ทั้งคนเยอรมันและคนไทยต่างก็เป็นชนชั้นทำงานหนัก ถ้านับเป็นชั่วโมงทั้งเขาและเราต่างเคยทำงานกันปีละ เกือบ 2,200 ชั่วโมง/ปี เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ผมมีตัวเลขเป๊ะ ๆ ใน www.ourworldindata.org และจำนวนชั่วโมงที่ได้คือ
ถ้าอ่านแค่นี้ก็ถือว่าดูดีเลยทีเดียวสำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยที่ทำงานหนักพอกันกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเยอรมนี
เสียอย่างเดียวตัวเลข 2,181 ชั่วโมง/ปี เป็นของชาวเยอรมันปี 1960 ส่วน 2,185 ชั่วโมง/ปี เป็นของชาวไทยปี 2017 หรือก็คือคนไทยในยุคเทคโนโลยีทำงานกันนานพอ ๆ กันคนเยอรมันในยุคสงครามเย็น
น่าเสียดายที่ตัวเลขอัพเดทล่าสุดของ Our World in Data มีถึงแค่ปี 2017 อย่างไรก็ตามแค่ดูแนวโน้มคร่าว ๆ ก็บอกอะไรได้เช่นกัน กราฟนี้จะโชว์ความสัมพันธ์ระหว่าง GDP ต่อหัว (GDP per capita) และชั่วโมงการทำงาน แกนตั้งคือชั่วโมงการทำงาน แกนนอนคือ GDP ต่อหัว
การที่กราฟของเยอรมนีวิ่งลงฉิวจากซ้ายบนไปขวาล่างหมายความว่า พวกเขาทำงานน้อยลง แต่มีรายได้มากขึ้น
ปี 1960 ชาวเยอรมันทำงาน 2,181 ชั่วโมง/ปี มี GDP ต่อหัว 9,937.08 เหรียญ
มาปี 2017 พวกเขาทำงาน 1,354 ชั่วโมง และมี GDP ต่อหัว 47,556 เหรียญ
ขณะที่ไทยนั้นทำกราฟเหมือนแมวกำลังโก่งหลัง วิ่งขึ้นแล้วโค้งลง GDP ต่อหัวเพิ่มจาก 2,222.02 เหรียญในปี 1970 (ตัวเลขเก่าสุดที่มี) มาเป็น 15,740.31 เหรียญ ในปี 2017 แต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่สามารถลดต่ำกว่า 2,000 ชั่วโมงได้
ความต่างจะชัดขึ้นเมื่อมาดูกราฟ Productivity ของสองประเทศ
Productivity คือสัดส่วนผลผลิตที่ได้กับแรงงานที่ใช้ มันเป็นสัดส่วนที่ยิ่งสูง ยิ่งดี
เช่น โรงงานไทยแห่งหนึ่งใช้พนักงาน 5 คน ผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้ 10 ชิ้นใน 1 ชั่วโมง ปีต่อมา ใช้พนักงาน 5 คน ผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้ 12 ชิ้นใน 1 ชั่วโมง แสดงว่าโรงงานนี้ต้องมีอะไรดีขึ้นถึงได้ใช้คนเท่าเดิมแต่ผลิตได้มากกว่าเดิม
กราฟ Productivity ทั้งเยอรมนีและไทยก็มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ของเยอรมนีทิ้งห่างเราไปไกลมาก ชาวเยอรมันเคยมีรายได้ 8.92 เหรียญ/ชั่วโมงในปี 1960 พอมาปี 2017 พวกเขามีรายได้ 66.71 เหรียญ/ชั่วโมง ส่วนไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 2.18 เหรียญ/ชั่วโมงมาเป็น 12.85 เหรียญ/ชั่วโมง
ครับ เราดีกว่าเก่า แต่ไม่เทียบเท่าประเทศที่มีโครงสร้างที่ดี
ที่ผมเลือกประเทศเยอรมนีมาเทียบกับไทยมีเหตุผลเดียวคือกำลังอินกับการอ่าน Klopp Bring the Noise (เรื่องราวของ Jurgen Klopp) แค่บทแรกก็ทำให้รู้จักความเป็นคนเยอรมันแล้ว ที่นั่นมีคำพูดที่โด่งดังว่า
ชัฟเฟ่อ ชัฟเฟ่อ ฮอยส์เล่อ เบาเอ่อ - ทำงานเข้าไป ทำงานเข้าไป เสร็จแล้วก็ไปสร้างบ้าน
แต่ชาวเยอรมันบางแคว้นนอกจากจะทำงานหนักแล้ว ยังมีหัวคิดด้านนวัตกรรมด้วย เช่น ชาวชวาเบีย
สมัยก่อนพวกเขาทำการเกษตร พ่อแม่แคว้นอื่นจะให้ที่ดินกับลูกคนแรก แต่พ่อแม่ชาวชวาเบียจะแบ่งให้ลูกทุกคนเท่า ๆ กัน เวลาผ่านไปที่ดินก็เล็กลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถใช้การได้ รุ่นต่อมาจึงต้องไปหางานอย่างอื่นทำแทน บางคนกลายเป็นนักประดิษฐ์ บางคนเป็น Tüftler หรือคนที่มองหาวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่ให้แก่ปัญหาแบบเก่า
และประวัติศาสตร์พื้นเมืองข้อนี้ก็ตรงกับข้อมูลของ Our World in Data ที่ว่าสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่าง Productivity - รายได้ - ชั่วโมงการทำงานคือ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี
เทคโนโลยีที่ว่ามันอาจจะเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัย ไอเดีย ความรู้ กระบวนการ หรือที่ Peter Thiel นิยามเอาไว้ว่า
วิธีการใดก็ตามที่แปลกใหม่และช่วยให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นล้วนจัดเป็นเทคโนโลยีทั้งสิ้น - Peter Thiel
เช่น Toyota ที่ใช้กระบวนการผลิตแบบ TPS (Toyota Production System) ที่มีการปรับปรุงคุณภาพการผลิตและขจัดความสิ้นเปลืองอยู่เสมอจนทำให้สามารถผลิตรถยนต์คุณภาพดี ราคาเหมาะสมได้
นวัตกรรมทำให้ชาวเยอรมันมี Productivity สูงขึ้น พวกเขาใส่แรงเข้าไปเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อผลผลิตมากขึ้น รายได้ก็มากขึ้น
และเมื่อคนเรามีรายได้มากขึ้นจะทำอะไรกันต่อไป
พวกเขาก็จะเริ่มหาเวลาพักผ่อนหรือทำสิ่งอื่นที่มันเติมเต็มชีวิตนอกจากหน้าที่การงาน
พวกเขาร่ำรวยขึ้น ทั้งด้านการเงินและเวลา เพราะมีความคิดแบบนวัตกรรม
สิ่งที่ไทยยังขาดคือความคิดด้านนวัตกรรม เรายังมีไม่มากพอ พวกเราทำงานหนักพอ ๆ กับสิงคโปร์ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่เมื่อดูรายได้กลับไม่ใกล้เคียงกันเลย
และอย่าลืมว่านี่มันเป็นค่าเฉลี่ยเท่านั้น ความจริงคือมีคนไทยที่ทำงานมากกว่า 2,185 ชั่วโมง/ปี แต่ยังมีรายได้ไม่ถึง 12.85 เหรียญ/ชั่วโมง
การขาดนวัตกรรมทำให้ยากที่จะหลุดพ้นจากความยากจน และความยากจนไม่ได้หมายถึงเพียงด้านการบริโภคเท่านั้น แต่ยังหมายถึงยากจนเวลาว่าง (Leisure poor) อีกด้วย
ใช่ครับ เราต้องปลูกฝังความคิดแบบนวัตกรรมให้กระจายไปทั่วประเทศ เพราะการจะลากกราฟให้เหมือนเยอรมนีเป็นเรื่องที่ต้องทำกันทุกภาคส่วน แต่ถ้าเริ่มด้วยตัวบุคคลก็อาจจะเริ่มด้วยสอนให้ลูกหลานกล้าคิด กล้าทำ และไม่ใจร้อนไปขัดขวางการเรียนรู้ของพวกเขา
มิฉะนั้นประเทศไทยก็จะยังมี Productivity ที่โตช้าต่อไป พวกเราก็ต้องทำงานมากขึ้นเพื่อทดแทนการขาดเทคโนโลยี และนั่นหมายความว่าพวกเราจะมีเวลาว่างของตัวเองน้อยลง
ทั้งที่ถ้าเราส่งเสริมให้มีการคิดแบบนวัตกรรมก็จะทำให้คนของเราทำงานกันดีขึ้น รายได้มากขึ้น มีเวลาว่างไปใช้กับการพัฒนาตัวเอง ศึกษาเพิ่มเติม หรือแม้แต่การผ่อนคลายให้หายเหนื่อย
ในขณะที่ชาวเยอรมันสมัยก่อนพูดกันว่า “ทำงานเข้าไป ทำงานเข้าไป เสร็จแล้วก็ไปสร้างบ้าน”
ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนเป็น “ทำงานเข้าไป ทำงานเข้าไป เสร็จแล้วก็ไปสนุกกับเวลาว่าง” กันแล้วก็ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม https://ourworldindata.org/rich-poor-working-hours คุณสามารถหาข้อมูล Productivity ของประเทศอื่นได้ในลิ้งค์นี้
โดยรวมแล้วทุกประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มแบบชั่วโมงทำงานน้อยลง รายได้มากขึ้น แต่ก็มีบางประเทศที่รายได้มากขึ้น แต่ชั่วโมงทำงานยังสูงอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ซึ่งก็อาจขึ้นอยู่กับนโยบายหรือลักษณะนิสัยของคนในประเทศนั้น
และผมก็หวังว่านโยบายของไทยคงไม่ใช่การทำงานมากขึ้น แต่รายได้น้อยลง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด