PwC เผยสถานการณ์โรคระบาด(COVID-19)กระตุ้นให้พนักงานเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยพนักงาน 40% เผยว่าทักษะดิจิทัลของตนเองพัฒนาขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ แต่ผลสำรวจเผยให้เห็นความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสด้านการทำงานและฝึกฝนทักษะ
ผลสำรวจพนักงานกว่า 32,500 คน ใน 19 ประเทศ แสดงให้เห็นภาพพนักงานทั่วโลกเปลี่ยนไปทำงานจากทางไกลกันมากขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เมื่อเจาะลึกลงไปจึงพบความจริงว่า โรคระบาดทำให้ผู้ตอบแบบสำรวจ 60% รู้สึกกังวลว่าระบบอัตโนมัติทำให้คนเสี่ยงตกงาน ขณะที่ 48% เชื่อว่าการจ้างงานแบบเดิมจะไม่มีอีกต่อไปในอนาคต และ 39% คิดว่างานที่ตนเองทำจะล้าสมัยภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่สถานการณ์แห่งความสิ้นหวัง เพราะผู้ตอบแบบสำรวจ 40% ระบุว่าได้พัฒนาทักษะดิจิทัลของตนเองในช่วงล็อกดาวน์อันยาวนาน และจะพัฒนาทักษะและฝึกฝนต่อไป ขณะที่ 77% พร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่หรือเข้ารับการฝึกฝนซ้ำ และ 74% มองว่าการฝึกฝนทักษะเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ 80% ยังมั่นใจว่าสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในอินเดีย (69%) และแอฟริกาใต้ (66%) ที่บอกว่า "มั่นใจมาก"
ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสำรวจ 49% ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ โดยสนใจสร้างธุรกิจของตนเอง
จากการสำรวจพบว่า พนักงาน 50% เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลให้พลาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะหรือก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รายงานระบุว่า พนักงาน 13% พลาดโอกาสเพราะเชื้อชาติ และ 14% ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศ โดยผู้หญิงรายงานว่าถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศมากกว่าผู้ชายสองเท่า นอกจากนี้ 13% ถูกเลือกปฏิบัติเพราะการศึกษา โดยผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือมีคุณสมบัติสูงจะได้รับโอกาสมากกว่า ขณะที่คนอายุน้อยและคนอายุมากต่างก็ถูกเลือกปฏิบัติเพราะอายุ
ผลสำรวจยังพบว่ามีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสการพัฒนาทักษะ โดย 46% ของผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีเผยว่าได้รับโอกาสมากมายในการพัฒนาทักษะดิจิทัล ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายมีเพียง 28% ที่ตอบเช่นนั้น และในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมากที่สุดอย่างการค้าปลีกและการขนส่ง มีเพียง 25% และ 20% ตามลำดับ ส่วนภาคธนาคารอยู่ที่ 42%
"หากรูปแบบการเข้าถึงการฝึกฝนทักษะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป การพัฒนาทักษะจะยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งที่จริงแล้วควรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" Bhushan Sethi ผู้นำร่วมฝ่าย People and Organization Practice ของ PwC กล่าว "รัฐบาลและผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อพยายามสร้างความมั่นใจว่า พนักงานในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสุดจะได้รับโอกาสที่จำเป็น การเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถควบคุมการจัดการผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นได้"
พนักงาน 3 ใน 4 ทั่วโลก (75%) ต้องการทำงานกับองค์กรที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในจีน (87%) อินเดีย (90%) และแอฟริกาใต้ (90%)
อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจได้จำกัดความสามารถของผู้คนในการทำงานที่ใฝ่ฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนอายุน้อย โดยถ้าหากต้องเลือก 54% เลือกทำงานที่สามารถ "คว้าทุกโอกาสในการสร้างรายได้สูงสุด" มากกว่างานที่ "สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่า" (46%)
การสำรวจค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนอายุ 18-34 ปี มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับรายได้มากกว่าการทำประโยชน์เพื่อสังคมเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่น โดย 57% ให้ความสำคัญกับ "รายได้สูงสุด" มากกว่า "การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่า" (43%) โดยนำอยู่ 14 จุด ส่วนคนอายุ 55 ปีขึ้นไปให้ความสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่ามากกว่า โดยนำอยู่ 8 จุด และคนอายุ 65 ปีขึ้นไปให้ความสำคัญกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่ามากกว่าเช่นกัน โดยนำอยู่ถึง 22 จุด
"ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เราได้เห็นว่าพนักงานมีความคาดหวังกับบริษัทมากขึ้น โดยหวังให้นายจ้างทำประโยชน์ให้กับสังคม" Peter Brown ผู้นำร่วมฝ่าย People and Organization Practice ของ PwC กล่าว "โชคดีที่การทำประโยชน์เพื่อสังคมและการสร้างกำไรสูงสุดสามารถเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยในความเป็นจริงแล้ว การทำธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเพิ่มกำไรให้บริษัทได้ด้วย"
ผลสำรวจได้ข้อสรุปว่า การทำงานจากทางไกลจะดำเนินต่อไปหลังคลายล็อกดาวน์ โดยในบรรดาผู้ที่สามารถทำงานจากทางไกลได้นั้น 72% ต้องการทำงานทางไกลควบคู่กับการทำงานแบบเดิม และมีเพียง 9% ที่อยากกลับไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานแบบเดิมเต็มเวลา โดยผู้ประกอบวิชาชีพ พนักงานออฟฟิศ เจ้าของธุรกิจ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยทำงานทางไกลได้ อย่างไรก็ดี 43% ของผู้ใช้แรงงาน และ 45% ของแรงงานกึ่งฝีมือ ระบุว่ามีงานหลายส่วนที่สามารถทำจากทางไกลได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ทัศนคติของพนักงานเกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้านแตกต่างกันตามพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโรคระบาดทำให้ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยพนักงานในเมืองใหญ่ (66%) มีแนวโน้มทำงานที่สามารถทำจากทางไกลได้มากกว่าพนักงานในชนบท (44%)
พนักงาน 44% ระบุว่า ยินยอมให้นายจ้างใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดส่องประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง เช่น เซ็นเซอร์และอุปกรณ์สวมใส่ แต่ 31% ไม่ยินยอม อย่างไรก็ดี หลายคนไม่ได้ยินยอมถึงขั้นอนุญาตให้นายจ้างเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 41% ไม่ยินยอมให้นายจ้างเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น โปรไฟล์โซเชียลมีเดีย และมีเพียง 35% ที่ยินยอม
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด