เติมความรู้ ดูกรณีศึกษาเรื่อง ESG และก้าวต่อไปของ Climate Tech Club | Techsauce

เติมความรู้ ดูกรณีศึกษาเรื่อง ESG และก้าวต่อไปของ Climate Tech Club

หลังจากได้เข้าร่วม ESG A Lasting Game Changer - Exclusive Startup Meetup By KATALYST งาน Meetup สำหรับผู้ประกอบการและชาวสตาร์ทอัพที่มาเผยแนวทางเรื่องการดำเนินธุรกิจกับการทำ ESG จะเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เชื่อมั่นว่า ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้และแง่มุมที่หลากหลาย รวมทั้งได้อัปเดตความแนวทางไปสู่ ESG และความเคลื่อนไหวของ Climate Tech Club คลับที่มุ่งให้องค์กรไทยเดินหน้าเรื่อง ESG ด้วยความเข้าใจเพื่อไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

3 เซสชันที่ร่วมผลักดันให้องค์กรและสตาร์ทอัพทำเรื่อง ESG 

ESGงาน ESG A Lasting Game Changer - Exclusive Startup Meetup By KATALYST จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5 The Mitr-ting Room

ภายในงาน ESG A Lasting Game Changer - Exclusive Startup Meetup By KATALYST มีเซสชันส่งต่อความรู้และแนวทางดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG โดยเริ่มต้นจากความสำคัญในระดับโลก โอกาสทางธุรกิจ ผลกระทบ ความสำเร็จ ประโยชน์ที่ได้รับ ฯลฯ

  1. ESG101: Opportunities & Challenges โดย คุณชยุตม์ สกุลคู CEO, Tact Social Consulting
  2. ESG use cases for Startup โดย
    • คุณอัจฉรา ปู่มี Founder and  CEO of PAC Corporation (Thailand) Co., Ltd.  
    • คุณจิรพัฒน์ ฮ้อแสงชัย Program Manager Thailand, New Energy Nexus 
    • คุณเถกิง ออศิริชัยเวทย์ Senior Vice President, KASIKORNBANK 
    • คุณธนพงษ์ ณ ระนอง Managing Director, Beacon VC
  3. Climate Tech Club ชวนมารู้จักกับ Climate Tech Club ที่เกิดจากการรวมตัวของหลายภาคส่วน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2065 โดย คุณปริวรรต วงษ์สำราญ Director of Entrepreneur and Enterprise, Director of Startup Thailand, NIA และ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง Managing Director, Beacon VC

เซสชัน 1 : ESG101: Opportunities & Challenges 

ESG

คุณชยุตม์ สกุลคู CEO, Tact Social Consulting เล่าถึงที่มาของ ESG ตั้งแต่ 1) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันเป็นผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต่างก็ปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ ประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

2) นำมาสู่การสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการในระดับสากล เช่น Paris Agreement, COP26 เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยมีเป้าหมาย คือ ทั่วโลกต้องร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 40% นับจากปี 2015 เพื่อ สร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และทำให้ การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 

3) จากการประชุม COP26 ประเทศไทยร่วมชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อตรวจสอบ วัดและประเมินผลการลดการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนจัดงานเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ เติมความเข้าใจเรื่อง ESG ให้แก่ผู้ประกอบการในไทย อาทิ TGO (Thailand Greenhouse Gas Management Organisation) หรือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย, LESS (Low Emission Support Scheme) หรือ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ผู้ดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกได้รับการยอมรับ 

esgคุณชยุตม์ สกุลคู CEO, Tact Social Consulting

4) การออกมาตรการบังคับเพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้เกิดกำแพงภาษี กลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าหากผู้ส่งออกสินค้าไปยังฝั่งยุโรปไม่ร่วมลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการทางธุรกิจ หรือหากผู้ส่งออกชาวไทยไม่มีแผนลดการปล่อยคาร์บอน ไม่มีคาร์บอนเครดิต ก็จะต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นหรือหมดโอกาสส่งสินค้าออก ส่วนคนไทย ผู้บริโภคชาวไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซิ้นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจากการสำรวจพบว่า Generation ที่เห็นความสำคัญและปรับตัวก่อนใครคือ Gen Z โดยยอมจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้นหากผลิตภัณฑ์นั้นระบุว่า เป็นสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ร่วมลดการปล่อยคาร์บอน

