ภาคธุรกิจเปิดเกมรุกสู่ Net Zero Transition มุ่งสร้างมูลค่าและ ROI ระยะยาว | Techsauce

ภาคธุรกิจเปิดเกมรุกสู่ Net Zero Transition มุ่งสร้างมูลค่าและ ROI ระยะยาว

เป้าหมายโลกด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไปจนถึง การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ทั้งหมดทั้งมวลที่กำหนดขึ้นมานี้ก็เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5°C  แม้หนทางจะยังอีกยาวไกล แต่คนไทย ประเทศไทย อย่าเพิ่งท้อหรือถอดใจไปก่อน เพราะมีบางคน บางภาคส่วนใช้ประโยชน์จากเป้าหมายและความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก เปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลแบบเดิมไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Net Zero Transition) และยังวางกรอบแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเอาไว้ ซึ่งเชื่อได้ว่า หากปฏิบัติตามกรอบที่วางไว้ได้ จะสร้างอิมแพ็กต่อประเทศไทยเป็นวงกว้าง 

อีเวนต์ปันความรู้สู่การใช้พลังงานสะอาด SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition 

Net Zero Transition

สารพันแนวคิดและการดำเนินงานด้าน Climate Action น่ารู้ จากงานสัมมนา SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition ซึ่งจัดขึ้นที่ SCBX NEXT TECH มีวิทยากรที่มาร่วมเสวนาทั้งผู้เชี่ยวชาญด้าน Climate จาก McKinsey & Company, Innopower, PTT ExpresSo, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ SCB EIC โดยมาแชร์งานวิจัยและยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net Zero ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเงินทุน เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการปลดล็อกอนาคต Net Zero, ร่วมคลี่คลายความท้าทายด้วยการเรียนรู้กลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติจริงจากองค์กรชั้นนำ, การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ, บทบาทของบริการทางการเงิน การลงทุน และเทคโนโลยี ในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ กลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานสู่ Net Zero ขององค์กรระดับประเทศ ตลอดจนโอกาสและความท้าทายของไทย ในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

Keynote: Thailand's Energy Transition - Shaping and Winning Climate Opportunities

Net Zero Transition

  • Vishal Agarwal, Senior Partner and Leader, Energy & Environment Sustainability Asia, McKinsey & Company

Vishal จาก McKinsey เป็นคนแรกที่ขึ้นกล่าวในงานสัมมนา SCBX Reimagining Climate: EP1 Shaping the Pathway Towards Net Zero Transition เป็นคนแรก โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างฉับไวและผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง Net Zero

ขณะที่โลกยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการรักษาสภาพภูมิอากาศไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5°C ได้ เราจึงต้องเร่งดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงนี้นำเสนอโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุคของเรา โดยคาดว่าจะมีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่อปีสูงถึง 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก

Vishal อธิบายว่า ความท้าทายเกี่ยวกับการลดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น อยู่ที่การจัดการกับความท้าทาย 4 ด้านพร้อมกัน นั่นคือ

  1. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Lower Emissions)
  2. ความคุ้มค่าในการลงทุน (Affordability)
  3. ความมั่นคงด้านพลังงาน (Security)
  4. การรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness)

ถึงแม้การปล่อย GHG มากกว่าครึ่งมาจากการใช้พลังงาน สถานการณ์ตอนนี้ก็ยังลดการปล่อยได้ยากและเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ Vishal ก็ชี้ให้เห็นว่า ยังมองโลกในแง่ดีได้ เพราะการที่บริษัทชั้นนำหลายแห่งใช้แนวทาง 2 ข้อแรกในการเล่นเกมรุกด้วย 'AND' เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายความว่า องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน โดยมุ่งเน้นไปที่ 'ความยั่งยืน' และ 'การสร้างมูลค่าผ่านการสร้างธุรกิจ'

ด้านความเปราะบางของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการรับมือเชิงรุก ในประเด็นนี้ Vishal ประมาณการว่า 'ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000-3,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็น 0.4–0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับกลยุทธ์การลดผลกระทบและการปรับตัว

การเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่การผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำนำมาซึ่งโอกาสที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งหนึ่ง จาก มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตด้วยวิธีที่สะอาดมากขึ้น ดังนั้น หากประเทศไทยหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าและนวัตกรรม ก็จะสามารถกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่สำหรับอนาคตที่ไร้คาร์บอนได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถแย่งชิงตลาดพลังงานสะอาดมาได้เพียงเล็กน้อย (10%) จากการค้าที่เคลื่อนย้ายออกจากจีน และพลังงานสะอาดก็เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต

แนวทางปฏิบัติในการผลิตที่สะอาดยิ่งขึ้นอาจสร้างคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับสินค้าไทย และจะผลักดันความต้องการส่วนประกอบและระบบของไทยในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม อาคาร และการขนส่ง นอกจากนี้ในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ ประเทศไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการนำแนวทางปฏิบัติการเกษตรที่ยั่งยืนมาใช้ เช่น การจัดการคาร์บอนในดิน การผลิตโปรตีนทางเลือก

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพสูงในด้านพลังงานหมุนเวียน รวมถึงความสามารถในการดักจับและกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และคาร์บอน ในขณะเดียวกันภาคขนส่งก็พร้อมก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยนโยบาย 30/30 ที่มุ่งหวังให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทำได้ 30% ภายในปี 2030 สำหรับภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญของประเทศไทยก็สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดการดิน การทำเกษตรอัจฉริยะ และโปรตีนทางเลือกเพื่อไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนได้

Vishal ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่บริษัทและผู้นำของไทยจะต้องคว้าโอาสและมีบทบาทในการกำหนดอนาคตสีเขียวของประเทศ และตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือปฏิบัติ โดยต้องมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อรองรับกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว ซึ่งถ้าประเทศไทยหันมายึดถือแนวทางความยั่งยืนอย่างจริงจัง นอกจากจะสามารถป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเส้นทางสู่การเปลี่ยนผ่าน Net Zero อีกด้วย

Keynote: The Road to Net Zero in Thailand: Supporting Policies, Business Opportunities, and the Taxonomy & Role of the Financial Sector

Net Zero Transition

  • คุณนพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส จาก SCB EIC 

คุณนพมาศมากล่าวในหัวข้อ The Road to Net Zero in Thailand Supporting Policies, Business Opportunities, and the Taxonomy & Role of the Financial Sector โดยเกริ่นที่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนและ Net Zero ในไทย แล้วเน้นที่การใช้โซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้า ทั้งผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและเพื่อจำหน่ายต่อ

ด้านการขายไฟให้ภาครัฐ (Public PPA) ประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตจากโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลเฟส 2 ราว 2.6 GW และแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าอาจประกาศได้ในปี 2024 โดยเป้าหมายด้านกำลังการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2037 อาจจะเพิ่มขึ้นจากแผนเดิมกว่า 200% และการที่แนวโน้มของผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งตลาด Power Purchase Agreement และ Self Consumption ไม่ว่าจะเป็น 

  • Public PPA : การขายไฟให้ภาครัฐ มีแรงหนุนจากแผน PDP ใหม่ที่จะเปิดเผยในปี 2024 ส่งผลให้ตลาดมีโอกาสเติบโตขึ้นมากกว่าเท่าตัว
  • Private PPA : การขายไฟให้ภาคเอกชน มีแรงหนุนจาก Green Energy Transition ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ความต้องการไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่เติบโตขึ้นนี้จะไปหนุนความต้องการแผงโซลาร์ในไทยให้เติบโตอย่างโดดเด่นตามมา ทั้งธุรกิจผลิตแผงโซลาร์ในไทย ผู้จำหน่ายแผงโซลาร์ และผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์ นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานลม ก็มีแนวโน้มเร่งตัวเช่นกัน แต่จะอยู่ในตลาด Public PPA เป็นส่วนใหญ่ และพื้นที่ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ดี ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้

อีกตลาดที่กำลังคึกคักในไทยเพื่อร่วมลดการปล่อยคาร์บอน คือ EV ส่งผลให้ความต้องการ 'แบตเตอรี่ไฟฟ้า' เพิ่มมากขึ้น โดยตลาดแบตเตอรี่จะมีโอกาสเติบโตจาก EV และภาคการผลิตไฟฟ้าอีกมา ซึ่งความต้องการโดยรวมอาจมีไม่น้อยกว่า 34 GWh ภายในปี 2030

อย่างไรก็ดี ปี 2030 คาดว่าจะมีความต้องการแบตเตอรี่ในไทยรวมมากกว่า 34-70 GWh จากตลาด EV และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ขณะที่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทยส่วนใหญ่จับมือกับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ รวมกำลังการผลิต 27 GWh ในปี 2026 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีจากจีน

เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสนับสนุนผ่านตลาดการเงินสีเขียวก็คือ เงินทุน รวมถึงการตั้งเป้าหมายเพิ่มสินทรัพย์ที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ในฐานะธนาคาร SCB จึงตั้งเป้าเพิ่มสินทรัพย์ที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเช่นกัน โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืน 1 แสนล้านบาท ให้แก่ลูกค้า 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายใน ปี 2025 โดยมีข้อมูล 9 เดือนในปี 2023 ว่า SCB ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนแล้วจำนวน 52,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • Renewable Energy จำนวน 12,600 ล้านบาท
  • EV จำนวน 10,000 ล้านบาท
  • การเงินที่เชื่อมโยงกับนโยบายความยั่งยืน จำนวน 26,100 ล้านบาท
  • สินเชื่อ SME SSME และลูกค้าบุคคล จำนวน 3,000 ล้านบาท

Fireside Chat: Decarbonizing Thailand: Empowering Thai Conglomerates for Sustainability

Net Zero Transition

คุณอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร INNOPOWER และ คุณธันยธร ทองวรานันท์ รับหน้าที่เป็น Moderator 

คุณอธิปเล่าถึง บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด หรือ Innopower ว่าเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture)  ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO โดยบริษัทมีบทบาทเป็น Venture Capital ที่เน้นการลงทุนระยะยาวในด้านพลังงานและเทคโนโลยี ทั้งยังมีการลงทุนแบบร่วมสร้าง (Venture Building) และยังเป็น Strategic Partners ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอน

คุณอธิปบอกว่า เราเป็นเจเนอเรชันแรกที่เจอปัญหา Global Warming น้ำท่วมในประเทศไทยก็เป็นผลจาก Global Warming และยังเป็นเจเนอเรชันสุดท้ายที่จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคน ทุกองค์กร จะต้องร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อลดโลกร้อน

ในด้านลดการปล่อยคาร์บอน คุณอธิปยกตัวอย่าง WD - Western Digital ผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์ให้ Apple ว่า บริษัทกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรสีเขียว สอดคล้องกับทิศทางโลก และทิศทางเดียวกับ Apple ที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG เพราะถ้า WD ไม่ทำหรือไม่กำหนดเป้าหมายด้านกรีนที่สอดคล้องกับความยั่งยืน Apple ก็อาจจะไม่ทำธุรกิจด้วย

นอกจากการลงทุนด้านพลังงาน Innopower ยังพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด โดยการให้คำปรึกษา การบริหารจัดการเพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ การพัฒนานวัตกรรมทางด้านพลังงาน (Future of Energy) ธุรกิจยานยนต์แห่งอนาคต (Future of Mobility) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์เชื้อเพลิงสะอาด ทั้งยังลงทุนในความยั่งยืน (Invest in Sustainability) อีกด้วย

ในด้านการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้มีความกรีน คุณอธิปเล่าว่า ทำได้ด้วยการเลือกใช้ 'เทคโนโลยีและนวัตกรรม' เข้ามาช่วยในภาคการผลิต การออกแบบ เพื่อช่วยให้ขายสินค้าในราคาที่ถูก เชื่อถือได้ ผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น แต่หากอยากให้บุคลากรภายในคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้เอง ก็ต้อง 'ทรีตให้คนสร้างนวัตกรรมแล้วเจอ Failure ได้' เช่น ถ้าเฟลด้าน Operation อาจต้องรับผิดชอบผลจากการดำเนินงานบางอย่าง แต่ถ้าเฟลจากการลองทำในสิ่งใหม่ มองว่าควรได้รับการส่งเสริมหรือให้โอกาสจากองค์กร เพราะเป็นการสร้างสิ่งใหม่ให้บริษัท 

Panel: The Role of Financial Services, Investment, and Technology in Accelerating Climate Action

  • คุณวริศ เจริญวราวุฒิ Senior Investment Manager, PTT Expresso

คุณวริศกล่าวถึง PTT ExpresSo ว่าเห็นผู้คนกระตือรือร้นด้าน Climate Action เพิ่มขึ้นมาก แม้แต่ซีอีโอของ Blackrock ยังพูดไว้ว่า ที่ต้องลงทุนด้าน Sustainable Business ไม่ใช่เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ลงทุนเพราะมันก่อให้เกิด ROI (Return of Investment) ได้ 

สำหรับ ExpresSo คุณรวิศอธิบายว่า เป็นหน่วยธุรกิจที่เกิดจาก ปตท. ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 เทียบได้กับเรือลำใหญ่ หรืออาจนึกภาพเป็น Titanic เรือใหญ่ที่อาจจะล่มเมื่อไรก็ได้ จึงเกิด ExpresSo เรือลำเล็กขึ้น เพื่อให้ออกไปเสี่ยงก่อน ลงทุนก่อน และถ้าเจอโอกาสดีๆ ค่อยกลับมาบอกเรือลำใหญ่ว่า ทิศทางไหนที่ควรจะไป 

คุณวริศเล่าต่อว่า เห็นการเติบโตของ Climate Action หลายด้านก็จริง แต่โมเดลธุรกิจในต่างประเทศนั้นใช้กับเมืองไทยไม่ได้ทุกเรื่อง และนักลงทุนเองก็เริ่มไม่ต้องการลงทุนในบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ สำหรับประเทศไทย ถ้าธุรกิจไหนมีงบจำกัด ยิ่งต้องเลือกลงทุนในสิ่งที่มีอิมแพ็กดี เช่น ด้าน Waste Management การนำขยะมาสร้างพลังงาน ซึ่ง ExpresSo มองว่า สิ่งนี้ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ได้ แต่ต้องกลับไปดูที่ Regulation ด้วยว่า เปิดให้ทำอะไรได้มากแค่ไหน 

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่าง 'แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า' ว่าถ้าใช้จนหมดอายุแล้วเซลล์แบตเตอรี่จะไปไหน? ประเด็นนี้ ทาง ExpresSo พิจารณาและติดตาม Adoption Curve มาตลอด อย่างตอนนี้อเมริกาใช้เทสล่ามาแล้ว 10 ปี Volume แบตเตอรี่ก็จะต้องไม่เกินอัตราการผลิตรถ ถ้าแบตเสื่อม แต่ยังไม่ถึงเวลารีไซเคิล หรือนวัตกรรมยังไปไม่ถึง อิมแพ็กก็อาจยังเกิดไม่เยอะ ดังนั้น ExpresSo จึงยังไม่ได้เข้าไปลงทุนด้านการรีไซเคิลแบตเตอรี่ แต่เน้นไปที่การลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อย GHG ไปก่อน

  • คุณเอกศักดิ์ เสาะแสวง Business Development Manager, Innopower

Innopower พิจารณากลยุทธ์ความร่วมมือทั้งกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจสีเขียวรายใหม่ๆ และทำให้ทุกคนมี Awareness เรื่องความยั่งยืน เพื่อไปสู่ Net Zero Transition 

คุณเอกศักดิ์บอกว่า การบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เพราะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกันทำ ซึ่งทาง Innopower ก็ร่วมมือกับธนาคาร เช่น การปล่อย Green Loan ให้สินเชื่อลูกค้าที่ทำโครงการสีเขียว หรือตอนนี้ก็มีหลายบริษัทที่มีกลยุทธ์เกี่ยวกับความยั่งยืนหรือ ESG แต่ในกรณีนี้ คนที่ไม่พร้อมที่สุดเลยคือ SMEs คือ รู้ว่าเทรนด์มาแต่ไม่เข้าใจ จึงแนะนำให้ทดลองใช้ GHG e-Platform ก่อน SMEs จะได้เห็นว่าส่วนไหนปล่อยคาร์บอนเยอะ โอกาสทางธุรกิจอยู่ตรงไหน เพราะเมื่อลงทุนทำให้ธุรกิจกรีนขึ้น ก็จะขายขายของได้มากขึ้น 

เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ คุณเอกศักดิ์จึงให้คำแนะนำว่า ต้องเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีที่ง่ายก่อน เพื่อให้เห็นศักยภาพและความก้าวหน้าของการใช้เทคโนโลยี เช่น แมคโดนัลด์ลดการใช้พลังงานด้วย Smart Motor มี AI คอยมอนิเตอร์อุณหภูมิอัจฉริยะในหลายสาขา ช่วยให้แอร์เย็นขึ้น โอเปอเรตแบบสวิงอุณหภูมิได้ตามความเหมาะสม และช่วยลดการใช้พลังงานได้ 30-40%

  • คุณสุรภา เอกธนวิศาล Senior Manager, Investment Banking, Token X Co.Ltd.

คุณสุรภากล่าวถึง Token X ว่าเป็นบริษัทให้คำปรึกษาครบวงจนด้านโทเคนและบล็อกเชน ซึ่งมี ICO Portal เป็นของตัวเอง จึงช่วยบูสต์ ROI ให้ภาคธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บล็อกเชนช่วยทำ Smart Contract เช่น หากบริษัทใดประสบปัญหาการเก็บข้อมูล ESG สโคป 3 ซึ่งเป็นสโคปที่ทำได้ยาก กอปรกับแต่ละธุรกิจก็ไม่อยากเปิดเผยข้อมูล Supply Chain ของตัวเอง ก็สามารถนำบล็อกเชนของ TokenX เข้ามาช่วยแทร็กข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ของธุรกิจ และยังสามารถแบ่งเลเวลที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานเข้าดูข้อมูลได้ตามต้องการ ซึ่งเมื่อเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนแล้วก็จะไม่มีใครแก้ไขข้อมูลได้ การฟอกเขียว (Greenwashing) ก็ไม่เกิด

หรือลูกค้าที่อยากระดมทุนในโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อมก็ทำได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง การทำ API ร่วมกับค้าปลีกรายใหญ่อย่างเดอะมอลล์ ออกแคมเปญรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกโดย มีนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่มาร่วม Collaboration ออก Token ให้คนที่ไม่รับถุงพลาสติก ก็จะได้ความร่วมมือประชาชนซึ่งมีพลังมหาศาลมาก

หรือหากต้องการโซลูชันส์ไปพัฒนาต่อยอดกับเรื่อง Climate ทางบริษัทสามารถแยกทำโครงการเฉพาะได้โดยไม่ต้องระดมทุน เช่น การหารือเพื่อทำ Green Token, การทำ Sustainable Energy Token ให้ GOV, Social, นักลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เข้ามาด้วย จึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้ผลตอบแทนตามโปรเจกต์ได้ 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ควันไอเสียรถ ทำเด็กสมาธิสั้นลง เด็กผู้ชายเสี่ยงสูงผลกระทบถึง 8 ขวบ

ควันไอเสียรถ ยิ่งดมเยอะ สมาธิยิ่งสั้น กระทบพัฒนาการสมองเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชายมีความเสี่ยงสูง...

Responsive image

Apple ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ตั้งเป้าสู่ Net Zero ในปี 2030

Apple เผยรายงานความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม และประกาศปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ประจำปี 2024...

Responsive image

โลกยิ่งร้อน คนจะยิ่งจน วิจัยเผยรายได้จะหาย 60% หากไม่รีบแก้

โลกยิ่งร้อน คนยิ่งจน การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์บนนิตยสาร Nature ชี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกจะเลวร้ายขึ้นจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้รายได้เฉลี่ยทั่วโลกลดลงถึง 19% ใน...