้เงินมากขึ้น เพราะถึงแม้คนทั่วไปอาจจะลงเงินน้อยกว่าทาง VC แต่จำนวนนักลงทุนนั้นมากกว่าหลายเท่า เราดูตัวอย่างได้จาก Kickstarter
  • ไม่มีข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ สามารถรับเงินจากมุมไหนในโลกก็ได้ (ยกเว้นประเทศที่แบน)
  • ไม่ต้องมีเอกสารทางกฎหมายมากมายเหมือนการขอทุนทั่วไป
  • รับเงินได้สะดวกขึ้นด้วย Smart Contract
  • สามารถกำหนดรูปแบบของการลงทุนและการกระจายผลประโยชน์ของผู้ถือเหรียญได้เอง
  • ไม่ต้องเสียหุ้นส่วนในบริษัท
  • นักลงทุนมีสิทธิได้ผลตอบแทนสูงกับการลงทุนที่ปกติไม่สามารถลงได้ (ปกติลงผ่าน VC ก็มีขั้นต่ำ ไม่ใช่ลงนิดหน่อยได้แบบ ICO)

ข้อเสีย

  • ไม่ได้ผ่านการคัดกรองที่ดีโดยทีมงานมืออาชีพ ทำให้นักลงทุน ICO อาจเสียหายได้
  • ไม่มีเงื่อนไขปกป้องนักลงทุนในเคสที่บริษัทหรือโปรเจคปิดตัวไป
  • ไม่มีข้อบังคับในการแสดงรายได้รายจ่าย หรือเปิดเผยบัญชีบริษัทดั่งบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น
  • ไม่สามารถรับเงินสกุลหลักได้ (อาจรับได้แต่เสี่ยงต่อปัญหาด้านกฎหมาย)
  • ข้อมูลสำหรับทำการเสนอขาย ICO ไม่มีหน่วยงานรับรองทำให้มีโอกาสที่ข้อมูลนำเสนอขายอาจเป็นเท็จได้

อย่าลืมว่า ICO นั้นพึ่งมีมาได้ไม่กี่ปี ดังนั้นมันมีข้อบกพร่องมากมายอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเราพูดได้เลยว่ามันเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก แต่ทว่าความร้อนแรงในตลาด ICO ครั้งนี้ก็ได้แสดงให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีบล็อคเชนนั้นมีความพร้อมและความสามารถในใช้งานด้านนี้ได้ดี

ฟองสบู่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้?

ความบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นเสมอในทุกยุคในเราเห็น ตั้งแต่ยุคทางรถไฟ ยุคการสื่อสาร ยุคดอทคอม ทั้งหมดล้วนนำพาซึ่งการปฏิวัติของอุตสาหกรรมบนโลกของเรา แต่ทุกยุคนั้นกลับต้องผ่านจุดฟองสบู่กันทั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากฟองสบู่ ICO แตก มันก็จะทำให้ ICO หลังจากนั้นมีคุณภาพดีขึ้น น่าเชื่อถือมากขึ้น และทำให้โมเดล ICO นำเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ด้านตลาดการระดมทุน

ลักษณะฟองสบู่ ICO นั้นน่าจะคล้ายกับยุคฟองสบู่ดอทคอมมากที่สุด ในแง่ที่มีบริษัทใหม่ๆมากมายกระโดดมาทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเตอร์เนท และด้วยกระแสที่ร้อนแรงทำให้คนมาลงทุนกันอย่างบ้าคลั่ง สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการเทขายจากนักลงทุนเพราะบริษัทเหล่านั้นส่วนมากไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน พูดได้ว่าเป็นมูลค่าลวงๆที่นักลงทุน speculate กันไปเอง

ICO มูลค่าเกินจริง

คอยน์แมนเชื่อว่าพวกเราคงตั้งคำถามบ้างแล้วว่า “มันเอาเงินไปทำอะไรเยอะแยะ?”

การจะเริ่มทำโปรเจคต้องใช้เงินมากขนาดนั้นเลยหรอ ขนาด startup ดังๆที่เราเห็นกันเช่น Facebook, Uber, AirBnB นั้นยังรับเงิน seed round แค่เพียงไม่กี่ล้านเหรียญเท่านั้นจาก Angel Investor หรือ VC

แม้ว่าเราจะมาย้อนกลับไปดู ICO ในสมัยก่อน เราก็คงเห็นว่าส่วนใหญ่นั้นเรียกเงินไม่เกิน $20m ทั้งนั้น ซึ่งทำให้มีพื้นที่ในการเติบโตมากสำหรับนักลงทุน ถ้าเทียบกับตอนนี้ เราเห็นทั้ง ICO สร้างแอปฯธรรมดาๆ ที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้บล็อคเชน หรือสร้างโปรดักที่ไร้แผนงาน แต่เรียกเงินเกือบร้อยล้านเหรียญ บางทีผมว่ามันก็ไม่สมเหตุสมผลซักเท่าไหร่นัก

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนก็ยังลง ICO กันอยู่ดี เพราะหวังว่าคนที่มาทีหลังจะแห่กันซื้อตอนเหรียญเข้า Exchange แน่นอน อย่างน้อยๆก็ได้ซักเท่าตัว อย่างมากถือยาวหน่อยก็อาจได้เป็นสิบเท่าเลยทีเดียว ความคิดที่ว่าจะมีคนซื้อต่อแน่ๆ ในราคาที่แพงกว่า โดยที่ไม่คำนึงถึงและมองข้ามมูลค่าที่แต่ละโปรเจคควรจะเป็น ทำให้ฟองสบู่ขยายตัวไปเรื่อยๆ

จำนวน ICO ที่เยอะแต่คุณภาพต่ำ

ถ้าเราคิดว่าเงินในตลาด Crypto นั้นเท่าเดิมหรือไม่ได้เพิ่มขึ้นมากในเวลาอันสั้น แต่ ICO กลับมีเยอะขึ้น มันอาจจะทำให้กำลังซื้อหลัง ICO หลังเข้า Exchange นั้นน้อยลง (เงินกระจายไปหลายเหรียญมากเกินไป) และมีผลถึงกำไรที่ลดลงในแต่ละ ICO หรือถ้าเราจะมองในแง่ของคุณภาพของ ICO เราจะเห็นว่า ICO คุณภาพต่ำนั้นมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น

  • อธิบายโปรดักของตัวเองไม่ได้
  • พยายามอ้างชื่อ advisor ดังๆ มาดึงเรทติ้งตัวเอง
  • สร้างโปรดักที่ไม่มีใครต้องการ หรือไม่ได้แก้ปัญหาจริงๆออกมา
  • ลงทุนโฆษณาเยอะๆ (ของดีจริงเขาไม่ลงงบโฆษณากันครับ ดูอย่าง OMG เป็นต้น)
  • ดูแล้วไม่รุ้ว่าบริษัทจะเติบโตยังไง

เมื่อมี ICO คุณภาพต่ำเยอะมันย่อมส่งผลถึงภาพลักษณ์ของ ICO ทั้งหมดซึ่งรวมถึง ICO คุณภาพดีด้วย เมื่อถึงจุดหนึ่งคนจะเริ่มรู้สึกว่า ICO นั้นมันก็แค่การแต่งเรื่องขายของห่วยๆให้ได้ในราคาแพง และเมื่อถึงจุดนั้น ฟองสบู่ ICO ก็จะแตก

ถ้าฟองสบู่ ICO แตก จะเกิดอะไรขึ้น

ลองนึกภาพนะครับ ถ้าโปรเจค ICO มูลค่าไม่ควรเกิน $20m แต่กลับเรียกเงินซัก $80m ซึ่งคนอาจจะแห่กันมาซื้อจนหมดด้วยกระแสหรือเพราะคิดว่ามันขึ้นแน่ๆ ตอนเข้า Exchange พอถึงเวลาเทรดจริงๆแล้วกลับไม่มีคนสนใจไม่มีคนซื้อ คนที่ซื้อราคา ICO ก็ขาดทุนทันทีถ้าราคาร่วงไปตรงจุดที่มันควรจะเป็นคือ $20m โดยเฉพาะถ้าตลาดไปถึงจุดที่มีเหรียญมากมายเกลื่อนกลาด คนคงไม่มานั่งถือเหรียญที่มูลค่าเกินจริงหรอกครับ หรือสรุปง่ายๆ

  • คนจะเทขายเหรียญจาก ICO ที่ไร้ค่า (เพราะจริงๆ ซื้อมาก็เพราะหวังว่ามันจะเด้งตอนเข้า Exchange)
  • ราคาเหรียญ ICO เข้าตลาดใหม่ๆ จะเริ่มไม่กำไร
  • คนจะกลับไปหาเหรียญเก่าๆ ที่มีพื้นฐานที่ดีจริงๆ
  • คนจะระวังในการลง ICO มากขึ้นในอนาคต
  • โปรเจคที่ทำ ICO ใหม่ๆ ก็จะมีคุณภาพมากขึ้น พวก Scam ก็จะลดลง

ฟองสบู่ จะกระทบตลาด ขนาดไหนยังไม่มีใครรู้แน่ชัด เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นตัวอย่างโปรเจคที่เลิกทำหรือล้มเหลวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ถือเหรียญซักเท่าไหร่นัก แค่คิดก็น่ากลัวละครับเพราะจากสถิตินั้น 90% ของ startup จะล้มเหลว ถ้าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับ 90% ของ ICO เหมือนกันจะมีผลกระทบอย่างไร

เพราะฉะนั้นสำหรับนักลงทุนสาย VI นั้น การเลือก ICO ที่พื้นฐานดีนั้นสำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะเกิดฟองสบู่แตกหรือไม่ โปรเจคที่ดีก็จะอยู่รอด ไม่ต่างจากหุ้นในสมัยฟองสบู่ดอทคอม ผู้ที่อยู่รอดเช่น Amazon Google ก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในขณะที่บริษัทที่ไม่ดีก็ตายจากไป

**ฟองสบู่ที่พูดถึงคือ ICO นะครับ (การที่เหรียญ ICO มูลค่าเกินจริงไปมาก) ไม่ใช่ฟองสบู่ทั้งตลาด Crypto เพราะถ้าเรานับทั้งตลาด คอยน์แมนเชื่อว่าเรายังห่างไกลกับฟองสบู่แตกมากครับ ลองดูมูลค่าตลาด Crypto เทียบกับมูลค่าตลาดหุ้นอเมริกาในช่วงฟองสบู่ดอทคอม

การสร้าง Standard ที่ดีของ ICO

การคัดกรองโดยกฎหมายจากภาครัฐนั้นอาจจะสามารถเข้ามาช่วยกรั่นกรองได้ในระดับนึง เช่นช่วยตรวจสอบว่าบริษัท และบุคคลที่มาทำการระดมทุนนั้นมีตัวตนอยู่จริง และเป็นบุคคลสุจริต ปัจจุบันภาครัฐเริ่มเข้มงวดมากขึ้นแล้วกับการระดมทุนแบบนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สิงคโปร์ อเมริกา และล่าสุดคือ จีนที่ห้ามไม่ให้ประชาชนในประเทศตัวเองลงทุน ICO เพราะกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อของ scammer

นอกจากนี้ยังมีการคัดกรองโดยคอมมิวนิตี้ ซึ่งในตอนนี้เราก็พอมีกลุ่มคนที่ช่วยรีวิว ICO ดีๆเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆแล้ว แต่การคัดกรองด้วยคอมมิวนิตี้เองบางทีก็เป็นดาบสองคม เพราะว่ามีคนจำนวนมากที่ชอบสร้างความไม่แน่นอนด้วยข่าวลือหรือความเห็นต่างๆ เพื่อที่จะเล่นกับจิตวิทยาของฝูงชนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง เช่นที่เห็นกันมากใน Twitter นั้นเอง

สุดท้ายแล้วเราก็อย่าลืมที่จะศึกษาให้ดีด้วยตัวเองเสมอ เพราะสุดท้ายแล้วเงินของเราก็เป็นความรับผิดชอบของตัวเราเอง โดยคอยน์แมนแนะนำให้ทุกคนทำตามหลัก “ABC” 

Assume Nothing

Believe No one

Check Everything

ICO จะไม่หายไปไหนอย่างแน่นอน

แต่ก็เหมือนกับทุกครั้งที่เรามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยความที่มันมีศักยภาพ ทำให้เราไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธมันเพราะเพียงปัญหาเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆเล็กน้อยในช่วงแรก เพราะในที่สุดแล้ว ถ้าให้เวลาเพียงพอ ICO ก็จะเริ่มปรับตัวและเข้ามากินตลาดการลงทุนแบบเดิมๆได้ ไม่ต่างจากที่ Kickstater ทำมาแล้ว

คอยน์แมนเชื่อว่าในอนาคตอันไม่ไกลนี้ เราจะได้เห็นการใช้ ICO ขยายไปให้กลุ่มอื่นได้ใช้ เช่นบริษัทขนาดเล็ก มูลนิธิ วัด โรงพยาบาล และอื่นๆอีกมากมายอย่างแน่นอน

บทความนี้เป็น Guest post 

เกี่ยวกับผู้เขียน


Coinman เพจวิเคราะห์ตลาด Crypto และ Blockchain Technology ติดตามบทความใหม่ๆได้ทางเพจคอยน์แมน https://www.facebook.com/coinmanth/


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

5 ข้อแตกต่างที่ทำให้ Jensen Huang เป็นผู้นำใน 0.4% ด้วยพลัง Cognitive Hunger

บทความนี้จะพาทุกคนไปถอดรหัสความสำเร็จของ Jensen Huang ด้วยแนวคิด Cognitive Hunger ความตื่นกระหายการเรียนรู้ เคล็ดลับสำคัญที่สร้างความแตกต่างและนำพา NVIDIA ก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับ...

Responsive image

เรื่องเล่าจาก Tim Cook “...ผมไม่เคยคิดเลยว่า Apple จะมีวันล้มละลาย”

Apple ก้าวเข้าสู่ยุค AI พร้อมรักษาจิตวิญญาณจาก Steve Jobs สู่อนาคตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม โดย Tim Cook มุ่งเปลี่ยนโฉมเทคโนโลยีอีกครั้ง!...

Responsive image

วิจัยชี้ ‘Startup’ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

บทความนี้ Techsauce จะพาคุณไปสำรวจว่าอะไรที่ทำให้ วัย 40 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนักธุรกิจและ Startup หลายคน...