เซสชัน 2 : ESG use cases for Startup

esg

  • คนที่สงสัยเรื่อง ESG ว่า ต้องทำไหม น่าทำไหม คุณจิรพัฒน์ ฮ้อแสงชัย Program Manager Thailand, New Energy Nexus บอกว่า "ต้องทำ" และย้ำความสำคัญตามที่ ดร.ประสาน ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวไว้ว่า "ESG is license to grow. - ถ้าไม่ทำ ธุรกิจก็โตไม่ได้" 

  • สตาร์ทอัพที่สนใจเรื่อง ESG ให้เริ่มจากศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ ESG ก่อน แล้วดูว่าใครทำสิ่งดีๆ อาจจะ copy & develop เพื่อเรียนรู้ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องอยากทำธุรกิจนั้นจริงๆ และต้องมีอินเนอร์ที่จะทำก่อน

  • บางคนหรือบางเอสเอ็มอีอาจจะทำเรื่อง ESG อยู่แล้วแต่ไม่รู้ตัวหรือไม่เคยนึกถึง เช่น การดูแลพนักงาน รับฟังพนักงานมากยิ่งขึ้น การให้สวัสดิการต่างๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือหากเป็นร้านกาแฟ การเลือกซื้อเมล็ดกาแฟที่จำหน่ายในราคายุติธรรม ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ESG แล้ว

  • กองทุนที่เป็น Green Fund จะขึ้นบัญชีดำและไม่ลงทุนในบางสตาร์ทอัพที่สร้างอิมแพ็กเชิงลบ เช่น ธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในขณะที่ VC, CVC ที่มักจะลงทุนในสตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก เช่น สตาร์ทอัพที่พัฒนาเครื่องมือหรือสร้างแพลตฟอร์มมาช่วยซัพพอร์ตธุรกิจอื่นให้ทำ ESG ได้ดีขึ้น เช่น บริษัทที่พัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยให้การวัดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ทำได้ง่ายขึ้น 

  • คุณธนพงษ์ ณ ระนอง Managing Director, Beacon VC บอกว่า ESG เป็นเรื่องใหม่มาก มีเรื่องที่ยัง Unknown อีกเพียบ ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา กฎระเบียบก็ยังไม่ชัดเจน สรุปก็คือ ยังขาดความชัดเจนอีกมาก จึงแนะนำให้มารวมตัวใน Climate Tech Club เพื่อแชร์ข้อมูล ช่วยเหลือ และมาเชื่อมต่อกัน

  • ในประเทศไทยยังมี Impact Fund น้อย BEACON จึงจัดตั้งกองทุน BEACON Impact Fund โดยเน้นลงในทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก บวกกับการเล็งเห็นว่า ประเทศไทยจะมีความต้องการด้าน Impact Tech, Climate Tech สูงมาก ทาง BEACON จึงสร้างระบบนิเวศหรือคลับขึ้นมาเพื่อผลักดันธุรกิจที่ส่งเสริม ESG อย่างเต็มที่

  • องค์กรขนาดใหญ่หันมาทำเรื่อง ESG มากขึ้นและต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยนำ ESG เข้ามาใช้ในการบริหารธุรกิจ นี่จึงเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพที่ทำ Impact Tech, Climate Tech ที่องค์กรจะเข้าไปสนับสนุนและเติบโตไปกับองค์กรขนาดใหญ่

  • คุณเถกิง ออศิริชัยเวทย์ Senior Vice President,  KASIKORNBANK ชี้ให้เห็นอีกมุมว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการควรมองหา Captive Demand (ผู้ซื้อ) ก่อน อย่าคิดว่า ถ้านำผลิตภัณฑ์ไปวางบนเชลฟ์แล้วจะขายได้ โดยให้ถือว่านี่เป็นการจัดการความเสี่ยงที่อาจจะจำเป็นในโลกมีแต่ความไม่แน่นอน ยกตัวอย่าง คาร์บอนเครดิต ที่พูดกันว่า มีการสร้างมาตรฐานแตกต่างกันไป หากมีการเปลี่ยนผู้คุมกฎในอนาคต ทุกอย่างก็อาจไม่เหมือนเดิม

  • ผู้ประกอบการจะไม่ปรับตัว ไม่ทำเรื่อง ESG ไม่ได้ เพราะผู้คนแคร์เรื่องนี้ คนรักษ์โลกมากขึ้น take action มากขึ้น ถ้าไม่ทำ อาจขายสินค้าหรือบริการไม่ได้เพราะผู้บริโภคไม่ซื้อ 

  • ในมุมของ Senior Vice President มองว่า Climate Tech เป็นธุรกิจในฝันของหลายๆ คน เพราะเป็นธุรกิจที่ได้เงินและได้รักษ์โลก ทั้งยังเป็น Sweet Spot เป็นงานที่ดี และแสดงความเห็นเพิ่มว่า มอง ESG ว่าเป็น ศีล ซึ่ง ศีล คือ ความปกติ การทำสิ่งที่เป็นปกติ ไม่ไปเอาเปรียบคนอื่น ไม่เอาเปรียบพนักงาน คู่ค้า หรือโลก ก็เทียบได้กับการทำ ESG


  • คุณอัจฉรา ปู่มี  Founder and  CEO of PAC Corporation (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า ESG เป็นโอกาสทางธุรกิจของสตาร์ทอัพและต้องนำมาใช้ในองค์กรได้ เช่น บางคนถนัด Social Tourism บางคนถนัดพัฒนาเทคโนโลยีชี้วัดหรือ index อยากให้ดูความถนัดของตัวเองและมองออกว่าเป็นธุรกิจที่กำลังโต ทำธุรกิจให้ไม่เจ๊ง ทำให้ขายได้ มีกำไรก่อน แล้วจะมีคนมาสนับสนุน

  • PAC ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างออกสู่ตลาดและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มี keywords สำคัญในการทำธุรกิจ คือ Innovation & Energy Efficiency โดยสินค้าประเภทแรกที่ผลิตออกมา คือ เครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ จากนั้นก็มี เครื่องปรับอุณหภูมิสระว่ายน้ำ เครื่องปรับอากาศจากพลังงานแสงอาทิตย์ โซลูชันส์พลังงานในด้านต่างๆ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของบริษัทรู้ว่า ร่วมลดการใช้พลังงานไปได้เท่าไร การคำนวนอิมแพ็กต่อสิ่งแวดล้อม การคำนวณการลดคาร์บอนก็จะทำได้ง่ายขึ้น กอปรกับ pac เป็นองค์กรที่มี Woman Entrepreneur จึงเป็นองค์กรที่สร้างอิมแพ็กต่อสังคมในด้าน S : Social ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สอดคล้องกับหลัก ESG โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร 

  • เอสเอ็มอีหลายรายอาจมองว่า ทำ ESG ต้องมีการวัดผล วัดค่ามากมายซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ถ้าทำให้ผู้คนเห็น Policy หรือนโยบายได้ จะทำให้คนอื่นๆ เห็นภาพเดียวกันและเห็นหมุดหมายขององค์กรชัดเจน นอกจากนี้ แบรนด์ต้องสื่อสาร ESG Commitment ออกไปให้คนอื่นๆ รู้ด้วย เพื่อทำให้ภาพลักษณ์และแบรนดิงชัดเจน ว่าทำธุรกิจนี้ มีมุมมองต่อด้านนี้ และทำสิ่งดีๆ แบบนี้ให้สังคม เพราะสุดท้ายแล้ว การทำธุรกิจย่อมต้องมีกำไรเพื่อนำกลับมาทำให้บริษัทดียิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น ทำ ESG แล้วอย่าเก็บไว้เงียบๆ เพราะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

เซสชัน 3 : Climate Tech Club 

หลังจากที่ Beacon VC ร่วมเปิดตัว "Climate Tech Club" คลับที่มี mission ที่จะสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้น เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ภายในงาน ESG A Lasting Game Changer - Exclusive Startup Meetup By KATALYST ก็มีการเล่าย้อนถึงที่มาและอัปเดตความร่วมมือที่ขยายวงเพิ่มขึ้น โดยคุณปริวรรต วงษ์สำราญ Director of Entrepreneur and Enterprise, Director of Startup Thailand, NIA และ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง Managing Director, Beacon VC ฉายภาพความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และสตาร์ทอัพ ที่เข้าร่วมเป็นหัวขบวน ได้แก่ 

  • สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. (NIA)
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. (NSTDA)
  • องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO)
  • ธนาคารกสิกรไทย (KBank)
  • WASTECH ผู้ลงทุนและผู้พัฒนาโซลูชันด้านการกำจัดของเสีย 
  • New Energy Nexus Incubator และ Accelerator ที่ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ 
  • PAC ผู้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบทำความร้อนและระบบปรับอากาศ 
  • BUILK สตาร์ทอัพด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่แตกไลน์ธุรกิจและเพิ่มพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง
  • c-Wallet ฟินเทคที่นำระบบเข้ามาช่วยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิตสำหรับลูกค้าองค์กร

คุณปริวรรต วงษ์สำราญ Director of Entrepreneur and Enterprise, Director of Startup Thailand, NIA
เนื่องจากมาตรการ CBAM ส่งผลให้เกิดภาษีคาร์บอน องค์กรขนาดใหญ่จึงมองหาโซลูชันมาช่วยจัดการ หรือต้องการเป็นผู้ใช้โซลูชัน แต่กลับหาไม่ได้ องค์กรจึงจำเป็นต้องตั้งทีม ESG บ้างก็สร้างทีมพัฒนา Climate Tech ขึ้นเอง ขณะเดียวกัน สตาร์ทอัพด้าน Climate Tech หาผู้ลงทุนไม่ได้ เอสเอ็มอีก็ประสบปัญหาไม่มีตลาดใหญ่เพียงพอที่จะทำธุรกิจได้ หรือแม้แต่ Impact Fund เอง ก็หาสตาร์ทอัพที่ต้องการจะลงทุนไม่เจอ จาก pain point ที่ว่ามานี้ คุณปริวรรตและคุณธนพงษ์จึงร่วมกันจัดตั้ง Climate Tech Club ขึ้นเพื่อเป็น Community Platform ที่เชื่อมให้ทุกฝ่ายมาเจอกัน สนับสนุนกัน พร้อมๆ กับสร้างช่องทางบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ด้วยการจับมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่สนใจ ให้มาร่วมระดมสมอง แลกเปลี่ยนข้อมูล จัดเวทีให้สตาร์ทอัพได้มาโชว์ไอเดีย รับฟังคำแนะนำจาก Mentors ระดมทุน ฯลฯ 

ปิดท้ายด้วยการเชิญชวนเข้ากลุ่ม Climate Tech Club เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้าน Climate Tech ให้เกิดและเติบโตในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ผ่าน 5 พันธกิจหลัก ดังนี้

  • 1. สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ Climate Tech 
  • 2. ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการด้าน Climate Tech และนวัตกร 
  • 3. สร้างและพัฒนาตลาด Climate Tech ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 
  • 4. ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการด้าน Climate Tech 
  • 5. สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนากลไกสนับสนุนจากรัฐบาล



บทความอื่นๆ เกี่ยวกับ ESG ที่คุณอาจสนใจ

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เทรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำที่อาจเปลี่ยนโลกจาก CES 2025

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดจาก CES 2025 ตั้งแต่ AI อัจฉริยะ ยานยนต์ล้ำสมัย ไปจนถึงการพัฒนาชิปกราฟิกและเทคโนโลยีหน้าจอแห่งอนาคตที่เปลี่ยนโฉมการใช้ชีวิตประจำวัน!...

Responsive image

เปิดตัว ‘รถบินแยกร่าง’ XPeng ผสมเครื่องบินกับรถตู้ รุ่น Land Aircraft Carrier ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท

XPeng Aero HT เปิดตัว Land Aircraft Carrier รถบินได้แบบแยกร่างสุดล้ำที่ CES 2025 พร้อม eVTOL พับเก็บได้ ใช้งานง่าย ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางแผนผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2026...

Responsive image

การเดินทางจากอดีตสู่อนาคตของ NVIDIA

เจาะลึก Keynote CES 2025 โดย Jensen Huang ซีอีโอ Nvidia กับวิวัฒนาการ AI ตลอด 30 ปี ตั้งแต่ AlexNet สู่ Agentic AI ที่ปฏิวัติการประมวลผลของโลก...