สรุปภาพรวมงาน ‘ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน’ | Techsauce

สรุปภาพรวมงาน ‘ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน’

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน (Collaborative Partnership for Sustainability) ภายในงานมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงพันธมิตรธุรกิจ เข้ามาร่วมงานอย่างคับคั่ง พร้อมเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ รวมถึงร่วมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วนได้

เริ่มต้นเปิดงานโดย คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อน BCG Model ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 3 เท่าตัว ขณะเดียวกันได้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับที่ 21% ของโลก ทำให้เป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงข้อมูลจาก World Economic Forum 2022 ได้เปิดเผยรายงานความเสี่ยงโลก (Global Risks Report 2022) ระบุว่า ความล้มเหลวของการจัดการปัญหาโลกร้อนถือเป็นความเสี่ยงสำคัญเช่นกัน  

สำหรับประเทศไทยภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันเพื่อเตรียมรับมือ ปรับตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน Synergy การทำงาน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กับความตกลงปารีส โดยประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065

ขณะที่บทบาทของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้ง ด้านนโยบาย โดยได้บูรณาการเป้าหมาย net zero เข้าสู่ยุทธศาสตร์นโยบาย และแผนระดับประเทศ  ขับเคลื่อน BCG Model สร้าง new S-Curve ทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งส่งเสริมภาคเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก 

ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมภายในประเทศ เช่นเทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) และนวัตกรรมการจัดการขยะทะเล 

ด้านการค้าและการลงทุน ได้ประสานกับ BOI จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนในสินค้าที่เป็นต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาต่างๆ เช่น พลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมเกษตร ป่าไม้ เป็นต้น และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนสีเขียว ตลอดจนด้านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ โดยได้จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต รวมถึงการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

จากการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนจะเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนสามารถปรับตัวรับมือผ่านการใช้แนวคิด Green Recovery and Move Forward Greener เพื่อจัดการความเสี่ยง และวางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว เพื่อที่จะดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล และแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) ของภาคเอกชนเช่นเดียวกัน 

ต่อมาเป็นการบรรยายพิเศษในด้านการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืน โดยดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจได้จะต้องขับเคลื่อนผ่านทั้งคนและทุน ซึ่งในบริบทของความยั่งยืนนั้นปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย ภาวะโลกร้อน ต่างส่งผลกระทบต่อภาวะการเติบโตของทุนทั้งสิ้น หากไม่ปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไปก็จะทำให้การเติบโตอยากยิ่งขึ้น ขณะที่เรื่องของคนหรือแรงงาน ในมิติของความยั่งยืนนั้นจะเป็นไปในแง่ของหลักธรรมาภิบาล ต่อพนักงาน ความเท่าเทียมทางเพศ และการสนันสนุนความหลากหลายในที่ทำงาน 

ยกตัวอย่างธุรกิจที่เติบโตสูงในต่างประเทศ สิ่งต่างเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ให้ธุรกิจเติบโตทั้งสิ้น ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่ภาระที่จำต้องทำ แต่ถือเป็นกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในธุรกิจ ซึ่งต้องมีกระบวนการเปลี่ยนในตลอดห่วงโซ่อุปทาน และใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับภายในองค์กร ออกสู่ภายนอก และเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจ (อ่านเพิ่มเติม)

คุณสราวุธ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้กล่าวถึง มิติด้านความยั่งยืนที่กลุ่มธุรกิจ TCP กำลังทำและความก้าวหน้านับตั้งแต่การประกาศกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในปี 2561 มาจนถึงการประกาศเป้าหมายธุรกิจใหม่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ที่ดีกว่า” หรือ Energizing a Better World for All เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้กลยุทธ์หลัก  3 ด้าน ได้แก่ 1) Fulfilling ปลุกพลังแบรนด์สินค้า  2) Growing ปลุกพลังธุรกิจเติบโต 3) Caring ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อมที่จะดำเนินการภายใน 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2565-2567 

โดยกลุ่มธุรกิจ TCP มุ่งไปที่การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน (Collaborative Partnership for Sustainability) ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 

  • ประการที่ 1 ร่วมมือ ร่วมมือ ร่วมมือ การจะไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ จะต้องเกิดจากความร่วมมือหลายระดับตั้งแต่รัฐบาล ความร่วมมือในภาคเอกชนด้วยกันเองไปจนถึงผู้บริโภค 

  • ประการที่ 2 การแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ บริษัทจะไม่สามารถขับเคลื่อนงานได้สำเร็จ หากไม่มีพันธมิตรภาคประชาสังคมหรือภาควิชาการ รวมถึงพันธมิตรในธุรกิจที่มาร่วมแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถทำในสิ่งที่ทำให้ได้เป็นจริงได้  

  • ประการที่ 3 การปรับตัวและกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง  โดยจะต้องเริ่มทำจากเรื่องที่ทำได้ง่ายที่สุดและเป็นไปได้มากที่สุดก่อน ซึ่งคำว่าเป็นไปได้จริงนั้นมี 2 มิติ คือ มิติด้านเทคโนโลยีหรือวิธีการที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง และมิติที่ว่าเป้าหมายที่ตั้งนั้นคุ้มค่าที่จะทำ พร้อมทั้งต้องพิจารณาความเหมาะสมและเป็นไปได้ทางปฏิบัติมากที่สุด ควบคู่ไปกับความพยายามในการหานวัตกรรมและการลงทุนใหม่ๆที่ทำให้การแก้ปัญหาสั้นลง 

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงประเด็นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนว่า สถานการณ์น้ำของประเทศไทย มีความต้องการใช้น้ำในแต่ละปีมากกว่า 1.5 แสนล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เฉลี่ยเพียงแค่ 40,335 ล้าน ลบ.ม. และที่สำคัญปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่จะสามารถทำให้ประเทศไทยมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกภาคส่วนและทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนจะต้องมีการใช้นวัตกรรมมาบริหารจัดการน้ำ ที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้  สามารถลดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง และมีความมั่นคงทางน้ำได้  รวมถึงภาคเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมในภาคการเกษตร รวมทั้งสร้างรายได้และมูลค่าตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อเชื่อมโยงภาคเกษตรและชุมชนได้  (อ่านเพิ่มเติม) 

ด้าน คุณยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล จาก ไอวีแอล กล่าวถึงความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อโลกว่า จากรายงานของ UN Environment Program ระบุว่า PET เป็นพลาสติกรีไซเคิลที่มากที่สุดในโลก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากโลกมีความรับผิดชอบร่วมกันในการยุติขยะพลาสติก การรีไซเคิลมีความสำคัญต่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างมาก เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงและของเสียน้อยลง 

สำหรับไอวีแอล ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาสติก PET และรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในโลก เปลี่ยนขวดหลายพันล้านขวดให้เป็นขวดใหม่ผ่านกระบวนการเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก โดยได้วางแผนที่จะรีไซเคิลขวดหลังการบริโภค 750,000 ตันหรือ 50 พันล้านขวดต่อปี ภายในปี 2025 ปัจจุบันกำลังลงทุนสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเพิ่มความสามารถในการรีไซเคิลได้ถึง 700%

ทั้งนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ต้องอาศัยเทคโนโลยี กลยุทธ์ และการลงทุนมูลค่ากว่า 1.5  พันล้านเหรียญ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นที่ต้องอาศัยกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าเดิมมาก และยังอยู่ในช่วงตั้งต้น ซึ่งต้องอาศัยเวลา เงินลงทุน และการขยายตัว อย่างไรก็ตามโลกกำลังสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน และทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนได้เพียงตระหนักถึงการใช้วัสดุรีไซเคิลและแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป  (อ่านเพิ่มเติม)

ปิดท้ายด้วยเวทีระดมความคิดเห็นจากพันธมิตรธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนของกลุ่ม TCP ในประเด็น

“สร้างสรรค์นวัตกรรม รวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืน” โดยคุณขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของ In Process คือในกระบวนการธุรกิจ และ After Process คือเรื่องที่นอกเหนือจากกระบวนการธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจ TCP มีเป้าหมายความยั่งยืน 4 ด้าน ได้แก่  ความเป็นเลิศของผลิตภัณฑ์ (Product Excellence) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Water Sustainability) 

คุณสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด กล่าวว่า TBC ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนแบบ 100% อย่างไม่รู้จบ โดยไม่สร้างขยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวในการบริหารจัดการความยั่งยืนขององค์กร คือ ‘TBC Sustainability Goals 2030’ (TBC SG 2030) ผ่านการยกระดับการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy: BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

อีกทั้งยังได้ริเริ่มโครงการ Aluminum Loop ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3R), สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด, บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แองโกล เอเชีย เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อส่งเสริมการเก็บกลับกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบครบวงจรในประเทศไทย หรือเรียกว่า (Close-Loop Recycling)

ด้าน ดร.บุตรา บุญเลี้ยง Head of Climate Resilience Office and Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน SCGC มีความตั้งใจสองเรื่องหลัก ๆ คือ จะทำ Green Polymer พอร์ตฟอลิโอให้ถึงหนึ่งล้านตันภายในปี 2030 และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 20% จากปี 2021 ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น ลูกค้า Certifier การขนส่ง และอื่น ๆ เพื่อทำให้มี Carbon Footprint น้อยที่สุด 

ขณะที่คุณภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่เราจับต้องไม่ได้ จึงต้องมีการพัฒนากระบวนการวัดการลด เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการลด Carbon Footprint และชดเชยต่อไปได้ ดังนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จึงได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการคำนวณและการรับรอง Carbon Footprint ขึ้นมา ตัวอย่างเช่น การมีฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น Circular economy 

นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรธุรกิจจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้เสนอความเห็นในด้านต่าง ๆ ให้เห็นถึงบทบาทในการรวมพลังขับเคลื่อนความยั่งยืนในวิธีการที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น ภาคการศึกษา ภาคส่วน Entertainment องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรสหประชาชาติ (อ่านเพิ่มเติม)

อย่างไรก็ตามโลกกำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างถ้วนหน้า ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงหันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และกุญแจสำคัญสู่เป้าหมายความยั่งยืนคือ “ทุกภาคส่วน” จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันการสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

One Bangkok จับมือ 5 สถาบันการเงินชั้นนำ รับดีล Green Loan สูงสุดในประวัติการณ์เพื่อพัฒนาโครงการ

One Bangkok ประกาศลงนามสัญญาสินเชื่อสีเขียวระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงการมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทร่วมกับ 5 สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศ...

Responsive image

เจาะลึกวิกฤตน้ำกับ TCP เมื่อน้ำกำลังจะกลายเป็นของหายาก

วิกฤตน้ำทั่วโลกส่งผลกระทบหนักต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ TCP เสนอแนวทางแก้ไขผ่าน Nature-based Solutions และกลยุทธ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไทยในยุคโลกร้อน...

Responsive image

David Capodilupo จาก MIT Sloan เปิดเหตุผลตั้งสำนักงานในไทย ต้นแบบสู้ Climate Change อาเซียน

David Capodilupo ผู้ช่วยคณบดีด้านโครงการระดับโลกของ MIT Sloan เผยเหตุผลที่สถาบันเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย เพื่อให้ไทยเป็นฮับอาเซียน ในการส่งเสริมการเรียนการสอน การวิจัยพัฒนา การแก้ปั...